วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

"รัฐบาลลูกกรอก1" : ปลุกเสกจากทารกที่หมดอายุขัย


"ธีรยุทธ" : ตั้งฉายารัฐบาลสมัคร
"รัฐบาลลูกกรอก1" : ปลุกเสกจากทารกที่หมดอายุขัย
หมยเหตุ : นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ แถลงข่าววิเคราะห์การเมืองไทย วิพากษ์จุดแข็งจุดอ่อนและโอกาสรัฐบาลพลังประชาชน แนวโน้มอนาคตการเมืองไทยและทางออกปัญหา โดยตั้งฉายา รัฐบาลหมัก เป็นรัฐบาลลูกกรอก 1 ปลุกเสกจากทารกที่หมดอายุขัย มี “รักเลี๊ยบ-ยมมิ่ง” เป็นผู้นำคณะลูกกรอก

สถานการณ์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เศรษฐกิจอเมริกา ถดถอย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเอเชีย ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจการเงิน ด้านวัฒนธรรม ด้านประชากร ฯลฯ ใหม่หมด ไทยต้องปรับโครงสร้าง (restructuring) ตัวเอง เพื่อฉวยประโยชน์ให้มากที่สุด เนื่องจากประชากรเอเชียที่ร่ำรวยขึ้นมีจำนวนมาก ทำให้อาหาร และวัตถุดิบราคาสูงขึ้น เป็นโอกาสที่ดีของภาคเกษตรวัตถุดิบของไทย
ไทยยังมีความสามารถเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรม การบริการ การแพทย์ และการท่องเที่ยว ที่จะเติบโตขึ้นอีกมหาศาลได้
ในทางภูมิศาสตร์ไทยยังเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม ขนส่งและจัดการสินค้าวัตถุดิบ (logistic hub) ได้ดีดังนั้น รัฐบาลต้องฉวยโอกาสนี้ให้ดี อย่าหมกมุ่นกับการแก้ปัญหาตัวเอง
ทั้งนี้ จุดแข็ง จุดอ่อน พรรคพลังประชาชน นั้น
จุดอ่อน ก็อยู่ตรงที่นโยบายประชานิยม ซึ่งเกิดข้ออ่อนหลายอย่าง คือ
1.การจัดตั้งรัฐบาลต้องเอาตัวแทนจากท้องถิ่นมาเป็นรัฐบาลมากขึ้น จึงขัดแย้งกับชนชั้นกลางใน กทม. และตัวจังหวัดใหญ่ต่าง ๆ ที่คาดหวังการตั้งรัฐบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพเป็นหลัก
2.ระบอบพรรคการเมืองไทยอยู่กับการซื้อเสียงจ่ายเงินให้ชาวบ้าน จึงต้องถอนทุนคืน การคอร์รัปชันในสมัยรัฐบาลชุดนี้จะนำไปสู่การคัดค้านของสังคมอย่างกว้างขวาง และขยายตัวเป็นการขับไล่รัฐบาลได้
3.จะเกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างจอมขมังเวท กุมารทอง และบรรดาลูกกรอก ในรัฐบาลสมัคร
4.ทั้งพวกรักทักษิณ และพวกคัดค้านทักษิณ มีกลุ่มที่มีความคิดสุดขั้วแฝงอยู่ ในพวกรักทักษิณ มีสุดขั้วเชิงอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศอย่างสุดโต่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งในสังคมเกิดเร็วขึ้น และขยายตัวได้ง่าย
5.ปัญหาเศรษฐกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ บุคลากรของ พปช. ขาดความเป็นมืออาชีพ อาจทำให้ปัญหาแรงขึ้นกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลได้

ฉายารัฐบาลสมัคร : รัฐบาลลูกกรอก
ฉายารัฐบาลสมัคร เป็นรัฐบาลลูกกรอก 1 เพราะรัฐบาลสมัคร มีลักษณะเป็นผู้มีอาคมปลุกเสกจากทารกที่หมดอายุขัยไปแล้วให้กลับมามีอิทธิฤทธิ์ ควบคุมจิตใจให้ซื่อสัตย์ จงรักภักดี คอยช่วยทำงานให้ โดยที่ พปช. โดนกล่าวหาว่าเป็น “นอมินี” ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งแปลว่าหุ่นเชิด นั้นไม่ตรงนัก เพราะหุ่นไม่มีชีวิตจิตใจ โดยนอมินี มักเป็นบุคคลที่อ่อนวัยวุฒิกว่า ด้อยคุณวุฒิ ความฉลาดน้อยกว่าเจ้าของแต่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีสูง จึงควรแปล “ นอมินี” ว่า “ ลูกกรอก”
ลูกกรอกคณะนี้มีระดับผู้นำอยู่ 2 ตน คือ “รักเลี้ยบ – ยมมิ่ง” มีฤทธิ์เดชฉกาจฉกรรจ์ ส่วนหัวหน้าคณะลูกกรอกมี 2 ตน เป็น “กุมารทองคะนองฤทธิ์” ตนที่หนึ่งเป็นกุมารทองคะนองปาก คิดอะไรก็พูดอย่างนั้นทันที จนสร้างศัตรูไปทั่วทุกกลุ่ม กุมารทองตนที่ 2 “กุมารทองคะนองอำนาจ” ชอบอยู่กระทรวงที่มีอำนาจ เชื่อมั่นว่าอำนาจจะสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจใคร
รัฐบาลคณะลูกกรอก แม้จะมีฤทธิ์เดช แต่ด้อยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความสามารถกว่าจอมขมังเวทผู้เป็นเจ้าของ จึงทำให้ความชอบธรรมไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น สองกุมารทองผู้นำก็ทะเลาะกับผู้คนไปในทุก ๆ เรื่อง ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในฐานะมีตำแหน่งอำนาจได้แต่ปกครองไม่ได้ ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีคาดว่าจะโดนผู้คนต่อต้านหนักมากขึ้น แต่รัฐบาลน่าจะอยู่ได้ยาวกว่านี้เพราะความชอบธรรมที่มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้ง

การเมืองไทยกำลังเข้าสู่วัฏจักรนักการเมืองชั่วครองเมือง
ส่วนแนวโน้มอนาคตการเมืองไทยว่า ต้องระวังที่ประเทศไทยอย่ากลับไปสู่วัฏจักรวิบัติที่ก้าวจากยุค คมช. สู่ยุค ชคม. คือ ยุคนักการเมืองชั่วครองเมือง ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตราหน้าบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นการเจาะจง แต่เป็นการเตือนนักการเมืองโดยรวมอย่างจริงจังว่าอย่าก้าวไปสู่จุดนั้น ซึ่งจะเป็นความเสียหายร้ายแรงมากกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งในอดีตการเมืองไทยตกอยู่ภายในวงจรอุบาทว์ คือมีการซื้อเสียงเลือกตั้งนำไปสู่รัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งคอร์รัปชันกว้างขวางเพื่อถอนทุนคืน จนผู้คนเอือมระอา เกิดการปฏิวัติ นำไปสู่การต่อต้านคัดค้านของพลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วเกิดการเลือกตั้งซื้อเสียงเป็นวงจรไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ “ทุน” และ “ความคิดเสรีนิยม” ขยายตัวไร้ขอบเขต จนทะเลาะกับชุมชน สถาบันสังคมต่าง ๆ และยังเป็นการเมืองยุคประชานิยม ปัญหาจึงกินลึกลงไปอีกกลายเป็นวัฏจักรวิบัติ มี คมช. จากการปฏิวัติ เกิดการต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตย และรากหญ้า จนมีเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล ซึ่งเกือบทุก ๆ ชุดจะโกงกินมโหฬารและใช้อำนาจบาตรใหญ่ และปิดกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบลงโทษ กลายเป็นยุค ชคม. นักการเมืองชั่วครองเมือง ซึ่ง ชมค.