วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552

หล่อลายพราง

นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย ที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุเพียง 44 ปี ซึ่งรับกับเทรนโลกตะวันตก ที่ผู้นำชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีประธานาธิบดี บารัค โอบามา วัยเพียง 46 ปี เท่านั้น
ส่วนความแตกต่างที่เห็นเด่นชัดคือ สูตรผสมคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลสองประเทศ

บารัค โอบามา จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาให้หลากหลาย คือ เมื่อประธานาธิบดี อายุน้อย ก็ต้องเลือกคณะรัฐมนตรี ที่มีอายุมาก ที่สำคัญเขาไม่ถือว่าการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อเป็นผู้แทนพรรคระหว่าง ฮิลลารี คลินตัน กับบารัค โอบามา ทั้งสองจะต้องเป็นศัตรูกันตลอดไปเพราะ โอบามา เลือก นางคลินตัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีข้อจำกัดอยู่อย่างมากมาย ทำให้รูปร่างหน้าตารัฐบาล ออกมาไม่สู้จะดีสักเท่าไหร่ ข้อจำกัดสำคัญของนายกฯ อภิสิทธิ์ คือเรื่องของ "คะแนนเสียง" ที่ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา ทำให้อำนาจต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อแลกกับการเปลี่ยนขั้วของพรรครัฐบาลเดิม หันมาจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคเล็กมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า

จะเห็นได้จากประชาธิปัตย์ ยอมทิ้งกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ อย่างกระทรวงพาณิชย์ (พรทิวา นาคาศัย) จากพรรคภูมิใจไทย ยอมให้กระทรวงอุตสาหกรรม (ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง) จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ยอมให้กระทรวงคมนาคม (บุญจง วงษ์ไตรรัตน์) จากกลุ่มเพื่อนเนวิน

ขณะที่กระทรวงมั่นคง อย่างกระทรวงมหาดไทย (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ก็ยังตกไปอยู่ในมือของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน”

ภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีตรีจึงออกมาในทำนองเสียง "ยี้" มากกว่าเสียง "ชื่นชม"

อย่างไรก็ตาม แม้จะรวบรวมเสียงข้างมาก (235 เสียง) มาสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ชนะโหวตเหนือคู่แข่งคือ ประชา พรหมนอก (198 เสียง) แต่เสียงดังกล่าว นั้นเกินครึ่งสภา (220 เสียง) เพียงแค่ 15 เสียงเท่านั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 จึงเป็นรัฐบาล "เสียงปริ่มน้ำ" ไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากยังต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งโดนตัดสิทธิการเมืองเป็นเวลา 5 ปีกรณียุบพรรค (พลังประชาชน ชาติไทย มัฌชิมาธิปไตย) ในวันที่ 11 มกราคม 2552 จาก 22 จังหวัด 26 เขต 29 ที่นั่ง

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการโหวตในสภากรณีพรรคฝ่ายค้าน (เพื่อไทย ประชาราช) ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ (สมัยประชุมหน้าเป็นสมัยสามัญทั่วไป ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้) อันจะมีผลต่อการโหวตในสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 วรรคสอง
มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดว่า "ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น"

ดังนั้น หากจะสรุปปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 นั้น มี 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

1. ปัจจัยเสี่ยงเรื่องคะแนนเสียงในสภา ที่อาจจะมีการ "ซื้อส.ส.หน้าห้องน้ำ" ทำให้กฎหมายสำคัญๆ ที่รัฐบาลเสนออาจจะไม่ผ่านการพิจารณาในสภา โดยเฉพาะกฎหมายการเงิน หากไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

2. ปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่วิกฤตินี้ได้แพร่กระจายไปแล้วทั่วโลก ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เตรียมรับมือให้ดีก็มีผลต่อคะแนนนิยมในตัวนายกรัฐมนตรี ทันที

3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดการจากการบริหารภายในของคณะรัฐบาล ในอนาคต (กรณีทุจริตคอร์รัปชัน)
ขณะที่โอกาสของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 ก็มีอยู่เหมือนกัน คือ

1. การสร้างประชานิยม แนวใหม่ที่ไม่ใช่การถมเงินลงไปให้รากหญ้าเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการตรวจสอบ ควบคุมการใช้เงิน และการบริหารให้เงินงอกเงย หรือการหยิบเอานโยบาย "ปลูกต้นไม้ใช้หนี้" (แนวคิดคุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์) มาใช้ก็ยังเหมาะสมกับช่วงสภาวะโลกร้อน

2. โอกาสที่จะดึงฐานเสียงท้องถิ่นมาอยู่ในฝ่ายของตน ผ่านการโยกงบท้องถิ่น 100,000 ล้านบาท มาใส่ไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อถมกลับเข้าไปใหม่เพิ่มเม็ดเงินเป็นสองเท่า ซึ่งมาตรการนี้ท้องถิ่น ไม่มีเสีย มีแต่ได้กับได้ และที่สำคัญคือได้เพิ่มเป็นสองเท่าด้วย โอกาสที่รากหญ้าจะลืมเจ้าตำหรับประชานิยม ก็จะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ เพราะจากการสอบถามชาวอีสาน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เลือกทักษิณ เพราะทักษิณ เอาเงินมาแจก"

การแจกเงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 คือการฝังความคิดถึงของชาวอีสานที่มีต่อทักษิณ ให้เป็นอดีตที่โดนลืม จะไม่ให้ใครได้มีเวลามาคิดถึงทักษิณ อีกต่อไป

"เนวิน"-มท. กลไกทำงานมวลชนอีสาน-เหนือ

ดังนั้น จึงมีรายงานข่าวจากกลุ่มเพื่อนเนวิน ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ได้แจ้งให้แกนนำ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทราบถึงผลการหารือกับ เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ขอโควตา รมว.มหาดไทย เพิ่ม ทั้งนี้ ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ได้ตกลงกันมาก่อนหน้าที่กลุ่มเพื่อนเนวิน จะแยกตัวออกจากพรรคพลังประชาชน โดยกลุ่มเพื่อนเนวิน ให้เหตุผลว่า ต้องการใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย เข้าไปทำงานมวลชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงการเมืองที่ยังหนุน ทักษิณ ชินวัตร อยู่อย่างหนาแน่นที่สุด

กรณีของกลุ่มเพื่อนเนวิน อาจจะเรียกว่านี่คือรัฐมนตรีต่างตอบแทน และการใช้เนวิน "ย้อนเกล็ดนายใหญ่" ให้เหลือแต่หนังหุ้ม

แต่ข้อครหาเรื่องรัฐมนตรีต่างตอบแทน กลับไปปรากฎชัดเจนเมื่อ พบว่าโควตารัฐมนตรีประชาธิปัตย์ 17 ที่นั่ง นั้น คนในพรรคได้ไป 15 ที่นั่ง ส่วนอีก 2 ที่นั่งเป็น พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และเป็น วีระชัย คนนี้นี่เองที่ทำให้ "คนใน" พรรคประชาธิปัตย์ (นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ) เกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ

สุเทพ เทือกสุบรรณ ให้เหตุผลถึงการดึง วีระชัย วีระเมธากุล มาเป็นรัฐมนตรีในโควตาคนนอกของพรรค เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน เพราะเคยเป็นผู้จัดการธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศจีน และเป็นคนที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีนเป็นอย่างดี รวมถึงคนที่อยู่ในวงการธุรกิจ ที่สามารถประสานคนอื่นได้ เขาและหัวหน้าพรรค (อภิสิทธิ์) รู้จัก วีระชัย มาเป็น 10 ปี และคิดว่าคนอย่างนี้ ควรนำมาช่วยหัวหน้าพรรค และช่วยงานในพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับ วีระชัย วีระเมธากุล คุณสมบัติส่วนตัวผ่าน แต่ความเป็น "เขยซีพี" และความเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยกับ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่ทำให้เขาเหมือนทองที่หมองราศรี
อภิสิทธิ์ 1 ศึกษาบทเรียนรัฐบาล "ขิงแก่"

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นมีบทเรียนให้ต้องศึกษา เพื่อจะไม่ได้เดินซ้ำรอยการเมืองเก่านั่นคือการศึกษาการดำรงอยู่ และความเป็นไปของ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือรัฐบาล "ขิงแก" ที่มีที่มาจากทหาร ทำรัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร (19 ก.ย. 2549) จากนั้น ทหารคมช.ก็ตั้งรัฐบาล ตั้งสนช. และตั้งส.ส.ร.

ขณะที่ที่มาของการตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ 1 ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า "พลังสีเขียว" ได้เข้ามามีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนขั้นกันขึ้น

นี่เองที่เป็นที่มาของฉายานาม "หล่อลายพราง"

เหตุผลก็คือ อภิสิทธิ์ แม้จะมีความโดดเด่นในตัว แต่ด้วยวัยวุฒิที่ยังน้อย ทำให้ต้องมีพี่เลี้ยงคอยประคองซ้ายขวาโดยพี่เลี้ยง "ฝ่ายบู๊" คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค พี่เลี้ยง "ฝ่ายบุ๋น" คือ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งการตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ 1 มีการจับภาพของนักการเมืองหลุ่มหนึ่งได้เข้าพบปะหารือกับนายทหารระดับสูง ในค่ายทหาร ก็ตอกย้ำว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของอภิสิทธิ์ มิได้มาด้วยการกำชัยชนะหลังเลือกตั้ง แต่ได้มาในขยักที่สอง หลังจากพรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง (พลังประชาชน) ล้มเหลวในการบริหารราชการ (นายกฯสมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ก็ย่อมจะต้องเปิดโอกาสให้แก่พรรคลำดับรองลงมาจัดตั้งรัฐบาล

ภาพของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีลายพรางติดตัว ซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะสลัดคราบลายพรางนั้นออกจากตัวได้หรือไม่

ส่วน รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากหลายส่วนผสม ไม่ว่าจากคณะรัฐประหาร (คมช.) มาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่านี่คือการต่างตอบแทนตำแหน่งกัน

นอกจากนั้น การต่างตอบแทนของคณะรัฐบาลขิงแก่ และทหาร คมช. ยังปรากฎได้จากการเลือกบุคคลเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

การทดแทนตำแหน่งกันยังปรากฎใน บอร์ดรัฐวิสาหกิจคณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอร์ดการท่าอากาศยาน บอร์ดทีโอที และอีกหลายต่อหลายบอร์ดที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
รัฐบาลอภิสิทธิ์ กับ"วังวนแห่งอำนาจ"

การเปลี่ยนแปลงการเมือง ด้วยการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ "ขั้วอำนาจ" ในหลายๆ จุดจะต้องเขย่ากันใหม่ โดยเฉพาะเป็นธรรมเนียมเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ข้าราชการที่โดนโยกย้ายไม่เป็นธรรม ข้าราชการที่โยกย้ายมาเพื่อรับใช้การเมืองซีกอดีตรัฐบาล รวมถึงบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็มีอันต้องถึงคราวเปลี่ยนตัวด้วย

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศ "พักรบ" ชั่วคราว และให้โอกาสรัฐบาล ได้ทำงานพิสูจน์ฝีมือ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ในฐานะการเมืองนองสภา หรือการเมืองภาคประชาชน

พันธมิตร แม้ประกาศถอย แต่เป็นการถอยอย่างไว้เชิง เหมือนช่วงแรกที่พันธมิตร ถอยในห้วงแรกของการตั้งรัฐบาล "ขิงแก่"

แต่พันธมิตรก็ประกาศว่าพร้อมที่จะกลับคืนมาชุมนุมอีกครั้ง หากเงื่อนไข 13 ข้อไม่ได้รับการตอบสนองหรือมีการบิดพริ้วจากรัฐบาล

อีกด้านของฟากความคิด กลุ่มคนเสื้อแดง แม้ประเมินว่าพวกเขามีจำนวนไม่มาก แต่ศักยภาพ หรือวิถีปฏิบัติการจากเหตุการณ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 15 ธันวาคม 2551 นั้นถือว่าพวกเขาไม่ได้เน้นที่จำนวน แต่เน้นประสิทธิภาพการทำลายล้างมากกว่า

ดังนั้น การใช้อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 จึงจำต้องระมัดระวัง บางครั้งอาจจะไม่ต้องเล่นเอง

โดยเฉพาะการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งจะต้องเขย่าอำนาจกันใหม่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือข้าราชการรายแรกที่อยู่ในเกมโยกย้ายเพื่อเขย่าเปลี่ยนอำนาจ และหากแม้ไม่ย้ายในเดือนมกราคม นี้ ก็ต้องมีการโยกย้ายเดือนเมษายน อีกระรอกหนึ่ง

นอกจากนั้น ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ก็อยู่ในข่ายของการปรับย้ายในครั้งนี้ด้วย ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ที่มาตามสายการบังคับบัญชาของซีกการเมือง ก็เป็นอีกหลายคนที่จะต้องโดนย้ายเพราะปรับสมดุลอำนาจใหม่

โดยส่วนหนึ่งของการปรับย้ายข้าราชการในครั้ง นี้ รัฐบาลอาจจะไม่ต้องลงมือเอง เพราะเท่ากับการ "เปิดหน้าสู้" มากเกินไป

ดังนั้น รัฐบาลสามารถจะฉวยจังหวะรอเวลาการชี้มูลหลายเรื่องหลายประเด็นของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ว่ากันว่าจะมีคณะรัฐมนตรี หลุดจากตำแหน่งไปหลายคน (คดีเขาพระวิหาร และคดีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลา ซึ่งนายกฯ ต้องการปรับครม.ที่มีรอยด่างออกไป) และยังมีข้าราชการตำรวจอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องสังเวยเลือด และชีวิตของประชาชนในวันที่ 7 ตุลาคม

กระนั้นในกระบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์”ในขณะทางหนึ่งก็มิอาจลืมเลือนว่า สภาพการแห่งกายภาพใน “สถานการณ์เฉพาะหน้า” ที่ส่วนหนึ่งเป็นทั้งจาก “ผลพวง”มาจากรัฐบาลที่แล้ว หรือจากปัจจัยความเป็นไปของประเทศในมิติ “ความขัดแย้ง”ของคนในชาติซึ่งขยายลุกลามออกมาจาก “ความคิดความเห็น”และ “ผลประโยชน์”ทางการเมืองของ “กลุ่มอำนาจ”ต่างๆ ในห้วงระหว่างปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ที่สิรินับรวม นายกฯได้ถึง ๓ คน (สมัคร สุนทรเวช,สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ไม่นับรวมนายกฯรักษาการ

แน่นอน “สถานการณ์เฉพาะหน้า”ที่เป็น “ปัญหา”เหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลในการเข้าจัดการ ภายใต้แรงกดดันเสียดทานเร่งเร้าให้แกว่งไกวจาก “กลุ่มการเมือง”ทั้งในและนอกสภา ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏตนโดยเปิดเผย..

ขณะเดียวกัน “ภารกิจ”(กู้ชาติ)ภายใต้ “สัญญา”(จัดการกับ “ทักษิณ”)และ “เงื่อนไข” (พันธมิตรฯ)ก็เป็นอีกปัจจัยแห่งแรงเสียดทานที่ซุ่มซ่อนรอคอยการสำแดง จากทั้ง “ภายใน” (กลุ่มภายในพรรค,กลุ่มเพื่อนเนวิน,พรรคร่วมรัฐบาล) และ “ภายนอก”(พันธมิตรฯ,นปช.,ต่างประเทศ,ปัจจัยเศรษฐกิจ) ในโมเดลที่คล้ายห้วงยุคสมัยของรัฐบาลของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ที่แม้จะมี “บทเรียน” เพื่อนำมาแก้ไขในสภาพความต่าง ที่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์”ไม่ได้อยู่ในสภาพรัฐบาล ๒ นายกฯ(พล.อ.สุรยุทธ์กับพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.)เช่นรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ของ “พล.อ.สุรยุทธ์” แต่อย่าลืมว่า “เงื่อนไข”ใน “ตัวแปร”ของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” นั้นจะมีความซับซ้อนที่มากกว่า

โดยเฉพาะเป็น “ความซับซ้อน” ที่มีผล ทำให้เกิดสภาวะการ “ยากต่อการควบคุม” ได้ตลอดเวลา กับความหลากหลายกลุ่มประโยชน์ และกลุ่มการเมืองที่เข้ามารวมอยู่ในที่เดียวกัน ภายใต้การตรวจสอบควบคุมที่เข้มข้นมากกว่าในอดีต และภายใต้ “กรอบ”ที่รัฐบาลโดย “นายกฯอภิสิทธิ์”ตั้งไว้เพื่อเป็น “เกราะ”กับ “๙กฎเหล็ก” ที่เมื่อผนวกเข้ากับ “๑๓กรอบ”ที่ แกนนำพันธมิตรฯประกาศไว้สำหรับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในทางกลับกัน ก็ยิ่งเป็นคล้าย “อานัติสัญญา” ที่ผูกมัดทั้งมาตรฐานและการประเมินผลรัฐบาลของประชาชน ในการเคลื่อนรัฐนาวาลำนี้ไปในหนทางที่ ณ ภาพที่เห็นตรงหน้า คล้ายเป็นเส้นทางที่สวยงามไร้เกาะแก่งสันดอนหรือหุบเหว ที่ต่างจากรัฐบาลของ “สมัคร สุนทรเวช”ที่เห็นชัดถึง หลุมพราง กับดัก และดงระเบิด ในรายทาง

หาก “รัฐบาลอภิสิทธิ์”แต่กลับคล้ายเหมือนใน “รัฐนาวาสุรยุทธ์”ที่หนทางสวยงาม ดุลแห่งอำนาจทั้งกองทัพ(๔ เหล่า ๓ ทัพ) และ พันธมิตรฯและกลุ่มทุน เปิดรับสนับสนุน ที่ก็ต้องรอคอยวันพิสูจน์ต่อไปว่า แต่เมื่อเดินเข้าไปสู่เส้นทางกจะเผชิญ “กับดัก”และหลุมพรางมากมายภายใต้ปัจจัยที่ “ยากควบคุม”ข้างต้นแบบที่รัฐบาลสุรยุทธ์ โดนมาก่อนหรือไม่

เพราะในสภาพ “สัญญาณ”ที่ปรากฏเพียงแค่การขยับออกตัวของรัฐบาลก็เริ่มเห็นเค้าลางที่ไม่น่าไว้วางใจบางประการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์จาก “ภายใน”ของพรรคประชาธิปัตย์ และจากแรงกระเพื่อมผ่านไปสู่พันธมิตรฯและความท้าทายต่างๆผ่านรัฐมนตรีสายพันธมิตรฯอย่าง “กษิต ภิรมย์”รัฐมนตรีต่างประเทศ (ที่ทำให้หลายคนอดนึกไปถึง “ธีรภัทร เสรีรังสรรค์”ไม่ได้)

ที่สุดแล้วในสภาพการณ์ที่คล้ายเหมือนอดีตดังกล่าวของรัฐบาล แน่นอนในชีวิตจริงใครต่อใครตั้งแต่ “นายกอภิสิทธิ์”คงมิอาจสลัดหลุดจากภาพ “หล่อลายพราง”ไปได้ กับที่มาและที่ไป ที่เชื่อมโยงและผนึกแน่นกับภาพของกองทัพในความเป็นเอกภาพและสนิทชิดเชื้อ เฉกเช่นรัฐบาลขิงแก่ ของ “พล.อ.สุรยุทธ์”แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัจจัยการเสื่อมถอยหรือสิ้นสภาพอำนาจรัฐของรัฐบาลเพราะหลายคนยังเชื่อว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะรักษา “สมดุล”แห่งอำนาจตรงนี้ได้ และแม้กระทั่ง “ปัจจัยตกกระทบ”จาก “มวลชน”ฝ่ายตรงข้าม(เสื้อแดง)ก็อาจไม่ใช่ปัญหาหลัก

ทว่าประเด็นสำคัญของปัญหากลับอยู่ที่ “ปัจจัยแทรกซ้อนภายใน”(คนกันเอง) อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรมผลประโยชน์ในรัฐบาล(กองกำลัง+ทุน+มวลชน+สื่อ+นักการเมือง)ที่พร้อมพลิกข้างเปลี่ยนขั้วไปตาม “เงื่อนไข”และวิถีแห่ง “ผลประโยชน์” ที่จะส่งผลกระทบกับรัฐบาล ทำนอง “ศึกนอกจบ..รบกันเองภายใน”และสิ่งเหล่านี้จะลุกลามกินลึกและทำลายตัวรัฐบาลไปเรื่อยๆเอง(หากไม่แก้ไขหรือรักษาสมดุลให้ได้..ซึ่งยากมาก)โดยที่ “ฝ่ายตรงข้าม”เพียงแค่ยืนดูและเข้ามา(แทรกซ้อน)เก็บผล ผลักรุนร่างกายที่ไร้วิญญาณคล้ายซากศพให้ล้มลง..สุดแต่ว่าระยะเวลาจะสั้นหรือยาวแค่ไหนก็เท่านั้น.