วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

11 นักการเมือง-ขรก.พันทุจริตรถ-เรือดับเพลิง

ป.ป.ช.เตรียมชี้มูลทุจริตรถ-เรือดับเพลิง พบนักการเมือง-ขรก.มีเอี่ยว 11 ราย "สมลักษณ์" ระบุ "อภิรักษ์" ต้องพักงานทันที หากปปช.มีมติผิดจริง จนกว่าศาลฎีกาฯจะพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.วันที่ 11 พ.ย.นี้ ป.ป.ช.จะพิจารณาชี้มูลสำนวนคดีทุจริตการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,800 ล้านบาท หลังจากที่คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน ได้สรุปสำนวนคดีว่า มีนักการเมือง และข้าราชการตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว จำนวน 11 คน ประกอบด้วย

นายโภคิน พลกุล อดีตมหาดไทย
นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย
นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการรมว.มหาดไทย
นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม.
พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผอ.สำนักป้องกันสาธารณภัย กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.
คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร
นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
นายมาริโอ มีน่าร์ ผู้แทนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี
และบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี ในฐานะคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร


นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ย. ที่ประชุม ป.ป.ช.จะมีการชี้มูลสำนวนคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง ของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,200 ล้านบาท ตามที่คตส.ส่งเรื่องมาให้ป.ป.ช.ดำเนินการ โดยการพิจารณาคดีนี้ป.ป.ช.จะพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทีละรายว่า มีความผิดหรือไม่อย่างไร เมื่อถามว่าหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายอภิรักษ์แล้ว ตามกฎหมายนายอภิรักษ์จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีเลยหรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะจะต้องหารือกันในที่ประชุมเกี่ยวกับข้อกฎหมายก่อน

น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า หากในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. มีความผิดข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ กรณีรถดับเพลิงกทม. นายอภิรักษ์ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ทันที จนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาออกมา ตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีนี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากตำแหน่งที่นายอภิรักษ์ถูกกล่าวหา กับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันเป็นตำแหน่งเดียวกัน คิดว่า ในวันที่ 11 พ.ย. ป.ป.ช.จะสามารถชี้มูลคดีนี้ได้ และส่วนตัวมีคำตอบเรื่องนี้อยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่า แม้คดีนี้จะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายคน แต่ไม่รู้สึกหนักใจ หรือกดดันในการทำงาน เพราะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และไม่มีใครวิ่งเต้นเกี่ยวกับคดีนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงมติชี้มูลคดีนี้ ป.ป.ช.จะมีมติเป็นเอกฉันท์เหมือนคดีอื่นๆที่ผ่านมาหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ ตอบว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาสำนวนและการตัดสินใจของกรรมการป.ป.ช.แต่ละคน อย่างไรก็ตามการชี้มูลความผิดกรณีนี้ จะใช้เสียงข้างมาก 5 ใน 9

เมื่อถามว่าประเด็นของนายอภิรักษ์นั้น ป.ป.ช.จะต้องถกเถียงและตีความกฎหมายกันมากเป็นพิเศษหรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น เพราะนายอภิรักษ์ได้ยื่นเอกสารหลักฐานชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติหน้าที่และการทำสัญญา มายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากที่อนุกรรมการไตสวนข้อเท็จจริงได้สรุปสำนวนคดีเรียบร้อยแล้ว แต่มั่นใจว่าในการประชุมวันที่ 11 พ.ย.นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสามารถลงมติชี้มูลคดีดังกล่าว

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมที่จะชี้มูลความผิดคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม.ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ว่า ยังไม่ขอแสดงความเห็น ต้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาตามกระบวนการกฎหมายก่อน ส่วนผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นอย่างไร ก็พร้อมที่จะเคารพ ซึ่งตนเคารพในกระบวนการยุติธรรมและเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวว่านายอภิรักษ์จะเป็น 1 ใน 11 คนที่จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ ตนไม่ขอพูดถึงในรายละเอียดใดๆ

ต่อข้อถามว่า หากถูกชี้มูลความผิดจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเลยหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า คงต้องรอดูผลการหารือของ ป.ป.ช. และข้อสรุปอย่างเป็นทางการก่อน ตอนนี้ตอบอะไรไม่ได้

ด้านนายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคพลังประชาชน ระบุว่า หากนายอภิรักษ์ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ ก็ต้องยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ทันที เพื่อแสดงสปิริตของผู้บริหาร รวมไปถึงทีมรองผู้ว่าฯกทม. คณะที่ปรึกษา ที่นายอภิรักษ์แต่งตั้ง ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปพร้อมกัน ส่วนการรักษาราชการนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. จะให้บุคคลใด บุคคลหนึ่งที่มีตำแหน่งในคณะผู้บริหารฝ่ายการเมืองมาปฏิบัติหน้าที่แทนไม่ได้ เพราะถือว่าผิดระเบียบ

รัฐงัดก๊อกสองทำประชามติบีบแก้รธน.

