วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"พระเทพฯ"พระราชทานเงินช่วยขรก.บัวแก้วจำเลยพระวิหาร



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานเงินสมทบช่วยเหลือข้าราชการบัวแก้ว โดนฟ้องเป็นจำเลยกรณีปราสาทพระวิหาร


หลังจากที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และนายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูต (ปฏิบัติราชการที่กรมสนธิสัญญาฯ) โดนฟ้องร้องอันสืบเนื่องจากมติครม.ที่ยินยอมให้นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร


ล่าสุด นายนรชิต สิงหเสนี เลขาธิการสโมสรสราญรมย์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2551 เพื่อแจ้งให้ทราบความคืบหน้าตามที่ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 กันยายน 2551 เกี่ยวกับการระดมทุนช่วยเหลือเพื่อนข้าราชการที่ประสบปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่


หนังสือดังกล่าวระบุว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน สำหรับช่วยเหลือข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้ง 4 คน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเป็นมงคลและขวัญกำลังใจอันสูงสุดแก่ข้าราชการ ตลอดจนสมาชิกสโมสรสราญรมย์ทุกคน


ในการนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับเพื่อนข้าราชการทั้ง 3 ได้กราบบังคมทูลฯ แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ ในระหว่างส่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังราชอาณาจักรสเปน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2551


ขณะเดียวกันสมาชิกสโมสรสราญรมย์จำนวนมากได้บริจาคสมทบทุน รวมทั้ง นายอนันต์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม


นอกจากนั้นยังมีบุคคลภายนอกและหน่วยราชการอื่น ซึ่งเมื่อทราบเรื่องการระดมทุนได้ร่วมบริจาคสมทบด้วย อาทิ กรมกิจการชายแดนทหาร ซึ่งยอดเงินการระดมทุน ณ วันที่ 18 กันยายน 2551 เป็นจำนวน 2,961,200 บาท 390 ยูโร 470 ดอลลารณ์สหรัฐ 1,200 หยวน และ 150,000 เยน


นายสุจินดา ยงสุนทร และนายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ได้รับที่จะดำเนินการร่วมกับทนายในการต่อสู้คดีให้กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 4 โดยไม่คิดค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ


ท้ายจดหมายยังระบุด้วยว่า จำนวนเงินที่รวบรวมได้ไม่สำคัญเท่าการแสดงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเพื่อสมาชิกสโมสรในยามที่พี่น้องสมาชิกต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่


มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นฟ้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีทางอาญาและถอดถอนนายสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมทั้งได้ฟ้องร้องข้าราชการทั้ง 4 คนนี้ ร่วมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ข้าราชการทหาร และพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวม 45 คนในกรณีที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยและเขตแดนบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหารจากกรณีที่ครม.มีมติวันที่ 17 มิ.ย. 2251ให้ความเห็นชอบกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีประสาทพระวิหารตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ


ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 และคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติรับคำร้องดังกล่าวนี้แล้วซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่รับว่าความให้ เพราะไม่ได้เป็นคดีความที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องแต่เป็นเรื่องที่รัฐเป็นผู้ฟ้องร้องเอง ซึ่งในการจ้างทนายนั้นจำเป็นต้องใช้ทนายที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายอาญา และกฎหมายปกครองซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง


ไม่มีความคิดเห็น: