วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ถอดระหัส 64 ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญ เลื่อยเก้าอี้ประธานวุฒิฯ


การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่นอกจากทำให้ประชาชนคนไทย สภาผู้แทนราษฎร แตกออกเป็น "เสี่ยงๆ" แล้วยังรวมถึงวุฒิสภา ด้วย ทั้งนี้เพราะมีหลาย "ปม" ที่เกี่ยวโยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะนำมาสู่การตั้ง ส.ส.ร.3 ตามความต้องการของรัฐบาล
ทั้งนี้ ในส่วนของวุฒิสภา เป็นที่ชัดเจนว่า นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา มิได้เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะรองประธานวุฒิสภา กลับเป็นผู้กำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเป็นเจ้าของโมเดล ส.ส.ร. 120 คน ซึ่งเรื่องนี้มาที่มาที่ไปควรแก่การ "ถอดระหัส" อย่างยิ่ง
นายนิคม นั้น ทราบกันดีว่าเป็นน้าของ นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตส.ส.กลุ่ม 16 อันโด่งดัง ซึ่งมีทั้งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเนวิน ชิดชอบ นายสรอรรถ กลิ่นปทุม ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นต้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลพลอยได้หลังจากรัฐบาลปฏิบัติการล้อมปราบฆ่าประชาชน ที่หน้ารัฐสภา โดยใช้ตำรวจจาก 2 หน่วย คืออรินทราช และตำรวจตชด. โดยมีคนคุม "คิว" 2 ทีม แต่เป้าหมายเดียวกันคือยิงประชาชน ที่ชมนุมบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรัฐสภา (เป็นข้อมูลลับที่รอการเปิดเผยเพราะรู้ตัวคนสังการแล้ว) และข้อมูลที่ตรงกันคือ 4-5 วันก่อนยิงประชาชน ที่หน้ารัฐสภา มีการเบิกแก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่องทุกวัน
นี่คือการเดินหมากในด้านสายเหยี่ยว คือ "ฝ่ายบู้"เพื่อเปิดทางเข้าสภาให้รัฐบาลแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ขณะที่ "ฝ่ายบุ๋น" เมื่อรัฐบาลเสร็จจากการแถลงนโยบาย ก็ใช้การเดินเกม "ซื้อเวลา" ต่ออายุรัฐบาล ผ่านทาง นายนิคม โดยพิมพ์เขียวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น เป็นฉบับเดียวกันกับฝ่ายส.ส. แต่ก็อบปี้ออกเป็น 2 ชุด คือชุดหนึ่งส่งผ่านไปทางด้าน ส.ส. อีกชุดหนึ่งมี นายนิคม เป็นผู้ถือเอาไว้ เพราะฉะนั้น ในวันประชุมที่รัฐบาลพยายามเรียกว่าเป็นการประชุม 4 ฝ่าย โดยที่ไม่มี ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานวุฒิสภา เกมจึงเข้าทางรัฐบาล ด้วยเสียงกระซิบจาก นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ นายนิคม เข้าร่วมประชุม และที่ประชุมวันนั้นเห็นขอบโมเดล ส.ส.ร. 3 ที่นายนิคม เสนอ ซึ่งภาพจะออกมา "สวยกว่า" ว่า ส.ส.ร.3 มาจากวุฒิสภา
เพราะฉะนั้น การประชุมวุฒิสภา เมื่อวันศูกร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) นายนิคม จึงยืนยันว่า นายประสพสุข เป็นผู้มอบหมายให้ไปร่วมประชุมกับนายชัย ชิดชอบ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีหนังสือมอบหายเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่นายประสพสุข "ย้ำหัวตะปู" ว่า ส.ส.ร. 3 ไม่ใช่ทางออก
เมื่อเปิดเกมแลกกันเช่นนี้ หลังการประชุมวฒิสภา ที่ปิดประชุมแบบกระท่อนกระแท่น นั้น ได้มีการเปิดแถลงข่าวตอบโต้กัน ของส.ว. 2 กลุ่ม โดยฝ่ายหนึ่งเรียกตัวเองว่า "กลุ่ม 24 ตุลา 51" พร้อมอ้างว่ามี 64 ส.ว. อยู่ในมือ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเรียกชื่อตัวเอง ว่า "กลุ่ม 40 ส.ว."
ทั้งนี้ หากจะโฟกัสกลุ่ม 64 ส.ว.ก็สามารถแยกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ส.ว.อีสาน
มี นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ และนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ โดยคน ๆ นี้น้องเป็นส.ส.พลังประชาชน นอกจากนี้ยังมี ยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร เป็นแกนนำ โดยส.ว.อีสานเกือบทั้งหมดซึ่งต้องพึ่งฐานคะแนนเสียงจากพรรคการเมือง คือพลังประชาชน ยกเว้น นครราชสีมา ที่ต้องใช้ฐานเสียงของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
กลุ่มที่ 2 ส.ว.ภาคกลาง
มี นายประสิทธิ์ โพธสุธน พี่ชาย ประภัทร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทย รวมกับซีกของ นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม ซึ่งก็คือน้าชายของ "ไชยศ ไชยา สะสมทรัพย์" เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัททรัพย์ฮกเฮง เป็นบริษัทที่ "เมียไชยา สะสมทรัพย์" ถือหุ้น จนทำให้ตัวนายไชยา ต้องกระเด็นตกเก้าอี้รมช.พาณิชย์ มาแล้ว
กลุ่มที่ 3 กลุ่มนางนฤมล ศิริวัฒน์
นางนฤมล นั้นเป็น ส.ว.อุตรดิตถ์ เป็นเมียของ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ อดีตเลขาธิการพรรคราษฎร แล้วต่อมายุบรวมกับพรรคประชากรไทย ที่มีสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค และมี "กลุ่มปากน้ำ" อยู่ในพรรคประชากรไทยด้วย
ในกลุ่มนี้ยังมีซีกของ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี ที่โดนยิงเสียชีวิตไป โดยส.ส.กอบกุล คือลูกพี่ลูกน้องของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ โดยที่เกี่ยวดองกับตระกูลศิริวัฒน์ เมื่อน้องสาวของนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ก็ไปแต่งงานกับ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายแท้ ๆ ของนายสุวัจน์
กลุ่มที่ 4 กลุ่มนายดิเรก ถึงฝั่ง
นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด มีฐานเสียงสำคัญจาก นายอุดมเดช รัตนเสถียร คนๆ นี้เป็นใครต้องถาม นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะทราบดี นอกจากนี้ก็ยังได้ฐานเสียงของ ส.ส.คนดัง คือ พ.อ.อภิวัน วิริยะชัย พรรคพลังประชาชน ซึ่งขณะนี้นั่งในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
กลุ่มที่ 5 ส.ว.สายเหนือ
กลุ่มนี้ มีนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ เป็นแกนนำ โดยส.ว.ภาคเหนือตอนบนยกเว้น นางจิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร ส.ว.เชียงราย เท่านั้นทีไม่ได้อยู่ "กลุ่มเจ๊" คนดังของภาคเหนือ ซึ่งแนบแน่นกับกลุ่มนายยงยุทธ ติยะไพรัช และขณะนี้กลุ่มส.ว.เชียงราย ได้ย้ายกลุ่มทั้งหมดมาสังกัดพรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
กลุ่มที่ 6 ส.ว.ภาคตะวันออก
กลุ่มนี้มีฐานคะแนนเสียงมาจากพรรคประชาราช ของ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช โดยเฉพาะ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี นั้นเดิมเป็นอดีตนายกอบจ.ปราจีนบุรี ด้วย
กลุ่มที่ 7 ส.ว.สรรหา
กลุ่มนี้บางส่วนมีทหารคนดังเป็นแกนนำ อีกส่วนหนึ่งลงชื่อเพราะไม่รู้เรื่อง เนื่องจากมีส.ว.คนหนึ่ง "เดินเกม" ด้วยการอ้างว่ากลุ่ม "เป็นกลาง" ทำให้มีส.ว.สรรหา 34 คนหลงเชื่อเพราะต้องแสดงความเป็นกลางจริง ๆ แต่กลับมีชื่อไปเติมอยู่ในกลุ่ม 64 ส.ว. ดังนั้น รายชื่อ 64 ส.ว.จะมีคนถือรายชื่ออยู่ 2 ชุด คือชุดหนึ่งชัดเจนว่าจะสนับสนุนแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขณะที่ อีก 34 ชื่อ ส่วนใหญ่เป็นส.ว.สรรหา ซึ่งไม่รู้เรื่องนี้ แต่แกนนำส.ว.หญิง ประกาศจะทำความเข้าใจเป็นการส่วนตัวภายหลัง
ทั้งหมดนี้มีทหารคนดังเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะนี่คือการเช็คชื่อเพื่อเปลี่ยนตัวประธานวุฒิสถา โดยมีเงิน 2 หมื่นล้านบาท เป็นเดิมพัน ซึ่งหากจะทำให้เงินก้อนนี้เคลื่อนได้ต้องมีประธานสภาผู้แทน และประธานวุฒิสภา เห็นตรงกัน
บัดนี้อะไรก็ทำได้เมื่อเงินมันตำตาอยู่ใกล้แค่เอื้อมนี้แล้ว
เปลี่ยนตัวประธานวุฒิสภาได้เมื่อไหร่แบ่งเค๊กกันมันปาก

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ป.ป.ช. เลื่อนชี้มูลคดีรถดับเพลิง ต้น พ.ย."อภิรักษ์"ติดโผ


ป.ป.ช.ประชุมกว่า 7 ชั่วโมง พิจารณาสำนวนคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง แต่ยังไม่สามารถชี้มูลได้ เลื่อนไปเป็นต้นเดือน พ.ย.นี้ เผยมีชื่อ"สมัคร-อภิรักษ์" ติดโผ
ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาสำนวนการทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม. มูลค่า 6,200 ล้านบาท ตามที่คตส.ได้ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.พิจารณา โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้เวลาการพิจารณากว่า 7 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุมนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่วันนี้ ยังไม่สามารถชี้มูลความผิดได้ เนื่องจากรายละเอียดตามสำนวนที่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯเสนอมานั้น มีเป็นจำนวนมาก ทำให้ที่ประชุมยังไม่สามารถลงมติได้ จึงมีมติให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ และคาดว่าจะสามารถชี้มูลความผิดได้ โดยในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคนได้นำสรุปสำนวนการไต่สวนกลับไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อจะได้มาลงมติชี้มูลอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสำนวนคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงนั้น ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการนั้น ได้สรุปสำนวนความผิดเบื้องต้นว่า มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 10 กว่าคน ซึ่งมากกว่าสำนวนคดีที่ คตส.สรุปมาว่า มีจำนวนผู้กระทำผิดแค่ 5 คน โดยรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ สรุปเบื้องต้นว่ามีความผิด อาทิ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าราชการกทม. นายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย นอกจากนี้ยังมีชื่อ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการ กทม.ร่วมอยู่ด้วย หลังจากที่นายอภิรักษ์ไม่มีรายชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นการไต่สวนของคตส.

กองทัพพร้อมออกช่วย ตร.หากคนไทยตีกัน



กองทัพพร้อมออกช่วย ตร.ทันที หากเกิดเหตุรุนแรง ด้าน
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจประกาศยึดทำเนียบคืนในวันที่ 25 ต.ค.ว่า กองทัพบกเตรียมกองร้อยรักษาความสงบไว้ หากมีการประสานขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ช่วยออกมาดูแลความสงบในพื้นที่ โดยกองทัพบก มีการเตรียมกำลังจากกองทัพภาคที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) รวมถึงกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ที่เตรียมพร้อมอยู่ในกรมกอง และสามารถออกปฎิบัติงานได้ทันที หากมีการร้องขอ เนื่องจาก ผบ.ทบ.ได้ให้นโยบายกองทัพว่า ให้เข้าถึงพื้นที่โดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ


อย่างไรก็ตาม ทหารจะไม่ออกมาปฎิบัติการ หากไม่มีการร้องขอจากตำรวจ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และหากทหารออกมาโดยไม่ประสานงานกับตำรวจจะเกิดการสูญเสียขึ้นได้ ทั้งนี้กองทัพยืนยันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และหวังว่า สถานการณ์วันที่ 25 ต.ค.จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง

เปิดชื่อ 64 ส.ว. กลุ่ม 24 ตุลา 51

หลังการปิดประชุมวุฒิสภา ส.ว.ทั้งสองฝ่ายได้พากันต่อคิวแถลงข่าวตอบโต้กันและกัน โดยรายชื่อ 64 ส.ว. ปรากฏว่ามีชื่อของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะล่าชื่อส.ว.ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายประสพสุข และกลุ่ม 40 ส.ว.

สำหรับรายชื่อกลุ่ม 24 ตุลา 64 คน ประกอบด้วย
นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์
นายสุโข วุฑฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ
พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ส.ว.ชุมพร
นางกอบกุล พันธุ์เจริญวรกุล ส.ว.สรรหา
พล.ท.สุจินดา สุทธิพงศ์ ส.ว.สรรหา
พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ส.ส.อุดรธานี
นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี
นายวรวุฒิ โรจนพานิช ส.ว.สรรหา
พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น ส.ว.สรรหา
พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี
นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ส.ว.กาญจนบุรี
นางจิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร ส.ว.เชียงราย
นายจตุรงค์ ธีระกนก ส.ว.ร้อยเอ็ด
นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด
นายประเสริฐ ประคูณศึกษาพันธุ์ ส.ว.ขอนแก่น
นายจำนงค์ สวมประคำ ส.ว.สรรหา
นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ ส.ว.สกลนคร
นายธวัชชัย บุญมา ส.ว.นครนายก
นายพรชัย สุนทรพันธุ์ ส.ว.สรรหา
นายถนอม ส่งเสริม ส.ว.อุบลราชธานี
นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี
นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี
นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม
นายโสภณ ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน
นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี
พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ ส.ว.สรรหา
นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร
นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา
พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญส.ว.สรรหา
นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว.สรรหา
นายจรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง ส.ว.สระบุรี
นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม
พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ ส.ว.เลย
นายพิชานพินิจ กุลละวณิชย์ ส.ว.สรรหา
นายสงคราม ชื่นภิบาล ส.ว.สรรหา
นายภิญโญ สายนุ้ย ส.ว.กระบี่
นายรักพงษ์ ณ อุบล ส.ว.หนองบัวลำภู
นายบวรศักดิ์ คณาเสน ส.ว.อำนาจเจริญ
นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา
นางรสสุคนธ์ ภูริเดช ส.ว.สรรหา
พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ
นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา ส.ว.ชัยนาท
นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี
นายพีระ มานะทัศน์ ส.ว.ลำปาง
พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง
นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร ส.ว.สิงห์บุรี
นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา
นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์

นายสุเมธ ศรีพงษ์ ส.ว.นครราชสีมา
นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่
นายสมศักดิ์ บุญเปลื้อง ส.ว.ลำพูน
พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ส.ว.หนองคาย
นายโชติรัช ชวนิชย์ ส.ว.สรรหา
นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก
นายศิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา
นางสมพร จูมั่น ส.ว.เพชรบูรณ์
นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร
นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.

ประเวศค้านสล้างปิดทำเนียบหวั่นนองเลือด




ราษฎรอาวุโส "ประเวศ วะสี" ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด "สล้าง" ขู่ปิดล้อมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล หวั่นเกิดการนองเลือด ชี้ทะเลาะกันได้แต่อย่าให้เกิดการนองเลือด แนะทุกคนกลับตัวหันมาช่วยกันพัฒนาชาติ



ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปาฐกถาพิเศษ "ท้องถิ่นภิวัฒน์ในกระแสโลภาภิวัฒน์" ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น วันนี้ (24 ต.ค.) ถึงกรณีที่ พล.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ระบุว่าจะระดมพลเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเพื่อตัดเส้นทางไม่ให้มีการส่งข้าวและน้ำให้แก่ผู้ชุมนุมในทำเนียบเป็นเวลา 3 วัน เพื่อปฏิบัติการยึดทำเนียบคืนแต่จะไม่ให้เสียเลือดเนื้อนั้น ว่า ต้องระวัง ทุกฝ่ายอย่าไปใช้ความรุนแรง



ผมไม่เห็นด้วยที่มีการทะเลาะกันเกิดขึ้นและต้องจบด้วยการใช้ความรุนแรง ทุกฝ่ายควรให้เวลาในการจัดการ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์การเมืองไทยได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดู ดูตัวเอง สังคมก็ต้องช่วยดู ยิ่งตำรวจและทหารก็ต้องช่วยดูกันใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ



ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์โดยอ้างว่า การที่ศาลไทยพิพากษาจำคุก 2 ปีเพราะมีแรงผลักดันมาจากการเมืองนั้น จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง น.พ.ประเวศ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้อ่านแถลงการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เกิดปัญหา เพราะทุกวันนี้ปัญหาก็เยอะไปหมด จนเกิดการทะเลาะกันใหญ่
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สิ่งสำคัญคือต้องอย่านำไปสู่การนองเลือดของคนไทยอีกครั้ง เพราะหากมีคนไทยตายไปสักคนก็ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจะต้องไม่ไปสู่จุดนั้น และทุกคนต้องกลับตัวหันมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ นอกจากนี้ ก็ต้องหาทางล้างความรู้สึกที่หมักหมมในจิตใจของแต่ละฝ่ายออกไปให้หมด




"ดังนั้นจุดสำคัญในขณะนี้คือ ทุกฝ่ายต้องป้องกันการนองเลือด ทะเลาะกันไม่เป็นไร แต่อย่าให้นองเลือด ให้เวลากันเพื่อรอจุดลงตัว แต่ถ้าหากถึงขั้นใช้ความรุนแรงถึงนองเลือดก็จะไม่หายขัดแย้ง ดังจะเห็นได้จากประเทศกัวเตมาลาที่เขาขัดแย้งรุนแรงกว่าประเทศไทย มีประชาชนล้มตายนับแสนคน แต่เขาก็ยังหันมาคุยกันได้ เมื่อคุยกันแล้วก็นำไปสู่การสร้างสรรค์ แต่ของไทยยังไม่ทันจะคุยอะไรเลย"

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กก.สิทธิ์ฯชี้"สมชาย"ผิดสลายชุมนุม7ต.ค.ละเมิดสิทธิมนุษยชน



กรรมการสิทธิมนุษยชน สรุปเหตุสลายการชุมนุม 7 ต.ค. ที่มีประชาชนบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นการกระทำรุนแรง เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมาย ชี้รัฐบาล "สมชาย" ต้องรับผิดชอบฐานะผู้สั่งการ ตำรวจรับผิดชอบฐานะผู้ปฏิบัติ เดินหน้าหาตัวบุคคลผู้กระทำผิดต่อไป


ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุรสีห์ โกศลนาวิน ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ร่วมกันแถลงวานนี้ (17 ต.ค.) ว่า จากการสอบถามผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยานในเหตุการณ์ อาทิเช่น สื่อมวลชน พบว่าตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุมที่บริเวณต่าง ๆ รวม 3 ครั้ง ได้แก่ ในเวลา 06.15 น. 16.00 น. และ 19.00 น. เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนขาขาด รวมถึงเสียชีวิต
นายสุรสีห์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเทียบกับหลักการสากลในการใช้กำลังสลายการชุมนุม และหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ถืออำนาจต้องใช้ความอดทนจนถึงที่สุด พยายามที่สุดในการใช้วิธีไม่รุนแรง หรือต้องใช้กำลังอย่างยับยั้งให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และต้องให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาล และแจ้งญาติโดยเร็วที่สุด หรือในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มจากการต่อรองก่อน จึงใช้โล่ผลักดัน จึงเป็นการฉีดน้ำโดยประกาศเตือนก่อน และหากยังไม่สำเร็จ ให้ประกาศเตือนจะใช้แก๊สน้ำตา จากนั้นจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา

"ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม พบว่า มีการใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่ประกาศเตือนผู้ชุมนุมก่อน และยังพบว่า คืนวันก่อนหน้านั้น (6 ต.ค.) เป็นที่ทราบในหมู่สื่อมวลชนแล้วว่า รัฐบาลได้เรียกประชุมเพื่อวางแผนจะใช้กำลังสลายการชุมนุมอยู่แล้ว เพื่อจะเปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี สามารถเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นการกระทำรุนแรงที่เกินความจำเป็น เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมาย"

นายสุรสีห์ กล่าวว่า ในส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบ นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เกิดจากความต้องการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยมีการประชุมวางแผนไว้ก่อนแล้ว จึงเชื่อว่า การกระทำเกิดจากการสั่งการของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้สั่งการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางปฏิบัติในการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่แล้ว
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการสิทธิฯ จะเร่งสอบสวนเพื่อหาตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวโดยเร็ว แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมีหลักฐานและบุคคลเกี่ยวข้องจำนวนมาก จากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ในการแถลงครั้งนี้ เป็นการสรุปเบื้องต้นตามที่มีความชัดเจนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เหล่าทัพประกาศปฏิวัติ"สมชาย"ผ่านจอทีวี


พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และพล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร.เปิดปฏิบัติการปฏิวัติรัฐบาลสมชาย ผ่านหน้าจอทีวี

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า อยากเสนอสังคมว่าถ้าเรายังเป็นฝักฝ่ายก็จะเกิดวิกฤติไม่มีทางจะจบได้ ประเทศจะล่มจม ทางออกของประเทศชาติ คนไทยต้องอยู่ร่วมกัน ความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ต้องมีจุดที่อยู่ร่วมกันได้ คนไทยต้องผ่านวิกฤตินี้โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ถามว่ามีการเรียกร้องให้กองทัพ ออกมา พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้าปฏิวัติทำให้ปัญหาจบได้ ก็ต้องพิจารณาร่วมกันทุกภาคส่วน แต่ทุกวันนี้พูดได้ว่าผมติดต่อสื่อหลายส่วนและลงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย รวมถึงนักวิชาการก็ลงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย ทำแล้วประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย ส่วนจะแก้ด้วยวิธีใดยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายต้องคุยหาจุดร่วมกันให้ได้ ส่วนกองทัพจะเลือกฝ่ายไม่ได้ โดยเฉพาะขณะนี้มีการเรียกร้องให้อยู่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ถ้าเลือกฝ่ายประเทศชาติจะวิบัติ
ถามว่าทำไมทหารไม่ออกมา เมื่อเห็นภาพตอนเช้า 7 ต.ค.ผบ.ทบ. กล่าวว่า การชุมนุมมีตั้งร้อยกว่าวัน และกองทัพทำงานร่วมกับตำรวจตลอดมา และยืนยันไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรง ยกเว้น 2 ครั้ง ยืนยันว่าไม่ใช่ความคิดริเริ่มของ ตร.และกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ติดหมายศาลในทำเนียบรัฐบาล ผมเรียนให้ทุกคนทราบว่ากรณีฉุกเฉินเป็นเหตุการณ์ที่มีการปะทะกัน และมอบให้ผมเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและเห็นแล้วว่าวันที่ปิดหมายทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ถ้าตัดสินใจทำไปนอกจากจะไม่จบแล้วปัญหาจะบานปลาย ส่วนเหตุวันที่ 7 ต.ค. กองทัพไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย กองทัพมองว่าเป็นการสั่งการจากรัฐบาลไปยังตำรวจ จะถูกผิดอย่างไรเราคงไม่ไปพูดถึง เพราะเกี่ยวข้องกับความชอบธรรม
ถามว่า รู้กี่ชั่วโมงก่อนสลายชุมนุม ผบ.ทบ.กล่าวว่า เรื่องไปประชุมผมไม่ทราบ ผมคุยกับ ผบ.ตร.ว่าจะไม่ทำอะไร เฉย ๆ และไม่รู้ว่าเขาไปประชุมอะไรกัน เพราะไม่ใช่ตัวของผม แต่เป็นกองทัพทั้งกองทัพ กองทัพจะอยู่กับประชาชน แม้จะให้อำนาจมาเต็ม ๆ ก็ไม่ทำ เช้าวันนั้นพอเกิดเหตุการณ์ก็ติดตามสถานการณ์ ไม่ทราบว่าผลจะรุนแรงขนาดนั้น และเป็นการสั่งการของรัฐบาล ถ้าย้อนไปได้ก็จะทำไปห้ามตั้งแต่แรก การจะเอากำลังทหารออกไป จะออกไปสถานภาพใด หากสูญเสียมากกว่าเดิมจะทำอย่างไร ซึ่งได้พูดคุยกับเหล่าทัพ และหารือกับ ผบ.สส.และแจ้งไปยัง ผบ.ตร.ว่าเราไม่เห็นด้วย
ถามว่าเสียใจหรือไม่ ก็เสียใจ ถ้าห้ามได้ก็จะห้ามแต่แรก แต่ถ้าออกไปก็จะสุ่มเสี่ยงทำให้ยากกว่าเดิมเกิดการต่อสู้ระหว่างทหารและตำรวจ หากมีการปะทะกันก็จะสูญเสียเพราะมีการใช้อาวุธ และสถาบันทหาร กับตำรวจ ก็จะแตกแยกอีกนาน
"น้องโบว์เป็นทรัพยากรของประเทศ มีคุณค่าต่อชาติ หากย้อนกลับไปได้ตำรวจก็คงไม่ ผมยืนยันว่าทุกครั้งตำรวจก็พูดเช่นนี้ "

เรื่องความรับผิดชอบ เป็นเรื่องกระทบ แต่เรื่องที่ตามมา คนในสังคมรับไม่ได้เกิดเป็นกระแสขึ้นมา ลุกลามไปถึงตำรวจ และหมอ ผมคิดว่าจะจบได้ต้องมีคนรับผิดชอบไม่ว่าระดับนโยบายหรือสั่งการ น่าจะสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนได้ ถ้ารัฐบาลสั่งเองเต็ม ๆ จากการสอบสวนต้องรับผิดชอบ ผมว่ากระแสคนในชาติคนไม่ยอม ปั่นป่วน แต่ไม่ใช่บีบคั้นให้ออก แต่ต้องรับผิดชอบบนกองเลือด อยู่อย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจงเกลียดจงชัง ชอบไม่ชอบ ถ้าผมเป็นนายกฯ ก็ออกแล้วไม่รู้ว่าจะอยู่ทำไม
ถามว่ากดดันหรือไม่ สังคมจะทำเอง ไม่ทราบว่าเรียกว่ากดดันหรือไม่ แต่สังคมรับไม่ได้ ไม่มีทางจะจบได้ ผมเข้าใจว่าถ้านองเลือดกันจะถึงกลียุค ก็จะต้องหยุดการใช้อำนาจ แต่ไม่ใช่ปฏิวัติ
ถามว่า มีข่าวในงานศพมารดา พล.อ.อนุพงษ์ ครอบครัวชินวัตรมอบเงิน 50 ล้าน ผบ.ทบ. กล่าวว่า โดยส่วนตัวผมไม่มีทางทำอะไรเช่นนี้ ผมไม่รับเงินทรัพย์สมบัติจากใคร งานศพของคุณแม่ ผมและครอบครัวได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ ใช้เงินไม่มาก เงินที่มาร่วมทำบุญมีจำนวนหนึ่ง ก่อนบรรจุมี 5 ล้านบาท คนที่รับไปคือพี่สาวที่ทำบัญชี และมอบเงินทำบุญให้รพ.พระมงกุฎเกล้า ส่วนวันเผาเหลืออีกล้านเศษก็มอบให้วัด ยืนยันด้วยเกียรติว่าไม่มีเช่นนั้น

"ผมกับครอบครัวชินวัตร มีบุคคลที่รู้จักคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมไม่เคยคุยกับคุณหญิงพจมาน ส่วนภรรยาผมก็ไม่เคย ยิ่งลุกสาว ลูกชาย ไม่เคยรูจึกตระกูลชินวัตร แม้จะพูดคุยก็ไม่เคย ที่เรียน ป.โท ก็มีปีเดียว ไม่รู้จักใคร และลูกผู้หญิงคนเดียวไปอยู่ที่โน่นต้องรักษาตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

เมื่อถามถึง บทบาทของกองทัพ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะป็นกองทัพหรือคนไทยทั้งชาติก็มีความเห็นเดียวกันเทอดทูนสถาบันพระมหาษัตริย์ และตัวของผมเป็นราชองครักษ์มาเกือบ 30 ปี เพื่อให้สังคมเข้าใจ ผมทำงานใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นโครงการพระราชดำริ ผมจะปกป้องรักษาสถาบันด้วยชีวิต ทหารทั้งหมดและครอบครัวก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ในเรื่องการปกป้องรักษาสถาบัน แนวทางการดำเนินการขณะนี้มีการอ้างอิงสถาบัน

"แนวทางที่ถวายความจงรักภักดีต้องไม่มีการอ้าง ไม่ว่าเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมือง พระองค์ท่านต้องอยู่เหนือนั้น ซึ่งพระองค์มีพสกนิกร 60 ล้านคน จะต้องไม่แบ่งแยก การที่จะไปเอามากลุ่มเดียว มองอีกมุมว่าเป็นการแยกท่าน มีเสียงว่ากองทัพไม่ดูแลไม่ปกป้องสถาบัน ผมยืนยันว่าหากมีการจาบจ้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กองทัพจะไม่ปล่อย" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ 7 ต.ค. ที่ตำรวจยิงก๊าสน้ำตาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า ผมไม่มีอะไรจะแก้ตัว เท่าที่ดูการใช้แก๊สน้ำตาไม่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ แต่กรณีที่เกิดขึ้นคงต้องไปดู และเอาผู้เชี่ยวชาญมาดูทั้งของจีน และสหรัฐ มาดูอีกครั้ง

ถามว่าวันนั้นใครสั่งสลายชุมนุมเพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาเข้าชุมนุม ผบ.ตร. กล่าวว่า ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หน้าที่ของตำรวจมีผู้บังคับบัญชาคือ นายกฯ และกฎหมายก็บอกว่าต้องทำตาม มติ ครม.และคำสั่งนายกฯ วันนี้ถามว่าใครเป็นคนสั่ง ต้องรอการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะดีที่สุด
เมื่อเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า 7 ต.ค. ต่อกระทั่งบ่ายค่ำ ทำไมไม่หยุด ผบ.ตร. กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าตำรวจทุกท่านเข้าใจว่าแก๊สน้ำตาไม่ทำให้ผู้บาดเจ็บ บ่าย และเย็น ก็ต้องรอให้มีการตรวจสอบ ขณะนี้ก็มีคณะกรรมการหลายชุด
เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งแล้วว่าการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะต้องทำอย่างไร และก่อนจะใช้ต้องประกาศค่อนข้างชัดเจน สตช.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และโอกาสเกิดในอนาคตก็ยังมี ผมจึงได้ตั้งคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม และจะเอาสื่อเข้าไปด้วย การจะมองว่าการรักษากฎหมายต้องปฏิบัติตามแผนอย่างเดียวก็จะแข็งเกินไป การจะปะทะกันเกิดขึ้น 2 กลุ่ม ก็จะเรียกคณะกรรมการชุดนี้เข้าไปไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจดำเนินการฝ่ายเดียว

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. กล่าวว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้ ประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม และมีความเข้าใจเอื้ออาทรต่อกัน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนำไปสู่การพัฒนา แต่ก็อยู่ในขอบเขตความนิ่มนวล และเหตุผล เราจะเป็นอย่างนี้ไปอีกกี่เจเนอเรชัน ในที่สุดคิดว่าคนไทยจะกลับมาสู่ความปรองดอง สร้างความเจริญให้กับประเทศ เรายึดถือองค์พระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด และเราต้องปกป้อง

ถามว่า แนวโน้มปัจจุบันไม่ไปสู่การประนีประนอม ผบ.สส. กล่าวว่า ลองหันมาประนีประนอมกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด การอยู่ร่วมกันต้องมีเหตุผล เราต้องการให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้และหลายๆ อย่าง เราต้องสามัคคี กองทัพถูกกำหนดบทบาทตาม รธน.2550 และพ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปกป้องไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีภารกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย การป้องกันลักลอบยาเสพติด

ถามว่ากองทัพถูกเรียกร้องให้เลือกข้าง ผบ.สส. กล่าวว่า เราอยู่กับประชาชน แต่เราต้องทำตามบทบาทหน้าที่ที่รธน.กำหนดไว้ ถ้าทำนอกเหนือหน้าที่ รธน. กฎหมาย พ.ร.บ. รัฐบาลจะต้องเป็นผู้สั่งการ เช่น ครูให้สอนหนังสือ พยาบาลให้รักษาคนเจ็บ จะให้นายแพทย์มาป้องกันประเทศเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็คือประชาชน

ถามว่า มีกระแสข่าว พล.อ.ทรงกิตติ จะเป็นหัวหน้าปฏิวัติ ผบ.สส. กล่าวว่า คงเป็นความคิดของผู้พูด ไม่ใช่ความคิดของตนหรือกองทัพ กองทัพอยูกับประชาชนไม่ฝักไม่มีฝ่าย และรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และในส่วนของความแตกแยกทางการเมืองอย่าให้เป็นการแตกต่างของสังคมไทย และช่วยกันทำให้ประเทศไทยพัฒนาถาวร
ต่อข้อถามถึง รัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่กองทัพไม่ใช่

ผบ.สส. กล่าวอีกว่า กองทัพมี 3 เหล่า ทัพบก เรือ อากาศ สิ่งที่ ผบ.ทบ.พูด กองทัพพูด อีกความหมาย คือ กองทัพบก และกองทัพอากาศเห็นด้วยเป็นหนึ่งเดียว

สานเสวนาสู่ทางออกของประชาธิปไตย

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นที่ปรากฎของความเป็นการเมืองแยกขั้วแบ่งข้างกลายเป็นพวกเขาพวกเรา กลายเป็นพวกมันพวกกู การเมืองแห่งการเอาแพ้เอาชนะกัน การเมืองที่มองอดีตเพื่อจะพิสูจน์ความถูกผิด ความจริง การพิสูจน์ถูกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและควรจะกระทำด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำผิดจริงก็ต้องพิสูจน์แล้วเอาคนผิดมาลงโทษ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ไม่อาจจะหาข้อยุติได้ไม่สามารถจะเดินไปสู่สันติภาพหรือสันติสุขที่คนไทยทั้งหลายใฝ่ฝันถึงก็เนื่องจากคำว่าสันติ หรือสันติภาพที่มาจากภาษาอังกฤษว่า พีซ (Peace) นั้นไม่ใช่เป็นคำคำเดียวแต่จะมีคำว่าจัสต์ (Just) ซึ่งมาจากคำว่าจัสตีส (Justice) ซึ่งแปลว่ายุติธรรม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ จัสต์พีซ (Just Peace) นั่นคือ คนที่อยู่ในประเทศนั้นในพื้นที่นั้นมีความรู้สึกว่า เขายังไม่ได้รับความยุติธรรม
ยุติธรรมที่ไม่ใช่มองเพียงยุติธรรมทางกฎหมาย (Legal Justice) ถูกผิดตามมาตรานั้น มาตรานี้ตามกฎหมายที่ผู้มีอำนาจออกหรือใช้ แต่เขายังต้องการความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ที่มองไกลกว่าความยุติธรรมทางกฎหมาย มองไปข้างหน้ามองอนาคต มองผลที่จะตามมาทั้งหลายดูเหมือนว่า ความที่แยกเป็นพวกเขา พวกเราทำให้แต่ละพวกแต่ละกลุ่มก็จะมองกระบวนการที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในมุมมองแห่งความต้องการทั้งสองแบบของความยุติธรรมคือทั้ง ยุติธรรมทางกฎหมายและยุติธรรมทางสังคม โดยหากจะเอาผิด “พวกเขา” ก็จะมองในสายตาของยุติธรรมทางกฎหมาย แต่ถ้าจะอธิบายการกระทำของ “พวกเรา” ก็จะมองในสายตาของยุติธรรมทางสังคม
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะพวกเขาพวกเราซึ่งกลายเป็นพวกมันกับพวกกูได้นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ไว้วางใจเพราะไม่ใช่พวกเดียวกันกับความไว้วางใจเพราะเป็นพวกเดียวกันเป็นความไว้วางใจทางสังคม (Social Trust) และความไม่ไว้วางใจนี้เองจึงทำให้ไม่ว่าจะมีการกระทำใด ๆ ของใครที่ดูจะเอนเอียงไปเหมือนเห็นด้วย หรืออาจจะไปสนับสนุนพวกเขาก็จะเริ่มไม่ไว้วางใจ และหาเหตุผลมาอธิบายให้คนอื่น ๆ ทั้งหลายเห็นถึงความถูกต้องของเราและไม่ถูกต้องของเขา และความเป็นพวกเขาพวกเรานี้จึงไม่อาจนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้งได้
เพราะความรู้สึกแห่งการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะขาดทักษะที่สำคัญคือการฟังอย่างตั้งใจ การฟังอย่างตั้งใจที่ในภาษาจีนใช้คำว่า “ทิง” ซึ่งอักษรตัวเขียนคำนี้มีองค์ประกอบที่รวมเอาคำว่าหู และคำว่า ใจ หรือ หัวใจ ไว้ด้วยกัน นั่นคือ การจะเข้าใจ เข้าถึง ดังพระราชาดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเรายังต่างไม่ฟังกันและกันโดยใช้ทั้ง หู และ หัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานด้วยกันจึงจะเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราและนำไปสู่ความรู้สึกเป็นพวกเราเท่านั้น
หนังสือการเมืองสำหรับประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง (Politics for People) ของเดวิด แมทธิว ประธานมูลนิธิเคทเธอริง ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเมืองของประชาชน (Citizen Politics) ในสหรัฐอเมริกาได้พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนขึ้นมาของอเมริกาและคำแรกที่เริ่มต้นได้เขียนว่า “พวกเราประชาชน” หรือ “We the people” ทั้งผู้นำในการประกาศอิสรภาพและประชาชนเป็นกลุ่มเดียวกันหรือพวกเรา แต่เมื่อพัฒนาการเมืองไปเรื่อย ๆ นักการเมืองของอเมริกากับประชาชนเริ่มมีมุมมองที่ต่างกันทั้งที่แต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว ประชาชนที่เดวิด แมทธิว ได้ไปสำรวจความคิดเห็นมาเริ่มมองเป็น “พวกเราประชาชน พวกเขารัฐบาล” หรือ We the people, the government”
ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำกับสิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ตรงกัน ดูจะมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศไทย เดวิด แมทธิว อธิบายปรากฎการณ์นี้เหมือนกับสามีและภรรยาที่อยู่ด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างทำตัวเป็นสามีที่ดีและภรรยาที่ดีในมุมมองหรือสมมติฐานของตัวเอง เช่น สามีก็อธิบายว่าการที่กลับบ้านดึกและมีงานเยอะต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว การกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่สามีที่ดีฝึกกระทำ ก็เหมือนกับรัฐบาลพยายามทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาแต่สิ่งที่รัฐทำไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนอยากให้ทำ
แมทธิวบอกว่ายิ่งสามีภรรยาคู่นี้อยู่ด้วยกันนานเท่าไรก็จะยิ่งเกลียดกันมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ “ดี” ของแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน แต่ละฝ่ายก็พยายามหาเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนดีของตัวเอง ความไว้วางใจก็ค่อย ๆ หมดไป เพราะไม่ฟังกัน ไม่หันหน้ามาพูดกันในลักษณะของการสานเสวนา (หรือ dialogue) แต่ละฝ่ายจะใช้วิธีการอธิบายความถูกต้องของตนเองและกล่าวหาความผิดพลาดของอีกฝ่ายโดยการใช้การโต้เถียง (หรือ debate) ความแตกต่างของการสื่อสารกันทั้งสองอย่างก็คือ เมื่อไรโต้เถียงหรือดีเบทก็คือการมาพูดเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน เหมือนอย่างที่นักการเมืองหรือผู้อาสาสมัครมาเป็นตัวแทนประชาชนมาปกครองประเทศ ไมว่าจะในสหรัฐอเมริกา
ในเวลานี้ที่เราเห็นผู้สมัครสองพรรคดีเบท หรือโต้เถียงกันอยู่ จะพยายามอธิบายว่านโยบายฉันถูก ของอีกฝ่ายผิด และพยายามไปหาอดีตของฝ่ายตรงข้ามว่าทำอะไรผิดพลาดหรือเลวอย่างไร ซึ่งในประเทศไทยก็ดูไม่ต่างกันเมื่อมีการหาเสียงเพื่อเอาชนะกันระหว่างพรรคการเมือง
หรือแม้แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เพิ่งผ่านพ้นไปเลือกผ่านไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ขององค์กร เช่น กกต.จะมาตัดสินว่าสมควรประกาศรับรองหรือให้ใบเหลือง ใบแดงกัน ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า เพราะแต่ละฝ่ายก็จะมาแก้ตัวว่าไม่ผิด เรายังไม่แก้ปัญหาต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง เรายังไม่ได้ทำการเมืองที่สมานฉันท์การเมืองของประชาชน ที่ประชาชนกำหนดนโยบาย กำหนดกฎกติกา หรือผู้แทนอาจจะไปร่างแล้วให้ประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมซึ่งไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์เพราะเวทีประชาพิจารณ์ก็เป็นเวทีโต้เถียงหรือดีเบทของฝ่ายที่ทำโครงการหรือออกกฎหมายและบอกว่าคิดดีแล้วประชาชนยังไม่เข้าใจ ประชาชนซึ่งมองเห็นต่างก็จะโต้แย้ง
หรือแม้แต่การลงประชามติที่หลาย ๆ คนคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีเพราะให้ประชาชนแต่ละคนทีละคนได้ตัดสินเองดังที่ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ประชามติในปัญหาที่สลับซับซ้อนก็ดีหรือรัฐธรรมนูญที่มีมากมาย มาตราก็ดี ไม่อาจจะใช้การตัดสินใจเพียงผ่านหรือไม่ผ่าน รับหรือไม่รับ ทั้งที่คนห่วงหรือไม่พอใจเพียงไม่กี่มาตราไม่กี่ประโยคก็ต้องไม่รับหรือไม่ผ่าน ฝ่ายที่อยากให้ผ่านกับมารับไปก่อน ผลการตัดสินใจโดยการประชามติจึงออกมาเป็น “แพ้-ชนะ” คนไม่อยากให้ผ่านเมื่อผ่านก็รู้สึกแพ้ คนอยากให้ผ่านเมื่อผ่านก็รู้สึกชนะ
ประเทศไทยได้ถูกแบ่งออกเป็นสีเหลืองกับสีแดง เหมือนกับเวลานี้ที่ใครสวมเสื้อสีเหลืองก็พวกหนึ่ง สีแดงก็พวกหนึ่ง กลายเป็นพวกเขาพวกเรา พวกมันพวกกู ทางออกของประเทศไทยเวลานี้คือการหันหน้ามาพูดคุยกันมาเจรจากันที่เรียกว่าสานเสวนาหรือไดอาล๊อก (dialogue) ที่ไม่ได้มาเอาแพ้เอาชนะกัน มาฟังอย่างตั้งใจกัน มาหาทางออกร่วมกัน ในการสานเสวนาจะต้องมีกติกาและมีคนกลาง คนกลางที่เป็นที่ยอมรับหรือไว้วางใจหรือเป็นที่เชื่อถือของฝ่ายต่าง ๆ และเป็นคนกลางที่เข้าใจกระบวนการการสานเสวนาที่ไม่ใช่มาเอาแพ้ชนะกัน ผู้ที่มาเจรจาต้องเรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ ผลัดกันพูดผลัดกันฟัง กำหนดประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหรือหลาย ๆ ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ประเด็นหรือโจทย์จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน มานิยามหรือมากำหนดโจทย์ที่ไม่ใช่จุดยืน (หรือ position) ซึ่งเป็นคำตอบที่แต่ละฝ่ายมีอยู่แล้ว แต่กลับไปหาโจทย์ที่แท้จริง เช่นอยากเห็นประเทศชาติกลับคืนสู่สันติสุขสันติภาพที่ยืนอยู่บนความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม มีการเมืองที่ไม่ใช่มองเฉพาะการเมืองเท่ากับการเลือกตั้งแต่เป็นการเมืองที่มองถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนให้ประชาชนได้สามารถมีที่ยืนที่เรียกว่าพื้นทีสาธารณะ (public space) ซึ่งไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองอย่างเดียว เป็นต้น

การมาสานเสวนาหากันจึงไม่ใช่การเจรจาอย่างเราเคยรู้จักและเข้าใจที่เป็นการเกลี้ยกล่อมให้ยอมๆ กันหรือการเจรจาที่เป็นการต่อรองที่ต้องมีคนได้มีคนเสีย มีคนแพ้ มีคนชนะ เป็นการเจรจาที่ทุกฝ่ายชนะ การจะยอมอะไรก็ไม่ใช่ยอมกันโดยการยกมือลงมติว่าเสียงฉันมากกว่าชนะ แต่จะเป็นมติที่เรียกว่า “ฉันทามติ” (หรือ consensus) เป็นมติที่เกิดจากความพึงพอใจ อาจไม่ถึงกับแต่ละคนทีละคนเห็นด้วยหมดที่เรียกว่าเอกฉันท์ แต่เป็นมติที่ออกมาจากการฟังกันด้วยใจและอย่างตั้งใจแล้วมองหาทางเลือกหลากหลายช่องทางที่ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันและกันแล้วปรับรูปแบบจนเห็นว่านี่แหละใช่ จะเป็นมติที่ยั่งยืนกว่า และผู้ที่เป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นกลางที่เป็นที่ไว้วางใจติดตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากฉันทามติว่านำไปสู่ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ตามข้อตกลงไหม
มีอุปสรรคใดที่ปฏิบัติไม่ได้กลับมาสานเสวนากันอีก จะมีรัฐบาลชั่วคราวหรือเฉพาะการเพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างฉันทามติหรืออย่างไร ก็จะเกิดจากเวทีการสานเสวนานี้ ผู้มาร่วมสานเสวนาอาจจะกำหนดตัวแทนเบื้องต้นจำนวนหนึ่ง และมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่เวทีโต้เถียงหรือดีเบท แต่เป็นเวทีย่อยเพื่อหาฉันทามติร่วมกำหนดกติกาบ้านเมืองให้เกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมต้องมีการสื่อสารถึงกันและกันตลอดเวลา สื่อจะต้องเข้าใจกระบวนการและกติกาด้วยความเข้าใจไม่สร้างการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสอย่างแท้จริง อะไรที่ไม่ชัดเจนไม่เข้าใจให้มีการสื่อสารกันก่อนจะมีคำพิพากษาว่าพวกนั้นพวกนี้ เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่สังคมจะต้องเรียนรู้กันใหม่ จะต้องมีเวทีสื่อที่ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากันเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้าหาทางออก

จึงขออนุญาตสรุปเสนอทางออกของการแก้ปัญหาทางด้านของประเทศที่อาจจะสรุปได้ก็คือ

1) ให้หาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่าง ๆ เช่น ประธานวุฒิสภาพร้อมทีมงานที่เข้าใจกระบวนการการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ และเข้าใจกระบวนการสานเสวนา

2) ให้เปิดเวทีการสานเสวนาหลังจากทำความเข้าใจแต่ละฝ่ายถึงขั้นตอนและกติกาของกระบวนการ

3) ให้มีการทำความเข้าใจกับสาธารณชนในรายละเอียดของกระบวนการอย่างโปร่งใสและต่อเนื่องโดยตลอด

4) ให้มีกติกาของการสานเสวนาที่ฝ่ายที่จะมาเจรจาร่วมตกลงด้วยกันเพื่อนำไปสู่การหาทางออก

5) ฝ่ายที่ขัดแย้งส่งตัวแทนรับทราบ เรียนรู้ กติกา กระบวนการ ก่อนการสานเสวนาหาทางออก

6) กำหนดประเด็นของการสานเสวนาร่วมกันโดยเป็นประเด็นหรือโจทย์ที่ฝ่ายต่าง ๆ เห็นพ้องต้องกันที่ไม่ใช่จุดยืนแต่เป็นจุดสนใจหรือความต้องการ ความห่วงกังวลที่อยู่เบื้องหลังจุดยืน เช่นไม่ใช่ตั้งโจทย์ว่าสร้างเขื่อนหรือไม่สร้าง แต่เป็นโจทย์ เช่น จะบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างไร (ให้มีน้ำพอใช้และไม่เกิดการท่วมท้นอยู่เป็นประจำ) เป็นต้น

7) การกำหนดการเมืองใหม่เมื่อสามารถหาทางออกของปัญหาปัจจุบันที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ (ฉันทามติแล้วก็ให้ใช้การสานเสวนากับประชาชนในแต่ละพื้นที่กระจายไปให้ทั่วถึง แล้วกลับมาหาฉันทามติร่วม ซึ่งวิธีการนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เคยดำเนินการในหลาย ๆ กรณี และสามารถหาฉันทามติในประเด็นนั้นได้ผลดีมาแล้ว)

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอโดยสังเขปที่จะต้องมีการทำความเข้าใจในรายละเอียดอีกมาก อยากจะฝากไว้สุดท้าย จากหนังสือกล้าล้มเหลวที่ผมได้แปลไว้ ผู้เขียนคือ บิลลี่ ลิม บอกว่า “ถ้าคุณยังทำอะไรยังที่เคย ๆ ทำกันมา คุณก็จะได้สิ่งที่เคย ๆ ทำมาแล้วเท่านั้น” ฉะนั้นเราจะหันมาร่วมกันหาสันติสุข สันติภาพที่มีความยุติธรรมร่วมกัน เราก็ต้องใช้กระบวนการวิธีการใหม่คือ การฟังอย่างตั้งใจ การสานเสวนา (หากมาสานเสวนากับประชาชนอาจเรียกว่า ประชาเสวนา) การหาทางออกโดยมองจุดสนใจ ความห่วงกังวลไม่ใช่จุดยืน และใช้ฉันทามติที่ไม่ใช่เสียงข้างมากจากการยกมือลงมติ

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วธ.โชว์ภาพ84 ศิลปินพระจริยวัตรพระพี่นางฯ


ศิลปินวาดภาพพระประวัติ-พระจริยวัตร "พระพี่นางฯ" เสร็จแล้ว พร้อมเผยโฉม 4 ภาพใหญ่ เล่าเรื่องราวตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนเจริญพระชันษาขึ้น ติดตั้งบริเวณรั้วราชวัตร ให้แล้วเสร็จก่อนในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรพระเมรุ 20 ต.ค.นี้


ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยวานนี้ (15 ต.ค.) ถึงความคืบหน้าโครงการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า ศิลปินทั้ง 84 คน ได้วาดภาพศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระประวัติ พระกรณียกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ละภาพมีการนำเสนอที่น่าสนใจ เนื่องจากศิลปินได้เลือกแบบจากพระฉายาลักษณ์ที่มีอยู่แล้ว และนำมาเป็นแบบวาด


ศ.ดร.อภินันท์ เปิดเผยด้วยว่า ศิลปินจะต้องปรับจากภาพถ่าย มาเป็นภาพเขียนด้วยสีน้ำมัน และสีอะคริลิก พร้อมทั้งสอดแทรกจินตนาการ และความรู้สึกของตนเองลงไปในภาพนั้นๆ ให้มีความสอดคล้องกับองค์ประกอบหลักโดยยึดรายละเอียดที่ใช้เทคโนโลยีจิตรกรรมไทยผสมผสานกับเทคนิคส่วนตัว โดย สศร.จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวศิลปิน 84 คน 84 ภาพ ที่โรงแรมรอยัล (รัตนโกสินทร์) ถนนราชดำเนิน ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น.


ส่วนการติดตั้งภาพศิลปกรรมทั้ง 84 ภาพนั้น ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า จะแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดแรก 4 ภาพ เป็นผลงานของ 4 ศิลปินชื่อดัง คือ ธีระวัฒน์ คะนะมะ ปรีชา เถาทอง พรชัย ใจมา สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ซึ่งทั้ง 4 ภาพมีความเป็นเอกภาพ สามารถบรรยายเรื่องราวได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนเจริญพระชันษาขึ้น ติดตั้งบริเวณรั้วราชวัตร


ขณะที่ชุดที่สอง 80 ภาพเป็นภาพพระประวัติและพระจริยวัตรทั่วไป ติดตั้งบริเวณศาลาลูกขุน เบื้องต้น สศร.จะเร่งติดตั้ง 4 ภาพใหญ่กว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 3 เมตร บริเวณ 4 ด้านรั้วราชวัตร ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรพระเมรุ ในวันที่ 20 ต.ค.นี้


นายปรารพ เหล่าวานิช รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรพร้อมอำนวยความสะดวกให้ทาง ศสร. เข้าติดตั้ง 4 ภาพใหญ่ที่บริเวณรั้วราชวัตร ซึ่ง 1 ใน 4 ภาพเป็นภาพวาดทรงกรมสื่อถึงพระอิสริยยศของพระองค์ที่ได้รับสายสะพายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยศิลปินจิตรกรชั้นเยี่ยม ศ.ปรีชา เถาทอง ขณะนี้ ได้ใส่กรอบรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมติดตั้งทั้ง 4 ด้านของรั้วราชวัตร ประกอบด้วย ทับเกษตร อาคารโถงหลังคาทรงปะรำ หรือหลังคาแบนที่ปลูกริมแนวรั้วราชวัตร ใช้เป็นสถานที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีและฟังพระสวดอภิธรรม


รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ภาพวาด 80 ภาพขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 100 ซม. ของศิลปิน 80 ท่าน แบ่งเป็น 13 หมวด อาทิเช่น พระประวัติ ภาพสะท้อนความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ภาพพระกรณียกิจ เป็นต้น จะจัดแสดงนิทรรศการภายหลังพระราชพิธีเสร็จแล้ว และพิมพ์เป็นหนังสือภาพ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาชมทั้งพระเมรุ และภาพวาด


นายสมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ศิลปินวาดภาพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ในหัวข้อ "ภาพทรงพระเยาว์" 1 ใน 4 ภาพ ที่จะติดตั้งในพระที่นั่งทรงธรรม กล่าวว่า ได้นำเสนอภาพพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ตั้งแต่ทรงพระประสูติจนเจริญพระชันษาในวัยสาว โดยนำภาพถ่ายพระฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถต่างๆ มาทำเป็นภาพสเกตช์ต้นแบบ ซึ่งเน้นการใช้สีโทนสีน้ำตาลและสีสันสดใสเข้ามาใช้ในการวาดภาพ เพื่อสร้างความรู้สึกนุ่มนวลและสวยงาม เนื่องจากได้ไอเดียมาจากหนังสือแสงหนึ่ง คือ รุ้งงาม ที่แสงรุ้งเป็นแสงแห่งอนาคต ความฝัน และความหวัง


ทั้งนี้ ได้วางตำแหน่งให้ภาพพระฉายาลักษณ์ในวัยสาวของพระองค์ไว้ตรงส่วนกลางของภาพ ซึ่งสะท้อนพระจริยวัตร ความสง่างามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

'ชำนาญ'ลุ้นป.ป.ช.ฟันสมชายหลุดนายกฯ


รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 เผยลุ้นคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ชี้หากตัดสิน "สมชาย" ผิดต้องพ้นจากนายกฯ ทันที เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (6) แนะให้ถือโอกาสนี้ลงจากตำแหน่งนายกฯ สร้างบรรทัดฐานให้ชาวโลกเห็นว่าไทยตั้งใจปราบคอร์รัปชัน


นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 กล่าวถึงการชี้มูลความผิดในคดีที่เขาได้ร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการทุจริตเรื่องการขายทอดตลาดในกรมบังคับคดี แต่สุดท้ายโดนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และเสนอให้ไล่นายชำนาญ ออกจากราชการด้วย ซึ่งถือเป็นความผิดฐานเป็นข้าราชการละเว้นหน้าที่ปราบปรามการทุจริตในวงราชการ ว่า ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี


รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ กล่าวด้วยว่า คดีนี้ความผิดไม่ใช่แค่ความผิดทางอาญา แต่ยังเป็นความผิดวินัย โทษฐานที่เป็นข้าราชการละเว้นไม่ปราบปรามทุจริต ผิดวินัยร้ายแรง ประพฤติผิดทุจริตต่อหน้าที่ ผลของมันคือจะไปไกลกว่านั้น เมื่อคุณสมชาย เป็นนักการเมือง เป็น ส.ส.และเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วโดนตัดสินโทษประพฤติผิดวินัยร้ายแรง จะทำให้นายสมชาย ขาดคุณสมบัติ การเป็น ส.ส.


"ผมจะรอชี้แจงรายละเอียดหลัง ป.ป.ช.ชี้มูล คุณสมชาย จะขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (6) ที่ผู้สมัคร ส.ส.ต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบในวงราชการ เมื่อเข้าลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. ย่อมจะเข้าลักษณะต้องห้ามการเป็นนายกฯ จะทำให้นายสมชาย ต้องพ้นจากความเป็นนายกฯ เพราะขาดคุณสมบัติ"
นายชำนาญ กล่าวตอบข้อถามที่ว่านักการเมืองไทยมักไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมว่า คดีนี้จะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นายกฯ โดนชี้มูลความผิดฐานละเว้นไม่ปราบปรามการทุจริต ซึ่งเท่ากับผิดวินัยร้ายแรง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยความผิดนี้ มีโทษสองประการ เท่านั้น คือ ไล่ออก หรือปลดออกจากราชการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายสมชาย บอกว่าพ้นจากตำแหน่งราชการมาแล้วการชี้มูลความผิดจะโยงไม่ถึงตำแหน่งปัจจุบันคือตำแหน่งนายกฯ นายชำนาญ กล่าวว่า กรณีนี้มีผลย้อนหลัง แม้นายสมชาย จะลาออกจากราชการตั้งแต่ปี 2549 แต่คดีนี้มีการกล่าวหา และ ป.ป.ช.รับไว้พิจารณา ก่อนที่นายสมชาย จะลาออกจากราชการ การชี้มูลครั้งนี้จึงมีผลย้อนไปตั้งแต่นายสมชาย ยังอยู่ในหน้าที่ราชการ


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายสมชาย ไม่ยอมพักปฏิบัติหน้าที่จะต้องยื่นตีความหรือไม่ รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 กล่าวว่า เรื่องนี้ตรงไปตรงมา ตามกฎหมาย ไม่ต้องให้ใครตีความ


"คุณสมชาย น่าจะดีใจเพราะเป็นทางลงให้คุณสมชาย ที่ต้องพ้นจากการเป็นนายกฯ จากข้อหานี้ ควรภูมิใจว่าเป็นนายกฯ คนแรกของโลกที่โดนดำเนินคดีฐานไม่ปราบปรามทุจริต ยิ่งทุกวันนี้เราพูดเรื่องคอร์รัปชันในวงราชการ นายกฯ ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างให้กับคนทั้งโลก ว่าไทยปราบปรามอย่างแท้จริง"

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"ปรีชา"ตั้งเงื่อนไข"สมชาย"เลือกทีมสอบ7ตุลาเอง


หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าว (12 ต.ค.) กรณีได้ชื่อประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการสลายผู้ชุมนุม คือนายปรีชา พาณิชย์วงศ์ อดีตรองประธานศาลฏีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด นั้น วานนี้ (14) ผู้สื่อข่าวได้ประสานเพื่อขอสัมภาษณ์นายปรีชา แต่ปรากฎว่า นายปรีชา ได้แจ้งกับคนใลก้ชิดว่า ยังไม่เห็นหนังสือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล จึงยังไม่ให้สัมภาษณ์


อย่างไรก็ตาม คนใลก้ชิดนายปรีชา แจ้งว่า นายปรีชา จะเปิดแถลงข่าวหลังจากที่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการ


ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปรีชา ไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธที่จะเป็นประธานสอบสวนเหตุการณ์ 7 ตุลา ใช่หรือไม่ คนใกล้ชิดนายปรีชา บอกว่า ไม่ปฏิเสธ


แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นายปรีชา นั้นได้เสนอเงื่อนไขไปยังนายสมชาย ว่า หากจะให้เป็นประธานสอบสวน จะขอเลือกคนเป็นกรรมการด้วยตัวเองเท่านั้นจึงจะยอมรับเงื่อนไขเป็นประธาน


แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดนายปรีชา ยืนยันว่า นายปรีชา นั้นถือเป็นตุลาการที่ตรง ไม่มีทางที่รัฐบาลหรือใครจะมาสั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้ การได้นายปรีชา เป็นประธานสอบสวนเชื่อว่าจะได้ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้


อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่มั่นใจว่า รัฐบาล โดยเฉพาะนายสมชาย จะรับได้หรือไม่กับเงื่อนไขที่นายปรีชา เสนอไปคือต้องเลือกกรรมการทั้งหมดด้วยตัวเอง

แผลในใจเหยื่อ


ปลอกกระสุนแก๊สน้ำตาที่เก็บได้บริเวณหน้ารัฐสภา และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังเหตุการณ์ 7 ตุลามหาวิปโยค มีคำเตือนภาษาอังกฤษ ระบุว่า “อย่ายิงตัวบุคคล เพราะจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้” แต่เกือบตลอดทั้งวัน เสียงคำรามคล้ายระเบิดดังออกจากปลายกระบอกปืน โดยที่ผู้ลั่นไกกระสุนให้วิ่งออกจากลำกล้องนั้นสวนทางกับคำเตือนดังกล่าว
กระสุน และควันจากระเบิดแก๊สน้ำตา ตกใส่ผู้ชุมนุมไม่เพียงนำไปสู่การสูญเสียทางกาย แต่นั่นคือมัจจุราชที่พรากชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปจากร่าง หลายรายแม้จะไม่เสียชีวิต แต่ต้องทุพลภาพไปตลอดชีวิต ดังเช่น มิถุนา อุ่นแก้ว ชายหนุ่มวัย 26 ปี จากจังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งสูญเสียข้อเท้าซ้าย จากแรงอัดของกระสุนแก๊สน้ำตา
มิถุนา เล่าถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ ขณะนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า เขาเป็นการ์ดพันธมิตร ซึ่งประจำอยู่ที่บริเวณเชิงสะพานอรทัย แต่ในช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม มีการเรียกระดมการ์ดให้เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา และไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่วันนั้น (7 ตุลาคม)
“ตอนประมาณ 5 ทุ่มจนถึงเช้าเหตุการณ์ยังปกติ ไม่มีอะไร แต่เห็นตำรวจเสริมกำลังเข้ามาเยอะมาก ประมาณ 6.20 น.ก็ได้ยินเสียงดังตูม ผมก็หันไปเห็นคนที่มาชุมนุมนอนหมอบลงกับพื้น แล้วห่างไปประมาณ 1 เมตร เห็นพี่ผู้ชายคนหนึ่งอยู่สภาพนั่งพับขา ขาขาดสองข้างเลือดนองเต็มพื้น ผมจะเข้าไปช่วย กำลังจะก้าวเท้า ก็ได้ยินเสียงดังบึ้ม คราวนี้กระสุนตกตรงหน้า ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองโดน ไม่รู้สึกอะไร แต่มองไปที่ปลายข้อเท้าเห็นเลือดไหลออกมา”
เด็กหนุ่มคนนี้ทำงานเป็นช่างเชื่อมอยู่ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง และเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรระยอง มาก่อนพร้อมเพื่อนร่วมงานอีก 9 คน ต่อมาเดินทางมาฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตร เป็นช่วง ๆ แรกๆ ไป-กลับ และตัดสินใจสมัครเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยโดยอยู่กลุ่มเดียวกับการ์ดอาสามจาก จ.ปัตตานี
“พอรู้ตัวว่าข้อเท้าขาด ผมก็เขย่งหลบมานั่งพิงกำแพง ตอนนั้นตำรวจยิงเข้ามานับไม่ถ้วน เห็นพี่อีกคนหนึ่งกระดูกฉีกออกมาเลย ผมเสียใจมีตัวเองต้องเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่เสียใจเท่าที่ตำรวจทำรุนแรงกับประชาชน ผมเจ็บและปวดบาดแผลมาก ก็ร้องให้แต่น้ำตามันไม่ไหล”
มิถุนา บอกว่า ทุกครั้งที่มาชุมนุมญาติพี่น้องก็จะเตือนไม่ให้มาเพราะเกรงเป็นอันตราย แต่ทุกครั้งก็จะบอกกลับไปว่า จุดที่ชุมนุมมีความปลอดภัย แม้จะมีการปะทะกับตำรวจบ้างก็แค่ฟกช้ำ รุนแรงที่ที่สุดแค่เข่าแตก หัวแตก คงไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น
“มีคนถามทุกครั้งว่า ได้ค่าจ้างเท่าไหร่ ผมบอกได้เลยว่า พวกผมที่มากันทั้งหมดไม่มีใครได้รับค่าจ้างเลยแม้แต่บาทเดียว ผมแค่อยากรู้ว่าเขามาชุมนุมกันทำไม พอมารับทราบข้อมูลแล้ว ก็เห็นด้วยกับเขา...เจ้านายไม่ว่า เพราะว่าเขาก็มากันทั้งครอบครัว”
เด็กหนุ่มจากศรีษะเกษ กล่าวทิ้งท้าย ว่า หากรักษาบาดแผลหายจนสามารถใส่ข้อเท้าเทียมได้ หากการชุมนุมยังไม่เลิก ก็จะกลับร่วมชุมนุมต่อ เพราะสิ่งที่อยากเห็นที่สุดหากมีการเปลี่ยนแปลง คือ การได้นักการเมืองที่มีคุณธรรม และไม่คดโกงเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม อาการบาดเจ็บจากพิษกระสุนแก๊สน้ำตาของมิถุนา ยังถือโชคดีกว่า รุ่งทิวา ธาตุนิยม หญิงวัย 46 ปี จาก จ.นครราชสีมา หลายเท่า ในวันนั้นร่างของ รุ่งทิวา ได้รับการส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีด้วยสภาพกะโหลกศรีษะแตก แขนหัก และนัยน์ตาข้างซ้ายหลุดออกจากเบ้าตา และแม้ว่าคณะแพทย์ที่ทำการรักษาจะผ่าตัดสมองไปแล้ว แต่อาการรับรู้ของ รุ่งทิวา ยังไม่มีการตอบรับ นอกเหนือจากสัญญาณชีพจรที่ยังคงบอกว่า เธอยังมีชีวิตอยู่และหากรอดชีวิตก็มีโอกาสเป็นเจ้าหญิงนิทราสูงมาก เนื่องจากเนื้อสมองส่วนหนึ่งสูญหายและบอบช้ำจากแรงอัดกระแทกอย่างรุนแรง
พี่สาวของ รุ่งทิวา เล่าให้ฟังว่า รุ่งทิวา เดินทางออกจากบ้านพักที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ด้วยรถตู้พร้อมกับเพื่อน ๆ จำนวนหนึ่งในช่วงบ่ายโมง หลังจากทราบเหตุการณ์ว่ามีการสลายกลุ่มพันธมิตร ที่หน้ารัฐสภาในช่วงเช้าตรู่ แม้สามีจะเตือนว่า อันตราย และไม่อยากให้มาเข้าร่วมชุมนุมก็ตาม
“เขาหน้าจะมาถึงที่ทำเนียบประมาณ 16.00 น แล้วก็เข้าไปที่หน้า บช.น. ปกตินิสัยเขาเป็นคนชอบความยุติธรรม เป็นนักสู้ ไม่ชอบเห็นในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมาครอบครัวก็ไม่ได้ห้ามปราม แต่สามีเขาไม่อยากให้มา เพราะกลัวจะเกิดอันตราย เขาก็ไม่ค่อยเชื่อ ปกติเขาไป ๆ มา ๆ ไม่ได้มาร่วมชุมนุมทุกวัน”
รุ่งทิวา มีบุตรสองคนเป็นชายวัย 21 ปี และหญิงวัย 15 ปี ป้าของเด็กทั้งสองบอกว่า ขณะนี้หลาน ๆ ยังไม่ค่อยทราบว่าแม่มีอาการอย่างไร แต่จะคอยถามว่าแม่จะกลับบ้านได้เมื่อไหร่ ซึ่งหากดูจากอาการตามที่แพทย์แจ้งให้ญาติทราบก็ค่อนข้างรุนแรง
พ.ญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพียงว่า สมองของผู้ป่วยมีอาการบอบช้ำมาก ทั้ง ๆ ที่สภาพร่างกายยังมีอาการตอบสนองในทางที่ดีพอสมควร แต่มีเลือดออกในสมองเพิ่ม และโอกาสที่จะรอดชีวิตมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
“หมอตอบไม่ได้ว่า แก๊สน้ำตาทำให้ผู้ป่วยเป็นเช่นนี้หรือไม่ ตอนรับเข้ามาพบว่าแผลสกปรกมาก เนื้อสมองช้ำเหมือนถูกแรงอัดระเบิดกระแทกอย่างรุนแรง กะโหลกศีรษะร้าว และตามลำตัวมีบาดแผล และแขนหัก”
สภาพการณ์ของ รุ่งทิวา ในทางการแพทย์เรียกว่าอยู่ในขั้นโคม่า แม้โดยรวมแล้วอาการจะไม่แตกต่างจาก ธัญญา กุลเก้ว ชายวัย 55 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บขาขาด จากเหตุล้อมปราบประชาชนที่บริเวณด้านข้างรัฐสภา ขณะนี้แพทย์โรงพยาบาลวชิระพยาบาล ได้รักษาโดยตัดขาไปแล้ว อาการทั่วไปยังสลึมสลือไม่รู้สึกตัว และอาการน่าเป็นห่วง และยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ต่อไป เ
ช่นเดียวกับอาการของ อดิสร สนใจแท้ ที่ได้รับบาดเจ็บเสียแขน ซึ่งยังคงนอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยญาติ ๆ ของทั้งสองครอบครัวปฏิเสธ ที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากสภาพจิตใจไม่พร้อมและยังอยู่ในอาการช๊อคกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างไม่คาดฝัน
การยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกการเรือน ถนนราชวิถี ของเจ้าหน้าตำรวจที่ตั้งกำลังอยู่ที่ถนนแยกพิชัย เมื่อเวลา 10.00 น.(7 ต.ค.) แม้จำนวนกระสุนแก๊สน้ำตาจะมีปริมาณน้อยกว่า แต่ 5 นัดแรกที่ตกถึงพื้นก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากเกือบจะเหยียบกันตาย เนื่องจากควันของแก๊สดังกล่าวทำให้เกิดอาการแสบระคายเคืองไปทั่วผิวหน้า และผิวหนัง บางรายมีอาการสำลักควัน หายใจไม่ออกจนแพทย์อาสารวมทั้งหน่วยทหารเสนารักษ์จากกองร้อย 01 พัน 3 รอ.(กองพลที่หนึ่งรักษาพระองค์ จำนวน 28 นาย) ต้องรีบลำเรียงผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาลวชิระพยาบาลทันที
จำปี ปุราทะ วัย 55 ปี ผู้ร่วมชุมนุมจากเขตดินแดนกำลังใช้ผ้าชุบน้ำและยกน้ำในขวดพลาสติกราดลงไปที่บริเวณลำคอของสามี เธอเล่าว่า เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า หลังจากทราบว่าตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มพันธมิตร ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จึงชวนสามี และเพื่อนบ้านออกมาให้กำลังใจ โดยเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเช่นหน้ากากป้องกันควันพิษ และผ้าขนหนู แว่นกันควัน และขวดน้ำไว้ป้องกัน
“ตำรวจทำรุนแรงกับประชาชนเกินไป เรามีแต่มีเปล่า ไม่มีอาวุธ ทำไมต้องยิงกระสุนแก๊สน้ำตาใส่จนมีคนได้รับบาดเจ็บจนขาขาด พวกเราจะไม่ถอยหนี ตอนบ่ายจะกลับบ้านไปพักเอาแรง และตอนค่ำ ๆ จะออกมาใหม่ เราไม่ต้องการให้ ส.ส. เข้าประชุม ก็แค่มาปิดถนน แม้ผู้มาชุมนุมส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุแต่บอกได้เลยว่าไม่ถอย”
วิทยา อยู่เย็น ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกควันแก๊สน้ำตา บอกว่า มาถึงเขาดินตั้งแต่ 7 โมงเช้า เนื่องจากเส้นถนนราชวิถี ปิดเส้นทางจราจรรถเมล์ผ่านจึงต้องลงเดินก่อนจะถึงแยกสวนจิตรลดา และคืนนี้จะไม่กลับบ้านเพราะห่วงว่าจะมีการสลายกลุ่มพันธมิตร จึงต้องอยู่เป็นเพื่อนเพื่อให้กำลังใจกัน
“ตำรวจแย่มากทั้ง ๆ ที่กินเงินเดือนของประชาชน แต่กลับมาใช้ความรุนแรงกับคนที่เสียภาษีให้ทุกเดือน ๆ ถ้าเขาปล่อยให้เราชุมนุมเราก็ไม่ได้ทำอะไร 3-4 เดือนก็อยู่ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร นายกฯ (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) คนนี้ปากว่าตาขยิบ เขาบอกว่าจะใช้สันติวิธี จะเจรจา ปากพูดอย่างมือทำอีกอย่าง กระสุนนัดแรกที่เขาทำร้ายประชาชน เขาก็ไม่มีความชอบธรรมปกครองประเทศแล้ว”
ภัครพล สดส่าน การ์ดอาสาพันธมิตร วัย 24 ปี เล่าว่า กลับไปที่บ้านพักเขตสายไหมในช่วง 4 ทุ่มของคืนที่ผ่านมา (6 ต.ค.) และเมื่อทราบข่าวว่ามีตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มพันธมิตร จึงกลับเข้ามาชุมนุมอีกครั้ง เพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนแก่เข้ามาเป็นทัพหน้าประจันหน้ากับตำรวจ
“ช่วงที่ยืนอยู่ด้านหน้าพร้อมการ์ดคนอื่น ๆ จู่ ๆได้ยินเสียงดังตูม แล้วควันก็ลอยขึ้นมา ผมทนแสบไม่ได้ จึงวิ่งออกมาขอน้ำล้างหน้า แสบไปทั้งตัวแล้วเหม็นกลิ่นแก๊สมาก บางคนที่อยู่ด้วยกันล้มทั้งยืนเลย มีผู้หญิงคนหนึ่งทรุดลงหายใจไม่ออก หมอต้องรีบให้รถพยาบาลนำตัวส่งไปที่ราชวิถี ผมยังโดนควันไม่มากนัก หมอเอายามาหยอดแล้วให้นั่งพัก”
ภัครพล บอกว่า หลังจากหายแสบหน้าแสบตาแล้วก็จะกลับไปเป็นการ์ดต่อ เพราะไม่อยากเห็นคนแก่ที่มาร่วมชุมนุมมาเป็นการ์ดอาสาเพราะน่าสงสาร
ส่วนบรรยากาศรอบ ๆ บริเวณ ตลอดบริเวณถนนราชวิถีมาจนถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกำลังวิ่งหาน้ำเพื่อล้างแก๊สน้ำตาได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยดังกล่าว นำน้ำขวดมาบริจาคให้จำนวนมาก และต่อมาอีกประมาณ 15 นาทีได้มีกลุ่มพันธมิตร ที่กระจายตัวอยู่ได้เข้ามารวมตัวกันอีก และเข้าไปยึดพื้นที่บริเวณถนนพิษณุโลก เต็มแนวไปจนถึงบริเวณหน้ารัฐสภา ยาวไปจนถึงบริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า
ในขณะที่ด้านหน้ารัฐสภา กลุ่มพันธมิตร ได้ร้องด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนประจันหน้าโดยมีเพียงรั้วกั้นกลางว่า “ไอ้เ....ย” เสียงดังรับกันเป็นทอด ๆ โดยใช้มือตบเสียงสนั่น พร้อมทั้งมีการนำ ยา น้ำอาหารเจ และอาหารกล่องมาแจกให้กับผู้ร่วมชุมนุมอย่างทั่วถึง

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"อนุพงษ์"ความผิดร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์









ลับ วงในแจ้งว่าการประชุมกับผู้นำเหล่าทัพของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ ได้ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อต่อสายขอคำปรึกษากับ ทักษิณ ชินวัตร
จากนั้นการตัดสินใจ ใด ๆ ของ "สมชาย" จึงเป็นการตัดสินใจในนาม "ทักษิณ"
การตัดสินใจที่ "สมชาย" ย้ำชัดว่าจะไม่ยุบสภา ไม่ลาออก และจะพิจารณาความรับผิดชอบเรื่องนี้ตามความเหมาะสม
อะไรคือความเหมาะสม?
หรือ "สมชาย" กำลังรอความเหมาะสมในข้อหา "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" จากศาลอาญาระหว่างประเทศ
ซึ่งนอกจากคณะรัฐมนตรี จะเป็นจำเลยร่วมแล้ว
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็เป็นหนึ่งที่จะต้องตกเป็นจำเลยร่วม เพราะทันทีที่ประกาศให้กองกำลังทหารสนับสนุนตำรวจในการรักษาสถานการณ์ให้การเข่นฆ่าประชาชน มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
พล.อ.อนุพงษ์ น่าจะได้ศึกษา กรณี Radovan Karadžić ที่ขณะนี้โดนจับขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลไอซีซี (International Criminal Court) ฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ชาวเซิร์ฟ
ที่ผ่านมาพล.อ.อนุพงษ์ นิ่งมาโดยตลอด
แม้แต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร พล.อ.อนุพงษ์ ยังไม่สนองตอบในการนำกำลังออกมาล้อมปราบประชาชน ทำให้ผู้คนสดุดีในความเด็ดเดี่ยวว่า ผบ.ทบ.ผู้นี้ มีจิตใจเคียงข้างประชาชน ไม่รับใช้ทรราช
แต่ทันทีที่ยืนเคียงข้าง และประกาศสนับสนุนการล้อมปราบประชาชน ทำให้พล.อ.อนุพงษ์ ไม่อาจจะหนีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเป็นส่วนสนับสนุนให้ร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดสูญหายไป
สงครามบอสเนีย ได้ก่อให้เกิดอาชญากรสงคราม คือ ราโดวาน คาราดิช Radovan Karadžić โดนจับกุม ขณะที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ร่วมแสดงยินดี
โรดาวาน คาราดิช หรืออุซามะห์ บินลาดิน แห่งยุโรป วัย 63 ปี ถูกจับ และนำตัวไปไต่สวนในศาลอาชญากรสงคราม ในกรุงเบลเกรด ตามกฎหมายความร่วมมือกับศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศของอดีตยูโกสลาเวีย หรือไอซีทีวาย
คาราดิก และรัตโก มลาดิก อดีตผู้บัญชาการทหารในสมัยนั้น หนีการดำเนินคดีของไอซีทีวายมา 13 ปี หลังจากถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียในปี 1992-1995 โดยมลาดิก ยังคงลอยนวลอยู่
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเผชิญข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากการบงการให้สังหารหมู่ชายชาวมุสลิม 8,000 คน ในปี 1995 หลังจากกองกำลังของนายรัตโก มลาดิช เข้ายึดที่ปลอดภัยของยูเอ็นในเมืองซเรเบนิซาด้วย ถือเป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
การจับกุมคาราดิก ได้ในครั้งนี้ได้รับการแสดงความยินดีในทันที จากทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงศาลอาชญากรสงครามของสหประชาชาติ เช่นเดียวกับญาติ ๆ ของเหยื่อที่ถูกสังหารหมู่ในซเรเบนิซา เมื่อปี 1995 ด้วย
องค์ประกอบ การกระทำของพล.อ.อนุพงษ์ ที่เข้าข่ายความผิดฐาน Genocide นั้นพิจารณาจาก
สถานะของพล.อ.อนุพงษ์ ไม่ต่างจาก Radovan Karadžić ที่ขณะสั่งฆ่าชาวเซิร์ฟ ในบอสเนีย ตอนนั้น Radovan Karadžić เป็นรองประธานาธิบดียูโกสลาเวียใหม่ และเป็นรองผบ.สส.มีอำนาจสั่งการกองทัพเป็นลำดับที่ 2 รองจาก ประธานาธิบดี Slobodan Milosevic หรือ Slobodan Milošević (สโลโบดาน มิโลเซวิค) ประธานาธิบดียูโกสลาเวีย ในขณะนั้น
ความผิดที่พล.อ.อนุพงษ์ ได้ร่วมสนับสนุนให้มีการก่อการฆ่าประชาชน และทำให้ประชาชนสูญเสียไปซึ่งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ตลอดทั้งวันที่ 7 ตุลามหาวิปโยค จึงเป็นความผิดที่มิอาจรอดพ้นไปได้
แม้ว่า ประเทศไทยเรา ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทำให้สูยหายไปของร่ายกาย แต่ไทยเรามีเสี้ยวหนึ่งของความผิดที่ปรากฎในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความผิดที่ปรากฎตามสนธิสัญญากรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
คดีนี้ พนักงานสอบสวนคือ อัยการสูงสุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20
ขณะที่จะมีนักกฎหมายหัวโบราณ เถียงว่า ไทยเราไม่ได้ลงนามในสัตยาบันให้การรับรองสนธิสัญญากรุงโรม
ผู้ถกเถียงเช่นนั้น ช่วยอธิบายการจับกุม ชาร์ลส์ เทเลอร์ อดีตเผด็จการกระหายเลือดแห่งไลบีเรีย ซึ่งขณะนี้ควบคุมตัวอยู่ในศาล ไอซีซี
สนธิสัญญากรุงโรม กำหนดว่า ทันทีที่ชาติที่ 60 ลงนามให้สัตยาบัน (เอกวาดอร์) ให้มีผลกับชาติที่ลงนามรับรองสนธิสัญญานี้แม้ไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม
ช่วยบอกทีเถอะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เตรียมรับมือเอาไว้หรือยัง

วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“สมชาย”กระหายเลือด


“ผมจะพิจารณาตามความเหมาะสม”
เป็นคำตอบที่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ “7 ตุลามหาวิปโยค” ซึ่งบัดนี้ตัวเขาไม่ต่างอะไรจาก “อาชญากร” ผู้เข่มฆ่าประชาชน
เลือดไทย ต้องไหลนองแผ่นดิน อีกครั้ง ใครจะเป็นผู้ชดใช้หนี้ชี้วิตนี้ หากไม่ใช่ “สมชาย” และคณะรัฐมนตรีของเขา รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ก่อเหตุ
ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณ สรุปยอดผู้บาดเจ็บตลอดทั้งวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีทั้งสิ้น 381 คน นอนโรงพยาบาล 48 ราย ขาขาด 4 ราย นิ้วขาด 2 ราย กำลังผ่าตัด 10 ราย
ด้านกระทรวงสาธารณสุข ปิดเผยยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุม ณ เวลา 18.00 น. มี 208 ราย นอนรักษาตัว 26 รายในโรงพยาบาล 6 แห่ง เสียชีวิต 1 ราย
ปฏิบัติการสุดเหี้ยมโหดนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระดมยิงแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร หลายจุดไม่ว่าจะเป็นที่ด้านหน้า และด้านข้างอาคารรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้คณะรัฐมนตรี และส.ส. - ส.ว.เข้าไปร่วมฟังการแถลงนโยบาย อีกหลายจุดทั้งแยกการเรือน หน้าบช.น. ลานพระบรมรูปทรงม้า จนในมาสู่การบาดเจ็บ และเสียชีวิต
นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตร ได้รวบรวมสถิติผู้บาดเจ็บจากการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาทั้งหมด เพื่อฟ้องต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
แหล่งข่าวจากนักกฎหมายระหว่างประเทศชี้ว่า เหตุการณ์นี้ สมชาย และคณะรัฐมนตรี มีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง อาจถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะมีกระบวนการสั่งการอย่างเป็นระบบ อันเป็นความผิดสนธิสัญญากรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 7
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่มีการกระทำเป็นประการ เริ่มจาก บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉันทานุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งประชุมกันช่วงดึกของวันที่ 6 ตุลาคม 2551 และต่อมาในคืนเดียวกัน พล.อ.ชวลิต ได้มาประชุมร่วมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.
นี่คือกระบวนการที่เริ่มต้นของการสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศ จะสามารถดำเนินการดังต่อไปนี้
i. เป็นเวทีให้เหยื่อที่ถูกละเมิดสามารถแสวงหาความยุติธรรม โดยร้องขอให้ศาลสถิตยุติธรรมพิจารณาความผิดของผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ii. ช่วยระงับยับยั้งมิยอมให้คนผิดลอยนวล
iii. ช่วยหยุดยั้งความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถทำให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันใช้วิธีการที่ “เป็นมนุษย์มากขึ้น” หรือไม่โหดเหี้ยมทารุณ “ผิดมนุษย์”
iv. ใช้อำนาจศาลกับกรณีหรือคดีต่างๆ ที่ศาลปกติไม่เต็มใจหรือไม่อาจพิจารณาความผิดได้
v. เป็นกลไก “ป้องปราม” บรรดาผู้ละเมิด
กระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ฝ่ายสนับสนุนและผู้ลงมือกระทำการตามคำสั่งของรัฐบาล ย่อมหลีกหนีความผิดไม่พ้น
ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นปราการด่านสุดท้ายและเป็นจุดจบของผู้สั่งประหัตประหารประชาชน

ลำดับเหตุการณ์ 7 ตุลามหาวิปโยค


01.19 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.นัดพิเศษ ว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นการมาพบกัน และบรรยาสรุปสถานการณ์เท่านั้น และในวันนี้ก็จะมีการประชุมสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลตามปกติ รายงานข่าวจากการประชุม ครม.ว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ดำเนินการและสั่งการแต่เพียงผู้เดียว
01.20 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันว่านี้จะไปประชุมสภาตามที่ประธานสภานัดไว้ ต้องเป็นไปตามนั้น
01.33 น. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตร ปราศรัยบนเวทีว่า หากแนวร่วมพันธมิตร มาร่วมชุมนุมกันมาก เราก็จะขยายพื้นที่การชุมนุมไปที่สะพานผ่านฟ้า หรืออาจจะไปถึงสนามหลวง แกนนำพันธมิตร ได้หารือและประเมินท่าทีของทางการหลังได้รับทราบข่าวเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบ เวลา 04.00น.
01.34 น. ที่ประชุมครม.นัดพิเศษ เผยว่า นายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรีมาเพื่อฟังความเห็นเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรัฐมนตรีเห็นตรงกันว่า ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะไปประชุมสภาตามกำหนดเดิม เพื่อแถลงนโยบายตามปกติ หากไม่สามารถเข้าที่ประชุมสภาได้ ก็ขึ้นกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ว่าจะสั่งให้เลื่อน หรือย้ายสถานที่การประชุมอย่างไร ก็ต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อนว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร
02.10 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ หารือกับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.และได้เดินทางออกจากบช.น.เวลา 03.00 น.โดยมีพล.ต.อ.พัชรวาท เดินลงมาส่ง
02.30 น. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เดินทางมายัง บช.น.เข้าพบกับพล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น.แต่ไม่ได้พบ โดยพล.ต.ขัตติยะ กล่าวว่า วานนี้ (6 ต.ค.) พล.ต.ต.เอกรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะนำกลุ่มนักรบพระเจ้าตากที่สนามหลวง เข้าสลายกลุ่มพันธมิตร นั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
06.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิงแก๊สน้ำตาหลายสิบลูกเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร เพื่อสลายการชุมนุมเปิดทางการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.เดินทางเช้าประชุมรัฐสภาและสามารถเปิดประตูรัฐสภาบริเวณถนนพิชัยได้แล้ว
07.09 น. พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรสุข อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ได้พยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยตัวเอง ขณะที่มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส 3 คน ขาขาด 1 คน นักข่าวเจ็บ 1 คน ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลวชิระพยาบาล
07.30 น. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองโฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ยืนยันว่า ส.ส.จะเข้าประชุมที่สภา ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภายังไม่ได้แจ้งกำหนดเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ไม่ทราบตำรวจจะเข้าสลายการชุมนุมด้วยวิธีการยิงแก๊สน้ำตา
07.49 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตร เปิดเผยว่า กำลังรวบรวมสถิติผู้บาดเจ็บจากการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาทั้งหมด เพื่อฟ้องต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
08.15 น. นายชูศักดิ์ ศิลินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้คุยกับนายกรัฐมนตรี บ้างแล้วก่อนหน้านี้ นายกฯ บอกว่าไม่มีอะไรน่าห่วงสามารถเข้าประชุมสภาตามปกติ แต่ก็ต้องรอดูท่าทีสมาชิกของสภาว่าจะมาประชุม อยากเรียกร้องให้ฝ่ายค้าน มาร่วมประชุม
08.16 น. ผู้สื่อข่าว จส.100 ถูกกระสุนแก๊สน้ำตาเข้ากลางหลังจนล้มทั้งยืน ส่วนายไชยยา พูนแก้ว ขาซ้ายขาด คาดว่าเป็นผลจากระเบิดปิงปอง ขณะนี้นำส่งโรงพยาบาลวชิระ
08.08 น. สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ตำรวจไทยได้ยิงแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร บริเวณด้านนอกรัฐสภา
08.26 น. ร.พ .วชิระพยาบาล ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการยิงแก๊สน้ำตา ถูกลำเลียงนำส่งเข้ารับการปฐมพยาบาล มีตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บล่าสุด 50 คน แต่ละคนจะมีอาการบาดเจ็บบริเวณดวงตา ขา และตามลำตัว ทาง ร.พ. ได้ระดมทีมแพทย์กว่า 100 คน มาช่วยกันรักษาในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 3 คน และส่วนหนึ่งส่งไปยัง ร.พ.รามาธิบดี 22 คน แต่ละคนมีอาการบาดเจ็บคล้าย ๆ กัน ทางแพยท์ต้องระดมช่วยกัน
09.10 น. บนเวทีพันธมิตร ได้ปราศรัยบนเวทีว่ามีผู้สื่อข่าวคมชัดลึก ได้รับบาดเจ็บนอนพักอยู่ที่เต้นท์พยาบาลของพันธมิตร ทราบชื่อน.ส.พรรณี อมรวิพุธพนิช โต๊ะรายงานพิเศษ คมชัดลึก
09.18 น. นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า วันนี้ ส.ว.คงเข้าประชุมสภา ไม่ได้เพราะเห็นภาพว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายปผู้ชุมนุมเพื่อเปิดเส้นทางให้ ส.ส.-ส.ว.เข้าประชุมสภา โดยรับไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ
10.34 น. รัฐสภาเปิดประชุมแถลงนโยบายรัฐบาล มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร เป็นประธานการประชุม มีสมาชิกเข้าร่วม 320 คน
11.25 น. ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุษพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดเผยว่า พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรสุข อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางเข้าพบพล.อ.เปรม
11.30น. ผู้ชุมนุมพันธมิตร เตรียมเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปที่รัฐสภา เมื่อมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการขว้างปาระเบิดแก๊สน้ำตาจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใส่เจ้าหน้าตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้ยิงแก๊สน้ำตาตอบโต้
12.16 น. ภายหลังจากที่พันธมิตรฯ ผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกนอกพื้นที่รอบรัฐสภาแล้ว ขณะนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม ได้ทะยอยมาตรึงกำลังบริเวณ ถ.ราชวิถี และถ.พิชัยทั้งหมด และได้นำรถขนผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข็นมาปิดหน้าประตูรัฐสภา ด้านถ.ราชวิถี
14.26 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้ติดตาม 5-6 คน รวมถึงน.ส.ชิณณิชา บุตรสาว ได้เดินจากอาคารรัฐสภาไปยังอาคารวุฒิสภา และอ้อมไปทางด้านหลังซึ่งเป็นที่เก็บอุปกรณ์การทำสวน จากนั้นได้ข้ามบันไดเหล็ก เพื่อข้ามกำแพงไปยังฝั่งพระที่นั่งวิมานเมฆ โดยกำแพงสูง 2 เมตรและปลายกำแพงเป็นเหล็กแหลม เจ้าหน้าที่จึงเอาผ้าคลุมเพื่อไม่ให้ถูกเหล็กทิ่ม ทั้งนี้นายกฯ พร้อมบุตรสาว ได้รีบข้ามกำแพงด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
14.55 น. มีเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ บินลงมาจอดบริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมลุกฮือพยายามจะปีนกำแพงพระที่นั่งฯ เพราะกลัววว่า ฮ.ลำดังกล่าวจะมารับ ส.ส. และสว.ที่อยู่ในสภาออกไป
15.00 น. มีการประกาศให้ รมต. ส.ส. สว. เจ้าหน้าที่สภา และสื่อมวลชนในสภาให้ขึ้นไปอยู่ในรถตู้ เพื่อเป็นการเตรียมการไว้ ซึ่งมีรายงานข่าวว่า จะมีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ปิดล้อมประตูทางออกรัฐสภาเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ มีการขึงรั้วลวดหนามที่บริเวณข้างถ.ราชวิถี
17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่แตกกระจายหลังจากที่ถูกแก๊สน้ำตา ต่างได้พากันถอยไปปักหลักอยู่ถนนราชสีมา ปรากฎว่าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อกลุ่มพันธมิตร ได้ขับรถโตโยต้า ขับพุ่งชนตำรวจ
17.30 น. นายสมชาย วงศสวัสดิ์ แถลงไม่ลาออก หรือยุบสภา จะทำหน้าที่ตราบใดที่อยู่ในหน้าที่ จะไม่ชะลอการทำงาน ส่วนการตัดสินใจจะทำในเวลาที่เหมาะสม
18.00 น. บรรยากาศการชุมนุมบริเวณ ถ.ราชสีมา ฝั่งโรงแรมสวนดุสิต หลังจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่พันธมิตร พันธมิตรขับรถหกล้อมุ่งตรงไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปักหลักที่แยกการเรือน ตำรวจจึงได้ระดมยิงปืน และแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ทำให้คนขับรถเสียชีวิตคาที่
18.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาเคลียร์พื้นที่โดยให้ข้าราชการ และสื่อมวลชน ออกจากอาคารรัฐสภาทั้งหมด
18.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงบริเวณรัฐสภา3 ราย
18.50 น. ที่บริเวณ บช.น. ด้านข้างวังปรารุส ตลอดทั้งแนว พันธมิตร กว่า 500 คน บุกปะทะกับตำรวจโดยได้มีการยิงแก๊สน้ำตาเป็นเวลา 10 นาที ภายหลังการปะทะปรากฏว่ากลุ่มพันธมิตร ได้ถอยร่นกลับไปยังบริเวณแยกมิสกวัน
18.50 น. มีเสียงดังคล้ายปืนดังบริเวณบชน.ทำให้ผู้ชุมนุมบริเวณส่วนอัมพร ถอยร่นมารวมตัวกันหน้าสนามเสือป่า นอกจากนี้ได้มีกำลังทหาร 4 คันรถ ได้เสริมกำลังภายในสนามเสือป่าด้วย
19.13 น. ที่หน้าบช.น. พันธมิตร ใช้ท่อนเหล็กโยนใส่จนท.ตร.ถูกบริเวณท้ายทอยพล.ต.ต.โกสิน บุญสร้าง รอง ผบ.ตชด.ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจ ยิงแก๊สไปที่กลุ่มชุมนุม ทำให้พันธมิตร ได้รับบาดเจ็บสาหัสขาท่อนขาล่างขาด 2 ราย
22.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณลานพระรูปทรงม้า ได้พยายามที่จะเดินเข้าไปกดดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่เป็นผล จึงใช้ระเบิดเพลิงขว้างใส่เจ้าหน้าที่ตำรงวจ แต่เนื่องจากอยู่ในระยะห่างจึงไม่มีใครได้รับอันตราย จึงเดินประชิดเข้ามาทำให้ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตา 10 กว่านัด
หมายเหตุ : สรุปยอดผู้บาดเจ็บ จากศูนย์เอราวัณ 381 คน นอนโรงพยาบาล 48 ราย ขาขาด 4 ราย นิ้วขาด 2 ราย กำลังผ่าตัด 10 ราย
ด้านกระทรวงสาธารณสุข ปิดเผยยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุม ณ เวลา 18.00 น. มี 208 ราย นอนรักษาตัว 26 รายในโรงพยาบาล 6 แห่ง เสียชีวิต 1 ราย

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"จำลอง"ออกจากถ้ำล่อตำรวจจับเรียกมวลชน


ข่าวเชิงวิเคราะห์ : ทีมข่าวซิตี้เจอร์นัล
การเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันนี้ (5 ตุลาคม) ของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในรอบหลายเดือน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอศาลอาญาออกหมายจับในข้อหากบฎ พร้อมกับแกนนำรวม 9 คน และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รวบตัวนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง ไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยพล.ต.จำลอง ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ลงคะแนนเลือกตั้งประจำ ร.ร.เศรษฐเสถียร
พล.ต.จำลอง โดนจับพร้อมกับการ์ดอาสา 2 คน ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีขัดขวางการจับกุมแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวพล.ต.จำลองไปสอบปากคำแล้ว
ตลอดทั้งวันของวันที่ 4 ตุลาคม พล.ต.จำลอง แสดงจุดยืนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมแกนนภายในทำเนียบรัฐบาล โดยจะยอมให้จับกุม และจะไม่ใช่โลห์มนุษย์
เมื่อคืนของวันที่ 4 ตุลาคม พล.ต.จำลอง ได้ประกาศบนเวทีว่า ตลอดการทำงานกองทัพธรรมมูลนิธิ และโรงเรียนผู้นำ ไม่เคยขอเรี่ยไรเงิน จากผู้ใด แต่เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ขอบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อช่วยเหลือเอเอสทีวี สื่อที่ช่วยกระจายข่าวความเคลื่อนไหวของการชุมนุมในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยได้เงินมาทั้งสิ้น 18.8 ล้านบาท (สิบแปดล้านแปดแสนบาท) มีรายเดียวเท่านั้นที่บริจาค 1 ล้านบาท นอกนั้นหลักแสน และหลักพัน ซึ่งได้มอบให้กับเอเอสทีวี ใช้เป็นทุนในการต่อสู้ต่อไป
การยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุมโดยดุษณี เป็นคำถามที่เกิดขึ้นทันทีว่า พล.ต.จำลอง มีแผนอะไร เพราะนายทหารยุทธวิธีผู้นี้ไม่ได้เคลื่อนไหวโดยไร้ยุทธศาสตร์การต่อสู้
ขณะที่พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนร่วมรุ่น จปร. 7 ที่ประกาศว่า หากพล.ต.จำลอง โดนจับเมื่อใดจะเข้ามาทำหน้าที่แกนนำแทน นั้น ได้ให้สัมภาษณ์ในทันทีว่า มติแกนนำได้มอบให้แกนนำรุ่นที่สอง เคลื่อนต่อโดยประกอบด้วย สำราญ รอดเพชร ประพันธ์ คูณมี และสาวิตย์ แก้วหวาน เมื่อไม่มีชื่อของพล.อ.พัลลภ ก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พล.อ.พัลลภ วิเคราะห์แนวทางของเพื่อนรักว่า "จำลอง คงต้องการเรียกมวลชนให้ออกมา"
เดือนตุลาคม เป็นเดือนประวัติศาสตร์ การเมืองไทยได้จารึกมาแล้ว 35 ปี กับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ครั้งนั้นมีการจับกุมแกนนำนิสิต นักศึกษา 13 คน ด้วยข้อหาแจกใบปลิวเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ขัดคำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งมีโทษเพียงเล็กน้อย ต่อมาได้มีผู้ขอประกันตัว 13 คนและได้รับการให้ประกัน แต่ ทั้ง 13 คนไม่ยอมออกจากคุกจึงมีการแจ้งข้อหาเพิ่มให้หนักขึ้น
อดีตอัยการสูงสุด คณิต ณ นคร บอกว่า เพียงแค่ตั้งข้อหาไม่สามารถจับกุมได้จนกว่าจะพิสูจน์ความผิด ของผู้นั้นเสียก่อนโดยเฉพาะข้อหากบฎ ซึ่งมีโทษสูงถึงประหารชีวิต จะต้องระบุการกระทำให้ชัดเจน แต่เวลานี้กระบวนการยุติธรรมไทยเรา ยังบกพร่องในส่วนการขอหมายจับตรงนี้อยู่
การจับกุมพล.ต.จำลอง วันนี้ จึงเป็นปมคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ไป
กลุ่มพลังมวลชน จะสำแดงพลังอย่างไรในการที่แกนนำโดนจับ
แน่นอมแรงกดดันนี้จะตกไปที่รัฐบาล ในทันที
รัฐบาลที่พยายามสร้างภาพสมานฉันท์ ด้วยการเจรจากับ 5 แกนนำผ่านทางพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
รัฐบาลที่กำลังจะเรียกเสียงศรัทธาจากประชา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร. 3
เมื่อกระแสมวลชนแรงขึ้นมา การแก้รัฐบาล นั้นเลือนลางเต็มทีที่จะทำสำเร็จ

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สั่งจับ"ไชยวัฒน์"แผนสองแก๊งป่วนรัฐบาล



ข่าวเชิงวิเคราะห์ : ทีมข่าวเดอะซิตี้เจอร์นัล


ความเดิมตอนที่แล้ว "ชัย ชิดชอบ" โดนใช้เป็นเครื่องมือป่วนรัฐบาล ด้วยการใช้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร ลักไก่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่ผู้เสนอคือแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) โดยพยายามจะใช้ที่ประชุม 4 ฝ่าย ซึ่งมีนายชัย เป็นผู้เชิญ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มาร่วมเป็นสักขีพยาน


อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุม 4 ฝ่ายมีทีท่าว่าจะไม่รับร่าง คปพร. แต่จะใช้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร. 3 มายกร่างรัฐธรรมนูญ ซ้ำยังมอบให้นายสมชาย ไปล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคให้โหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. ที่จะมีการบรรจุเป็นวาระการประชุมด่วน ในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ซึ่งแนวทางนี้ส.ส.พลังประชาชน นั้นเห็นด้วยว่า หากจะให้การตั้งส.ส.ร. 3 สำเร็จ ต้องคว่ำร่าง คปพร. โดยจะขอมติที่ประชุมพรรคในวันที่ 6 ตุลาคม นี้


นี่เป็นการแก้เกม ของคนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังที่จะให้ร่างคปพร. ได้รับการพิจารณาในสภา และจะเกิดการต่อต้านโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และหลายฝ่ายที่เชื่อว่า ร่างคปพร. นั้น มีเจตนาช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นความผิด ซึ่งเท่ากับเป็นชนวนที่จะทำให้กลุ่มต้านรัฐบาลมีความชอบธรรมในการชุมนุม


นั่นแสดงว่ากลุ่มที่ชักใย ชัย ชิดชอบ นั้นได้แตกหักกับ นายใหญ่ ลอนดอน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


เมื่อแผนเอ คือการดันร่าง คปพร. ไม่สำเร็จ จึงต้องงัด "แผนบี" ขึ้นมาใช้ทันทีทันควัน ในวันเดียวกันนั้น (3 ตุลาคม)


"แผนบี" คือการใช้ตำรวจที่ไว้วางใจ เป็นมือเป็นไม้ให้จับกุม ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ 1 ใน 9 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่โดนข้อหากบฎ


ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า กลุ่ม ส.ส.อีสาน พรรคพลังประชาชน ได้ประเมิน เหตุการณ์จับกุมนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ 1 ใน 9 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการหักหน้า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังจากที่ช่วงที่ผ่านมากลุ่ม ส.ส. ในพรรคพลังประชาชน โดนลดบทบาทลงไปอย่างมาก โดยมีการสั่งการผ่านไปทางนายตำรวจผู้ใหญ่ ที่ใกล้ชิด เพื่อให้เข้าไปจับกุม นายไชยวัฒน์


การจับกุมนายไชยวัฒน์ ในขณะที่รัฐบาลพยายามที่จะเจรจากับกลุ่มพันธมิตร ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ


ดังนั้น ในวันจันทร์ (6 ต.ค.) กลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ในอดีตเคยสังกัดพรรคความหวังใหม่ จะเข้าไปให้ข้อมูลเรื่องนี้กับ พล.อ.ชวลิต เพื่อให้รับรู้สถานการณ์ ในการพยายามเคลื่อนไหวของกลุ่มส.ส.เหล่านี้


ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ "แผนบี" ดูจะได้ผลในการสร้างรอยปริแยกระหว่างรัฐบาล กับพันธมิตร ให้ห่างกันออกไปอีก ดังที่ พล.ท.พิรัช สวามิวัศดิ์ (เสธ.หมึก) นายทหารคนสนิทพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ประสานกับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะเพื่อนจปร. 7 ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ลับ ลวง พราง" ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 อ.ส.ม.ท. ว่า


"ผมก็ต้องโทรไปบอกเขา(จำลอง) อย่างไรก็ต้องระงับไว้ก่อน"


วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"ชัย"ปราการสุดท้ายของ"เนวิน"กับปฏิบัติการเผาเรือนพปช.



ข่าวเชิงวิเคราะห์ : ทีมข่าวซิตี้เจอร์นัล


การออกมาเปิดเผยของประธานรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการรับไม้ต่อจากผู้นำรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตี ที่ผลักดันให้คณะรัฐมนตรี (1 ต.ค.) เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยประธานรัฐสภา ได้เตรียมรับลูกผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยยึดตามร่างของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ซึ่งแกนนำเป็นอดีตกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) อาทิเช่น เหวง โตจิราการ / จรัล ดิษฐาอภิชัย
ท่าทีของ ชัย ชิดชอบ (2 ต.ค.) เหมือนโดนบีบให้ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะมีอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้ง เสรี สุวรรณภานนท์ และ ชูชัย ศุภวงษ์ ตั้งข้อสังเกต (1 ต.ค.) ดักคอไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีเจตนาช่วยเหลือตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 190 มาตรา 237 และมาตรา 309 และร่างที่จะใช้คือร่างของคปพร. ซึ่งเป็นการยกเอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ทั้งฉบับ
ชัย ชิดชอบ ได้ยืนยันกับ เหวง และ จรัล ซึ่งเข้าพบที่รัฐสภา (2 ต.ค.) ว่า ได้บรรจุญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่าง คปพร.แล้ว และทันทีที่สภาผู้แทนราษฎร รับทราบการแถลงนโยบายรัฐบาลในวัน 7-9 ต.ค.แล้ว สัปดาห์ต่อไป (15 ต.ค.) สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาได้ตามวาระเร่งด่วน สำหรับผมถือว่าทำตามหน้าที่แล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่ประชุมสภา จะรับร่างหรือไม่
"ขึ้นกับลมฟ้าอากาศ ซึ่งอาจจะมีฝนตกแดดออก หรืออยู่ที่ดวงเมืองด้วย ขณะนี้ผมก็รู้สึกไม่สบายใจกับปัญหาบ้านเมือง เพราะมันหนัก และรุนแรงมาก บางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.อาจจะต้องชลอไปบ้าง ก็ต้องเข้าใจ แต่ใครจะมาดึงไว้ไม่ได้ ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ยุบสภาซึ่งจะทำให้ร่างนี้ตกไป"นายชัย กล่าว
ส.ส.ร.ชี้ปม"ชัย"ดันร่างคปพร.คว่ำรธน.2550
อะไรมันจะข่ายถึงเพียง นั้น เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร. 50) ตั้งข้องสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งส.ส.ร. 3 ในสถานการณ์ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชาชน (กลุ่มเพื่อนเนวิน หักกับกลุ่มภาคเหนือของ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กับ ยงยุทธ ติยะไพรัช ในเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี)
ส่วนพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำ และพรรคร่วมรัฐบาล อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรค เพราะฉะนั้น การเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร แนวทางดังกล่าวเหมือนจะดูดีแต่เวลาอาจจะไม่เอื้ออำนวยก็เป็นได้
เสรี จึงฟันธงว่า สิ่งที่น่าคิดคือญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่เสนอโดยส.ส.รัฐบาล และส.ว.ส่วนหนึ่ง แม้ตกไปเพราะมีการถอนชื่อ แต่ยังมีญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ยังค้างการพิจารณาของสภาอยู่ รัฐบาลอาจจะลักไก่หยิบเอาญัตตินั้นมาปัดฝุ่นนำไปพิจารณาแก้ไขซึ่งตามร่างนั้นแทบจะเรียกว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ
ประเด็นนี้ ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. 2550 ระบุว่า การแก้รธน.มาตรา 291 แล้วตั้ง ส.ส.ร.3 นั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังนำสังคมไทยเข้าสู่ความรุนแรง เพราะมีเจตนาแฝง ที่ประชาชนต่างรู้ว่าพรรคพลังประชาชน พยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้ มาตรา 237 309 และ 190 เพื่อหนีการถูกยุบพรรค และช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะไม่แก้ 3 มาตรานี้ และให้หลักประกันต่อ คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการเมือง การปกครอง โดยผ่านกฎหมายรองรับ คณะกรรมการอิสระชุดนี้ และให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการไปทำประชามติเพื่อนำผลประชามติไปสู่การปฏิรูปการเมือง
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง แสดงบทบาทนำทางสังคมต่อไป โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ นักวิชาการ นักธุรกิจมาร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าจะปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างไร ให้ได้นักการเมืองที่โกงน้อยที่สุด ตรวจสอบได้ง่าย หากทำเช่นนี้สังคมไทยจะก้าวพ้นวิกฤติ และเกิดการปฏิรูปในทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นนี้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนยัน (2 ต.ค.) ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเพื่อประชาชน ไม่มีอะไรหมกเม็ดเพื่อช่วยเหลือคนใดคนหนึ่ง และประชาชนต้องมีส่วนร่วม
หรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์อีกครั้ง (3 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความชัดเจนถึงมาตราในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข เนื่องจากหลายฝ่ายห่วงว่าจะมีการแก้ใน 3 มาตรา ได้แก่ 190 237 และ 309 โดย สมชาย กล่าวว่า ตอนนี้ผมไม่เคยพูดว่าจะต้องแก้มาตรานั้นมาตรานี้แล้ว แต่ต้องพูดในภาพรวมของการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหมด ซึ่งผมไม่เคยมีแนวความคิดว่าจะต้องเป็นไปตามที่ใครคนใดคนหนึ่งคิด
แม้ว่า ทั้ง 3 มาตรา เป็นการผลักดันให้มีการแก้ไขของรัฐบาลชุดก่อน แต่ตรงนั้นมันจบไปแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของ ส.ส.ร. 3 ที่จะมาทำ โดยที่รัฐบาลจะไม่ชี้นำ ไม่ต้องเป็นห่วงรัฐบาลไม่ชี้นำเป็นอันขาด จะเอาอย่างไรก็แล้วแต่
ส่วนการที่ประธานรัฐสภา ไปนำร่างที่เสนอโดย คปพร. บรรจุเป็นวาระ สมชาย ก็ปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของทางสภาฯ ส่วนตัวเขาไม่ทราบ แต่คิดว่าคงไม่ต้องระแวง เพราะส.ส.มีทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และยังมีวุฒิสภา จึงไม่มีทางที่จะไปซุกซ่อนอะไรกันได้ เอ็กซ์เรย์กันได้ทั่วประเทศอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องแล้วแต่ประธานสภา รัฐบาลคงไปก้าวก่าย หรือยุ่งไม่ได้
ดันร่างคปพร.ปลุกความชอบธรรมพันธมิตร
การที่ ชัย ชิดชอบ ดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับคปพร. เข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา และเป็นอำนาจเดียวที่ เนวิน ชิดชอบ คงมีอำนาจแฝงเหลืออยู่เพียงอำนาจเดียว
การดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของคปพร. ทั้ง ๆ ที่มีเสียงต้านทั้งอดีตส.ส.ร. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะมีเจตนาให้พลังประชาชา และพรรคร่วมพ้นผิดคดียุบพรรค และที่สำคัญคือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยกเป็นเหตุการไม่มีองค์กรที่รับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 มาเป็นข้อต่อสู้ในคดี ที่เขาโดนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปแล้ว 4 คดี
ร่างคปพรง จึงเป็นสายล่อฟ้าโดยแท้
แต่ทำไม เนวิน จึงต้องการให้ร่างนี้เข้าสู่สภาให้ได้ โดยใช้กำลังภายในผ่านพ่ออย่าง ชัย ชิดชอบ นั่นเป็นเพราะเป็นเจตนาที่จะให้รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดนต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอดีตส.ส.ร. และพันธมิตร
ต้องไม่ลืมว่า การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ล่าสุด คนของเนวิน กระเด็นกระดอนออกจากเก้าอี้เกือบทั้งหมด สร้างความโกรธแค้นให้กับเนวิน เป็นอย่างมาก ถึงขั้นกล้าแตกหักกับนายใหญ่ที่ลอนดอน
เนวิน ได้ประลองกำลังส.ส.ในกลุ่มของตัวเองมาแล้ว 3 ครั้ง ในเหตุการณ์สภาล่ม 3 หนโดยหนแรกคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (12 ก.ย.) และsนถัดมาคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (24 ก.ย. และ 1 ต.ค.)
การบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. เข้าสภา จึงเป็นการยืมมือพันธมิตรเผาเรือนพลังประชาชน และให้พันะมิตรมีความชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และกระทบชิ่งไปถึงทักษิณ ชินวัตร ที่ตัวอยู่ไกลถึงลอนดอน โดยที่เนวิน จะเป็นผู้นั่งดู
ประเมินแล้วว่า ที่สุดแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ โดยยึดร่างคปพร. ไม่มีทางสำเร็จได้ และยังจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล สมชาย เพราะฉะนั้น จึงเห็น สมชาย เริ่มชิ่งหนี กับการที่ชัย ชิดชอบ ดำเนินการ โดยโยนว่าเป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง
นี่คือความผิดพลาดที่ สมชาย วงศ์สวัสด์ ไปตกหลุ่มแก้รัฐธรรมนูญ 291 เท่ากับปล่อยให้การ์ดตก ให้เนวิน ชกเช้าเป้าอย่างจัง
เจ็บตัวแล้วยังบ้านพัง
แลกหมัดครั้งนี้ เนวิน แค่บาดเจ็บฟกช้ำเล็กน้อย แต่รัฐบาล สมชาย โคม่า

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"พระเทพฯ"พระราชทานเงินช่วยขรก.บัวแก้วจำเลยพระวิหาร



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานเงินสมทบช่วยเหลือข้าราชการบัวแก้ว โดนฟ้องเป็นจำเลยกรณีปราสาทพระวิหาร


หลังจากที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และนายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูต (ปฏิบัติราชการที่กรมสนธิสัญญาฯ) โดนฟ้องร้องอันสืบเนื่องจากมติครม.ที่ยินยอมให้นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร


ล่าสุด นายนรชิต สิงหเสนี เลขาธิการสโมสรสราญรมย์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2551 เพื่อแจ้งให้ทราบความคืบหน้าตามที่ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 กันยายน 2551 เกี่ยวกับการระดมทุนช่วยเหลือเพื่อนข้าราชการที่ประสบปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่


หนังสือดังกล่าวระบุว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน สำหรับช่วยเหลือข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้ง 4 คน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเป็นมงคลและขวัญกำลังใจอันสูงสุดแก่ข้าราชการ ตลอดจนสมาชิกสโมสรสราญรมย์ทุกคน


ในการนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับเพื่อนข้าราชการทั้ง 3 ได้กราบบังคมทูลฯ แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ ในระหว่างส่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังราชอาณาจักรสเปน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2551


ขณะเดียวกันสมาชิกสโมสรสราญรมย์จำนวนมากได้บริจาคสมทบทุน รวมทั้ง นายอนันต์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม


นอกจากนั้นยังมีบุคคลภายนอกและหน่วยราชการอื่น ซึ่งเมื่อทราบเรื่องการระดมทุนได้ร่วมบริจาคสมทบด้วย อาทิ กรมกิจการชายแดนทหาร ซึ่งยอดเงินการระดมทุน ณ วันที่ 18 กันยายน 2551 เป็นจำนวน 2,961,200 บาท 390 ยูโร 470 ดอลลารณ์สหรัฐ 1,200 หยวน และ 150,000 เยน


นายสุจินดา ยงสุนทร และนายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ได้รับที่จะดำเนินการร่วมกับทนายในการต่อสู้คดีให้กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 4 โดยไม่คิดค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ


ท้ายจดหมายยังระบุด้วยว่า จำนวนเงินที่รวบรวมได้ไม่สำคัญเท่าการแสดงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเพื่อสมาชิกสโมสรในยามที่พี่น้องสมาชิกต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่


มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นฟ้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีทางอาญาและถอดถอนนายสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมทั้งได้ฟ้องร้องข้าราชการทั้ง 4 คนนี้ ร่วมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ข้าราชการทหาร และพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวม 45 คนในกรณีที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยและเขตแดนบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหารจากกรณีที่ครม.มีมติวันที่ 17 มิ.ย. 2251ให้ความเห็นชอบกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีประสาทพระวิหารตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ


ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 และคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติรับคำร้องดังกล่าวนี้แล้วซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่รับว่าความให้ เพราะไม่ได้เป็นคดีความที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องแต่เป็นเรื่องที่รัฐเป็นผู้ฟ้องร้องเอง ซึ่งในการจ้างทนายนั้นจำเป็นต้องใช้ทนายที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายอาญา และกฎหมายปกครองซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง


โจรชั่วบุกยิงครูนักอนุรักษ์และพันธมิตรเมืองช้างดับ



คนร้ายยิงครูนักอนุรักษ์ และเป็นพันธมิตรจ.สุรินทร์ หลังทำทีขอถ่ายเอกสาร แล้วชักอาวุธปืนลูกซองสั้นจ่อยิงเผาขน ตร.สันนิษฐานอาจมาจากการที่เป็นนักอนุรักษ์และเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ซึ่งเคยมีการร้องเรียนกรณีนายทุนบุกรุกที่
เมื่อเวลา 18.00 น. วันนี้ (2 ต.ค ) ปฏิบัติการของโจรชั่ว ได้รับการเปิดเผยจาก ร.ต.ต.กำพล มิฆเนตร ร้อยเวร สภ.เทนมีย์ จ.สุรินทร์ ว่า มีคนถูกยิงเสียชีวิต อยู่ที่บ้านเลขที่ 248 หมู่ 5 บ้านคาบ ต.เทนมีย์ อ.เมืองสุรินทร์ จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นบ้านที่เปิดบริการถ่ายเอกสาร และรับเข้าเล่มหนังสือ ของนายจำเริญ ใจองอาจ อายุ 51 ปี ครูระดับซี 7 ปัจจุบันสอนอยู่โรงเรียนบ้านรามวิทยา และยังเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ และยังเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.สุรินทร์ ด้วย


ทั้งนี้ นายจำเริญ ถูกคนร้าย ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นประกบเข้ายิงแบบเผาขน กระสุนปืนเข้าที่บริเวณลำคอ 1 แห่ง บริเวณศรีษะด้านหลัง 1 แห่ง และบริเวณราวนมขวา 1 แห่ง นอนตายจมกองเลือดอยู่ในบ้าน


จากการสอบสวนนางกมลชนก ใจองอาจ อายุ 48 ปี ภรรยาผู้ตาย ทราบว่า ในขณะนั้นเวลา ประมาณ 17.40 น. ได้มีคนร้ายใช้รถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและทะเบียนเป็นพาหะมาจอดเอาไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งเป็นร้านให้บริการถ่ายเอกสาร และรับเข้าเล่มหนังสือ โดยคนร้ายได้เข้ามา พร้อมกับทำทีขอถ่ายเอกสาร พอได้จังหวะ คนร้ายได้ชักปืนลูกซองสั้นยิ่งใส่นายจำเริญ จากนั้นได้ขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป


ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจสัณนิษฐานไว้ในขั้นแรกว่า อาจมาจากสาเหตุที่ครูนักอนุรักษ์คนนี้ ที่เป็นหูเป็นตาให้ชาวบ้าน เป็นที่พึ่งของชาวบ้านให้การเคารพนับถือและรักใคร่ พร้อมกันนี้นายจำเริญ ครูนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ยังได้เคยทำหนังสือร้องเรียนมายังหน่วยราชการว่า มีนายทุนมาบุกรุกที่ทำเลใกล้หมู่บ้าน และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ครูนักอนุรักษ์ผู้นี้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้นายทุนเสียประโยชน์ จึงสั่งฆ่าปิดปาก

พันธมิตรยันไม่ยึดติดสูตรการเมืองใหม่


พันธมิตร ระบุสูตรการเมืองใหม่ไม่ตายตัว แค่เสนอให้ไปคิด "จำลอง ชี้ รัฐบาลตั้ง นปช. ที่เคยไปด่า "ป๋าเปรม" เป็นโฆษกรับบาลไม่เหมาะ เผย ป๋าไม่ด่าแต่จำแม่น


โมเดลการเมืองใหม่ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมและสัมมนาเรื่องการเมืองใหม่ ครั้งที่ 3 ทำใหได้โมเดลการเมืองใหม่แล้ว คือ ระบบรัฐสภา ให้มีสองสภา คือ 1.สภาผู้แทนราษฎร โดยมีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 400 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งจะมาจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตพื้นที่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากกลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งการสรรหาจะต้องให้ความเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง 2.สมาชิกวุฒิสภา ให้คงไว้ในรูปแบบเดิม คือ มีต้องจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และการสรรหาจำนวน 74 คน


นอกจากนี้ ต้องมีการจัดตั้งสภาประชาชน ขึ้นมาทำหน้าที่ให้ความรู้ และพัฒนาความเข้าใจในเรื่องการเมือง รวมถึงการปลูกจิตสำนึกในเรื่องหลักการประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราพบว่าการเมืองในระบบเก่าประชาชนส่วนใหญ่ของประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจในหลักการเรื่องของการเมืองอย่างมาก


ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมายการเลือกตั้ง ให้เพิ่มบทลงโทษกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งจะต้องดำเนินคดีทางอาญากับผู้ที่กระทำการทุจริตการเลือกตั้งอีกด้วย


งดการแจกใบเหลือง ให้เหลือเพียงการแจกใบแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเห็นควรให้มีการตั้งศาลเลือกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง


แนวทางการแก้ไขการทุจริต และคอร์รัปชั่น อาทิเช่น ประชาชนพบเห็นการทุจริตการเลือกตั้งสามารถที่จะยื่นเรื่องฟ้องศาลได้โดย ให้สินบนแก่ประชาชนในการนำจับการทุจริต และคอร์รัปชัน เมื่อคดีสิ้นสุดให้ขึ้นบัญชีดำทางการเมืองกับนักการเมืองที่กระทำการทุจริต รวมทั้งให้ดำเนินคดีทางอาญาจนถึงที่สุด ให้ข้าราชการระดับสูงจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นประจำทุกปี เป็นต้น


พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรได้ร่วมแถลงข่าววันนี้ ว่า ความเห็นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นจำนวน ส.ส. หรือที่มาของ ส.ส. ก็ยังไม่ใช่สูตรที่ตายตัว โดยแต่ละภาคส่วนก็อาจจะนำความเห็นนี้ไปคิดต่อ รวมไปถึง รัฐบาลที่เราจะไม่นำเสนอโดยตรงต่อ แต่หากรัฐบาลได้ตั้ง ส.ส.ร. 3 ขึ้นมา และเห็นข้อเสนอของพันธมิตร ก็อาจจะนำไปใช้ก็ได้ โดยในวันอาทิตย์ที่ 5 .ต.ค. 14.00-18.00 น. พันธมิตร จะจัดการสัมมนาเรื่องการเมืองใหม่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
นายพิภพ กล่าวต่อว่า พันธมิตรไม่ได้คัดค้าน ส.ส.ร. 3 เป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายเห็นว่าการเมืองเก่าเดินต่อไปไม่ได้ รัฐบาลก็ทำของรัฐบาลไปส่วนพันธมิตรก็ทำของพันธมิตรไป


อย่างไรก็ตามเราก็ยังสงสัยว่าการที่รัฐบาลจะปฏิรูปการเมืองจะทำอย่างไร เพราะรัฐบาลต่างหากที่ต้องเป็นผู้ถูกปฏิรูปไม่ใช่ผู้ปฏิรูปเสียเอง อีกทั้ง เราก็มั่นใจว่านักการเมืองคงต้องคัดค้านแม้จะไม่แสดงออกเพราะการเมืองใหม่นั้นค่อนข้างบีบนักการเมือง
ส่วนการจัดหารือในวงกว้างมากกว่านี้ โดยเชิญนักวิชาการที่เห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามร่วมด้วยได้หรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า การสัมมนาของเราก็เปิดกว้างคนที่มาร่วมหลายคนก็ระบุว่าไม่ได้เป็นพันธมิตร แต่เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเมืองเก่า และองค์กรอื่นก็สามารถที่จะนำไปสัมมนาต่อได้ แม้แต่ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งาติ (นปช.) ก็สามารถทำไปจัดได้เช่นเดียวกัน

ต่อกรณีที่รัฐบาลอาจจะตั้งคนของ นปช. เป็นโฆษกในรัฐบาลนั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปพล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี แล้วหากมาตั้ง คนของ นปช. ที่เคยไปบุกด่า พล.อ.เปรม ถึงหน้าบ้านนานกว่าหกชั่วโมงจะเหมาะสมหรือไม่ พล.ต.จำลอง ในฐานะที่เคยอยู่กับพล.อ.เปรม มานาน บอกว่า พล.อ.เปรม เป็นคนที่จำแม่น ไม่เคยลืมแต่ท่านจะม่พูด อย่างมากก็บ่นกับคนใกล้ชิด และท่านคงไม่ต่อสายไปหา นายสมชาย พล.อ.เปรม แค่ด่าคนอื่นเลวยังไม่ทำเลย เต็มที่ก็บอกว่าแย่

"สมชาย"เชิดชู"ทักษิณ"คนดี



"สมชาย"บอก "ทักษิณ" สนับสนุนให้เล่นการเมือง ลั่นเป็นคนดีของเรา ลืมกำพืดเพราะอ้างเกิดใหม่ครั้งที่สองที่สันกำแพง


นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาที่ วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อทำบุญอัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร และพบปะกับประชาชนที่มารอรับเป็นจำนวนมาก โดยนายกฯ ได้พูดกับประชาชนที่มาต้อนรับว่า ไม่เคยลืมว่าคนที่สนับสนุนเขาตั้งแต่เริ่มต้น ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่เป็นคนดีของเราและผมก็มั่นใจว่าท่านเป็นคนดี


ส่วนเรื่องที่ผ่านก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ถือว่าชีวิตครั้งที่ 2 ที่ได้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งก็เกิดขึ้นที่สันกำแพง และจะตั้งใจทำงานดูแลประชาชนทั่วประเทศให้เกิดความเป็นธรรม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ได้เดินพบประชาชน นายกรัฐมนตรีได้แวะไปยังหน่วยปฐมพยาบาลและได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งผลตรวจ ความดันปกติด 120/80 ส่วนหัวใจปกติ ซึ่งนายกฯ เมื่อรู้ผลการตรวจก็บอกอย่างอารมณ์ดี ว่า "อย่างนี้เป็นนายกฯ ได้ใช่หรือไม่"