ประธานวิปรัฐบาล เผยสามารถยืนยันยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทันสมัยประชุมนี้ ส่วนจะพิจารณาได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประชุม บีบวุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หวังเป็นอีกช่องทางทำประชามติสอบถามประชาชนว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้าน "ชัย" ระบุหากพันธมิตร ปิดล้อมสภาวันญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เขาพร้อมเลื่อนการประชุม ขณะที่ลูกพรรคมัชฌิมาธิปไตย เสียงแตกค้าน แก้ม.291 หวั่น ไม่ครบองค์ประชุม เหตุส.ส.กลัวโดนปิดล้อม แนะนำเข้าสภาสมัยประชุมหน้าให้ปชป.-พันธมิตร ร่วมส.ส.ร.3 ด้วย

นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยวานนี้ (10 พ.ย.) ว่า ภายหลังการเข้าพบหารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้หารือถึงการบรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 โดยเรื่องการยื่นญัตติไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยู่ที่ความเหมาะสมในการนำญัตติดังกล่าวมาพิจารณา ซึ่งส่วนตัวเขาเห็นว่าควรให้ผ่านพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปก่อน จะเหมาะสมกว่า แต่ยืนยันว่าจะยื่นญัตติในสมัยประชุมนี้

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า สมาชิกรัฐสภาบางส่วน มีความเห็นว่าควรทำประชามติ รับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน ซึ่งร่างกฎหมายประชามติ อยู่ในขั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งประธานรัฐสภาประสานไปยังวุฒิสภาให้เร่งพิจารณาแล้ว หากกฎหมายประชามติผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา อาจมีการนำเรื่องนี้ไปทำประชามติก่อน

ส่วนกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเคลื่อนมาปิดล้อมรัฐสภา หากมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น นายวิทยา กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกรัฐสภา หากเห็นว่าควรมาประชุมสภาฯ ก็มา ไม่ควรมาก็ไม่ต้องมา เพราะหากองค์ประชุมไม่ครบย่อมจะเปิดประชุมไม่ได้ ไม่ต้องให้ใครมาปิดล้อมทั้งนั้น

ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสมาชิกรัฐสภาว่าจะมีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ย. เพื่อพิจารณารับทราบข้อตกลงระหว่างไทย-เกาหลี ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเสนอมา ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครเสนอเรื่องมาถึงเขาเพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และเขาไม่ได้นัดหารือกับประธานวิปรัฐบาลตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากมีการเสนอญัตติเข้ามาในสัปดาห์นี้คงไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวันที่ 24 พ.ย.นี้ เนื่องจากจะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องโดยใช้เวลาประมาณ 7 วัน โดยหากญัตติไม่ถูกต้องจะต้องคืนกลับไป ส่วนที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทันสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติซึ่งมีกำหนดปิดสมัยในวันที่ 28 พ.ย.หรือไม่นั้น เขาไม่มีความเห็นเพราะเป็นเรื่องของสภาและประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลาง

"ผมมั่นใจว่าจะไม่มีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภาภายในสัปดาห์นี้ เพราะผมนอนหลับฝันแล้วเห็นว่าจะไม่มีการยื่นญัตติแน่นอน"

ผู้สื่อข่าวถามที่ว่าพันธมิตร ขู่ว่าหากพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาปิดล้อมรัฐสภาอีก นายชัยกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นคงมีทางเดียวคือต้องเลื่อนการประชุมออกไปตามข้อบังคับที่ 8 เรื่องการควบคุมการประชุม แต่เขาไม่ได้รู้สึกวิตกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะสภามีหน้าที่พิจารณากฎหมายขณะที่ประธานสภามีหน้าที่พิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุม

ด้านนายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย ในฐานะวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชัย เรียกนายวิทยา บูรณศิริ เข้าพบซึ่งตัวเขาก็เข้าร่วมด้วยว่า เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการเรื่องการจะบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาฯในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ว่าจะนำเรื่องการแก้ไข มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งส.ส.ร. 3 หรือไม่ เพราะนายชัยต้องการจะตกลงว่าจะนำ มาตรา 291 เข้าประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 พ.ย.นี้หรือไม่

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร.3 เป็นเรื่องจำเป็น แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ควรจะมีการชะลอออกไปก่อน เพราะยังมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ เขาได้คุยกับส.ส.ทั้งพรรครัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนคัดค้านเพราะอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของประชาชนก่อน เพราะประชาชนเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลมัวแต่หมกมุ่นกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องทะเลาะกันทั้งส.ส.และส.ว.

"การตั้งส.ส.ร.3 ผมอยากให้ทุกภาคส่วนตามระบอบประชาธิปไตยได้มีส่วนร่วมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร และภาคนักวิชาการด้วย เพื่อนำความเห็นจากทุกฝ่ายมาตกผลึก และให้การตั้งส.ส.ร.3 มีความสมบูรณ์ เพราะหากมีแต่ฝ่ายรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แม้จะตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมาปัญหาก็จะไม่มีวันจบ และหากมีการนำเข้าสภาฯในปลายสมัยประชุมนี้ก็อาจจะเกิดปัญหาว่ากลุ่มพันธมิตร จะมาปิดล้อมสภา ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เพราะส.ส.อาจจะไม่มาเข้าร่วมประชุม เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายได้ และอาจจะส่งผลให้ร่างแก้ไข มาตรา 291 ไม่ผ่าน และหากมีการประชุมเรื่องนี้ ผมคิดว่าจะไม่มีการโหวตสวนมติหรือคว่ำร่างแน่นอน แต่ส.ส.อาจจะหลบเลี่ยงด้วยวิธีการไม่มาเข้าร่วมประชุมแทน ซึ่งผมเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องนี้"