วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อธิการหอการค้าชี้นศ.ขายตัวผ่านเว็บแค่เพิ่มค่าตัว

หมวดข่าว : สังคม
โดยทีมข่าว : สังคม
อธิการหอการค้า ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมเอกชนไทย เผยตรวจสอบเว็บนศ.ขายตัวแล้ว ไม่ใช่นศ.แต่แฝงขายตัว หวังเพิ่มต่าตัว ส่วนรมช.ศึกษา สั่งม.รัฐ-เอกชน-อาชีวะ คุมเข้มนักศึกษาขายตัวผ่านเวบฯ เร่งปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เล็งชงเข้าหารือกับกกอ.
รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายกสมาคมสถาบันอุดมเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)เปิดเผยว่าได้รับการร้องเรียนจากคนไทยในต่างประเทศว่ามีนักศึกษาไทยขายบริการทางเพศผ่านเวบไซต์และไฮไฟว์เป็นจำนวนมาก ว่า เมื่อทราบปัญหาดังกล่าวไม่ได้นิ่งนอนใจ เขาได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีเบอร์โทรศัพท์ ชื่อ ที่อยู่ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ ปรากฎว่า ไม่ใช่นักศึกษา กลับเป็นผู้หญิงขายบริการทั่วไป แต่อ้างเป็นนักศึกษา เพราะต้องการเพิ่มค่าตัว
"เมื่อเรานำเอาชื่อ สกุล ไปตรวจสอบตามมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ไม่พบว่าเป็นนักศึกษา ทั้งที่ทุกมหาวิทยาลัยจะมีทะเบียนนักศึกษาทุกคนอยู่ หากรายชื่อดังกล่าวเป็นนักศึกษาจริง จะต้องตรวจสอบได้ในทะเบียนนักศึกษา แต่กรณีดังกล่าวไม่พบ ผมจึงมองว่าเป็นเรื่องของการแอบอ้างใช้ชุดนักศึกษาเพิ่มค่าตัวมากกว่า"
รศ.ดร.จีรเดช กล่าวว่า เราคงไม่ต้องไปนั่งแก้ปัญหานี้ ยิ่งแก้เหมือนยิ่งมีปัญหา ยิ่งพูดยิ่งเข้าตัว อีกอย่างเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่นักศึกษาของเรา ไม่จำเป็นต้องไปนั่งแก้ นั่งแถลง
อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้แอบอ้างเช่นนี้เพราะไม่มีรายได้ บวกกับพิษเศรษฐกิจตกต่ำ จึงพยายามหาทางที่จะหาเงินได้ง่าย และมากๆ จึงมาแอบอ้างเป็นนักศึกษา เรามหาวิทยาลัยเอกชนถูกกล่าวหาเรื่องนี้มาตลอด ทั้งที่ความจริงแล้ว เด็กที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ถือว่าพ่อแม่มีเงิน ฐานะปานกลาง คงไม่จำเป็นต้องไปขายบริการ อีกทั้ง เมื่อทุกคนมีเงิน แล้วใช้ของฟุ้งเฟ้อแล้ว ก็ไม่จำเป็ต้องเอาตัวเข้าแลก เพราะต่างมีเงินจับจ่ายหาซื้อของมาใช้อยู่แล้ว ข้อเท็จจริงมันไปด้วยกันไม่ได้ เพราะไม่ใช่เด็กมหาวิทยาลัยเอกชน" รศ.ดร.จีรเดช กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)กล่าวว่า ก่อนมีข่าวออกมาได้แจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษาผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ขอให้ช่วยกวดขันดูแลนักศึกษาไม่ให้มีการขายบริการทางเพศ ซึ่งคิดว่าปัญหามีสาเหตุจากนักศึกษามีค่านิยมที่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ตามกระแสวัตถุนิยมและปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ
"กรณีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำนั้นทุกฝ่ายต่างเจอปัญหานี้ทั้งนั้น ดังนั้น นักศึกษาจึงต้องรู้จักหาทางออกที่เหมาะสม และศธ.มีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมเรียนอยู่แล้ว ปีนี้ได้เสนอรัฐบาลให้ขยายฐานผู้กู้ กยศ.โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 ที่กู้กองทุนกยศ.ไม่ได้ในช่วงเรียนปีที่ 1 สามารถกู้ได้และใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว"
ส่วนปัญหานักศึกษามีค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยนั้น ศธ.คงแก้ปัญหาโดยลำพังไม่ได้ แต่จะต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายเช่น กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ช่วยกันปลูกฝังให้นักศึกษามีความรับผิดชอบมากขึ้น มีจิตสาธารณะและดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ดังนั้น จะนำปัญหานี้ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ด้วย

