วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิฑูรย์แจงพรรควันพรุ่งนี้พร้อมประกาศไขก๊อกเพื่อรักษาพรรค

หมวดข่าว : การเมือง

โดยทีมข่าว : ทำเนียบรัฐบาล

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ในวันอังคารที่ 3 ก.พ. นี้ นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสัวคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเข้ามาชี้แจงกรณีปลากระป๋องเน่า ในถุงยังชีพ ที่แจกให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จ.พัทลุง ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรค

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมานายวิฑูรย์ เคยระบุว่า จะรอผลการสอบของคณะกรรมาธิการป.ป.ช. พิจารณาก่อน แต่ก็มีกระแสข่าวว่า นายวิฑูรย์ อาจจะแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออก และเลิกเล่นการเมืองไปเลย เพราะเนื่องจากทนต่อกระแสกดดันทางสังคมไม่ได้ และไม่อยากให้พรรคต้องมาเสียชื่อเสียงเพราะตน อีกทั้ง นายอภิสิทธิ์ ยังกำชับให้ครม.ยึดกฎเหล็ก 9 ข้อ เน้นทำงานซื่อสัตย์-สุจริต

สำหรับรายชื่อแคนดิเดตที่พรรคจะวางตัวแทนนายวิฑูรย์คือนายชินวรณ์ บุญเกียรติ์ ประธานวิปรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ว่า ก่อนหน้านี้เขาได้บอกไว้ว่าหลังเดินทางกลับมาจากการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส จะมาดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีที่มีเครื่องหมายคำถามจากสื่อมวลชน กับสังคมอยู่ ตอนนั้นขอเวลา 3 วัน วันนี้ก็เหลืออีก 2 วันขณะนี้ก็ได้รวบรวมข้อมูลไว้ได้พอสมควรแล้ว ทั้งในส่วนของรัฐมนตรีบุญจง (วงศ์ไตรรัตน์) และรัฐมนตรีวิฑูรย์ (นามบุตร) จากนั้นจะมีความชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการชี้ขาดเลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็จะเรียนให้ทราบเลยว่าเขาได้ดูข้อมูลแล้ว คิดว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นความเหมาะสม ยืนยันว่าเขาไม่ได้ละเลยต่อความห่วงใยของสังคมที่มีต่อรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง และจะได้พิจารณา ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเขาจะรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเอง
ต่อข้อถามว่ายังจำเป็นต้องรอผลจากคณะกรรมการอิสระแต่ละชุด ที่กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะให้คำตอบว่าขณะนี้มีการตรวจสอบทั้ง 2 กรณีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องอยู่ที่ว่าขณะนี้ในส่วนของฝ่ายบริหารเองจะทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ก็จะแจ้งให้ทราบภายใน 2 วันนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนายบุญจง นั้น แกนนำของพรรคภูมิใจไทยออกมาบอกว่าจะไม่มีการปรับออก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันเป็นอำนาจและเขาจะเป็นคนพิจารณาเรื่องนี้ และถ้าปรับครม. ก็จะต้องปรับให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้ทำงานแล้วมีแนวทาง และมีมาตรฐานอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคร่วมไม่ยอมปรับจะตัดสินใจอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการ ทั้งหมดทำเพื่อต้องการให้รัฐบาลทำงานได้ เพราะถ้ารัฐบาลคิดถึงแต่ตัวเลขก็ไม่ได้ การทำงานจะสำเร็จได้ต้องได้รับการยอมรับความเชื่อถือ ต้องใช้ตรงนี้เข้ามาประกอบไม่เช่นนั้นคงไม่พูดถึงเรื่อง 9 มาตรการในการทำงานกับครม.นัดแรก

ผู้สื่อข่าวถามว่าพูดเช่นนี้เหมือนกับว่าจะมีการปรับ ครม.นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่พูดคือหลักการที่เขาใช้ ส่วนจะเป็นอย่างไรก็ขอให้รออีก 2 วันแล้วจะเรียนให้ทราบ และสังคมต้องเป็นคนตอบอีกที ส่วนตัวเขามีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณา

ส่วนที่ฝ่ายค้านประกาศว่ามีข้อมูลเด็ดในการอภิปรายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องรอให้ฝ่ายค้านยื่นและอภิปรายมาก่อนตอนนี้ไม่ทราบ การอภิปรายนายกฯ ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ และตัวเขาก็ยอมรับการตรวจสอบ อีกทั้งไม่รู้สึกกังวล เพราะ 1 เดือนที่ผ่านมาได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ และมีความก้าวหน้า โดยที่เปลี่ยนแปลงไปมากก็คือมีระบบการตรวจสอบ เมื่อตัวเขามองข้ามอะไรไปแล้วฝ่ายค้านเสนอข้อมูลมาก็จะได้ดู และชี้แจงว่าที่ทำมามีเหตุผลอะไร

เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่กระแสภายในพรรคประชาธิปัตย์อยากให้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาฟังทุกๆ ความเห็น

ต่อข้อถามว่านายกฯ พูดถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาล แต่ตอนนี้นายวิฑูรย์ โดนมองว่าไม่น่าจะไว้วางใจได้แล้ว นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า "ถ้าหากจะปรับหรือไม่ปรับ ผมก็ต้องเป็นคนชี้แจงเหตุผลว่าปรับเพราะอะไร หรือไม่ปรับเพราะอะไร และเหตุผลนี้ก็เป็นตัวที่ผมหวังว่าจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าการตัดสินใจจะไปในทิศทางใดก็ตาม ซึ่งทุกทางออกจะมีคำตอบ และผมจะเป็นคนให้คำตอบเอง"

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรคหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาคุยกับหลายๆ ท่านแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบทุกคน
"สุเทพ"รอประชุมพรรควันนี้ชี้ชะตา"วิทูรย์"

ส่วนนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหากไม่มีหารปรับ ครม.ว่า การปรับ ครม.นั้นเป็นอำนาจของนายกฯ และนายกฯ ได้บอกแล้วว่าขอเวลา 2-3 วัน เพื่อดูข้อมูลหลักฐานทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนกรณีข่าวการปรับนายวิฑูรย์ ออกจากตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมฯ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน เพราะยังไม่ได้ประชุมกรรมการบริหารพรรค หรือ ส.ส.ของพรรค ซึ่งจะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคในช่วงบ่ายวันอังคารที่ 3 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การทบทวนตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญของนักการเมือง หากโดนวิจารณ์มากๆ นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นทัศนะและเป็นแนวความคิด ซึ่งทุกคนมีสิทธิเสนอแนวความคิด ดังนั้น นายวิฑูรย์ ควรรับฟังแนวความคิดของฝ่ายต่างๆ และประเมินดู

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีที่ชาวพัทลุงได้รับแจกสิ่งของช่วยเหลือน้ำท่วม ซึ่งมีปลากระป๋องเน่า ว่า เขาและส.ส.ในพื้นที่รู้สึกน้อยใจและอับอาย ที่ชาวพัทลุงได้รับบริจากสิ่งของที่ไม่มีคุณภาพ เรื่องนี้ดังกล่าวมีต่อเนื่องมาเป็นเดือนแล้วแต่ก็ยังไม่จบเสียที ทั้งนี้ เพื่อนส.ส.บางจังหวัดได้ล้อเล่นว่า ถ้าเป็นพวกเขานำปลากระป๋องเน่าไปแจกคงเรียบร้อยไปนานแล้ว แต่ส.ส.พัทลุง กล้าทำ แม้จะแซวเล่นแบบนี้แต่เขาก็น้อยใจ เพราะรู้สึกตลอดเวลาว่าทำไมถึงปกป้องชาวบ้านที่เลือกเราไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ให้จบโดยเร็ว

ผมไปแก้รธน.เพราะเห็นว่ามีผลกับชีวิตผมมันคงเกินไป


หมวดข่าว : สัมภาษณ์พิเศษ

โดย : กองบรรณาธิการ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ TheCityJournal ถึงสถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่เวลานี้หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหากไม่มีหารปรับ ครม. และเรื่องปัญหาคุณสมบัติรัฐมนตรี

รัฐบาลจะปรับครม.ตามที่คนเสื้อแดงเรีกยร้องไหม

การปรับ ครม.นั้นเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ได้บอกแล้วว่าขอเวลา 2-3 วัน เพื่อดูข้อมูลหลักฐานทั้งหมด ซึ่งคงต้องให้เวลานายกฯ ด้วย เพราะตอนนี้มีงานมากเหลือเกิน

การปรับครม.หากปรับไม่ดี อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

คงไม่เป็นปัญหา ต้องรอให้นายกฯ ได้ดูรายละเอียดทุกอย่างก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย

จะปรับนายวิฑูรย์ นามบุตร ออกจากตำแหน่ง รมว.การกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไหมเพราะในพรรคก็เรียกร้องเหมือนกับที่นอกพรรคเรียกร้อง

ไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน เพราะยังไม่ได้ประชุมกรรมการบริหารพรรค หรือ ส.ส.ของพรรค ซึ่งจะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคในช่วงบ่ายวันอังคารที่ 3 ก.พ.นี้

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การทบทวนตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญของนักการเมือง หากชี้แจงแล้วยังโดนวิจารณ์มากๆ

เป็นทัศนะและเป็นแนวความคิด ซึ่งทุกคนมีสิทธิเสนอแนวความคิด ดังนั้น นายวิฑูรย์ ควรรับฟังแนวความคิดของฝ่ายต่างๆและประเมินดู

ปัญหาของนายวิฑูรย์ถือเป็นปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ในรัฐบาลหรือไม่

ไม่ถึงขนาดกับว่าจะเป็นปัญหาในพรรค หรือ เป็นปัญหาของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข

พรรคภูมิใจไทยพยายามกดดันเพื่อไม่ให้มีการปรับนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทยออกจากตำแหน่ง แต่ถ้านายวิฑูรย์ แสดงสปิริตลาออกแล้วนายบุญจง ยังนิ่งเฉยจะกลายเป็นสองมาตรฐานหรือเปล่า

อย่าคิดไปเร็วขนาดนั้น เพราะยังไม่มีกรณีที่นายวิฑูรย์ ตัดสินใจทำอะไร หรือกรณีนายกฯ ตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับนายวิฑูรย์ ดังนั้นจะบอกว่ากรณีของนายวิฑูรย์ จะไปกดดันกรณีของนายบุญจง คงไม่ใช่ และยังไม่มีเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยมากดดันรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีนายบุญจงแต่อย่างใด

จะเป็นการสวนทางกับที่นายกฯที่ไปยืนยันกับต่างชาติว่าสถานการณ์ประเทศไทยกำลังไปด้วยดี แต่ภายในรัฐบาลกำลังวุ่นวาย

ความจริงภายในรัฐบาลไม่มีอะไรวุ่นวาย เพียงแต่มีปัญหาที่เกิดประเด็นและเป็นที่สนใจของฝ่ายต่างๆ ซึ่งเราต้องสะสางเท่านั้นเอง

การแจกปลากระป๋องเน่า ทำไมจึงไม่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

เป็นช่วงเวลาที่ได้ขอให้นายวิฑูรย์ไปรวบรวมหลักฐาน เอกสาร ข้อเท็จจริงต่างๆมาเสนอ เพื่อให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัย ถือว่าไม่ล่าช้าเท่าไรนัก ภายใน 2-3 วันนี้ก็จะชัดเจน

แล้วในกรณ๊รัฐมนตรีสายล่อฟ้าตัวจริงนายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ที่กลุ่มเสื้อแดงวิจารณ์ว่ามีประวัติมัวหมองไม่สมควรเป็นรัฐมนตรี

คำว่าประวัติมัวหมอง สำหรับคนที่จะเป็นรัฐมนตรีนั้นหมายถึงความมัวหมองในการปฏิบัติราชการ ส่วนกรณีของนายกษิต ไม่มีอะไรที่เป็นความมัวหมองในการปฏิบัติราชการ หรือ การทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม

นายกษิต ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรและขึ้นเวทีปราศรัยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายเสื้อแดง

ไม่ว่าจะขึ้นเวทีไหนก็แล้วแต่จะเป็นการพูดจากันไปตามความเชื่อ ตามความคิดของแต่ละคน พวกผมก่อนที่จะมาเป็น ส.ส. ก็ขึ้นเวทีปราศรัยกันมามากมาย เป็นเรื่องปกติ

รัฐบาลไม่แคร์เรื่องนี้

รัฐบาลไม่ได้เอามาเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณา

แล้วกรณีที่กกต.ชี้มูลความผิดอาญานายสุเทพ กรณีไปช่วยน้องชายหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี

ผมยืนยันว่าผมไม่ได้มีเรื่องเพราะไปช่วยหาเสียง เพราะผมไม่ได้ไปช่วยหาเสียง แต่ผมไปงานสงกรานต์ ไปทำบุญ ตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามประเพณี และหากเห็นว่าการที่ผมไปทำอย่างนั้นมีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นเขาจึงให้ใบเหลืองนายกฯอบจ. ซึ่งต้องไปพิสูจน์กันที่ศาลว่าการที่ผมไปทำกิจกรรมตามประเพณีนั้นเป็นเรื่องที่เข้าข่ายกฎหมายกำหนด หรือไม่

แต่ผมมองว่ากฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า ห้ามมิให้กระทำการใดที่ผิดกฎหมาย อาทิเช่น ซื้อเสียง แจกเงิน หรือกระทำทุจริต แต่ตนไม่ได้กระทำใดที่ทุจริตแต่อย่างใด

ตอนนี้รู้สึกไหมว่ามีความพยายามเอาผิดคนในรัฐบาลด้วยกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 266 เป็นเรื่องผิดปกติหรือมีกระบวนการใดหรือไม่

ผมไม่มองอะไรมาก เป็นคนไม่คิดมาก หากมีกรณีคงต้องพิสูจน์กันเพราะเรามีกระบวนการยุติธรรม เราต้องเชื่อในกระบวนการยุติธรรม

น่าสงสัยหรือไม่ว่าทำไมจึงเป็น อบจ.สุราษฎร์ฯ มีการตั้งข้อสังเกตโดยคนใน กกต.จะมีการสอบถามเรื่องดังกล่าวหรือไม่

ไม่สอบถาม ไม่คุย หน้าที่ของ กกต.ท่านก็ทำหน้าที่ไป หากคิดว่าทำถูกต้องเหมาะสมแล้วก็ทำไป

คิดว่าจะตายน้ำตื้นหรือไม่

หากศาลวินิจฉัยว่าผมผิดผมก็ต้องรับผิด

คิดว่าจะเชื่อมโยงถึงการยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่

กรณีนี้ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการโยงไปถึงการยุบพรรคได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้อย่างนั้น แต่กฎหมายบัญญัติเฉพาะกรณีการเลือกตั้งส.ส.

หากเห็นว่ามาตรา 266 มีปัญหาจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผมยังไม่มีความเห็น ผมจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ากฎหมายมีผลกับชีวิตผมมันคงเกินไป ต้องว่ากันไปตามมาตรฐานทั่วไป ซึ่งมีกรรมการพิจารณาอยู่ว่าข้อไหนดี ไม่ดี

กรณีที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องและให้ปฏิบัติภายใน 15 วัน รัฐบาลจะพิจารณาอย่างไร ทำได้หรือไม่ได้

ยังไม่ได้หารือกันในภาพรวม แต่ผมเห็นว่าบางเรื่อง อย่างกรณีดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายนั้นดำเนินการอยู่แล้ว แต่เรื่องอื่นๆ คงทำไม่ได้ เรื่องยุบสภานั้นก็ไม่มีทาง เพราะกำลังแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอยู่แล้วจะไปทำให้สะดุดหยุดลงทำไม แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้ประมาท

วันนี้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นป.ป.ช.ตรวจสอบกรณี 3 รัฐมนตรีที่ลงมติรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณขัดกฎหมาย กังวลเรื่องนี้ไหม

นายเรืองไกร ก็ทำหน้าที่ของเขา ส่วนผู้มีหน้าที่ตีความ ตรวจสอบ วินิจฉัยก็ดำเนินการไป เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐาน ผมเข้าใจว่ารัฐบาลมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะไปชี้แจง

