วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"จำลอง"ออกจากถ้ำล่อตำรวจจับเรียกมวลชน


ข่าวเชิงวิเคราะห์ : ทีมข่าวซิตี้เจอร์นัล
การเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันนี้ (5 ตุลาคม) ของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในรอบหลายเดือน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอศาลอาญาออกหมายจับในข้อหากบฎ พร้อมกับแกนนำรวม 9 คน และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รวบตัวนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง ไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยพล.ต.จำลอง ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ลงคะแนนเลือกตั้งประจำ ร.ร.เศรษฐเสถียร
พล.ต.จำลอง โดนจับพร้อมกับการ์ดอาสา 2 คน ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีขัดขวางการจับกุมแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวพล.ต.จำลองไปสอบปากคำแล้ว
ตลอดทั้งวันของวันที่ 4 ตุลาคม พล.ต.จำลอง แสดงจุดยืนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมแกนนภายในทำเนียบรัฐบาล โดยจะยอมให้จับกุม และจะไม่ใช่โลห์มนุษย์
เมื่อคืนของวันที่ 4 ตุลาคม พล.ต.จำลอง ได้ประกาศบนเวทีว่า ตลอดการทำงานกองทัพธรรมมูลนิธิ และโรงเรียนผู้นำ ไม่เคยขอเรี่ยไรเงิน จากผู้ใด แต่เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ขอบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อช่วยเหลือเอเอสทีวี สื่อที่ช่วยกระจายข่าวความเคลื่อนไหวของการชุมนุมในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยได้เงินมาทั้งสิ้น 18.8 ล้านบาท (สิบแปดล้านแปดแสนบาท) มีรายเดียวเท่านั้นที่บริจาค 1 ล้านบาท นอกนั้นหลักแสน และหลักพัน ซึ่งได้มอบให้กับเอเอสทีวี ใช้เป็นทุนในการต่อสู้ต่อไป
การยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุมโดยดุษณี เป็นคำถามที่เกิดขึ้นทันทีว่า พล.ต.จำลอง มีแผนอะไร เพราะนายทหารยุทธวิธีผู้นี้ไม่ได้เคลื่อนไหวโดยไร้ยุทธศาสตร์การต่อสู้
ขณะที่พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนร่วมรุ่น จปร. 7 ที่ประกาศว่า หากพล.ต.จำลอง โดนจับเมื่อใดจะเข้ามาทำหน้าที่แกนนำแทน นั้น ได้ให้สัมภาษณ์ในทันทีว่า มติแกนนำได้มอบให้แกนนำรุ่นที่สอง เคลื่อนต่อโดยประกอบด้วย สำราญ รอดเพชร ประพันธ์ คูณมี และสาวิตย์ แก้วหวาน เมื่อไม่มีชื่อของพล.อ.พัลลภ ก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พล.อ.พัลลภ วิเคราะห์แนวทางของเพื่อนรักว่า "จำลอง คงต้องการเรียกมวลชนให้ออกมา"
เดือนตุลาคม เป็นเดือนประวัติศาสตร์ การเมืองไทยได้จารึกมาแล้ว 35 ปี กับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ครั้งนั้นมีการจับกุมแกนนำนิสิต นักศึกษา 13 คน ด้วยข้อหาแจกใบปลิวเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ขัดคำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งมีโทษเพียงเล็กน้อย ต่อมาได้มีผู้ขอประกันตัว 13 คนและได้รับการให้ประกัน แต่ ทั้ง 13 คนไม่ยอมออกจากคุกจึงมีการแจ้งข้อหาเพิ่มให้หนักขึ้น
อดีตอัยการสูงสุด คณิต ณ นคร บอกว่า เพียงแค่ตั้งข้อหาไม่สามารถจับกุมได้จนกว่าจะพิสูจน์ความผิด ของผู้นั้นเสียก่อนโดยเฉพาะข้อหากบฎ ซึ่งมีโทษสูงถึงประหารชีวิต จะต้องระบุการกระทำให้ชัดเจน แต่เวลานี้กระบวนการยุติธรรมไทยเรา ยังบกพร่องในส่วนการขอหมายจับตรงนี้อยู่
การจับกุมพล.ต.จำลอง วันนี้ จึงเป็นปมคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ไป
กลุ่มพลังมวลชน จะสำแดงพลังอย่างไรในการที่แกนนำโดนจับ
แน่นอมแรงกดดันนี้จะตกไปที่รัฐบาล ในทันที
รัฐบาลที่พยายามสร้างภาพสมานฉันท์ ด้วยการเจรจากับ 5 แกนนำผ่านทางพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
รัฐบาลที่กำลังจะเรียกเสียงศรัทธาจากประชา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร. 3
เมื่อกระแสมวลชนแรงขึ้นมา การแก้รัฐบาล นั้นเลือนลางเต็มทีที่จะทำสำเร็จ