“บัญญัติ”ชี้“วิฑูรย์”ทบทวนตัวเอง

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : ทำเนียบรัฐบาล
“บัญญัติ”แนะ“วิฑูรย์”หากแจงปลากระป๋องเน่าแล้วสังคมไม่เชื่อ ควรทบทวนตัวเอง ชี้ เสียงวิจารณ์จะเป็นตัวชี้วัด พรรคการเมือง-นักการเมืองไม่ควรละเลย และรัฐบาลรู้ดีว่าต้องระวังไม่ให้มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ประธานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังประสบปัญหาโครงการแจกถุงยังชีพช่วยผู้ประสบอุทกภัย จ.พัทลุง แล้วมีปลากระป๋องเน่า ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐมนตรีต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ให้คลี่คลายลงให้ได้ ถ้าสร้างความเข้าใจไม่ได้ก็ต้องพิจารณาว่าหลังจากรัฐมนตรีชี้แจงแล้ว เสียงสะท้อนของสังคมเป็นอย่างไร ตรงนี้คือภารกิจของการเมืองยุคนี้ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วมาก และประชาชนก็พร้อมที่จะแสดงออกว่าชอบหรือไม่ชอบ เสียงสะท้อนนั้นจะปรากฎจากการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นตัวชี้วัด ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองละเลยไม่ได้
ต่อข้อถามว่า จนถึงวันนี้จับเสียงสะท้อนของประชาชนได้หรือยังว่าประชาชนจะเอาอย่างไร กรรมการสภาที่ประธานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทัศนคติของประชาชน ที่มีต่อนักการเมืองเรื่องคร์อรัปชันค่อนข้างที่จะรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ตระหนักในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในกฎ 9 ข้อที่นายกฯพูดเอาไว้กับครม.
"ผมจำได้ว่าในข้อที่ 2 ชัดเจนในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และอีกข้อคือความรับผิดชอบของนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบมากว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยซ้ำไป นายกฯต้องดูปฏิกิริยาที่สะท้อนกลับมาด้วย"
นายบัญญัติ กล่าวว่า ที่น่ายินดีที่สุดคือนายวิฑูรย์ บอกว่า ถึงอย่างไรก็ต้องรักษามาตรฐานของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องความซื้อสัตย์สุจริตไว้ และจะไม่ให้เรื่องราวของตัวเองเป็นภาระกับรัฐบาล และให้นายกฯมีโอกาสแก้ไขปัญหาไปได้ คิดว่าถ้าชี้แจงแล้วคนยังไม่เชื่อ ไม่ว่าตัวเองจะผิดหรือไม่ผิด ก็ต้องกลับมาคิดกันแล้วว่าควรจะช่วยกันรักษาระดับความเชื่อมั่นที่จะต้องมีในรัฐบาลโดยรวมอย่างไร โดยวัฒนธรรมประเพณีของพรรคเมื่อไหร่ก็ตามหากประชาชนไม่สบายใจก็ต้องพึงทบทวนต่อสิ่งเหล่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรฐานของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอย่างไรต่อกรณีนี้ นายบัญญัติ กล่าวว่า มาตรฐานของพรรคพูดได้ว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหัวใจของอุดมการณ์ในการทำงานการเมือง วันนี้นายวิฑูรย์ พูดว่าถ้าผิดจริงก็ไม่ต้องเป็นห่วง นายกฯ ก็บอกว่ากลับมาจากต่างประเทศแล้วจะดู รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้อย่างแรกก็คือผลงานของรัฐบาล และตนเคยบอกกฎ 5 ข้อที่บอกว่าไม่ และเอาไว้ให้รัฐบาลทำ คือ ไม่แบ่งแยก ไม่พูดจาท้าทาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีคำมั่นสัญญา และไม่ทุจริต คอร์รัปชัน อย่าให้ประชาชนระแวงแคลงใจเรื่องนี้เด็ดขาด เพราะประชาชนรับไม่ได้กับการทุจริต
ต่อข้อถามว่า เท่าที่ฟังหาเสียงของท่านเหมือนกับว่ารัฐมนตรีที่โดนกล่าวหาควรจะต้องแสดงสปิริต กรรมการสภาที่ประธานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่ตัวรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่คงละเลยปัญหานี้ไปไม่ได้ รัฐบาลต้องรักษาระดับความเชื่อมั่นต่อประชาชนสูงมากใน 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องเศรษฐกิจและ 2.ความเชื่อมั่น ว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้เข้ามาหาเศษหาเลย วิกฤติการเมืองทำให้คนขาดความเชื่อมั่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการคดโกงทางการเมืองนั้น ณ วันนี้รัฐบาลนี้จะต้องระมัดระวังว่าจะไม่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และเชื่อว่านายกฯ ตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่าถ้าพูดเรื่องคอรัปชันประชาชนก็เชื่อไว้ก่อนแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เดาใจนายกฯออกหรือไม่ว่าจะเอาอย่างไรกับกรณีนี้ นายบัญญัติ กล่าวว่า นายกฯ คงคิดเหมือนที่เขาพูดเอาไว้ว่า รัฐบาลที่เข้ามาภายใต้วิกฤติเช่นนี้ รัฐบาลต้องรักษาระดับความเชื่อมั่นของประชาชนเอาไว้ เพราะความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความไว้วางใจมันเป็นปัจจัยข้อแรกในการทำงาน ถ้าคนไม่เชื่อมั่น ทำอะไรก็ยาก นายกฯคงต้องคิดอ่านเพื่อรักษาความเชื่อถือเอาไว้ให้ได้