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญห้ามไว้ว่าคนที่เป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.ในขณะเดียวกันจะไปยกมือในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง อาทิเช่น กรณีโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างนั้นรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ทำ แต่การที่รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ลงมตินั้นเป็นเรื่องของงบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาช่วยประชาชน ไม่ได้มาช่วยรัฐมนตรี และความจริงงบฯที่ผ่านนั้นไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงของรัฐมนตรีที่ลงคะแนนเสียด้วยซ้ำไป ผมไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา แต่ขออภัยหากความเห็นของตนจะไปล่วงล้ำหน้าที่ของผู้มีสิทธิตีความ

ปชป.ตำหนิพท.เปิดประตูให้ต่างชาติแทรกแซงไทย


หมวดข่าว : การเมือง

โดยทีมข่าว : รัฐสภา

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงอัดแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดโอกาสให้องค์กรต่างชาติแทรกแซงการเมืองไทย โว รัฐบาลขับเคลื่อนฝ่าวิกฤติประเทศเองได้

วันนี้ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. น.พ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาตำหนิคำให้สัมภาษณ์ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับ สื่อต่างชาติที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิสเซอรแลนด์ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นบุคคลที่ตระหนักถึงภาพลักษณ์ของประเทศ และระมัดระวังต่อการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศไทย

ส่วนคำให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น เป็นเพียงการตอบคำถามต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสื่อบางส่วนที่ตั้งประเด็นเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาล

น.พ.บุรณัชย์ กล่าวด้วยว่า อยากให้แกนนำพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทบทวนและยุติการเคลื่อนไหว เพราะหลังจากที่ได้ทำหนังสือถึงศาลโลก สหประชาชาติ สหพันธ์รัฐสภาระหว่างประเทศ รวมไปถึงกรณีที่นาย จักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช. ที่ทำหนังสือถึงเอกอัครราชทูตอาเซียน 9 ประเทศ ซึ่งเป็นคำถามที่สื่อต่างชาติมี และถือเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงต่อองค์กรนอกประเทศ ในการเปิดโอกาสให้องค์กรเหล่านั้นเข้ามาแทรกแซงการเมืองของไทย

"ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากการดำเนินการของพรรคเพื่อไทย และ นปช. เอง หากพรรคเพื่อไทยมีข้อสงสัยในเรื่องของความชอบธรรมในเรื่องรัฐสภา หรือรัฐบาล ช่องทางขององค์กรอิสระภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง หรือ ศาลรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้อยู่แล้ว"

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยจะกอบกู้ความเชื่อมั่นจากประชาคมโลก ส่วนหนึ่งคือสร้างความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ซึ่งการชุมนุมของ นปช. แม้ที่ผ่านมาจะชุมนุมอย่างสงบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการตั้งใจชุมนุมในวันที่นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมอยู่กับผู้นำในเวทีโลก ทำให้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่างชาติ ต้องเสนอข่าวการชุมนุมในไทยไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า บทบาทของพรรคเพื่อไทย ในการช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง เพราะเงื่อนไขของกลุ่ม นปช. ที่เสนอ 4 ข้อ เป็นการเสนอคำขาด แต่พรรคประชาธิปัตย์ ยึดมั่นแนวทางการหารือและเจรจา ซึ่งพรรคหวังว่า ช่วง 15 วัน ที่ นปช. ขีดเส้นตายให้รัฐบาลนั้น จะเป็นโอกาสที่การเจรจาหารือเริ่มต้นขึ้น ซึ่งทราบมาว่า รัฐบาลได้พยายามที่จะร้องขอให้กลุ่มเสื้อแดงส่งแกนนำมาเจรจา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด เช่นเดียวกับที่วิปฝ่ายค้านก็ปฏิเสธเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ อยากให้แกนนำพรรคเพื่อไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเสื้อแดงให้ช่วยเปิดทางให้มีการพูดคุยถึงข้อห่วงในต่างๆ กับรัฐบาล เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย หากมีการชุมนุมในช่วงประชุมสุดยอดอาเซียนปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

น.พ.บุรณัชย์ กล่าวถึงข้อสงสัยที่ประชาชนมีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีหลายคน ขอยืนยันว่าประชาธิปัตย์ตระหนักดีถึงความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ว่า จะสามารถขับเคลื่อนฟันฝ่าวิกฤตและทำให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะที่ท้าทายมาหลายปี ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวพรรคยืนยันว่า ภายใน 2-3 วันนี้ สิ่งที่เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่พรรคได้รับจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกคน พรรคพร้อมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบอย่างโปร่งใส ปราศจากการปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งข้อสงสัยจากประชาชนมี 2 ส่วนคือ ทำให้ผลประโยชน์ของส่วนรวมเสียไปหรือไม่ และคนบางคนได้รับประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะมีการหารือหลังจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลจะพูดคุยกัน

“ ผมได้คุยกับรัฐมนตรีวิฑูรย์ (นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมฯ) ว่าเวลาที่ผ่านมานั้น ท่านได้สืบค้นข้อมูลทั้งหมด ซึ่งหลายส่วน ผมยังไม่ได้รับทราบโดยการประชุม ส.ส. พรรควันพรุ่งนี้ ( 3 ก.พ. 52) ผมคิดว่าความกระจ่างชัดในเรื่องของข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ คงจะครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอให้ประชาชนรับทราบ โดยรัฐบาลจะได้ดำเนินการต่อไปโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนเป็นสำคัญทั้งนี้ท่านวิฑูรย์ ได้บอกกับผมว่า ที่ผ่านมาได้ให้คณะกรรมการทั้ง 7 ชุด ทำงานอย่างอิสระ และข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวม นำเสนอโดยไม่แทรกแซงการทำงาน ดังนั้นในส่วนนี้ผมจึงอยากให้สังคมรอฟังข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสับสนต่างๆ เกิดขึ้นมาเป็นลำดับ ” น.พ.บุรณัชย์ กล่าว

"วิชา"ชี้3รัฐมนตรีไม่ผิดกฎหมายป.ป.ช.


หมวดข่าว : การเมือง

โดยทีมข่าว : รัฐสภา

"วิชา" ระบุ 3 รัฐมนตรีโหวตผ่านร่างพ.ร.บ.งบกลางปี 2552 อาจไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. เพียงแต่ผิดมารยาท คาด ป.ป.ช.พิจารณาเบื้องต้น 5 ก.พ.

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นให้ป.ป.ช. สอบ 3 รมต. ว่า เมื่อยื่นเรื่องมาที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. หรือไม่ หากมีอำนาจก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการ

ทั้งนี้ส่วนตัวเขามองว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีอำนาจเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องนี้ได้ดีที่สุด โดยนักการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องเอง

"กรณีดังกล่าวไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงผลที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวว่า จะมีผลอย่างไรและมีบทลงโทษอย่างไร นอกจากนี้กฎหมายของ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ระบุบทลงโทษกรณีดังกล่าวไว้ด้วยว่า จะต้องลงโทษอย่างไร สำหรับการนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเบื้องต้นคาดว่า ในการประชุม ป.ป.ช.วันที่ 5 ก.พ. น่าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือ"

นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.คงดูว่า อยู่ในข่ายอำนาจหรือไม่ และคงมองที่ประเด็นการเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ต้องดู 2-3 เรื่องคือ ถ้ากฎหมายต้องการเอาผิดจะเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วยป.ป.ช.มาตรา 100-103 ถ้าไม่ใช่เรื่องผิดทางอาญาก็จะเป็นเรื่องผิดจริยธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การตำหนิ การถูกถอดถอน กระบวนการที่ ป.ป.ช.จะพิจารณาคงต้องดูรายละเอียดตรงนี้ว่า เป็นเรื่องทางจริยธรรมหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคดีอาญา ต้องไม่ลืมว่าอำนาจของป.ปช.จะพิจารณาได้ต้องเป็นเรื่องความผิดทางอาญาเนื่องในการกระทำผิดหรือประพฤติมิชอบ

"ผมมองว่า กรณีนี้ยังไม่เข้าข่ายความผิดทางอาญา แต่โดยมารยาทอาจจะผิดมารยาท อีกทั้งรัฐธรรมนูญเขียนไว้เฉพาะในมาตรา 177 แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องพ้นตำแหน่งหรือมีความผิดอย่าง"