วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

แม้วดิ้นสู้ยึดทรัพย์ขอศาลเปิดคดีผ่านวีดีโอฯ

หมวดข่าว : การเมือง
โดย : ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม

"ทักษิณ" ดิ้นสู้ ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ร้องศาลฎีกานักการเมืองขอแถลงเปิดคดีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้อนุญาตหรือไม่ พร้อมกำหนดวันไต่สวน ส่วน "บรรณพจน์" ร้องศาลคืนทรัพย์ตัวเอง-ภรรยา ด้านคุณหญิงอ้อร้องศาล อสส.ไม่มีอำนาจร้องยึดทรัพย์ ศาลนัดฟังคำสั่ง 20 เม.ย.
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วานนี้ (26 มี.ค.) นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ 14/2551 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลอธิบายว่า กระบวนการพิจารณานั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ม.35 วรรค 1 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระพิสูจน์ต่อศาล และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 26 กำหนดว่า ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาและคำคัดค้านของบุคคลภายนอกถ้าหากมีก่อน แล้วจึงไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้อง เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นประการอื่น
ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่พิสูจน์ที่มาของทรัพย์สิน และจะพิจารณาพยานหลักฐานผู้ร้องและผู้คัดค้านก่อน ซึ่งฝ่าย อสส.ผู้ร้อง ได้ยื่นเอกสารหลักฐานจำนวน 46 แฟ้ม ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้ง 22 คน ยื่นหลักฐานจำนวน 52 แฟ้ม
คดีนี้นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว มีผู้มีรายชื่อถือครองทรัพย์สินที่ อสส. ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินยื่นคำร้องในฐานะผู้คัดค้านอีก 22 คน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20, 25 และ 26 มี.ค.2552 ผู้คัดค้านที่ 2 (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) และผู้คัดค้านที่ 3, 7, 8, 19 และ 17 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในประเด็นอัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนี้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ยังได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2552 ขอให้ศาลส่งคืนทรัพย์สินเฉพาะในส่วนของ ผู้คัดค้านที่ 5 และนางบุษบา ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 6 คืน ศาลจึงมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับให้ อสส. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 7 วัน หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน โดยศาลนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 20 เม.ย. นี้ เวลา 14.00 น.
สำหรับคำร้องที่ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แถลงเปิดคดีโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) นั้นและคำร้องอื่นๆ ของผู้คัดค้านนั้น ศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 27 มี.ค.เวลา 16.00 น.
นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้คัดค้าน เปิดเผยว่า เป็นความประสงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาข้อ 20 โดยให้ผู้ขอเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดให้มีการไต่สวน โดยระบบดังกล่าวและเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้ถือว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล หากศาลอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงเปิดคดีผ่านทาง VIDEO CONFERENCE ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พร้อมที่จะแถลงเปิดคดีตามวันที่ศาลกำหนดทันที ส่วนจะแถลงมาจากที่ใดนั้นตนยังไม่ทราบ

ตระกูล"อมาตยกุล"ฟ้องปูนใหญ่ 222 ล้าน

หมวดข่าว : เศรษฐกิจ
โดย:กองบรรณาธิการTheCityJournal
ตระกูล "อมาตยกุล" มอบทนายความฟ้องเรียกค่าเสียหาย จาก "ปูนซิเมนต์ไทย" และพวกอีก 8 ราย รวม 222 ล้านบาท ข้อหาไม่รับผิดชอบกรณีใบหุ้นปลอม ด้านบริษัทแจงไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ เพราะต้องรอขั้นตอนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายพิบูลศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความได้รับมอบอำนาจจากนายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวรรโณทัย อมาตยกุล ที่ 1 นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ที่ 2 และ น.ส.วรรณโสภิน อมาตยกุล ที่ 3 เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 นายกานต์ ตระกูลฮุน รอง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 2 นายชุมพล ณ ลำเลียง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 3 นายวรพล เจนนภา ผู้อำนวยการสำนักงาน บ.ปูนซิเมนต์ ที่ 4 นายประพันธิ์ ชูเมือง เจ้าหน้าที่จัดเก็บรักษาใบทะเบียนหุ้น หรือโอนหุ้น ที่ 5 นางดวงกมล เกตุสุวรรณ ที่ 6 นายสบสันต์ เกตุสุวรรณ ที่ปรึกษาฝ่ายจัดการที่ 7 บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 8 และ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่ 9 เป็นจำเลยที่ 1-9 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 222,597,234 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 นายวรรโณทัย อมาตยกุล ผู้ถือหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เบาหวาน และศาลแพ่งได้มีคำสั่ง ตั้งนายวรรณพงษ์ เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค. 2551 นายวรรณพงษ์ได้นำใบหุ้นที่อยู่ในความครอบครองของทายาท และโจทก์ที่ 2-3 ซึ่งเป็นบุตร-ธิดา ไปติดต่อกับจำเลยที่ 8 เพื่อตรวจสอบและโอนมรดก ให้แก่ทายาท แต่เมื่อจำเลยที่ 8 ตรวจสอบใบหุ้น แล้วยึดไว้ โดยอ้างว่าเป็นใบหุ้นปลอมและเป็นใบหุ้นที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว กระทั่งวันที่ 7 ม.ค. 2552 จำเลยที่ 8 ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบใบหุ้นดังกล่าวว่า จำเลยที่ 5 , 6 และ 9 เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนวันที่ 30 ม.ค. 2552 โจทก์ทั้งสามทราบเหตุละเมิดว่ามีการลักและปลอมใบหุ้น ทำให้โจทก์ที่ 2-3 ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ ใบหุ้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เมื่อพยายามใช้สิทธิตามเอากรรมสิทธิ์กับผู้เกี่ยวข้อง และจำเลยในคดีนี้คืนแก่โจทก์ แต่ได้รับการปฏิเสธ
คำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยนับว่าปราศจากความรับผิดชอบ ขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และขาดหลักการโปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี เฉพาะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ต่างเพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้มีมาตรการอย่างใด ที่จะชดใช้เยียวยาให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้ถูกโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 , 8 แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการสอบสวนเอาตัวจำเลยที่ 5 กับพวกมาลงโทษ
ต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับ จำเลยที่ 5 ไว้เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2552 ซึ่งขณะนี้จำเลยที่ 5 ได้หลบหนีไป และมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไป เพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสาม บังคับคดีได้โดยง่าย
โจทก์จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อให้จำเลยร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์ ที่ได้รับความเสียหาย คือ หุ้นปูนใหญ่ มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท จำนวน 672,000 หุ้น ที่ถูกลักไป พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันได้สูญเสียทรัพย์สินจนถึงวันฟ้อง โดยโจทก์ของคิดมูลค่าหุ้นปูนใหญ่ในวันที่ถูกกระทำละเมิด เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2547 และวันที่ 17 ต.ค. 2549 ทั้งสองครั้ง รวมเป็นมูลค่าหุ้น 164,633,800 บาท และคิดดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่สูญเสียทรัพย์สินไปจนถึงวันฟ้องอีก 46,629,434 บาท รวมเป็นมูลค่าทรัพย์หุ้นปูนใหญ่ทั้งสิ้น 211,263,234 บาท รวมทั้งดอกผลที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับจากหุ้นจำนวน 672,000 หุ้น เป็นเงินจำนวน 1,344,000 บาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 222,597,234 บาท โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้จำเลยทั้ง 9 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย
ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ 1165/2552 และนัดพิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เวลา 09.00 น.
ด้านฝ่ายกฎหมายของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวว่า จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 25 มี.ค. 2552 ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายนั้น คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า การรับผิดชอบของบริษัทต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริษัทจึงยังไม่สามารถสรุปเรื่องนี้ได้ ควรต้องรอผลการสอบสวนและการดำเนินงานตามขั้นตอนของกฎหมาย การพิจารณาดำเนินการใดๆ จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมกับเจ้าของหุ้นและผู้ถือหุ้นทุกคนตามหลักบรรษัทภิบาล ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบ
"การปลอมใบหุ้น เป็นเรื่องการทุจริตของพนักงานที่ทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะบริษัทเองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบหุ้น หน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนหุ้น ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ทราบกันดีว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทต้องมอบหมายหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนหุ้นให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน ซึ่งบริษัทได้มอบหมายให้ TSD ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนตั้งแต่ปี 2520

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

จับตา"สายวิ่ง"แซง"สายชำนาญการ"คั่วกกต.ใหม่สัญญาณเพิ่มรอยปริร้าว5เสือ


หมวดข่าว : การเมือง
โดย : กองบรรณาธิการ TheCityJournal

หลังการปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจเข้ารับการสรรหา เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทน นายสุเมธ อุปนิสากร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปเนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ โดยคณะกรรมสรรหาที่มี นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ได้เปิดรับผู้ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามเข้ารับการสรรหาเป็นกกต. ปรากฎว่ามีผู้สมัครทั้งสิ้น 14 คน
ทั้งนี้ ในจำนวน 14 คน สามารถแยกเป็น 2 สายหลัก คือ "สายวิ่ง" และ "สายชำนาญเฉพาะ"
เมื่อแยกแยะลงไปในรายละเอียด พบว่า "สายชำนาญเฉพาะ" ส่วนใหญ่เป็นระดับกกต.จังหวัด ซึ่งมีจุดบกพร่องเพราะขาดประสบการณ์ในส่วนกลาง ยกเว้นนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตข้าราชการบำนาญ และอดีตกรรมการป.ป.ช. รวมทั้งยังเคยเป็นอดีตกกต. แต่มีคำถามว่า เมื่อครั้งที่นายวิสุทธิ์ เป็น กกต. เหตุใดต้องลาออก แต่ก็พอจะสืบสาวได้ความว่า นายวิสุทธิ์ ลาออกเพราะเกิดความขัดแย้งอย่างหนักในกกต.ชุดนั้น และข้อเท็จจริงในปัจจุบันนี้กกต. 4 คน ก็แตกเป็น 2 / 2 ดังนั้น ถ้านายวิสุทธิ์ ลาออกเพราะหนีปัญหาความขัดแย้งในองค์กร ถามว่า ตอนนี้มีความขัดแย้งในกกต. อยู่แล้วนายวิสุทธิ์ จะเข้ามาก็เจอความขัดแย้งอีกทำไม
นอกจากนี้ "สายชำนาญเฉพาะ" ส่วนใหญ่เรียนรู้เฉพาะงานการเลือกตั้งระดับภูมิภาค แต่ขาดประสบการณ์ในส่วนกลางในระดับผู้อำนวยการกองในกกต.กลาง ซึ่งจะเป็นหน่วยประสานและระดับปฏิบัติตรงระหว่างกกต.กลาง กับกกต.จังหวัด
ด้าน "สายวิ่ง" นั้น นอกจากจะไม่เคยสัมผัสงานการเลือกตั้งระดับปฏิบัติ ทั้งภูมิภาค และส่วนกลาง แล้วยังไม่มีความ "ลึกซึ้ง" ในกระบวนการแก้ปัญหาการเลือกตั้ง
มีข้อสังเกตว่า การสรรหากกต.ครั้งนี้ มีส่วนที่ทำให้คิดว่า เจตนาจะช่วยเหลือ มีคนที่อยู่ในใจอยู่แล้ว หรือมี "หวยล็อค" โดยมาจากการตั้งโจทก์ข้อเดียว และให้ผู้เข้ารับการสรรหาตอบลงในกระดาษ เอ 4 เพียงใบเดียว ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ที่จะต้องชี้แจงเพื่อให้กรรมการสรรหา ได้เห็นคุณสมบัติที่รอบด้าน
ทั้งนี้ โจทก์ที่ให้ไว้ คือ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรอบแนวคิดในการดำเนินการเกี่ยวกับกรรมการการเลือกตั้ง และถ้านำคำตอบในกระดาษ เอ 4 แผ่นเดียวมาตัดสิน จะไม่สามารถวัดคนที่จะมาทำหน้าที่กกต. ได้ แทนที่จะใช้วิธี ดีเบส ทั้ง 14 คน หรือขายวิสัยทัศน์ร่วมกันแล้วให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง
จากวิกฤติการเมือง ในเวลานี้ส่วนหนึ่งมาจาก กกต. ซึ่งมีปัญหา "แนวคิดวิกฤติศรัทธา" ที่เกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้ง โดยปัญหานี้เกิดจากการเลือกตั้งที่ไม่สามารถสร้างระบอบการเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย โดยคนที่เข้าใจเรื่องนี้ จะต้องนำเสนอแนวคิด 2 ประเด็น
ประเด็นแรก กกต.ต้องมีวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำให้องค์กรมุ่งไปในทางที่ดี
ประเด็นที่สอง การยอมรับความเชื่อมั่นในกระบวนการสอบสวน ซึ่งจะต้องสร้างมาตรฐาน 3 ระบบ คือ มาตรฐานการสอบสวน มาตรฐานการวินิจฉัย มาตรฐานการให้ความเห็นของทุกระดับ
ถ้ากรรมการสรรหาไม่เลือกการ "ดีเบส" ก็ไม่มีทางได้คนที่เข้าใจปัญหาเหล่านี้ได้เลย
คำถามก็คือว่า เวลานี้กกต.ขัดแย้งกันอยู่แล้ว กรรมการสรรหา จะเลือกคนเข้าไปเพื่อสร้างความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้นทำไม ทำไมไม่หาคนที่สรรหาเข้าไปแล้วไม่ไปอยู่ซีกใดซีกหนึ่ง เพื่อลดความขัดแย้งในองค์กร กกต.
การสรรหา กกต.ที่วัดจากคำตอบในกระดาษใบเดียว จึงเป็นเจตนาที่จะสร้างรอยปิดร้าวในกกต.ให้ร้าวหนักขึ้น และยิ่งจะสร้างความเสียหายต่อการเมืองไทยที่มีวิกฤติศรัทธาให้วิกฤติยิ่งๆ ขึ้นไป

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

ส.ส.รุมประณาม"สาก"ฉายภาพบั่นคอทหารกลางสภา

หมวดข่าว การเมือง
โดย กองบรรณาธิการ TheCityJournal
ส.ส.ทั้งภาฯ รุมประณาม "เชาวรินทร์" ใช้ภาพโจรใต้บั่นคอทหารในภาคใต้มาฉายในสภา ชี้เป็นการทำทารุณกรรมศพ ก่อนที่จะลามถึงการประท้วงดุเดือด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลา 20.00 น. ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในหลายประเด็น และตอนหนึ่งได้นำวีดีโอซึ่งเป็นภาพคนร้ายบั่นคอทหาร พร้อมทั้งบอกว่าภาพนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ได้เกิดขึ้น และขณะที่ร.ต.ท.เชาวรินทร์ อภิปราย ภาพดังกล่าวฉายซ้ำไปมาหลายรอบ ทำให้ส.ส.ในสภาต่างเบือนหน้านี โดยเฉพาะส.ส.สุภาพสตรี ที่ไม่อาจทบดูภาพโหดเหี้ยมครั้งนี้ได้
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ปล่อยให้มีการฉายภาพบั่นคอซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่ใช้สิทธิ์ประธานวินิจฉัยว่าภาพนั้นเหมาะสมที่จะฉายในสภาหรือไม่
กระทั่ง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอประท้วงพร้อมทั้งอภิปรายว่า คนทุกคนต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขาเสียสละเพื่อประเทศชาติ ดังนั้น จะต้องเคารพในศักดิ์ศรีของทหาร ที่เสียชีวิต เคารพในศักดิ์ของครอบครัวของทหารผู้นั้น การนำภาพเช่นนี้มาฉายในสภาสะท้อนให้เห็นว่า ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่าวุฒิภาวะไม่ถึง
ขณะที่นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิ์ประท้วยว่า ตลอดการทำหน้าที่ในสภา ไม่เคยเห็นภาพนั้นปรากฎที่ไหนมาก่อน เป็นไปได้ไหมว่า คนที่ถ่ายภาพนั้นรู้จักกับร.ต.ท.เชาวนรินทร์ แล้วนำภาพวีดีโอนั้นมาให้
ด้านนายสามารถ วินิจฉัยว่า ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบเอกสารที่ผู้อภิปรายขอให้เปิด และเพิ่งเห็นภาพนั้นพร้อมๆ กับสมาชิก และเห็นด้วยว่าภาพที่ร.ต.ท.นำมาเปิด นั้น ไม่เหมาะสมที่จะนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะชน ดังนั้น สิ่งที่นายนิพิฏฐ์ ใช้คำพูดว่าร.ต.ท.เชาวรินทร์ ไม่มีวุฒิภาวะ ถือว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว และนายนิพิฏฐ์ ก็ยืนยันว่าจะไม่ถอนคำพูด
ขณะที่ ร.ต.ท.เชาวรินทร์ อภิปรายว่า ภาพที่เผยแพร่ไปมีการเซนเซอร์ ไม่เห็นภาพบั่นคอชัดเจน ทำไมกลัวความจริงหรือ
ส่วนนางพัฒนา สังขทรัพย์ ส.ส.เลย พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า เธอรับไม่ได้กับภาพดังกล่าว และถ้าเผยแพ่ออกไปข้างนอกเด็ก และเบาวชนเห็นถือว่าเกินเลยไปเยอะ
ด้านนายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงว่า ในฐานะที่เป็นส.ส.ในพื้นที่ ภาพนี้ไม่เคยมีปรากฎในสภาแห่งนี้ เพราะถือว่าเปนเรื่องที่ล่อแหลม โดยภาพนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2550 ไม่ได้เกิดในรัฐบาลนี้ตามที่ ร.ต.ท.เชาวรินทร์ กล่าวอ้าง
ขณะที่นายอาคม เอ่งฉ้วน ประท้วงว่า ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ต้องชี้แจงว่าได้ภาพมาอย่างไร มีส.ส.บางคนในพรรคเพื่อไทย นำมาให้หรือไม่
ส่วนร.ต.ท.เชาวรินทร์ ชี้แจงว่า เขาไม่ได้รู้จักคนเชือด แต่ได้ภาพมาจากรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามนายเจะอามิง ประท้วงว่า ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลนี้ แต่เกิดจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ แม้แต่คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมีการพาดพิงพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้บรรยากาศห้องประชุมเริ่มดุเดือดขึ้น ส.ส.เพื่อไทย จำนวนมากต่างตะโกนโห่ และประท้วงนายเจะอามิง และขอให้ถอนคำพูด
แต่นายเจะอามิง ยืนวันว่า ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ มีการศึกษาข้อมูลปัญหาภาคใต้มีข้อมูลเชิงลึกมาก แต่เขามีความรับชอบต่อสภาฯ จะไม่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ผู้ที่นำภาพเหล่านี้มาเผยแพร่ ขอให้รับผิดชอบด้วย เพราะภาพที่เกิด 29 ก.ย. 2550 นั้นเกิดในรัฐบาลไหน ระหว่างนี้เองส.ส.เพื่อไทย ต่างลุกขึ้นประท้วงให้ถอนคำพูดว่าเหตุการณ์ภาคใต้เกิดรุนแรงสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ
ด้านนายเจะอามิง กล่าวว่า ความจริงที่นำมาพูดในสภาฯ เขาจะไม่ถอนคำพูด แต่ขอออกนอกห้องประชุม
ส่วน พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การฆ่าและทำลายศพ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามอนุสัญญาเจนีวา ใครก็ตามที่นำภาพศพ และการทำทารุณกรรมศพ มาเผยแพร่ต้องโดนประณาม
ขณะที่ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการทหาร ชี้แจงว่า ซีดีเรื่องภาพข้าราชการทหารผู้กล้าโดนโจรใต้ดักยิง และตัดศรีษะ เขาได้นำมาให้ร.ต.ท.เชาวรินทร์ เพียงแค่ต้องการให้ส.ส.ได้รับรู้ปัญหาภาคใต้นั้นมีความรุนแรงซึ่งจะต้องหาทางแก้ไข

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

การสังหารหมู่ที่ "หมู่บ้านไมไล" เปรียบเทียบคดีฆ่าประชาชน 7 ตุลาทมิฬ

หมวดข่าว : วิเคราะห์
โดย : กองบรรณาธิการTheCityJournal
ความเห็นหรือมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ ทำให้กองบรรณาธิการ TheCityJournal ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวบ้านที่หมู่บ้านไมไล (MY LAI) หรือที่ภาษาเวียตนามเรียกว่า "ตำแซด ไมไล" อยู่ที่เวียตนามใต้ เมื่อเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1968 โดยคนที่ถูกฆ่าเป็นชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ ทั้งหมดเป็นพลเรือน ในจำนวนที่ถูกฆ่ามีทั้งผู้หญิง เด็ก มียอดคนตายอยู่ระหว่าง 347-504 คน ในจำนวนที่ถูกฆ่าตาย สำหรับผู้หญิงนั้นมีการล่วงเกินทางเพศ ถูกทุบตี ทรมาน หรือไม่ก็ตัดแขนตัดขา ทำให้ผู้ที่ไปพบหลังเกิดเหตุ สุดที่จะรับได้เมื่อเห็นร่างกายผู้เสียชีวิตนอนกองทับถมกันไว้
สำหรับผู้ลงมือก่อเหตุครั้งนี้ คือ ทหารกองทัพบก สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ทหารสหรัฐฯ 26 คนโดนฟ้อง แต่ศาลทหารสหรัฐฯ ลงโทษได้เพียงคนเดียว คือ WILLIAM CALLEY โดนตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต
กว่าการสังหารหมู่ชาวบ้านที่หมู่บ้านไมไล (MY LAI) จะเป็นที่รับรู้ของสาธารณชน ก็ผ่านเหตุร้ายไปแล้ว 1 ปี คือปีค.ศ. 1969
ผลของการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านไมไล ทำให้คนอเมิรกัน ไม่สนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีนิกสัน ทำสงครามเวียตนาม
และขณะเกิดเหตุสังหารหมู่ ที่หมู่บ้านไมไล มีทหารอเมริกัน 3 นายพยายามปกป้องไม้ให้มีการฆ่าชาวบ้าน แต่กลับโดนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน ประณาม และมีคนส่งจดหมายข่มขู่ อาฆาต หลังจากนั้น 30 ปี ทหารทั้ง 3 คนจึงได้รับการชมเชย
การสังหารหมู่ ถ้าเป็นภาษาเวียตนาม จะเรียกว่า การสังหารหมู่ที่ "ซอนไม"
แต่ถ้าตามภาษาโค๊ตกองทัพบกสหรัฐฯ เรียกว่า PINKVILLE (หมู่บ้านสีชมพู)
ทั้งนี้ ที่มาของเรื่อง เกิดขึ้นเมื่อทหารลาดตระเวนที่เรียกว่า CHARLIE ของกองพันที่ 1 กองพลที่ 20 ทหารราบ และกองทัพที่ 11 ของกองพันทหารราบที่ 23 หน่วยรบอเมริกัน เดินทางมาถึงเวียตนาม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1967 เมื่อมีการตั้งค่ายทัพเรียบร้อย ไม่ปรากฎว่ามีศัตรูต่อต้านโดยตรง กระทั่งกลางเดือนมีนาคม 1968 หน่วยกำลังรบ จึงโดนโจมตีด้วยทุ่นระเบิด 28 ครั้ง ทำให้มีทหารอเมริกัน ได้รับบาดเจ็บหลายคน เสียชีวิตไป 5 นาย ทำให้ทหารอเมริกันเริ่มการรบรุกที่เรียกว่า TET ในเดือนมีนาคม 1968
ทหารลาดตระเวน หรือที่เรียกว่า CHARLIE ได้เข้าโจมตีที่ "กวงงาย" โดยเป็นการโจมตีหน่วยรบ 48 ของหน่วยรบเวียตกง จนแตกพ่าย และจากการสืบทราบข่าวของหน่วยสืบราชการลับสหรัฐฯ ได้รับแจ้งว่า หน่วยรบที่ 48 ของเวียตกง ได้ล่าถอย และไปหลบซ่อนตัวที่หมู่บ้าน "ซอนไม" หรือ "ไมไล" ทำให้ชาวบ้านโดนสงสัยว่าให้ที่หลบซ่อนทหารเวียตกง เพราะฉะนั้น อเมิรกันจึงวางแผนโจมตีหมู่บ้านแห่งนี้ โดยมี พ.อ. โอรัน เค เฮนเดอร์สัน (ORAN K. HENDERSON) ปลุกเร้าทหารของตนเองอย่างกร้าวร้าวเพื่อกวาดล้างทหารเวียตกง
พ.ต. ฟรานซ์ เอ บาร์เกอร์ (FRANK A. BARKER) จึงออกคำสั่งให้หน่วยรบที่ 1 เผาหมู่บ้าน รวมทั้งฆ่าวัว ควาย ทำลายอาหาร ในช่วงบ่ายของวันที่เข้าโจมตี หน่วยรบ CHARLIE มี ร.อ.เออร์เนส เมดินา (ERNEST MEDINA) แจ้งให้ทหารในหน่วยรับทราบ ขณะที่มีชาวบ้านส่วนหนึ่ง ออกจากหมู่บ้านเมื่อตอน 7 โมงเช้า ทำให้ทหารสหรัฐฯ สงสัยว่าชาวบ้านที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านเป็นพวกเวียตกง หรือสงสารเวียตกง
ก่อนลงมือปฏิบัติการ ทหารหน่วย CHARLIE ได้ถามผู้บังคับบัญชา ว่าต้องฆ่าเด็ก และผู้หญิงด้วยหรือไม่ (ต่อมาชาวบ้านที่รอดตาย พอให้การในศาลแล้ว ตอบสับสนไปมา ไม่ทราบว่า ว่า ร.อ.เออร์เนส เมดินา สั่งการว่าอย่างไร แต่มีทหาร CHARLIE ที่ให้การว่า ร.อ.เออร์เนส เมดินา ให้ฆ่าให้หมด ทั้งผู้หญิง เด็ก และสัตว์เลี้ยง ให้เผาหมู่บ้าน ให้น้ำในบ่อเสียหาย จะได้ใช้ไม่ได้
ระหว่างนั้นเอง ทหารอเมริกา ได้ยิงปืนใหญ่เปิดทางเข้าไปในหมู่บ้าน และเฮลิคอปเตอร์ ก็บินระดมยิงเข้าไปก่อน
ในตอนเช้าของวันที่ 16 มีนาคม 1968 หน่วยลาดตระเวนสหรัฐฯ ไม่พบนักรบเวียตกง ในหมู่บ้านไมไล แต่ทหารหลายคนสงสัยว่ามีเวียตกง ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ในบ้านพ่อ หรือภรรยาของทหารเวียตกง ทหารอเมริกัน จึงเข้าไปยิงใส่ทุกที่ ที่สงสัยว่าทหารเวียตกงซ่อนอยู่ และยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นคน หรือสัตว์ รวมทั้งการขว้างระเบิด และยิงด้วยปืน M 79 ทำให้การสังหารหมู่จึงเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1970 กองทัพบกสหรัฐฯ ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหาร 14 คน รวมทั้ง พล.ต. SAMUEL W. KOSTER ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกองกำลังการปฏิบัติการ ด้วยข้อหาปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งนี้ ต่อมาข้อกล่าวหานี้โดนสั่งไม่ฟ้อง จึงเหลือเพียง พล.จัตวา โอรัน เค เฮนเดอร์สัน (ORAN K. HENDERSON) คนเดียวที่ต้องโดนฟ้อง เกี่ยวกับการปกปิดความจริง และต่อมามีการตัดสินยกฟ้องเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1971 ส่วน ร.อ. เออร์เนส เมดินา และ ร.ท.วิลเลียม แอล คอลลี่ นั้นโดนดำเนินคดีในศาล 4 เดือน และถูกศาลชั้นต้นลงโทษ ในข้อหา ฆาตรกรรมโดยไต่ตรองไว้ก่อน โดยการออกคำสั่งฆ่า ศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต
หลังศาลตัดสิน 2 วัน ประธานาธิบดี นิคสัน สั่งให้ปล่อยตัว ร.ท.วิลเลียม แอล คอลลี่ ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา และมีการแก้ไขโทษ โดยให้ลงโทษจำคุก 4 ปีกับเดือนครึ่ง
ขณะเดียวกันคดีของ ร.อ. เออร์เนส เมดินา ซึ่งปฏิเสธว่าไม่ได้ออกคำสั่งให้สังหารหมู่จึงโดนปล่อยตัวทุกข้อหา
เพราะฉะนั้น จึงเท่ากับเป็นการพลิกทฤษฎีการฟ้องร้องที่ใช้ฟ้องร้องในคดี COMMAND RESPONSIBILITY กลายเป็นคดีที่เรียกว่า Medina Standard
และอีกต่อมาหลายเดือน ร.อ. เออร์เนส เมดินา ยอมรับว่าตัวเองปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐาน และโกหกผู้บังคับบัญญาคือ พ.อ.โอรัน เค เฮนเดอร์สัน (ORAN K. HENDERSON) เกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่โดนสังหารหมู่
ขณะที่ทหารเกณฑ์ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ก็ปลดประจำการไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้รับยกเว้นตามกฎหมายจากการโดนฟ้อง
แต่ในที่สุดมีทหารอเมริกัน โดนฟ้องร้อง 26 คน และมีเพียง ร.ท.วิลเลียม แอล คอลลี่ เท่านั้นที่โดนลงโทษจำคุก 4 ปีกับเดือนครึ่ง
บรรดานักกฎหมายสหรัฐฯ ออกมาโต้แย้งหลังจากศาลทหารสหรัฐฯ ตัดสินออกมาอย่างนี้ ซึ่งเป็นการกลับหลักกฎหมายทำสงครามที่วางบรรทัดฐาน ที่ศาลนูแรมเบิร์ก และศาลอาชญากรสงครามกรุงโตเกียว
ในคดีที่ฟ้องทั้ง 2 ศาล ได้วางบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์โดยวางหลักเกณฑ์ว่า "ไม่มีใครที่จะโดนละเว้นโทษอันมาจากการที่ต้องรับผิดชอบในข้อหาอาชญากรสงครามเพราะเหตุว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา"
ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โฮเวิร์ด คาราเวย์ HOWORD CALLAWAY ในรัฐบาลประธานาธิบดีนิกสัน ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ NEWYORK TIME ว่า ที่ลดโทษให้ให้ ร.ท. คอลลี่ เพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าที่ปฏิบัติการสังหารประชาชนชาวเวียตนาม เพราะนายสั่งมา เป็นการขัดแย้งโดยตรงกับหลักกฎหมายที่ได้วางบรรทัดฐานไว้ที่ ศาลนูแรมเบิร์ก และศาลอาชญากรสงครามกรุงโตเกียว ที่ซึ่งทหารเยอรมัน และญี่ปุ่น ต้องถูกประการชีวิต แม้จะอ้างว่าเป็นการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก็ตาม
คดี Medina Standard มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ศาลอเมริกัน มักจะตัดสินช่วยพวกตัวเอง ก็คงเหมือนคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชราวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่ามีความผิดวินัย จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
"คดีไมไล" หรือ คดี Medina Standard ตัดสินอย่างนี้ เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง จึงกลายเป็นรอยแผลดำของอเมิรกา แล้วประเทศไทย จะให้ปรากฎรอยแผลนั้นซ้ำอีกหรือ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

เบื้องหลังเด้งโยก28บิ๊กมหาดไทย

หมวดข่าว : วิเคราะห์
โดย : วัฒนา


คำสั่งล้างบางข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือเป็นควันหลงข้าราชการ เปิดศึกชักธงรบฝ่ายการเมือง โดย “สุกิจ” นั้นเป็นเด็ก "หญิงอ้อ" เมื่อโดนเด้งจึงออกมาแฉยับนักการเมืองจ้องงาบ สั่งให้กรรมการพิจารณางบอุดหนุนเฉพาะกิจท้องถิ่นหลายหมื่นล้านรีบเซ็นอนุมัติ 3 พันโครงการ โดยไม่ต้องรอคำสั่งที่มิชอบของนักการเมือง รวมถึงการโยกย้ายสิงห์ขาว เพื่อนร่วมรุ่น"สุเทพ"ผงาดยกแผง แถมเด็ก“เนวิน”ถูกดันขึ้นเพียบ เป็นการปูทางสลายฐานมวลชนเสื้อแดง
การจัดทัพทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทยที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดขึ้นภายหลังจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย และผู้จัดการรัฐบาล ได้หารือกับนายเนวิน ชิดชอบ ผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคภูมิใจไทย ร่วมกันจัดทำโผรายชื่อโยกย้ายทั้งหมดแทบทุกตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการผลักดันคนใกล้ชิดของตัวเองในพื้นที่ โดยเป็นนคนบ้านเดียวกันกับนายสุเทพ เพื่อนสนิทและรุ่นน้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จบการศึกษาจากที่เดียวกัน มารับตำแหน่งหลายคน ในส่วนของการผลักดันของนายเนวินนั้น ให้ผู้ว่าฯภาคอีสานใกล้ชิดกับส.ส.ภูมิใจไทย มารับตำแหน่งสำคัญๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ว่าฯภาคอีสานพื้นที่หลักของพรรคภูมิใจไทยที่แข่งกับพรรคเพื่อไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นฐานหลักของคนเสื้อแดง โดยมีหลายคนที่เป็นการย้ายเพื่อคืนความชอบธรรมให้ หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลพลังประชาชนถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ไม่ถนัดในการทำงาน จนทำให้การบริหารงานในจังหวัดเกิดปัญหา

อย่างไรก็ตามผลของการโยกย้ายทำให้ผู้ถูกโยกย้ายบางคน อาทิ นายสุกิจ เจริญรัตนกุล ที่ถูกเด้งจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(อสถ.) ซึ่งเป็นกรมขนาดใหญ่ของกระทรวงที่มีงบประมาณแต่ละปีประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ไปนั่งตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านายสุกิจมีความใกล้ชิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผนวกกับมีปัญหาเรื่องทุจริตนมโรงเรียนเกิดขึ้น แต่นายสุกิจชี้แจงเรื่องนี้ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายการเมือง อีกทั้งนายสุกิจได้ประกาศทันทีว่า เตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตามรอยนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ถูกเด้งเข้ากรุก่อนหน้านี้ บนกระแสข่าวว่านายสุกิจได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายพีรพล หลังมีคำสั่งเด้งเข้ากรุด้วยเพื่อขอคำแนะนำในการต่อสู้ตามข้อกฎหมายเช่นเดียวกับนายพีรพล ที่ได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ที่น่าสนใจเป็นพิเศษนายสุกิจ ได้ลงนามคำสั่งทิ้งทวนเปิดศึกกับฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 52 หลังโดนเด้งไม่กี่ชั่วโมง อันเป็นคำสั่งเรื่อง “ยกเลิกแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีเร่งด่วน และคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาวงเงินการก่อสร้าง และรูปแบบโครงการที่อปท. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2552” ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่อสถ. คนปัจจุบันได้รับคำสั่งให้ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (ผต.มท.) โดยในตอนท้ายคำสั่งนายสุกิจระบุไว้ชัดเจนว่า ” อนึ่ง ณ ปัจจุบันเหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ 2552 ฉะนั้นในห้วงเวลานี้จนถึงวันที่อสถ . คนปัจจุบันได้รับคำสั่งให้ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งผต.มท. จึงขอให้ประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ เร่งพิจารณาโครงการต่างๆ ที่คณะทำงานพิจารณาวงเงินก่อสร้างฯ ได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 3000 โครงการ โดยมิต้องรอคำสั่งที่มิชอบของข้าราชการฝ่ายการเมืองเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
สำหรับคนที่มาเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคุมงบ 1.4 แสนล้านบาทแทนนายสุกิจ เป็นนายมานิต วัฒนเสน ผวจ.ขอนแก่น สายตรงเนวิน ชิดชอบ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งได้รับแรงหนุนจากเนวินให้เป็นบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาค

ส่วนรายชื่อที่น่าสนใจใน 28 ตำแหน่งหลักๆ เช่น นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ที่ถูกย้ายจากผู้ว่าฯเชียงใหม่มาเป็นรองปลัดกระทรวง แม้จะดูว่า ไม่ได้เป็นการลดชั้น แต่ทว่านายวิบูลย์อายุราชการยังเหลือจนถึงปี 2558 และนายวิบูลย์ก็ไม่เต็มใจย้ายจากตำแหน่ง แต่ทว่าพื้นที่เชียงใหม่เป็นที่ทราบกันดีเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ซึ่งนับว่าเป็นกองบัญชาการหลักของคนเสื้อแดงในภาคเหนือ จึงทำให้การย้ายนายวิบูลย์ครั้งนี้ เพราะฝ่ายการเมืองติดใจนายวิบูลย์หลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางไปร่วมงานสังสรรค์ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วถูกคนเสื้อแดงบุกเข้าไปก่อกวนและปิดล้อมสถานที่จัดงาน จนเกิดการทำร้ายข้าราชการผู้หญิงของมหาวิทยาลัย โดยที่ทางจังหวัดไม่ได้มีการเตรียมการป้องกันและคลี่คลายสถานการณ์ไว้จนนายสุเทพไม่พอใจอย่างมาก
ทั้งนี้คนที่มาแทนเป็นนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผวจ.ลำปางที่แนบแน่นกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน เพราะคุ้นเคยกันตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย - เทิดพงษ์ ไชยอนันต์ เป็นต้น โดยทราบกันดีว่า นายชวนเวลามาที่ภาคเหนือจะต้องเดินทางไปบ้านนายอมรพันธ์หลายครั้งเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของนายอมรพันธ์ ขณะเดียวกันได้ผลักดันให้นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผวจ.พิษณุโลก ให้มาเป็นผวจ.ลำปางแทน
นอกจากนี้อธิบดีอีกหนึ่งคนที่ถูกเด้งแบบลดชั้น คือ นายชุมพร พลรักษ์ จากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มาเป็นผวจ.สิงห์บุรี จังหวัดเล็ก หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้แค่ห้าเดือน แต่หลายคนก็ไม่ผิดความคาดหมาย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านายชุมพรมีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ทั้งนี้เดิมมีข่าวว่านายสุเทพ พยายามผลักดันให้นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าฯสตูลมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน แต่ปรากฏว่า โผไม่ลงตัว เพราะชื่อของนายไพรัตน์ สกลพันธุ์ ผวจ.นครนายกมาแรงในตอนท้าย เพราะนายเนวินต้องการให้นายไพรัตน์ไปเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนแทน จนนายชวรัตน์ต้องตัดสินใจในช่วงดึกของวันที่ 9 มีนาคม ก่อนนำชื่อเข้าครม. โดยขอให้นายสยุมพรไปเป็นผู้ว่าฯระยองแทน ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณก็ไม่ขัดข้อง
ขณะที่นายวิชัย ไพรสงบ ผวจ.สิงห์บุรี มารับตำแหน่งผวจ. ภูเก็ต ได้รับแรงหนุนจากนางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ เพราะเคยเป็นอดีตผู้ว่าพังงามาก่อน ก่อนหน้านี้เคยเป็นอดีตผอ.รางวัด กรมที่ดินและรองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้ว่าฯ สิงห์ทอง รัฐศาสตร์ รามคำแหงที่มีอยู่ในเวลานี้
โดย นายปรีชา กมลบุตร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ถูกลดชั้นให้ดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครนายก เหตุเพราะฝ่ายการเมืองเห็นว่านายปรีชาไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่ได้ จนทำให้อยุธยาฯเป็นพื้นที่หลักของคนเสื้อแดงในภาคกลาง จนล่าสุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเตรียมโฟนอินในงานความจริงสัญจรที่อยุธยาวันที่ 14 มีนาคมนี้ ผนวกกับฝ่ายการเมืองเห็นว่านายปรีชาใกล้ชิดกับแกนนำเพื่อไทยโดยเฉพาะนายยงยุทธ ติยะไพรัช สมัยนายปรีชาเป็นผู้ว่าฯเชียงราย
ส่วนคนที่มาเป็นผู้ว่าฯอยุธยาแทนนายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.สกลนคร แม้ไม่สนิทกับนายเนวิน ชิดชอบ และส.ส.ภูมิใจไทย แต่มีผลการทำงานโดดเด่น
ส่วนนายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผวจ.สุรินทร์ ที่ได้ขยับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นสายตรงเนวิน และศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทั้งที่เพิ่งไปเป็นผู้ว่าฯสุรินทร์เมื่อตุลาคมปี 51 โดยขยับจากรองผู้ว่าฯสุรินทร์ มาครั้งนี้ได้เป็นผู้ว่าฯขอนแก่น จังหวัดใหญ่ของภาคอีสาน พื้นที่เลือกตั้งของนายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ รมช.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย
สำหรับนายวิเชียร ชวลิต ผวจ.อำนาจเจริญ เลื่อนชั้นนั่งเก้าอี้เป็นผวจ.สุรินทร์ ก็เป็นสายตรงของเนวิน ซึ่งก่อนหน้านี้เนวินส่งมาเป็นคณะทำงานให้กับพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรมว.มหาดไทย ที่มีศักดิ์สยามเป็นหัวหน้าทีม จนได้ขึ้นเป็นผู้ว่าฯอำนาจเจริญ เมื่อตุลาคมปี 51 มาครั้งนี้ได้ขยับชั้นมาเป็นผู้ว่าสุรินทร์ทันที บนแรงหนุนของส.ส.ภูมิใจไทยในพื้นที่ของนายยรรยง ร่วมพัฒนา ส.ส.สุรินทร์
นอกจากนี้ยังมีรายชื่อที่ น่าสนใจเช่น นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผวจ.ราชบุรีที่จะไปเป็นผู้ว่าฯสตูล พบว่า จบปริญญาเอกและโทจากสหรัฐอเมริกา ได้รับการวิจารณ์อย่างมากเพราะเป็นการย้ายไปในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีรายงานว่า นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาล คุ้นเคยกับนายสุเมธเป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยนายสุเมธเป็นรองผู้ว่าฯพิจิตร ที่เป็นพื้นที่เลือกตั้งของพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ ลูกพี่เก่าของนายถาวร จึงต้องการดึงนายสุเมธให้มาช่วยดูแลพื้นที่สตูล แม้ว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าปัตตานี ยะลา นราธิวาส อีกทั้งเพื่อมาแทนนายสยุมพร ลิ่มไทย ที่ไปเป็นผู้ว่าฯระยอง เพราะนายสุเทพ และนายถาวรเห็นว่านายสยุมพร ไม่ถนัดงานเรื่องสถานการณ์ความมั่นคง
ส่วนคนที่มาเป็นผู้ว่าฯราชบุรีแทนเป็นนายสุเทพ โกมลภมร ที่โยกมาจากผวจ.พัทลุง ทั้งที่เพิ่งขึ้นเป็นผู้ว่าฯเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว ว่ากันว่า เป็นสายตรงสุเทพ อีกคนหนึ่งรวมถึง นายวิญญู ทองสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ก็ได้รับการผลักดันจากนายสุเทพ เพราะเป็นคนบ้านเดียวกันที่จ.สุราษฏร์ธานี อีกทั้งที่ผ่านมานายวิญญูเติบโตในพื้นที่สุราษฏร์ธานีมาตลอด จึงคุ้นเคยกับทั้งนายสุเทพและนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนนายวิญญูได้รับแรงหนุนให้เป็นรองผู้ว่าสุราษฏร์ธานี แถมยังเป็นเพื่อนร่วมสถาบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับนายสุเทพ จึงมักคุ้นกันมานับสิบๆปี แถมยังเป็น นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสุราษฎร์ธานีด้วย และขึ้นเป็นระดับ 10 คือ ผู้ตรวจกระทรวงได้เพียงปีกว่าๆ สุดท้ายได้รับแรงหนุนจากสุเทพให้มาเป็นผู้ว่าฯครั้งแรกที่พัทลุง
อย่างไรก็ดีใน การโยกผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยออกไปเป็นผู้ว่าฯในอีสานและภาคเหนือ ในพื้นที่สีแดงหลายคนแล้วก็โยกผู้ว่าฯพื้นที่สีแดงเข้ากรุผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสลับกันเช่น นายทองทวี พิมเสน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยไปเป็นผู้ว่าฯมหาสารคาม แล้วเด้ง นายพินิจ เจริญพานิช จากผวจ.มหาสารคามเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย บนกระแสข่าวว่า นายพินิจมีความใกล้ชิดกับแกนนำเพื่อไทย เช่น ศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรมว.ศึกษาธิการจึงต้องจัดคนของภูมิใจไทยลงพื้นที่เอาไว้ปูทางประสานการเลือกตั้ง
สำหรับนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่ได้ออกจากกรุผู้ตรวจฯได้เป็นผู้ว่าฯจังหวัดสำคัญทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงราย พบว่า นายสุเมธเป็นเพื่อนร่วมสถาบันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับนายสุเทพ ส่วนนายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผวจ.เชียงราย ถูกเด้งมาเป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง โดยคำสั่งนี้จะทำให้นายไตรสิทธิ์ เข้ากรุถาวรหลังจากเพิ่งถูกย้ายด่วนมาช่วยราชการกระทรวงมหาดไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากปัญหาเรื่องการถูกร้องเรียนว่าบริหารงานในจังหวัดไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ข้าราชการในจังหวัดเกิดความแตกแยก รวมถึงรัฐบาลเห็นว่า หากปล่อยปละในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง จะเป็นการช่วยพรรคเพื่อไทยในการสร้างมวลชนคนเสื้อแดงขึ้นอีก แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งชั่วคราว ดังนั้นเลยนำชื่อนายไตรสิทธิ์รวมไว้ในการโยกย้ายครั้งนี้ เพื่อให้เข้ากรุถาวรจนเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมปีนี้
การโยกย้ายสลับกันของผู้ว่าฯกับผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่เป็นตำแหน่งเข้ากรุ ยังพบว่า มีหลายคนน่าสนใจเช่นกัน อาทิ นายวันชัย สุทิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่ครั้งนี้ได้ออกไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด กำแพงเพชร นายขจรศักดิ์ สิงโตกุล ผวจ.ยโสธรถูกเด้งเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แล้วให้นายวันชัย อุดมสิน ผวจ.กำแพงเพชรไปเป็นผู้ว่าฯยโสธรแทน ขณะที่นายสมบัติ ศรีวัฒน์สุวรรณ์ เป็นรองผู้ว่าฯคนเดียวที่ขึ้นระดับ 10 เพราะมีความอาวุโสมาก แม้จะเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันกับนายสุเทพ ก็ตาม ที่สำคัญเป็นพื้นที่เป้าหมายของพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

เขาหาว่าผมเป็นพันธมิตรเทียม

หมวดข่าว : สัมภาษณ์พิเศษ
โดยกองบรรณาธิการ TheCityjournal
หมายเหตุ : ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย กับคำตอบในเรื่องที่มาของการก่อตั้งพรรคพันธมิตร รวมถึงการสนับให้แบ่งแยกทางเดินของมวลชนที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคเทียนแห่งธรรม เท่านั้นจึงจะเรียกว่า "พันธมิตรแท้" และคำตอบ "น.ต.ประสงค์-พล.ต.มนูญกฤติ" กับการตั้งพรรคการเมืองใหม่
หลังจากที่ผมกลับจากทัวร์อเมริกา ผมก็ขอเข้าพบคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อนำเงินบริจาคจากพี่น้องพันธมิตรอเมริกา ไปมอบให้ ซึ่งคุณสนธิ ก็บอกกับผมว่า จะทำเอเอสทีวีอย่างเดียว ใครจะทำพรรคการเมือง เข้าสู่ระบบพรรคการเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือเข้าสู่การเมืองใหม่ ก็ทำไป ส่วนคุณสนธิ ขอลอยตัว แต่ถ้าใครเจ็บตัวจากการเมืองก็ให้กลับมาที่เอเอสทีวี คุณสนธิ จะดูแล
ส่วนพรรคเทียนแห่งธรรม นั้น ผมทราบว่า มีการจดทะเบียนพรรคเทียนแห่งธรรม ไว้ก่อนแล้ว ก่อนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร โดยมีที่ตั้งพรรคอยู่ที่ จ.นครราชสีมา นี่จึงเป็นที่มาของการคุยกันกับวงอื่นๆ ซึ่งก่อตัวเรื่องพรรคการเมืองในการคุยหลายๆ ครั้ง หลายๆ วง ถึงมาสรุปว่าจะไม่ทำพรรค "อีลีดปาร์ตี้" แต่จะทำ "แมสปาร์ตี้" คือทำพรรคจาก "ล่าง" สู่ "บน" และก้าวหน้าถึงขั้นใช้ชื่อที่เหมาะสมคือ "พรรคประชาภิวัฒน์"
หลังจากนั้นผมทราบว่ามีการเปลี่ยนความคิดจะให้ พล.จำลอง ศรีเมือง 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตร เป็นหัวหน้าพรรคเทียนแห่งธรรม ซึ่งพัฒนาทางความคิดต่อเนื่องและมาถึงการประกาศ "ปฏิญญาเกาะสมุย"
ขณะที่ พรรคประชาภิวัฒน์ ผมทราบว่าคณะผู้ก่อตั้งได้ไปจดทะเบียนพรรคแล้ว โดยคณะผู้ก่อตั้งบอกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ส่วนผมไม่ได้ร่วมกับเขา ขอเป็นแค่ผู้ไปให้ความรู้ในฐานะที่ทำพรรคพลังธรรม มาก่อน แต่ข่าวที่ออกมาว่า ผมจะไปทำพรรคประชาภิวัฒน์ ร่วมกับพล.ต.มนูญกฤติ รูปขจร โดยมีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นสนับสนุน ซึ่งไม่เป็นความจริง
ส่วน พล.ต.มนูญกฤติ ยอมรับว่าเป็นผู้ร่วมพูดคุยเรื่องการตั้งพรรค แต่ไม่มีชื่อในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคประชาภิวัฒน์
สำหรับตัวผม ผมยังจะทำสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย เพราะประสบการณ์ที่ทำพรรคพลังธรรม ผมเชื่อว่าการเอา "พรรค" มาเคลื่อนงาน "มวลชน" มันไม่ง่าย แต่ควรมี "ภาคประชาชน" ที่ทำหน้าที่เคลื่อน โดยพรรคเป็นองค์กรที่ถูกต้องเพื่อคัดคนเข้าสู่สนามแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนประชาชน ส่วน "พรรค" ทำงาน "มวลชน" ยังไม่เคยมี
ดังนั้น แทนที่จะตั้งพรรคพันธมิตร ก็น่าจะรวมเป็นภาคประชาชนอย่างเป็นระบบมากกว่าการรวมตัวอย่างหลวมๆ ในระดับแกนนำ ควรรวมตัวในระดับอำเภอ ระดับตำบล จะเป็นการรวมพลังเป็นระบบเครือข่ายคณะประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย
การที่ 5 แกนนำมาร่วมกันทำพรรคการเมือง ทำให้การเมืองสูญเสียสิ่งที่มีไว้สำรองหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมา แม้ว่ามีกระแสตอบรับจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีความเห็นแย้งว่าเป็นสิทธิ์ 5 แกนนำที่จะทำพรรคการเมือง
ด้านความแตกแยกระหว่างผม กับพันธมิตร ผมไม่ถือว่าเป็นความแตกแยก แต่เป็นความแตกต่างทางความคิดที่ผมเสนอกับ 1 ใน 5 แกนนำว่าผมไม่เห็นด้วยที่ 5 แกนนำจะทำพรรคการเมือง แต่ก็มีการเสนอตอกย้ำเรื่องพรรคการเมืองบนเวทีที่โคราช แต่เสนอในลักษณะที่อ่อนตัวลง ผิดกับปฏิญญาสมุย ครั้งนั้นเสนอแบบแข็งตัว แต่ความคิดเมื่อคืน (7 มี.ค.) ที่โคราช อ่อนตัวลงระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความคิดของผมถือเป็นความเห็นของผู้ร่วมฟันฝ่ากันมา ไม่ถึงกับแตกแยก
ผมถือว่าองค์กรภาคประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกับพันธมิตร เป็นดอกไม้หลายสี ที่มาสู้เพื่อบ้านเมือง มาอยู่ในแจกันเดียวกัน หลังจากนั้นเมื ่อสิ้นสุดการต่อสู้ดอกไม้ก็กลับไปสู่ต้นเดิม ดังนั้น ระบบบริหารจัดการความคิดในชาวพันธมิตร มีขั้นตอนประมวลที่ชัดเจน ตอนที่ชุมนุมได้เจอกันก็สามารถพูดคุยกัน แต่หลังจากนี้แกนนำ หรือผู้ร่วมชุมนุมไม่ค่อยได้คุยกัน จึงเป็นอุปสรรคในการจัดการให้เป็นแนวทางเดียวกัน
สำหรับองค์กรสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ถือเป็นแนวร่วมพันธมิตร ในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังจะเป็นเช่นนั้น
พันธมิตร สำหรับผมไม่ใช่องค์กรจัดตั้งถาวร น่าจะแยกเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อถึงคราที่ต้องต่อสู่ค่อยให้ 5 แกนนำเรียกชุมนุม จะดีกว่าเป็นองค์กรถาวร เพราะไม่เช่นนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มยังพีเอดี หรือกลุ่มที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เขาจะยืนตรงไหน การเป็นพรรค เป็นไปไม่ได้ในทางธรรมชาติที่หลากหลาย ทำให้ตอนนี้มีการกล่าวหา "พันธมิตรแท้ พันธมิตรเทียม"

ความคิดเห็นเรื่อง "พันธมิตรแท้ พันธมิตรเทียม" เริ่มมีความแตกต่างทางความคิด ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของคนที่เริ่มชุมนุมก็มีบ้างที่ไม่ชอบพอกันในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ไม่ชอบร่วมกันก็มีคือ "ระบอบทักษิณ" ยังเป็นเป้าหลัก ขนาดผมยังโดนกล่าวหาว่าผมไปป่วนเพื่อให้ล้มเวทีพันธมิตรที่พิษณุโลก ป่วนเวทีที่โคราช กว่าผมจะได้ชี้แจงมันก็ไปไกลกันแล้ว แม้แต่ที่ผมไปอเมริกา ก็หาว่าผมกับคุณการุณ ใสงาม ว่าผมไปป่วนพันธมิตรที่อเมริกา
มันมีคนเสี้ยมให้ 5 แกนนำ กับผมให้เข้าใจผิดกัน แต่ก็มีการเคลียร์กันเป็นคราวๆ ผ่าน 1 ใน 5 แกนนำ ผมนึกว่าจะเข้าใจก็ยังมีการนำเสนอซ้ำอีก ผมก็ต้องชี้แจงอีก แม้แต่การจัดงานพันธมิตรในบางจังหวัดที่ไม่เคยจัดงาน เขาก็โทรมาชวนผม ผมบอกให้ไปคุยกับ 5 แกนนำ ก่อนเดี๋ยวจะมีปัญหา สักพักเขาก็โทรมายกเลิกผม เพราะว่ามันมีปัญหาจริงๆ
ส่วนที่มีการแยกพันธมิตรแม่ยก กับพันธมิตรลงแรง ผมถือว่าเป็นความหลายหลาย แต่สังคมไทยชอบสรุปว่า "แตกต่างทางความคิด" เป็น "แตกแยก"
คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าผมสนิทกับพล.ต.จำลอง ทำไมจึงมีเรื่องที่โดนกล่าวหาว่า เป็นพันธมิตรเทียม แต่ผมคิดว่า ตอนนี้ในพันธมิตร เริ่มไปไกล ไปถึงทฤษฎีฝ่ายซ้าย มีการใช้คำพูดการจัดตั้งมวลชนของฝ่ายซ้ายเดิม มีการใช้คำว่า "ช่วงชิงการนำ" สำหรับผม ผมอยากพักผ่อนจะตาย แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเป็นหลักให้ประชาชนเข้มแข็ง และเมื่อผมมีประสบการณ์ทำพรรค ประสบการบริหาร เคยยุ่งเกี่ยวกับปัญหาเกษตรกร ผมจึงต้องกะเตงให้ และนี่แหละที่มีการกล่าวหาว่า สมัชาประชาชน เป็นพันธมิตรเทียม
เพราะฉะนั้น การที่คนพันธมิตร จะเป็นสมาชิกพรรคเทียนแห่งธรรม พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาธิปัตย์ ผมมองเป็นมุมสีสันของพันธมิตร คืออย่างน้อยมีถึง 3 พรรค ถ้ามีปัญหาหรืออุบัติเหตุการเมือง 5 แกนนำสามารถระดมมวลชน ก็ค่อยมารวมกันเป็นพันธมิตร ที่มาจากแม่น้ำหลายสาย แต่ถ้าจะให้มวลชนพันธมิตรเป็นองค์กรเดียวกัน แยกไม่ได้อย่างนี้ แตกแน่นอน แม้แต่สื่อพันธมิตร การมีสื่อหลายหลายมากขึ้นก็น่าจะดี เพราะสื่อเสื้อแดงก็ออก 2 ช่องประตู ชาวพันธมิตร ก็ต้องพัฒนาไปสู่สื่อที่มีความหลากหลายเพื่อสำรองรับอุบัติเหตุของชาติบ้านเมือง เราต้องช่วยรัฐบาล อย่าเดินตามรอยรัฐบาลคมช. เพราะรู้อยู่ เสื้อแดง ว่าเขารวมพลังทั้งใน และนอกประเทศ แม่แต่ตอนที่นายกฯลงพื้นที่ มีการกระจายต่อต้าน
ดังนั้น ด้วยความเคารพในการต่อสู้ของพันธมิตรภาคใต้ ที่หลายคนไม่สบายใจที่แกนนำพันธมิตรที่ขึ้นเวทีไปโจมตีเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรภาคใต้เขาไม่เห็นด้วยกับแกนนำ
ส่วนข่าวที่มีชื่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคประชาภิวัฒน์ ด้วยนั้น เท่าที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านน.ต.ประสงค์ ผมไปขอคำแนะนำเป็นคราวๆ ท่านน.ต.ประสงค์ ไม่เคยคิดว่าจะทำพรรคการเมืองด้วยตัวเอง แต่ท่านคิดว่าพันธมิตร ควรทำพรรคการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือเข้าสู่การเมืองใหม่
ถามว่าทำไปต้องไปพบ น.ต.ประสงค์ ก็เพราะท่านเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมอยากทราบเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 87 เพื่อให้เกิดขึ้นจริง เพราะเป็นบันไดสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการเข้าสู่การเมืองใหม่ จากที่ผ่านมาเขียนไว้แค่บนกระดาษ

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552

การใช้อำนาจไม่สมประกอบ กับแนวคิด"ไทยแลนด์มาร์แซล"

หมวดข่าว : สัมภาษณ์พิเศษ
โดย : กองบรรณาธิการ TheCityJournal

ธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ นิติศาสตร์มหาบัญฑิต Newyork University (กฎหมายภาษีอากรสหรัฐ และกฎหมายระหว่างประเทศ) อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

หลายประเทศพยายามหาวิธีการลดปัญหาด้วยการแยกงานปกครองส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ออกมาปรับปรุง พัฒนาขึ้นเป็นองค์การสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย อาทิเช่นสหรัฐอเมริกา ได้แยกงานปกครองของแขวง และเมือง ภายใต้การบริหารของ SHERIFF และ MARSHAL มาพัฒนาเป็น U.S.MARSHALS คอยสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ ศาล และพนักงานฝ่ายปกครอง ให้มีหน้าที่สนับสนุนงานสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาและนักโทษตามหมายจับหรือคำสั่งศาล งานเคลื่อนย้ายผู้ต้องหา หรือนักโทษ งานสืบสวนจับกุมบุคคลต่างด้าว งานตรวจตราป้องกันและจับกุมผู้กระทำความผิดเรื่องเพศ งานคุ้มครองพยานหลักฐาน และการควบคุมฝูงชน
ประเทศไทย เองก็ต้องการมีหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม และการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยในระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นช่วงเวลาการทดลองงาน สมควรที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ระเบียบราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 8 ฉ ออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งสำนักงานสนับสนุนการบังใช้กฎหมาย หรือ (สบก.) หรือ LAW ENFORCEMENT SUPPORT OFFICE (L E S O) ขึ้นในสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือ "ไทยแลนด์มาร์แซล"
ทั้งนี้ ธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ ในฐานะอดีตพนักงานอัยการ และเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นความเป็นมาของ "ยูเอสมาร์แซล" เริ่มจาก "มาร์แซล" (เจ้าหน้าที่บังคับกฎหมาย) ทำหน้าที่ไล่ตามจับคนร้ายสำคัญของแต่ละมลรัฐ โดยเฉพาะในรัฐทางใต้ของสหรัฐบางรัฐ คนร้ายทำผิดอาญารุนแรงเขาต้องการขจัดคนร้ายประเภทนี้จึงต้องตั้งเจ้าหน้าที่มารักษากฎหมาย ไล่ตามจับคนร้าย อย่าง เจสซี่ เจมส์ หรือ บอดี้ แอนด์ไคลส์
แต่เนื่องจาก "คน" นั้นสามารถเคลื่อนไหวได้ เพราะมีม้า มีรถยนต์ ทำให้สามารถข้ามรัฐ ด้วยการก่อเหตุที่รัฐหนึ่ง หนี่ไปอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมาย เหมือนกัน ซึ่งจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้ายสำคัญเพราะไม่ได้ก่อเหตุในรัฐของตนเองรับผิดชอบ อาทิเช่น ซันแดนส์ คิด บิลลี่ เดอะคิด ที่ก่อเหตุในมิสซีสซิบปี้ (ยาซู Yazoo ชื่อของอินเดียนแดง) แล้วหนี้ไปอีกรัฐ ทำให้มีการติดตามจับกุม เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายด้วยกัน เพราะเจ้าหน้าที่ไม่รู้จักกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลกลางสหรัฐ จึงต้องออกกฎหมายมารองรับการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์
ขณะที่ประเทศไทยเรา เป็นรัฐเดี่ยว ไม่มีความซ้ำซ้อนในด้านของกฎหมาย จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมาย เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ที่คิดจะตั้งหน่วยงานที่มีลักษณะงานคล้ายๆ ยูเอสมาร์แซล ไปดูว่าสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ที่ให้ตั้งกองปราบ ขึ้นมานั้น พล.ต.อ.เผ่า ต้องการให้ กองปราบปราม เป็นหน่วยงานกึ่งเอฟบีไอ กึ่งยูเอสมาร์แซล อยู่แล้ว
ดังนั้น เพื่อไม่เป็นงานซ้ำซ้อนของหน่วยงาน วิธีการที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีกองบังคับการตำจวขกองปราบ มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ทำไมไม่รับคนที่เขาจบปริญญาตรี โดยไม่มีเรื่องสถาบันที่เรียนมาเป็นตัวตั้ง คือต้องจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วหล่อหลอมคนเหล่านี้ให้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเลือกคนเข้ารับราชการให้ยึดตามความรู้ ความสามารถ ไม่มีเด็กฝาก ไม่มีเด็กเส้น
ขณะที่ในด้านเนื้อหาภารกิจของยูเอสมาร์แซล ซึ่งสังกัดกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา นั้น จะรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี รัฐมนตรี และมีอำนาจสืบสวนเรื่องราวที่จะเป็นภัยต่อร่างกาย หรือชีวิตของประธานนาธิบดี หรือรัฐมนตรี เรียกว่าหน่วย S S หรือ Secret Service แต่ไม่มีอำนาจจับกุม เพราะเป็นของอัยการ การที่ไทยกำลังจะให้เจ้าหน้าที่บังคับกฎหมาย (ไทยแลนด์มาร์แซล) ไปอารักขาผู้พิพากษา รักษษอาคารสถานที่ เท่ากับลดชั้นพวกนี้ไปเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือเป็นยาม
ส่วนอำนาจ "การคุ้มครองพยาน" ใช่ ในสหรัฐฯ ต้องเข้าโปรแกรมเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ เป็นคดีสำคัญอยู่ในความระทึกขวัญของประชาชน อย่างเช่น คดีค้าเฮโรอีนข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นหน้าที่ของกองปราบปราม
ด้านคดีคดีที่มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายกรเทพ วิริยะ หรือชิปปิ้งหมู เสียชีวิตบริเวณถนนทางเข้าหมู่บ้านแสนใจ ต.ศรีคำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย นั้น กรณีชิปปิ้งหมู ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายการคุ้มครองพยานของอเมริกัน เพราะเป็นคดี "อิทธิพลท้องถิ่น" ต้องไปจัดการกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น
เพราะฉะนั้น ก่อนที่นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะตัดสินใจเรื่องหน่วยงานใหม่ ที่เลียนแบบ "ยูเอสมาร์แซล" จะต้องพิจารณาก่อนว่า สหรัฐฯ เขาตั้งยูเอสมาร์แซล เพราะกฎหมายของแต่ละมลรัฐไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละมลรัฐประกาศใช้ข้อกฎหมายของเขาเอง ข้อกฎหมายบางอันเหมือนกัน บางอันไม่เหมือนกัน เขาจำเป็นต้องขจัดความขัดแย้ง เพราะมันหลากหลาย ขณะที่บ้านเรามีเจ้าหน้าที่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถบังคับให้เดินงานที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ เพราะมีที่มาจากสถานที่เดียวกันคือโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีการนับรุ่นนับเหล่า เมื่อข้าราชการที่บ่มเพาะมาจากสถานที่เดียวกัน การรับคนจบกฎหมาย มาเป็นตำรวจ แต่คนที่ครอบบนหัวคือตำรวจที่มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเท่านั้น จึงพูดกันไม่รู้เรื่องตั้งแต่ต้น
เมื่อทราบปัญหาอย่างนี้แล้ว แทนที่จะตั้งหน่วยงานใหม่ซ้อนขึ้นมา ก็จะต้องไม่สร้างงานที่ซ้ำซ้อน (Try a triple oak tree)
นอกจากนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ต่ำกว่า 50 ปีที่เราไม่เคยเลื่อนตำแหน่งคนตามความสามาารถ มีแต่เด็กฝาก ซึ่งระบบนี้ต้องเลิก แล้วคัดคนตามความสามาถ ฝากไม่ได้ และไม่ควรมีคณะกรรมการมาเลือกสรรเพราะกรรมการจะมาสร้างอิทธิพล เป็นอุปสรรคสำหรับรัฐมนตรีที่จะมาบริหารองค์กร
ดังนั้น แทนที่จะตั้งหน่วยงานใหม่ ตัวรัฐมนตรียุติธรรม ต้องทำ 2 เรื่อง คือ ขจัดคดีอิทธิพลท้องถิ่นให้ได้ และขจัดอิทธิพลในหน่วยราชการให้ได้ ถ้าทำ 2 เรื่องนี้สำเร็จ ไม่ต้องตั้งหน่วยงานใหม่คล้าย ยูเอสมาร์แซล และถ้าตั้งขึ้นมาใหม่เท่ากับเราสู้ 2 อิทธิพลนี้ไม่ได้ จึงต้องตั้งหน่วยใหม่มาสู้อิทธิพลท้องถิ่น และอิทธิพลในส่วนราชการ แสดงให้เห็นว่าสั่งการตำรวจไม่ได้ใช่หรือไม่ และหากการแก้ปัญหาการสั่งการไม่ได้ด้วยการตั้งหน่วยงานใหม่ๆ ข้าราชการประจำโดนนักการเมืองทำแบบนี้บ่อยๆ เขาจะรู้สึกต่อต้านนักการเมือง

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

"สุเทพ-สนธิ"บนผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว

หมวดข่าว : วิเคราะห์
โดย กองบรรณาธิการ : TheCityJournal
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า พยายามที่จะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พบปะหารือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (5 มีนาคม) เพราะไม่ต้องการให้ทั้ง 2 คนนี้เกิดความขัดแย้งกัน
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ กับแกนนำพันธมิตร เริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ นั้น มองว่า ได้อำนาจมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีเสียงส.ส.สนุบสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่แกนนำพันธมิตร กลับเห็นว่า การชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน 193 วัน เป็นผลให้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย จึงเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ ชุบมือเปิด อำนาจ
ดังนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล จึงเริ่มการทวงบุญคุณจากรัฐบาล ด้วยการผลักดันตำรวจสายพันธมิตร ให้เข้ามาอยู่ในไลน์อำนาจ และต้องการให้จัดการตำรวจสีแดง โดยเฉพาะตำรวจแดงที่ร้ายประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่หน้ารัฐสภา
อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พูดในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์" ว่า จะดำเนินการกับคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผ่านมาให้ชัดเจนใน 1 เดือน ทำให้แกนนำพันธมิตร ไม่พอใจคำพูดดังกล่าว และนายสุเทพ ก็ปฏิเสธที่จะดันตำรวจเสื้อเหลือ เข้ามาอยู่ในไลน์อำนาจ
นี่จึงเป็นปัจจัยทำให้แกนนำพันธมิตร ชิงประกาศตั้งพรรคการเมือง ซึ่งแน่นอนแล้วว่าจะชื่อ พรรคเทียนแห่งธรรม ซึ่งนั่นหมายความว่าจะชิงพื้นที่ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ภาคตะวันออก เรื่อยลงไปถึงภาคใต้ และในกรุงเทพฯ และทันทีที่พันธมิตร ประกาศตั้งพรรค ส.ส.ประชาธิปัตย์ จึงครางฮือว่าหายนะกำลังจะมาเยือนประชาธิปัตย์
แต่ก็ใช่ว่าประชาธิปัตย์ จะไม่มีเครื่องมือต่อรองแกนนำพันธมิตร เพราะต้องไม่ลืมว่าแกนนำพันธมิตร ทุกคนนั้นมีคดีติดตัวทั้งสิ้น อำนาจการเมืองของประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นถึงกับออกปากลั่นว่า "ระวังมันจะติดคุกหัวโตทุกคน"
พรรคประชาธิปัตย์ จึงถือว่ามีแต้มต่อที่เหนือกว่าพันธมิตร
แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่อยากให้เกิดการ "แตกหัก" เพราะหายนะจะหนักหน่วงที่สุดในภาวะที่ทักษิณ ชินวัตร เปิดเกมสู้ทั้งในและนอกประเทศ การสร้างศัตรูสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่มีประโยชน์ จะมีแต่โทษและผลเสียกับทั้งพันธมิตร และประชาธิปัตย์
เพราะฉะนั้น หมากเกมนี้จึงต้องดูที่เกมต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประชาธิปัตย์ กับแกนนำพันธมิตร ว่าจะลงเอยกันเมื่อไหร่

"อภิสิทธิ์-สุเทพ"ต่างมุมมองแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : ทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าสัปดาห์หน้าจะหารือหน่วยงานแก้กฎหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หยิบประเด็นการบังคับใช้มาแก้ก่อน เพราะที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหา ยันการแก้ครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อเปลี่ยนมุมมองต่างประเทศ ด้าน"สุเทพ"ค้าน ลั่นรัฐบาลจะไม่ให้ใครล่วงละเมิด และดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แนวทางการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเบื้องต้นจะดูที่เรื่องการบังคับใช้ก่อน เพราะคิดว่าที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการบังคับใช้มากกว่า และคิดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนจะมีหน่วยงานใดบ้างนั้นก็กำลังดำเนินแนวทางและคิดอยู่
“ การแก้ครั้งนี้คงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะมีการทำความเข้าใจและซักซ้อมกัน ความจริงได้ให้แนวทางกับ ผบ.ตร.ไปบ้างแล้ว แต่ในตัวกฎหมายขณะนี้คนที่เขียนบางทีก็เข้าใจผิดเหมือนเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาความผิดว่าด้วยความมั่นคง ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนของการเพิ่มเติมแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น ถ้าจะทำก็ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะสิ่งที่ตนได้คุยกับผบ.ตร.ก่อนหน้านี้ก็คือให้ท่านเข้าใจประเด็นความห่วงใยจากทุกฝ่าย แต่หากทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติคิดว่ามันจะเป็นปัญหาเพราะไม่มีระเบียบรองรับก็ต้องมาดูกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลต่อมุมมองของต่างประเทศใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่แต่เพื่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น
ส่วนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ผ่านมานั้น คิดว่าก็ต้องว่ากันอย่างตรงไปตรงมา อย่าลืมว่ามีคดีตั้งมากซึ่งในที่สุดที่ไม่มีการดำเนินการหรือฟ้องร้อง แต่อย่างที่บอกไว้กฎหมายต้องมีเหตุผลในตัวของมันเองชัดเจน ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม มีโครงสร้างในเชิงสถาบันชัดเจน เราคงไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อต่างชาติ เราต้องดูในแง่ของความเป็นธรรมเท่านั้น
ขณะที่จะมีผลต่อคดีที่เกิดขึ้นก่อนใช่หรือไม่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ควรจะมี การที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างสำหรับคนที่จงใจทำผิดกฎหมายหรือไปละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือไปละเมิดสถาบันโดยอ้างข้อกฎหมายตรงนี้เพื่อพ้นจากความผิดไปคงไม่ได้
ส่วนคดีของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รมว.ต่างประเทศ ถือว่าล่าช้าเกินไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบอัยการเลื่อนไปในวันที่ 29 เม.ย. ก็ถือเป็นความเห็นขององค์กร
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน ว่า ยังไม่ได้คุยในเรื่องนี้กับใคร แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจและหลักชัยของประชาชนและประเทศ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัดว่า ใครจะลบหลู่ ดูหมิ่น ทำให้เกิดความเสียหายไม่ได้ ดังนั้นถ้าวันนี้ใครมาชวนให้ตนแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนจะไม่ยอมเด็ดขาด และในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็จะไม่ยอมให้ใครละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามจะดูแลไม่ให้คนที่ไม่หวังดีนำสถาบันเป็นเครื่องมือข่มเหงรังแกคนอื่น
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องร่างกฎหมายหรือระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้กฎหมายหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ถูกต้อง สิ่งที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะรัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้ใครอ้างสถาบันไปใช้รังแกคนอื่น แต่ถ้ามีคนจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ละเมิดสถาบัน รัฐบาลก็ยอมไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าการดำเนินคดีกับนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำกลุ่ม นปช.ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงดูเหมือนว่าจะล่าช้า นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซง เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูงจะไปสอดรับกับสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานในลักษณะนั้นเช่นกัน แต่จะติดตามรายละเอียดอีกครั้ง

มติวุฒิฯเห็นชอบ"ปรีชา เลิศกมลมาศ"เลขาฯ ป.ป.ช.คนใหม่

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : รัฐสภา
ที่รัฐสภา วันนี้ (6 มี.ค ที่ประชุม มีมติให้ความเห็นชอบเห็นชอบ นายปรีชา เลิศกมลมาศ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช คนใหม่ หลังจากที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อของวุฒิสภา และใช้เวลาประชุมลับเพียง 10 นาที ผลการลงมติออกมาด้วยคะแนน 99 เสียงต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
สำหรับประวัตินาย ปรีชา เกิดวันที่ 16 ก.ย. 2492 ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับนาง วีณา เลิศกมลมาศ มีบุตร 2 คน ประวัติการทำงาน เริ่มรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี กิ่งอำเภอกุดจับ อ.เมือง จ.อุดรธานี จากนั้นโอนมารับราชการการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) จนล่าสุดเป็นรองเลขาธิการป.ป.ช.เมื่อ 1 ต.ค.