วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กึ๋น"อภิสิทธิ์"วิพากษ์13 มาตรการกู้วิกฤติการเงิน



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการที่รัฐบาลออก 13 มาตรการกู้วิกฤติการเงิน ว่า มาตรการขณะนี้มุ่งเน้นในเรื่องที่ค่อนข้างเป็นเรื่องระยะสั้นในเชิงของการสร้างความมั่นใจ และหวังผลเชิงจิตวิทยาในแง่ตลาดทุนเป็นหลัก


แต่ปัญหาที่อยากเห็นรัฐบาลขยับชัดเจน คือ การดูแลเศรษฐกิจจริงที่จะได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเราคาดการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคือในเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งถ้าไม่สามารถหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจจริงเดินหน้าได้ ก็น่าเป็นห่วงที่สุด และพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหลักทรัพย์ก็จะไม่ดีตามไปด้วย


สำหรับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่อง เป็นเรื่องที่รัฐบาลน่าจะเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องจิตวิทยาตลาดทุนก็มีความจำเป็น แต่ผลกระทบที่จะมาถึงประชาชนจริง ๆ นั้นจะมาในเรื่องของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบเรื่องการส่งออกที่ตลาดสหรัฐอเมริกาหรือตลาดอื่น ๆ ชะลอตัวลง รวมถึงการเตรียมการโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจคต์) ของรัฐที่รู้สึกว่ารัฐบาลยังไม่ได้จับปัญหาให้มั่น เพราะตัวรัฐบาลต้องคิดถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันต้องคิดด้วยว่าทำอย่างไรรัฐบาลจะไม่เข้าไปแย่งแหล่งเงินทุนหรือสภาพคล่องของภาคเอกชนด้วย ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัด ทั้งนี้ไม่ถึงขั้นที่ควรชะลอโครงการเมกะโปรเจคต์ออกไป


ส่วนนโยบายที่จะเทเงินลงพื้นที่เพื่อกระตุ้นรากหญ้าให้มีการใช้จ่าย นั้น เป็นมาตรการที่จะเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ผมไม่มีปัญหา แต่ขอให้เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและถึงประชาชนอย่างแท้จริง ผมอยากเน้นว่าเงินที่ลงไปจากภาครัฐ ถ้าหวังเพียงแค่มีเงินไปหมุน สุดท้ายเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร อยากให้คิดถึงหัวอกของคนเสียภาษีด้วย แต่ถ้าไปสร้างงานสร้างรายได้และมีความต่อเนื่องยั่งยืน ผมคิดว่าทุกคนจะยอมรับและสนับสนุน


ด้านสภาพคล่องโดยรวม ควรลดดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลัง ต้องมาดูให้ชัดว่าใครจะมารับภาระในส่วนใดในการจัดการตรงนี้ อีกทั้งควรแสดงออกถึงการมีแผนร่วมกันกับกระทรวงการคลังที่ประกาศออกมาในเชิงการบริหารในเรื่องการจัดการสภาพคล่อง ที่สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยดูความจำเป็นและความพร้อมของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไร แต่เราจะติดตามเรื่องนี้ในวันแถลงนโยบายซึ่งเราคงได้มีการเสนอ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลน่าจะมีความชัดเจน

“สมพงษ์”ไก่อ่อนเวทีโลก

ผมเขียนเรื่องคุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ว่าเป็นเด็กอมมือด้านการต่างประเทศ ไปเมื่อวันอังคาร (30 ก.ย.) คุณกาแฟดำ หน้า 2 กรุงเทพธุรกิจ ก็ติดตามมาขย่มซ้ำอีก บอกว่า
“ผมเฝ้าติดตามดูรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทยในการทำหน้าที่ที่สหประชาชาติ ก็ได้แต่สงสารประเทศชาติ เพราะทุกอย่างดู "ผิดฝาผิดตัว" ไปหมด”
คุณกาแฟดำ บอกอีกว่า
“คล้าย ๆ กับว่าคณะรัฐมนตรี เป็นที่ทดลองงานหรือฝึกงานสำหรับคนที่เป็นนักการเมืองที่ยังไง ๆ ก็จะต้องมีตำแหน่งใน ครม. เพราะเป็นโควตาของเขา ไม่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ของผู้มาดำรงตำแหน่งแต่อย่างไรเลย...
...นายกฯสมชาย ไม่รู้หรือว่าตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมีความสำคัญอย่างไรต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของไทย?...
...นายกฯไม่รู้หรือว่าเราจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดของอาเซียนในเดือนธันวาคมนี้?”
ในความเห็นของผม คำตำหนิของคุณกาแฟดำยังเบาไปครับ
เพราะความเสียหายที่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ในคณะรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ได้แสดงชั้นเชิงทางด้านความสัมพันธระหว่างประเทศที่อ่อนต้อย
เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า เอกอัคราชทูตรัสเซีย ของเข้าพบกับสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จริงเพื่อเจรจาเรื่องคนชาติเขา (วิกเตอร์ บูท) ที่โดนจับกุมคุมขังในเรือนจำของไทย โดยมิชอบ
แต่ สมพงษ์ ปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าพบ
ทั้ง ๆ ที่ไทย รัสเซีย มีความเจริญสัมพันธไมตรีมาอย่างยาวนาน
เมื่อไม่นานมานี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพิ่งเสด็จเยือนรัสเซีย อย่างเป็นทางการ
เมื่อคุณสมพงษ์ ไม้ให้เกียรติทางการทูตแก่รัสเซีย ก็เห็นผลทันตา
นั่นก็คือ “น้ำมันดีเซลราคาถูก” ที่ สมัคร ป่าวประกาศในรายการวิทยุสองสัปดาห์ติด ๆ ว่าจะมีน้ำมันมาจากรัสเซีย แล้วเป็นไง เขาสั่งเบรกไม่ให้ขายน้ำมันให้ประเทศไทย
นอกจากสมพงษ์ จะอ่อนหัดในเวทีโลกแล้ว สมพงษ์ ยังจะพาประเทศตกไปเป็นจำเลยในศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นหากศาลรับฟ้องของ วิกเตอร์ บูท ไทยจะต้องจ่ายเงินวางไว้ให้ศาลเป็นเงินถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ (ย้ำห้าพันล้านดอลลาร์)
คนที่คิดค้านอยู่ในใจให้ไปเปิดสนธิสัญญากรุงโรม ว่าด้วยการก่อตั้งศาลไอซีซี หรือศาลอาญาระหว่างประเทศ ดูมาตรา 4 มาตรา 5 อันเป็นบทที่ว่าด้วยความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีการทำกันเป็นระบบ
กล่าวคือ การจับกุมคุมขังโดยมิชอบและทำเป็นระบบคือการที่ตำรวจไทย โดยการอำนวยการจับของเจ้าหน้าที่สหรัฐ ได้จับกุมแล้วยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอคุมขัง วิกเตอร์ บูท แต่มิได้มีการไต่สวน
การไม่ได้ไต่สวนนี้ ถือว่าขัดหลักกฎหมายไทยที่ใช้ระบบ “ไต่สวน” ซึ่งหมายความว่า ต้องรับฟังความเหตุผลฝ่ายตรงข้ามด้วย การที่ไม่ฟ้งอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับว่า กลับไปใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งเป็นระบบกฎหมายเดิม
เรื่องอำนาจของศาลไอซีซี ไม่ต้องเป็นกังวลเขามีอำนาจดำเนินการแน่เพราะหลังจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2002 ศาลไอซีซี ได้มีชาติให้การรับรอง 108 ชาติ ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดด้วยซ้ำไป ขณะที่ไทย นั้นเป็น 1 ใน 10 ชาติแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยน
ดังนั้น เพื่อให้ชัดขึ้นไปอีก ให้ไปอ่านสนธิสัญญากรุงโรม ว่าด้วยการก่อตั้งศาลไอซีซี มาตรา 15-17 และมาตรา 24 ดู แล้วเตรียมตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศได้เลย