จะถูกต่อต้านจากชนชั้นกลาง ภาคสังคม ประชาชนที่ต้องการรักษาคุณธรรม และความสมดุลให้สังคม ปฏิเสธการขยายอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด จนกลายเป็นความขัดแย้งวุ่นวาย เกิดการปฏิวัติ หรือ คมช. ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้ง และกลุ่มรากหญ้าอีกเกิดเป็นวนเวียนเป็นวัฏจักรจนในที่สุดเกิดเป็นความขัดแย้งเชิงซ้อน ซึ่งนอกจากความขัดแย้งประชาธิปไตยกับเผด็จการ ความขัดแย้งเสรีนิยมสุดขั้วกับสถาบันต่าง ๆ ในประเทศแล้ว จะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นกลางในเมือง กลายเป็นความขัดแย้งของคนทั้งชาติอีกด้วย
เราผ่านวิกฤติทักษิณมา 1 รอบที่ได้สร้างผลเสียแก่ประเทศมากมหาศาล และหากรัฐบาลยืนกรานแก้รัฐธรรมนูญ ให้ตัวเองพ้นผิด พวกพ้องหลุดจากคดี ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤติรอบ 2 แต่เนื่องจากครั้งนี้ประเทศมีปัญหามากมาย ความขัดแย้งเริ่มต้นจะไม่เข้มข้นเท่าครั้งก่อน แต่จะยืดเยื้อยาวนาน ไม่มีคนแพ้คนชนะ รัฐบาลจะปราบปรามประชาชนก็ไม่ได้ พันธมิตรก็ไม่มีข้ออ้างล้มรัฐบาล ทหารก็ต้องไม่รัฐประหารอีกต่อไปแล้ว

10แนวโน้มสู่ความรุนแรง
เวลานี้ประเทศมีปัจจัยที่เอื้อให้อยู่ในความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ประเทศอยู่ในแนวโน้มสูงว่าจะเกิดความรุนแรงมี 10 ประการ คือ
1. การมองปัญหาอย่างแยกส่วนตัดตอน โดยความสมานฉันท์คนในชาติหลังจากเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นได้ต้องสร้างให้มีพื้นที่แห่งความเข้าใจร่วมกันก่อน ซึ่งควรจะมองเหตุการณ์อย่างไม่บิดเบือน และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจริง ไม่มองแบบแยกส่วน แต่จุดนี้ยังมองต่างกันอย่างมากคือ สังคมไทยโดยทั่วไปมองต้นตอเกิดจากการคอร์รัปชัน และการใช้อำนาจยับยั้งไม่ให้มีการตรวจสอบการคอร์รัปชันของรัฐบาล ทรท. สิ่งที่คตส. ป.ป.ช. ได้ทำมา คือการเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง (facts) แก่สังคม และศาล
ทักษิณ และพวกพ้องจะผิดหรือไม่ผิดขึ้นอยู่กับศาลจะเป็นผู้ตัดสิน แต่กลุ่มกองเชียร์ทักษิณ มองปัญหาเลื่อนมาอยู่ที่เผด็จการรัฐประหาร และใช้วิธีการไม่ให้เรื่องไปจบลงที่ศาล โดยการแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ เมื่อมองต่างกัน ใช้ตรรกะต่างกัน วิกฤติก็ไม่จบ
2. วัฒนธรรมไทยไม่เอื้อต่อการแก้วิกฤติ สังคมไทย ซึ่งไทยเป็นสังคมกลุ่มอุปถัมภ์ และนิยมวัฒนธรรมการใช้อำนาจ เราไม่ได้แก้ปัญหาโดยใช้กฎระเบียบกติกา โดยในอดีตเรามีวัฒนธรรมแบบศรีธนญชัย แต่ปัจจุบันได้เกิด “วัฒนธรรมศรีตะแบงไช” คือบรรดานักการเมืองผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ได้พัฒนาตัวเองเป็นหลวงศรีตะแบงไช ด้วยการตะแบงการตีความกฎหมาย อำนาจ และผลประโยชน์แล้ว ยังชอนไชทะลุทะลวงกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถาบัน องค์กรอิสระ กระบวนการทางกฎหมาย และยุติธรรมอย่างต่อเนื่องด้วย
หัวโจกใหญ่ของบรรดาหลวงศรีตะแบงไช ก็คือตะแบงชะเวตี้ ที่ “ตะแบง” ตั้งแต่เรื่องซุกหุ้นว่าบกพร่องโดยสุจริต แต่ก็ยังซุกหุ้นตัวเองไว้ในกองทุนต่างประเทศต่อมาอีกเกือบสิบปี ตะแบงว่าช่วยเหลือต่างประเทศ แต่กลับเอาเข้าพกเข้าห่อตัวเอง ตะแบงว่าจะเปิดเสรีคมนาคม แต่ประโยชน์กลับเข้าบริษัทของครอบครัว ตะแบงว่าจะไม่ยุบสภา แต่ก็ยุบสภา ตะแบงว่าจะไม่เล่นการเมือง แต่ก็ชักใยพรรคการเมืองใหม่ และเตรียมสร้างภาพพจน์ล้างมลทินตัวเองอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งคนกลุ่มตะแบงชะเวตี้ นี้จะทำให้เสียบ้านเสียเมืองในที่สุด
3. กลไกแก้ไขปัญหาทางสังคมคือการใช้เหตุผล โดยสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้นำทางความคิดใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะความหลากหลายมีมาก และการแบ่งขั้ว ดึงดันเอาชนะกันสูงมากเกินไป เมื่อคนไม่เชื่อเหตุและผลก็จะหันไปหาความรุนแรงได้ง่าย
4. พรรคการเมืองแตกขั้ว คนไม่ศรัทธาในกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐสภาที่ปกป้องคนโกง โดยเฉพาะนับตั้งแต่กรณีคอร์รัปชัน CTX 9000 เป็นต้นมา
5. กลไกข้าราชการมีส่วนซ้ำเติมปัญหาให้เป็นวิกฤติรุนแรงขึ้น เพราะเกิดโลภคติในผลประโยชน์ เกิดภยาคติกลัวสูญเสียตำแหน่ง ไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเอง
6. โดยปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา ในภาวะสับสนขาดความชัดเจนในโครงสร้างอำนาจ และข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่าการไม่ลงรอยในการรับรู้ เช่น ครม. ควรจะมีอำนาจ แต่คนรับรู้ว่ายังมีผู้มีอำนาจจริงอยู่อีกชุดหนึ่ง หรือพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) ที่เกษียณอายุไปนานแล้ว แต่ยังมีความเชื่อว่ายังคุมอำนาจในกองทัพอยู่ สภาพเช่นนี้จะเกิดคำนินทาว่าร้าย ข่าวลือได้ง่าย เกิดจิตวิทยามวลชน เชื่อกันไปปากต่อปาก พัฒนาเป็นความเชื่อว่าแต่ละฝ่ายคิดการร้าย หรือมีแผนการที่ชั่วร้ายอยู่ นำไปสู่ความเกลียดชังและพัฒนาเป็นความรุนแรงในที่สุด
7. คนไทยอยู่ในความตึงเครียดมานาน เบื่อหน่ายกับการเมือง ส่งผลให้ขีดความอดทนลดต่ำลง เกิดความรุนแรงได้ง่าย ดังจะเห็นได้จากกรณีตีหัวทนายความ กระโดดถีบในสภา ขว้างปาอิฐหินใส่ผู้ชุมนุม โชว์ของลับ ฯลฯ
8. ภาวะดังกล่าวทำให้คนไทยอ่อนไหวต่อสิ่งที่มากระทบต่อความเชื่อร่วม (collective belief) อาทิเช่น อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จากเรื่องเล็กพัฒนาเป็นเรื่องใหญ่ได้ ต้องมองปัญหาอย่างมีสติ อดกลั้น ปัญหาเหล่านี้เคยเกิดมาในหลายประเทศ ถ้าเป็นคดีความศาลมักต้องชั่งน้ำหนักสัดส่วนระหว่างสิทธิเสรีภาพบุคคล ซึ่งกำลังขยายตัว กับสิทธิความเชื่อของกลุ่ม
9. ระวังกระบวนการสร้างคนไทยด้วยกันเป็น “พวกอื่น” กระบวนการนี้ทางปรัชญามองว่าเกิดจากการจินตนาการภาพขึ้นจากสิ่งชั่วร้ายในจิตใจ ที่เราคิดขึ้นเองไปให้กับคนที่ต่างไปจากเราในภาวะสับสน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นคนไทยด้วยกันเองจะถูกมองเป็นคนอื่น พวกอื่น ดังเช่นสมัย 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาโดนสร้างภาพเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นปีศาจ เป็นยักษ์มาร เป็นต้น
10. ความต่างเชิงวัฒนธรรมระหว่างประชากรภาคต่าง ๆ อาจโดนวิกฤติครั้งนี้นำไปสู่ความขัดแย้งร้าวลึกได้
รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขทั้ง 10 ปัจจัยความรุนแรงดังกล่าว ที่สำคัญเฉพาะหน้าคือต้องแยกม็อบระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายรักทักษิณออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันความรุนแรงที่พร้อมจะขยายตัวดังกล่าวมาแล้ว

ทางออกการเมืองไทยสร้างประชาธิปไตยสมดุล
ทางออกของการเมืองไทย ที่ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงอีก ทางออก ในเชิงปฏิบัติ คือ พปช. ต้องทำตามหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับจากการเลือกตั้ง คือการบริหารประเทศให้ได้ดี เพราะมีฐานเสียงที่หนักแน่น มีโอกาสเป็นรัฐบาลต่อเนื่องหลายสมัยอยู่แล้ว ไม่ควรรีบร้อนแก้รัฐธรรมนูญ แล้วบ้านเมืองก็หมดปัญหา ส่วนคตส.และป.ป.ช. ก็เร่งทำคดีอย่างเต็มที่ และถ้าศาลได้พิจารณาคดีความต่าง ๆ อย่างเที่ยงตรงยุติธรรมและรวดเร็วทันกาล ก็จะคลี่คลายปัญหาลงไปได้
ส่วนเชิงโครงสร้างวิกฤติที่ยังดำรงอยู่ เป็นปัญหาระหว่างกลุ่มทุนเลือกตั้งผนวกกับชาวบ้าน ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเลือกตั้ง ขัดแย้งกับกลุ่มชนชั้นกลาง เทคโนแครต ชนชั้นนำไทย ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีการถ่วงดุล ตรวจสอบ ประเทศไทยได้พัฒนามาถึงขั้นที่ทั้งสองฝ่ายมีพลังทัดเทียมกัน จึงจะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะได้เด็ดขาด ประเทศไทยดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้งขยายอำนาจของตนตามอำเภอใจอย่างไม่มีขอบเขต และก็อยู่ไม่ได้เช่นกันถ้าจะหวนกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือยุคอำมาตยาธิปไตย
ดังนั้น ทางออกเชิงโครงสร้างคือการอยู่อย่างสมดุล มีประชาธิปไตยสมดุล มีทั้งประชาธิปไตยเลือกตั้งซึ่งประชาชนยอมรับ และอำนาจตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญที่มีที่มาอิสระทำงานอย่างได้ผล ปราศจากอคติ และการเกรงกลัวภัยจากนักการเมือง ภาคสังคมและประชาชนเข้มแข็งในการตรวจสอบวิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น

แก้ไขรธน.ต้องไม่ทำลายหลักปกครอง
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทำได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม บนหลักการ 3 ข้อ คือ
1. สปิริตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือจำกัดอำนาจบริหารไม่ให้ล้นเกิน และป้องกันการคอร์รัปชัน ซื้อเสียง แต่การจัดความสัมพันธ์อำนาจต่าง ๆ มีปัญหาอยู่บ้าง
2. รัฐธรรมนูญประเทศไทยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 อำนาจคือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และอำนาจตรวจสอบ ต้องเคารพลักษณะหน้าที่ขอบเขตของแต่ละอำนาจ จัดวางความสัมพันธ์แต่ละอำนาจให้ถูกต้อง จำแนกแยะที่มาของอำนาจต่างๆ ให้ชัดเจนเหมาะสม
3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ซึ่งลงโทษยุบพรรคเมื่อกรรมการบริหารทำผิด ควรได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางในนักวิชาการสายนิติศาสตร์ เพราะกฎหมายนี้ได้มีบทบัญญัติลงโทษกลุ่ม (collective) เมื่อบุคคลทำผิด จะเป็นการย้อนยุคหรือไม่ และจะบรรลุวัตถุประสงค์ป้องกันการซื้อเสียงหรือไม่ แต่การรีบร้อนแก้ไขของ พปช. เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดก็ไม่ควรทำ เพราะเป็นการทำลายหลักการการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) เช่นกัน
การแก้รัฐธรรมนูญ ก็ควรสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ถูกต้อง อย่าให้เกิดประเพณีว่าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ตามอำเภอใจ เพื่อประโยชน์ตัวเอง ควรให้ภาคสังคม ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ให้มีประชาพิจารณ์หรือมีประชามติ ให้มีกรรมการร่วมพรรคฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลพิจารณาร่วมกัน ให้มี ส.ส.ร. 3 เป็นต้น

ดื้อ แก้ รธน.จุดชนวนความรุนแรงรอบสอง
กรณีที่รัฐบาลมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ เกรงว่าประเทศจะเข้าสู่วิกฤติรอบ 2 โดยกลุ่มที่เคยเข้ามาแก้ปัญหาการใช้อำนาจผิดพลาดโดยใช้รัฐธรรมนูญ คมช.จะมาประท้วงร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ จะเกิดความขัดแย้งแม้ไม่เข้มข้น แต่จะยืดเยื้อ ทวีความรุนแรง แม้เป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส. แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรม
ผมเป็นห่วงปัญหาการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมีความรุนแรง จะเกิดการรัฐประหารย่อย ๆ หรือ “มินิคูเดอร์ต้า” ที่เป็นการขัดแย้งกันเองในหมู่ทหารที่เคยเกิดขึ้นในประเทศมีสิทธิจะเกิดขึ้นได้อีกในประเทศไทย เพราะประเทศที่มีการใช้นโยบายประชานิยม ก็เกิดการรัฐประหารบ่อย ๆ มีความรุนแรงระดับมวลชนเช่นกัน
ส่วนที่ผบ.ทบ.ออกมาประกาศยืนยันว่าจะไม่มีการปฏิวัติและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะประเทศชาติ บอบช้ำจากการปฏิวัติมามาก ดังนั้น การยืนยันจากผู้นำกองทัพ จึงสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
อย่างไรก็ตามผมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด จะเป็นชนวนเหตุให้ปัญหาลุกลาม ถ้ารัฐบาลยังดึงดัน ก็จะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ และเป็นจุดเริ่มต้นให้กองทัพอาจอ้างสถานการณ์ และเข้ามาแทรกแซงมายึดอำนาจอีกได้ แต่มองว่ายังเป็นเรื่องที่ไกล อีกหลายปีข้างหน้าจึงจะเกิดขึ้น
ต่อกรณีที่เคยมองว่าสังคมไทยเกิดความเสื่อมจากการที่ไม่ฟังผู้ใหญ่ ในบ้านเมือง แต่ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. ระบุว่า ขณะนี้ผู้ใหญ่กำลังพยายามแก้ไขวิกฤต นั้น ผมยังยืนยันว่าบ้านเมืองเราประสบภาวะความเสื่อมโดยให้ความสำคัญกับบทบาทผู้ใหญ่ที่มีอาวุโส เป็นระดับชั้นนำเทคโนแครต น้อยลง แต่กระจายบทบาทไปสู่ทุกระดับชนชั้น ชาวบ้านพอใจกับ ส.ส.รากหญ้าที่มาจากการเลือกตั้งที่มาเป็นรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิน้อยลง จนไม่เกิดปรากฏการณ์เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด ที่ออกมาพูดแล้วคนเกรงใจอีกแล้ว
แต่ผมมองว่าส่วนของสถาบันกองทัพ อาจยังมีความเกรงใจกันอยู่ โดยยังยึดเรื่องอาวุโสที่สูงกว่า และการเคารพตามสายบังคับบัญชา

ผลคดี“ทักษิณ”ทุจริตจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ส่วนความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน กลับมาทำงานการเมือง พร้อมชู พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นนายกฯ อีกครั้ง ก็เป็นอีกปัญหาที่คนมองว่า คดีในอดีตของรัฐบาลที่แล้วจะจบไป รวมทั้งมีการล้มและครอบงำองค์กรอิสระ หากจะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่ดี คนก็อาจรับฟัง
อย่างไรก็ตาม คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินออกมาอย่างไร ย่อมมีคนบางกลุ่มไม่พอใจ แต่สังคมก็พยายามแก้วิกฤตทุกวิธีแล้ว ต้องถือว่า องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้น คือ คตส. และ ป.ป.ช. ได้ค้นหาความจริงแล้ว ดังนั้น หากศาลตัดสินออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายควรรับฟัง และหมดข้อยุติ ถ้าหากไม่จบ ก็ไม่มีกลไกสถาบันใดคลี่คลายได้
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ แม้จะมีทีมาจาก คมช.แต่ก็ผ่านกระบวนการลงประชามติ ถือว่าชอบธรรม แต่ก็มีข้อบกพร่อง สังคมควรใช้โอกาสนี้พูดคุยเพื่อว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยใช้ความรู้ไม่ใช่ใช้อำนาจมาแก้ไข เพราะผิดวัตถุประสงค์คนจะไม่พอใจและไม่ใช่บรรทัดฐานที่ดี โดยข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญคงเป็นในส่วนที่มาขององค์กรอิสระและวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มุ่งให้นักวิชาการเข้ามาเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มให้ศาลเข้ามาก็ทำได้ แต่ต้องเป็นอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ใช่การใช้อำนาจบริหารเสียเอง มีการก้าวล่วงอำนาจกันอยู่เป็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข
ขณะที่กรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี งดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก็เป็นเรื่องดี เชื่อว่าจะช่วยคลี่คลายบรรยากาศทางการเมืองให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถือว่าการที่นายสมัคร พูดเยอะนั้นเป็นไปตามฉายาที่ตั้งไว้ เป็นลักษณะทางบุคคลที่แก้ไขยาก
สำหรับกลุ่มประท้วงรัฐบาล จะมีความชอบธรรมที่จะคัดค้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ความชอบธรรมมีหลายด้าน หากรัฐบาลมีปัญหาเรื่องจริยธรรมคุณธรรม การคอร์รัปชัน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ มีปัญหาที่วิวัฒนาการขึ้นมา หากใน 4 ปี รัฐบาลทำไม่ดีก็ชุมนุมประท้วงได้ แต่หากจะบานปลายถึงขั้นขับไล่รัฐบาลคงต้องเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ ถึงจุดนั้นประเทศก็เริ่มวิกฤตอีกครั้ง

TheCityJournal No 88 Vol 4