วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

โมเดลการเมืองใหม่ สภาประชาภิวัฒน์ (2)


การปล้นชาติ ของนักการเมืองในคราบ “ผู้แทน” และ “นายทุนนายเงิน” เหล่านี้ นานเข้าเกิดระบาดไปที่ระบบราชการ ธนาคาร การศึกษา เกิดระบบทุนสามานย์ผูกขาด ลามไปถึงการแทรกแซงสื่อ บิดเบือนข่าวสาร เพื่อหลอกลวงประชาชน จนกลายเป็นหายนะของประเทศ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงพิสูจน์แล้วว่าระบอบทุนสามานย์ในคราบประชาธิปไตยเลือกตั้ง ได้ทำลายประเทศไทยในทุก ๆ ด้านทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม สร้างความขัดแย้งในสังคมด้วยการส่งเสริมค่านิยมทางวัตถุ
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขวิกฤติเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และโดยเร็วที่สุด คือ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งจะต้องกำหนดนโยบายให้รอบคอบรัดกุม พร้อมกับการตั้ง “สภาประชาภิวัฒน์” ควบคู่กันไป โดยที่ไม่ไปแตะต้องระบบรัฐสภาเดิม (สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา)
รัฐบาลแห่งชาติ
วิกฤติคณะรัฐมนตรี ที่สืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรีที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ (สมัคร สุนทรเวช) ได้ทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ด้วยการยินยอมให้นภดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ไปลงนามข้อตกลงร่วมเพื่อให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และลามมาถึงปัญหาการสูญเสียดินแดน ตามที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ออกมาประท้วงประเทศไทย และขู่ว่าจะฟ้องไปที่ศาลโลกด้วย
มติคณะรัฐมนตรีครั้งนั้น มีผลทำให้ไทยเราต้องสูญเสียดินแดน อันเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 มาตรา 120 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต แต่วันนี้ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดนั้น (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่คณะรัฐมนตรี มีการยืนยัน (18 ก.ย.) ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดเดิมเกือบทั้งหมด
นั่นแสดงว่า เป็นการท้าทายศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรม และไร้ซึ่งคุณธรรม ของบรรดานักการเมืองเหล่านี้
นอกจากการทำผิดรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว พรรคร่วมรัฐบาล ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการเพื่อส่งฟ้องพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคคือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค เพราะกรรมการบริหารพรรคไปทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง (ได้ใบแดง)
เมื่อตัวบุคคลที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำผิดรัฐธรรมนูญ และเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และพรรคแกนนำรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณายุบพรรค จึงมองไม่เห็นหนทางที่จะทำให้การเมืองไทยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวิกฤติความชื่อมั่นทั้งจากภายใน และนอกประเทศ
การตั้งรัฐบาล แห่งชาติจึงเป็นเหมือนทางรอดที่จะนำพาประเทศออกไปจากหล่มโคลนแห่งวิกฤตินี้
รัฐบาลแห่งชาติ คือการเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาบริหารประเทศ โดยที่ยังคงยึดตามรัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะรัฐมนตรีเปิดโอกาสนำ “คนนอก” มาทำหน้าที่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดตามระบบโควตา คนที่สมควรเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ต้องไม่มีความผิดที่ด่างพร้อย ไม่เป็นตัวแทนนายทุนนักการเมืองขายชาติ
รัฐบาลแห่งชาติ จะกำหนดนโยบายระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขจะต้องไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือตัวเองหรือพวกพ้องให้พ้นความผิด และต้องจัดตั้ง “สภาประชาภิวัฒน์” ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในทางการเมือง ให้มีการรับรู้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะเป็นปัญหาใหญ่ จนบานปลายเสียหายอย่างกว้างขวาง เช่นเป็นอยู่ในทุกวันนี้

เปิดเอกสารวุฒิฯยื่นศาลรธน.ตีความงบ2550

วุฒิสภา
ถนนอู่ทอง กรุงเทพฯ

๑๙ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่อง ขอให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๘

กราบเรียน ประธานวุฒิสภา สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๑ ๒. หนังสือของสำนักงบประมาณ ที่ นร ๐๗๑๑/๑๗๓๑๔ ๓. สรุปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๗ ๔. ข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๒


ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ที่ได้ลงลายมือชื่อท้ายหนังสือนี้ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่วุฒิสภาจะทำการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังจะกราบเรียนต่อไปนี้คือ

๑. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในวาระที่ ๒ ขัดมาตรา ๑๖๘ วรรค ๕ และวรรค ๖ กล่าวคือว่า มีการตัดลดงบประมาณ ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท แต่มีการตั้งงบประมาณเพิ่มกลับมาเท่าจำนวน ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท โดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้นจึงต้องห้ามในการแปรญัตติหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผล หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๑๖๘ วรรค ๖ แต่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกลับมีมติให้เพิ่มงบประมาณเท่ากับส่วนที่ถูกปรับลดกลับเข้ามาอีก ทั้ง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ และหรืออนุมัติงบประมาณ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๑๖๘ วรรค ๖

๒.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถูกคตส. (คณะ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๑ ข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบคดีการออกสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว (คดีหวยบนดิน) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว (ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องท้ายคำร้องนี้) กรณีนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๒ ประกอบมาตรา ๒๗๕ บัญญัติว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่บุคคลดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ฉบับนี้ ซึ่งไม่อาจทำได้การประชุมและการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระบวนการตราจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

๓. เนื่องด้วยมาตรา ๑๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ต้องมีเอกสารประกอบซึ่งรวมถึงประมาณการรายรับและวัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงานโครงการในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน รวมทั้งต้องแสดงฐานะการเงินการคลังของประเทศเกี่ยวกับภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการจ่ายและการจัดหารายได้ แต่ปรากฏว่าในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ไม่มีเอกสารประกอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๗ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับเพิ่มงบประมาณจำนวน ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท ซึ่งในส่วนนี้จำนวนหนึ่งเป็นการปรับเพิ่มงบประมาณให้แก่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จำนวน ๖,๗๐๐ ล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ ในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ปรากฏตามหนังสือตอบของสำนักงบประมาณที่ นร. ๐๗๑๑/๑๗๓๑๔ ลวท. ๑๖ กันยายน ๒๕๕๑ หน้าที่ ๒ ข้อที่ ๓ ท้ายคำร้องนี้เป็นต้น ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในส่วนที่มีการแปรญัตติปรับเพิ่มไม่มีข้อความและรายละเอียดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๗ จึงขัดต่อรัฐูธรรมนูญ

๔. นอกจากนี้ตามมาตรา ๑๖๗ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีว่า งบประมาณรายจ่ายงบกลางจะจัดทำขึ้นได้ต้องเป็นกรณีที่รายจ่ายนั้นไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วย งานอื่นใดของรัฐได้โดยตรง จึงจะจัดไว้ในรายการรายจ่ายงบกลางได้ แต่โดยต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นด้วย แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีการจัดทำรายจ่ายงบกลางไว้ในมาตรา ๔ ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นจำนวนเงินถึง ๒๔๙,๕๖๕,๗๒๕,๕๐๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นเก้าพันห้าร้อยหกสิบห้าล้านเจ็ดแสนสองหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) ทั้ง ๆ ที่งบประมาณดังกล่าวหลายรายการสามารถจัดสรรให้แก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐได้โดยตรง แต่กลับมาจัดไว้เป็นรายจ่ายงบกลางโดยไม่แสดงเหตุผลและความจำเป็น จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๗ วรรค ๒ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

๕. นอกจากนี้นโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ วัตถุประสงค์ของกิจกรรม แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ปรากฏแผนงาน และโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามมาตรา ๗๕ และ ๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบ ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นโดยสรุปการแปรญัตติตั้งงบประมาณเพิ่มจำนวน ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท จึงดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาอนุมัติโดยไม่มีเอกสารประกอบประมาณการรายรับ และวัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงาน โครงการในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๗ และคณะรัฐมนตรีและกรรมาธิการซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย ได้เร่งรัดพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโดยคำนึงถึงเฉพาะให้ได้มาซึ่งวงเงินงบประมาณเท่านั้น เพื่อที่จะนำมาจัดสรรให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนในทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ดังที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นที่ทราบกันทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าการแปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณมิได้จัดทำให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ วรรค ๒

อาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๘ วรรค ๗ ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอให้ ท่านประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าการแปรญัตติเพิ่มเติมงบประ มาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้สิ้นผลไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และโปรดดำเนินการต่อไป

ลงชื่อ...............................
( )

โมเดลการเมืองใหม่ สภาประชาภิวัฒน์


(1)

การเมืองใหม่ ที่ดูเหมือนจะเป็น “แฟชั่นวิชาการ” เพราะบรรดานักวิชาการต่างพากันกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้กันเป็นทิวแถว
การเมืองใหม่ ที่เริ่มเห็นข้อเปรียบเทียบความแตกต่างหลังจากที่เราใช้รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา
กว่า 76 ปีที่การเปลี่ยนผ่านการปกครองมาสู่รูปแบบปัจจุบัน
ประชาธิปไตยระบบตัวแทน เป็นรูปแบบการปกครองที่เรานำต้นแบบมาจากชาติตะวันตก
แต่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนของไทย เราได้ “ผู้แทน” ที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ ในยุคแรก ๆ เราได้ผู้แทน “หมาหลง” ได้ผู้แทน “ข้าวนอกนา” คือ หิ้วกระเป๋า (เงิน) ไปลงเลือกตั้งในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง เริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการใช้ “เงิน” เพราะฉะนั้น จึงต้อง “ถอนทุน” จากการขายโหวตในสภา และการหากินกับงบส.ส.สร้างถนนหนทาง สร้างศาลารอรถโดยสารประจำทาง (งบพัฒนาจังหวัด)
ต่อมา ในยุคที่นายทุน เริ่มที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นเอง เริ่มคัดตัวแทน (นอมินี) เพื่อส่งลงเลือกตั้งเป็น “ผู้แทน” ทำให้ “ผู้แทน” ลดเกรดตัวเองลง จากการลงทุนเอง มาเป็นลูกจ้างนายทุนนายเงิน เพราะต้อง “ขายตัว” ด้วยการเพิ่มมูลค่าของตนเองจากความเป็นอดีตส.ส. และบวกด้วยความเป็นไปได้ในการจะได้รับเลือกตั้ง เพื่อแลกเงิน 20-50 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง
บรรดาผู้แทนเหล่านี้ ชอบที่จะเป็นแบบนี้เพราะไม่ต้องลงทุนความเสี่ยงด้วยเงินของตัวเอง แต่จะมีนายเงินนายทุนมาเป็นผู้ลงทุนความเสี่ยงด้วยตัวเอง
แม้รูปแบบการลงทุนเพื่อเป็น “ผู้แทน” จะแตกต่างออกไปจากยุคแรก ๆ แต่การถอนทุนของ “ผู้แทน” ยังคงเหมือนเดิม แต่การ “ถอนทุน” ของผู้ที่เป็นนายทุนนายเงิน ถอนทุนจาก “งบประมาณประเทศ” ซึ่งมีมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาท
ความเหลวแหลกเหล่านี้ทำให้เกิดการโกงกินกันมากมายมหาศาล
ระบบตัวแทนที่เลือกกันเข้ามาเพื่อเป็นข้าทาสรับใช้นายทุนนายเงิน