วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

เบื้องหลังเด้งโยก28บิ๊กมหาดไทย

หมวดข่าว : วิเคราะห์
โดย : วัฒนา


คำสั่งล้างบางข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือเป็นควันหลงข้าราชการ เปิดศึกชักธงรบฝ่ายการเมือง โดย “สุกิจ” นั้นเป็นเด็ก "หญิงอ้อ" เมื่อโดนเด้งจึงออกมาแฉยับนักการเมืองจ้องงาบ สั่งให้กรรมการพิจารณางบอุดหนุนเฉพาะกิจท้องถิ่นหลายหมื่นล้านรีบเซ็นอนุมัติ 3 พันโครงการ โดยไม่ต้องรอคำสั่งที่มิชอบของนักการเมือง รวมถึงการโยกย้ายสิงห์ขาว เพื่อนร่วมรุ่น"สุเทพ"ผงาดยกแผง แถมเด็ก“เนวิน”ถูกดันขึ้นเพียบ เป็นการปูทางสลายฐานมวลชนเสื้อแดง
การจัดทัพทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทยที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดขึ้นภายหลังจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย และผู้จัดการรัฐบาล ได้หารือกับนายเนวิน ชิดชอบ ผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคภูมิใจไทย ร่วมกันจัดทำโผรายชื่อโยกย้ายทั้งหมดแทบทุกตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการผลักดันคนใกล้ชิดของตัวเองในพื้นที่ โดยเป็นนคนบ้านเดียวกันกับนายสุเทพ เพื่อนสนิทและรุ่นน้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จบการศึกษาจากที่เดียวกัน มารับตำแหน่งหลายคน ในส่วนของการผลักดันของนายเนวินนั้น ให้ผู้ว่าฯภาคอีสานใกล้ชิดกับส.ส.ภูมิใจไทย มารับตำแหน่งสำคัญๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ว่าฯภาคอีสานพื้นที่หลักของพรรคภูมิใจไทยที่แข่งกับพรรคเพื่อไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นฐานหลักของคนเสื้อแดง โดยมีหลายคนที่เป็นการย้ายเพื่อคืนความชอบธรรมให้ หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลพลังประชาชนถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ไม่ถนัดในการทำงาน จนทำให้การบริหารงานในจังหวัดเกิดปัญหา

อย่างไรก็ตามผลของการโยกย้ายทำให้ผู้ถูกโยกย้ายบางคน อาทิ นายสุกิจ เจริญรัตนกุล ที่ถูกเด้งจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(อสถ.) ซึ่งเป็นกรมขนาดใหญ่ของกระทรวงที่มีงบประมาณแต่ละปีประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ไปนั่งตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านายสุกิจมีความใกล้ชิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผนวกกับมีปัญหาเรื่องทุจริตนมโรงเรียนเกิดขึ้น แต่นายสุกิจชี้แจงเรื่องนี้ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายการเมือง อีกทั้งนายสุกิจได้ประกาศทันทีว่า เตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตามรอยนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ถูกเด้งเข้ากรุก่อนหน้านี้ บนกระแสข่าวว่านายสุกิจได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายพีรพล หลังมีคำสั่งเด้งเข้ากรุด้วยเพื่อขอคำแนะนำในการต่อสู้ตามข้อกฎหมายเช่นเดียวกับนายพีรพล ที่ได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ที่น่าสนใจเป็นพิเศษนายสุกิจ ได้ลงนามคำสั่งทิ้งทวนเปิดศึกกับฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 52 หลังโดนเด้งไม่กี่ชั่วโมง อันเป็นคำสั่งเรื่อง “ยกเลิกแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีเร่งด่วน และคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาวงเงินการก่อสร้าง และรูปแบบโครงการที่อปท. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2552” ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่อสถ. คนปัจจุบันได้รับคำสั่งให้ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (ผต.มท.) โดยในตอนท้ายคำสั่งนายสุกิจระบุไว้ชัดเจนว่า ” อนึ่ง ณ ปัจจุบันเหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ 2552 ฉะนั้นในห้วงเวลานี้จนถึงวันที่อสถ . คนปัจจุบันได้รับคำสั่งให้ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งผต.มท. จึงขอให้ประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ เร่งพิจารณาโครงการต่างๆ ที่คณะทำงานพิจารณาวงเงินก่อสร้างฯ ได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 3000 โครงการ โดยมิต้องรอคำสั่งที่มิชอบของข้าราชการฝ่ายการเมืองเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
สำหรับคนที่มาเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคุมงบ 1.4 แสนล้านบาทแทนนายสุกิจ เป็นนายมานิต วัฒนเสน ผวจ.ขอนแก่น สายตรงเนวิน ชิดชอบ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งได้รับแรงหนุนจากเนวินให้เป็นบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาค

ส่วนรายชื่อที่น่าสนใจใน 28 ตำแหน่งหลักๆ เช่น นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ที่ถูกย้ายจากผู้ว่าฯเชียงใหม่มาเป็นรองปลัดกระทรวง แม้จะดูว่า ไม่ได้เป็นการลดชั้น แต่ทว่านายวิบูลย์อายุราชการยังเหลือจนถึงปี 2558 และนายวิบูลย์ก็ไม่เต็มใจย้ายจากตำแหน่ง แต่ทว่าพื้นที่เชียงใหม่เป็นที่ทราบกันดีเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ซึ่งนับว่าเป็นกองบัญชาการหลักของคนเสื้อแดงในภาคเหนือ จึงทำให้การย้ายนายวิบูลย์ครั้งนี้ เพราะฝ่ายการเมืองติดใจนายวิบูลย์หลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางไปร่วมงานสังสรรค์ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วถูกคนเสื้อแดงบุกเข้าไปก่อกวนและปิดล้อมสถานที่จัดงาน จนเกิดการทำร้ายข้าราชการผู้หญิงของมหาวิทยาลัย โดยที่ทางจังหวัดไม่ได้มีการเตรียมการป้องกันและคลี่คลายสถานการณ์ไว้จนนายสุเทพไม่พอใจอย่างมาก
ทั้งนี้คนที่มาแทนเป็นนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผวจ.ลำปางที่แนบแน่นกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน เพราะคุ้นเคยกันตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย - เทิดพงษ์ ไชยอนันต์ เป็นต้น โดยทราบกันดีว่า นายชวนเวลามาที่ภาคเหนือจะต้องเดินทางไปบ้านนายอมรพันธ์หลายครั้งเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของนายอมรพันธ์ ขณะเดียวกันได้ผลักดันให้นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผวจ.พิษณุโลก ให้มาเป็นผวจ.ลำปางแทน
นอกจากนี้อธิบดีอีกหนึ่งคนที่ถูกเด้งแบบลดชั้น คือ นายชุมพร พลรักษ์ จากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มาเป็นผวจ.สิงห์บุรี จังหวัดเล็ก หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้แค่ห้าเดือน แต่หลายคนก็ไม่ผิดความคาดหมาย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านายชุมพรมีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ทั้งนี้เดิมมีข่าวว่านายสุเทพ พยายามผลักดันให้นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าฯสตูลมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน แต่ปรากฏว่า โผไม่ลงตัว เพราะชื่อของนายไพรัตน์ สกลพันธุ์ ผวจ.นครนายกมาแรงในตอนท้าย เพราะนายเนวินต้องการให้นายไพรัตน์ไปเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนแทน จนนายชวรัตน์ต้องตัดสินใจในช่วงดึกของวันที่ 9 มีนาคม ก่อนนำชื่อเข้าครม. โดยขอให้นายสยุมพรไปเป็นผู้ว่าฯระยองแทน ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณก็ไม่ขัดข้อง
ขณะที่นายวิชัย ไพรสงบ ผวจ.สิงห์บุรี มารับตำแหน่งผวจ. ภูเก็ต ได้รับแรงหนุนจากนางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ เพราะเคยเป็นอดีตผู้ว่าพังงามาก่อน ก่อนหน้านี้เคยเป็นอดีตผอ.รางวัด กรมที่ดินและรองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้ว่าฯ สิงห์ทอง รัฐศาสตร์ รามคำแหงที่มีอยู่ในเวลานี้
โดย นายปรีชา กมลบุตร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ถูกลดชั้นให้ดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครนายก เหตุเพราะฝ่ายการเมืองเห็นว่านายปรีชาไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่ได้ จนทำให้อยุธยาฯเป็นพื้นที่หลักของคนเสื้อแดงในภาคกลาง จนล่าสุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเตรียมโฟนอินในงานความจริงสัญจรที่อยุธยาวันที่ 14 มีนาคมนี้ ผนวกกับฝ่ายการเมืองเห็นว่านายปรีชาใกล้ชิดกับแกนนำเพื่อไทยโดยเฉพาะนายยงยุทธ ติยะไพรัช สมัยนายปรีชาเป็นผู้ว่าฯเชียงราย
ส่วนคนที่มาเป็นผู้ว่าฯอยุธยาแทนนายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.สกลนคร แม้ไม่สนิทกับนายเนวิน ชิดชอบ และส.ส.ภูมิใจไทย แต่มีผลการทำงานโดดเด่น
ส่วนนายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผวจ.สุรินทร์ ที่ได้ขยับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นสายตรงเนวิน และศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทั้งที่เพิ่งไปเป็นผู้ว่าฯสุรินทร์เมื่อตุลาคมปี 51 โดยขยับจากรองผู้ว่าฯสุรินทร์ มาครั้งนี้ได้เป็นผู้ว่าฯขอนแก่น จังหวัดใหญ่ของภาคอีสาน พื้นที่เลือกตั้งของนายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ รมช.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย
สำหรับนายวิเชียร ชวลิต ผวจ.อำนาจเจริญ เลื่อนชั้นนั่งเก้าอี้เป็นผวจ.สุรินทร์ ก็เป็นสายตรงของเนวิน ซึ่งก่อนหน้านี้เนวินส่งมาเป็นคณะทำงานให้กับพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรมว.มหาดไทย ที่มีศักดิ์สยามเป็นหัวหน้าทีม จนได้ขึ้นเป็นผู้ว่าฯอำนาจเจริญ เมื่อตุลาคมปี 51 มาครั้งนี้ได้ขยับชั้นมาเป็นผู้ว่าสุรินทร์ทันที บนแรงหนุนของส.ส.ภูมิใจไทยในพื้นที่ของนายยรรยง ร่วมพัฒนา ส.ส.สุรินทร์
นอกจากนี้ยังมีรายชื่อที่ น่าสนใจเช่น นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผวจ.ราชบุรีที่จะไปเป็นผู้ว่าฯสตูล พบว่า จบปริญญาเอกและโทจากสหรัฐอเมริกา ได้รับการวิจารณ์อย่างมากเพราะเป็นการย้ายไปในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีรายงานว่า นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาล คุ้นเคยกับนายสุเมธเป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยนายสุเมธเป็นรองผู้ว่าฯพิจิตร ที่เป็นพื้นที่เลือกตั้งของพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ ลูกพี่เก่าของนายถาวร จึงต้องการดึงนายสุเมธให้มาช่วยดูแลพื้นที่สตูล แม้ว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าปัตตานี ยะลา นราธิวาส อีกทั้งเพื่อมาแทนนายสยุมพร ลิ่มไทย ที่ไปเป็นผู้ว่าฯระยอง เพราะนายสุเทพ และนายถาวรเห็นว่านายสยุมพร ไม่ถนัดงานเรื่องสถานการณ์ความมั่นคง
ส่วนคนที่มาเป็นผู้ว่าฯราชบุรีแทนเป็นนายสุเทพ โกมลภมร ที่โยกมาจากผวจ.พัทลุง ทั้งที่เพิ่งขึ้นเป็นผู้ว่าฯเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว ว่ากันว่า เป็นสายตรงสุเทพ อีกคนหนึ่งรวมถึง นายวิญญู ทองสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ก็ได้รับการผลักดันจากนายสุเทพ เพราะเป็นคนบ้านเดียวกันที่จ.สุราษฏร์ธานี อีกทั้งที่ผ่านมานายวิญญูเติบโตในพื้นที่สุราษฏร์ธานีมาตลอด จึงคุ้นเคยกับทั้งนายสุเทพและนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนนายวิญญูได้รับแรงหนุนให้เป็นรองผู้ว่าสุราษฏร์ธานี แถมยังเป็นเพื่อนร่วมสถาบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับนายสุเทพ จึงมักคุ้นกันมานับสิบๆปี แถมยังเป็น นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสุราษฎร์ธานีด้วย และขึ้นเป็นระดับ 10 คือ ผู้ตรวจกระทรวงได้เพียงปีกว่าๆ สุดท้ายได้รับแรงหนุนจากสุเทพให้มาเป็นผู้ว่าฯครั้งแรกที่พัทลุง
อย่างไรก็ดีใน การโยกผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยออกไปเป็นผู้ว่าฯในอีสานและภาคเหนือ ในพื้นที่สีแดงหลายคนแล้วก็โยกผู้ว่าฯพื้นที่สีแดงเข้ากรุผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสลับกันเช่น นายทองทวี พิมเสน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยไปเป็นผู้ว่าฯมหาสารคาม แล้วเด้ง นายพินิจ เจริญพานิช จากผวจ.มหาสารคามเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย บนกระแสข่าวว่า นายพินิจมีความใกล้ชิดกับแกนนำเพื่อไทย เช่น ศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรมว.ศึกษาธิการจึงต้องจัดคนของภูมิใจไทยลงพื้นที่เอาไว้ปูทางประสานการเลือกตั้ง
สำหรับนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่ได้ออกจากกรุผู้ตรวจฯได้เป็นผู้ว่าฯจังหวัดสำคัญทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงราย พบว่า นายสุเมธเป็นเพื่อนร่วมสถาบันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับนายสุเทพ ส่วนนายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผวจ.เชียงราย ถูกเด้งมาเป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง โดยคำสั่งนี้จะทำให้นายไตรสิทธิ์ เข้ากรุถาวรหลังจากเพิ่งถูกย้ายด่วนมาช่วยราชการกระทรวงมหาดไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากปัญหาเรื่องการถูกร้องเรียนว่าบริหารงานในจังหวัดไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ข้าราชการในจังหวัดเกิดความแตกแยก รวมถึงรัฐบาลเห็นว่า หากปล่อยปละในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง จะเป็นการช่วยพรรคเพื่อไทยในการสร้างมวลชนคนเสื้อแดงขึ้นอีก แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งชั่วคราว ดังนั้นเลยนำชื่อนายไตรสิทธิ์รวมไว้ในการโยกย้ายครั้งนี้ เพื่อให้เข้ากรุถาวรจนเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมปีนี้
การโยกย้ายสลับกันของผู้ว่าฯกับผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่เป็นตำแหน่งเข้ากรุ ยังพบว่า มีหลายคนน่าสนใจเช่นกัน อาทิ นายวันชัย สุทิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่ครั้งนี้ได้ออกไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด กำแพงเพชร นายขจรศักดิ์ สิงโตกุล ผวจ.ยโสธรถูกเด้งเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แล้วให้นายวันชัย อุดมสิน ผวจ.กำแพงเพชรไปเป็นผู้ว่าฯยโสธรแทน ขณะที่นายสมบัติ ศรีวัฒน์สุวรรณ์ เป็นรองผู้ว่าฯคนเดียวที่ขึ้นระดับ 10 เพราะมีความอาวุโสมาก แม้จะเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันกับนายสุเทพ ก็ตาม ที่สำคัญเป็นพื้นที่เป้าหมายของพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน