วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"ชัย"ปราการสุดท้ายของ"เนวิน"กับปฏิบัติการเผาเรือนพปช.



ข่าวเชิงวิเคราะห์ : ทีมข่าวซิตี้เจอร์นัล


การออกมาเปิดเผยของประธานรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการรับไม้ต่อจากผู้นำรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตี ที่ผลักดันให้คณะรัฐมนตรี (1 ต.ค.) เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยประธานรัฐสภา ได้เตรียมรับลูกผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยยึดตามร่างของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ซึ่งแกนนำเป็นอดีตกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) อาทิเช่น เหวง โตจิราการ / จรัล ดิษฐาอภิชัย
ท่าทีของ ชัย ชิดชอบ (2 ต.ค.) เหมือนโดนบีบให้ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะมีอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้ง เสรี สุวรรณภานนท์ และ ชูชัย ศุภวงษ์ ตั้งข้อสังเกต (1 ต.ค.) ดักคอไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีเจตนาช่วยเหลือตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 190 มาตรา 237 และมาตรา 309 และร่างที่จะใช้คือร่างของคปพร. ซึ่งเป็นการยกเอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ทั้งฉบับ
ชัย ชิดชอบ ได้ยืนยันกับ เหวง และ จรัล ซึ่งเข้าพบที่รัฐสภา (2 ต.ค.) ว่า ได้บรรจุญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่าง คปพร.แล้ว และทันทีที่สภาผู้แทนราษฎร รับทราบการแถลงนโยบายรัฐบาลในวัน 7-9 ต.ค.แล้ว สัปดาห์ต่อไป (15 ต.ค.) สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาได้ตามวาระเร่งด่วน สำหรับผมถือว่าทำตามหน้าที่แล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่ประชุมสภา จะรับร่างหรือไม่
"ขึ้นกับลมฟ้าอากาศ ซึ่งอาจจะมีฝนตกแดดออก หรืออยู่ที่ดวงเมืองด้วย ขณะนี้ผมก็รู้สึกไม่สบายใจกับปัญหาบ้านเมือง เพราะมันหนัก และรุนแรงมาก บางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.อาจจะต้องชลอไปบ้าง ก็ต้องเข้าใจ แต่ใครจะมาดึงไว้ไม่ได้ ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ยุบสภาซึ่งจะทำให้ร่างนี้ตกไป"นายชัย กล่าว
ส.ส.ร.ชี้ปม"ชัย"ดันร่างคปพร.คว่ำรธน.2550
อะไรมันจะข่ายถึงเพียง นั้น เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร. 50) ตั้งข้องสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งส.ส.ร. 3 ในสถานการณ์ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชาชน (กลุ่มเพื่อนเนวิน หักกับกลุ่มภาคเหนือของ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กับ ยงยุทธ ติยะไพรัช ในเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี)
ส่วนพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำ และพรรคร่วมรัฐบาล อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรค เพราะฉะนั้น การเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร แนวทางดังกล่าวเหมือนจะดูดีแต่เวลาอาจจะไม่เอื้ออำนวยก็เป็นได้
เสรี จึงฟันธงว่า สิ่งที่น่าคิดคือญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่เสนอโดยส.ส.รัฐบาล และส.ว.ส่วนหนึ่ง แม้ตกไปเพราะมีการถอนชื่อ แต่ยังมีญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ยังค้างการพิจารณาของสภาอยู่ รัฐบาลอาจจะลักไก่หยิบเอาญัตตินั้นมาปัดฝุ่นนำไปพิจารณาแก้ไขซึ่งตามร่างนั้นแทบจะเรียกว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ
ประเด็นนี้ ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. 2550 ระบุว่า การแก้รธน.มาตรา 291 แล้วตั้ง ส.ส.ร.3 นั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังนำสังคมไทยเข้าสู่ความรุนแรง เพราะมีเจตนาแฝง ที่ประชาชนต่างรู้ว่าพรรคพลังประชาชน พยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้ มาตรา 237 309 และ 190 เพื่อหนีการถูกยุบพรรค และช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะไม่แก้ 3 มาตรานี้ และให้หลักประกันต่อ คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการเมือง การปกครอง โดยผ่านกฎหมายรองรับ คณะกรรมการอิสระชุดนี้ และให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการไปทำประชามติเพื่อนำผลประชามติไปสู่การปฏิรูปการเมือง
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง แสดงบทบาทนำทางสังคมต่อไป โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ นักวิชาการ นักธุรกิจมาร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าจะปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างไร ให้ได้นักการเมืองที่โกงน้อยที่สุด ตรวจสอบได้ง่าย หากทำเช่นนี้สังคมไทยจะก้าวพ้นวิกฤติ และเกิดการปฏิรูปในทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นนี้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนยัน (2 ต.ค.) ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเพื่อประชาชน ไม่มีอะไรหมกเม็ดเพื่อช่วยเหลือคนใดคนหนึ่ง และประชาชนต้องมีส่วนร่วม
หรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์อีกครั้ง (3 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความชัดเจนถึงมาตราในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข เนื่องจากหลายฝ่ายห่วงว่าจะมีการแก้ใน 3 มาตรา ได้แก่ 190 237 และ 309 โดย สมชาย กล่าวว่า ตอนนี้ผมไม่เคยพูดว่าจะต้องแก้มาตรานั้นมาตรานี้แล้ว แต่ต้องพูดในภาพรวมของการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหมด ซึ่งผมไม่เคยมีแนวความคิดว่าจะต้องเป็นไปตามที่ใครคนใดคนหนึ่งคิด
แม้ว่า ทั้ง 3 มาตรา เป็นการผลักดันให้มีการแก้ไขของรัฐบาลชุดก่อน แต่ตรงนั้นมันจบไปแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของ ส.ส.ร. 3 ที่จะมาทำ โดยที่รัฐบาลจะไม่ชี้นำ ไม่ต้องเป็นห่วงรัฐบาลไม่ชี้นำเป็นอันขาด จะเอาอย่างไรก็แล้วแต่
ส่วนการที่ประธานรัฐสภา ไปนำร่างที่เสนอโดย คปพร. บรรจุเป็นวาระ สมชาย ก็ปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของทางสภาฯ ส่วนตัวเขาไม่ทราบ แต่คิดว่าคงไม่ต้องระแวง เพราะส.ส.มีทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และยังมีวุฒิสภา จึงไม่มีทางที่จะไปซุกซ่อนอะไรกันได้ เอ็กซ์เรย์กันได้ทั่วประเทศอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องแล้วแต่ประธานสภา รัฐบาลคงไปก้าวก่าย หรือยุ่งไม่ได้
ดันร่างคปพร.ปลุกความชอบธรรมพันธมิตร
การที่ ชัย ชิดชอบ ดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับคปพร. เข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา และเป็นอำนาจเดียวที่ เนวิน ชิดชอบ คงมีอำนาจแฝงเหลืออยู่เพียงอำนาจเดียว
การดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของคปพร. ทั้ง ๆ ที่มีเสียงต้านทั้งอดีตส.ส.ร. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะมีเจตนาให้พลังประชาชา และพรรคร่วมพ้นผิดคดียุบพรรค และที่สำคัญคือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยกเป็นเหตุการไม่มีองค์กรที่รับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 มาเป็นข้อต่อสู้ในคดี ที่เขาโดนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปแล้ว 4 คดี
ร่างคปพรง จึงเป็นสายล่อฟ้าโดยแท้
แต่ทำไม เนวิน จึงต้องการให้ร่างนี้เข้าสู่สภาให้ได้ โดยใช้กำลังภายในผ่านพ่ออย่าง ชัย ชิดชอบ นั่นเป็นเพราะเป็นเจตนาที่จะให้รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดนต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอดีตส.ส.ร. และพันธมิตร
ต้องไม่ลืมว่า การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ล่าสุด คนของเนวิน กระเด็นกระดอนออกจากเก้าอี้เกือบทั้งหมด สร้างความโกรธแค้นให้กับเนวิน เป็นอย่างมาก ถึงขั้นกล้าแตกหักกับนายใหญ่ที่ลอนดอน
เนวิน ได้ประลองกำลังส.ส.ในกลุ่มของตัวเองมาแล้ว 3 ครั้ง ในเหตุการณ์สภาล่ม 3 หนโดยหนแรกคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (12 ก.ย.) และsนถัดมาคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (24 ก.ย. และ 1 ต.ค.)
การบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. เข้าสภา จึงเป็นการยืมมือพันธมิตรเผาเรือนพลังประชาชน และให้พันะมิตรมีความชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และกระทบชิ่งไปถึงทักษิณ ชินวัตร ที่ตัวอยู่ไกลถึงลอนดอน โดยที่เนวิน จะเป็นผู้นั่งดู
ประเมินแล้วว่า ที่สุดแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ โดยยึดร่างคปพร. ไม่มีทางสำเร็จได้ และยังจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล สมชาย เพราะฉะนั้น จึงเห็น สมชาย เริ่มชิ่งหนี กับการที่ชัย ชิดชอบ ดำเนินการ โดยโยนว่าเป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง
นี่คือความผิดพลาดที่ สมชาย วงศ์สวัสด์ ไปตกหลุ่มแก้รัฐธรรมนูญ 291 เท่ากับปล่อยให้การ์ดตก ให้เนวิน ชกเช้าเป้าอย่างจัง
เจ็บตัวแล้วยังบ้านพัง
แลกหมัดครั้งนี้ เนวิน แค่บาดเจ็บฟกช้ำเล็กน้อย แต่รัฐบาล สมชาย โคม่า