กกต.ชี้อาญา"สุเทพ"โยงยุบปชป.ไม่ได้

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : รัฐสภา
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งชี้การดำเนินคดีอาญา "สุเทพ" โยงไปสู่การดำเนินคดีเพื่อยุบพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ชี้เป็นความผิดส่วนบุคคล
มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่สั่งให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกรณีนายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทุจริตการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะไปแจกทุนการศึกษาในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยหนึ่งในนั้น คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยชี้ขาดเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ทั้งนี้ หากศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่าชอบกับกกต. ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ผลของคดีนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่านายสุเทพ เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ระบุว่า หากกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตเลือกตั้ง จะต้องยุบพรรค แต่ในพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ไม่ได้กำหนดโทษยุบพรรคการเมืองเอาไว้ด้วย
แหล่งข่าวจากสำนักงานกกต. เปิดเผยว่า กรณีของนายสุเทพ นั้นเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่สามารถนำไปโยงเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่านายสุเทพ จะเป็นกรรมการบริหารพรรคก็ตาม คงมีโทษทางอาญาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีความพยายามที่จะโยงว่า การแจกสิ่งของมีสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นความผิดของพรรคด้วย นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าพรรคมีส่วนรู้เห็นว่าเป็นผู้สั่งให้กระทำและแจกสิ่งของนั้น ๆ จึงยากที่จะสาวไปให้เป็นความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์
รายงานข่าวจากกกต. แจ้งว่า กรณีกกต.มีมติให้มีการเลือกตั้งนายกอบจ.สุราษฎร์ธานี ใหม่ และสั่งให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องและร่วมแจกทุนการศึกษา ประกอบด้วย นายสุเทพ นายชุมพล กาญจนะ ส.ส. สุราษฎร์ และนายประพนธ์ นิลวัชรมณี หัวคะแนน โดยขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการเขียนสำนวนส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย หากศาลไม่เห็นด้วยกับมติของกกต. นายสุเทพ ก็ถือว่าไม่มีความผิด
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีความเป็นไปได้ว่าศาลอาจจะสั่งยกฟ้องเนื่องจากในสำนวนที่กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ และให้ดำเนินคดีอาญาและเตรียมส่งฟ้องศาลนั้นปรากฏว่าไม่ได้เรียกนายสุเทพ มาสอบสวนทั้งในชั้นกกต.จังหวัด และกกต.กลาง ซึ่งมีผลทำให้สำนวนอ่อนลง และเชื่อว่านายสุเทพ จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาต่อสู้ในชั้นศาลด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลยกคำร้องกกต.ไม่สามารถนำคำร้องกลับมาสอบสวนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากอายุความเกิน 1 ปีแล้ว ทั้งนี้ กกต.ก็อาจมีความเสี่ยงผิดตามพ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 29 ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และอนุกรรมการ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการ โดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี