วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

แม้วดิ้นสู้ยึดทรัพย์ขอศาลเปิดคดีผ่านวีดีโอฯ

หมวดข่าว : การเมือง
โดย : ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม

"ทักษิณ" ดิ้นสู้ ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ร้องศาลฎีกานักการเมืองขอแถลงเปิดคดีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้อนุญาตหรือไม่ พร้อมกำหนดวันไต่สวน ส่วน "บรรณพจน์" ร้องศาลคืนทรัพย์ตัวเอง-ภรรยา ด้านคุณหญิงอ้อร้องศาล อสส.ไม่มีอำนาจร้องยึดทรัพย์ ศาลนัดฟังคำสั่ง 20 เม.ย.
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วานนี้ (26 มี.ค.) นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ 14/2551 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลอธิบายว่า กระบวนการพิจารณานั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ม.35 วรรค 1 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระพิสูจน์ต่อศาล และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 26 กำหนดว่า ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาและคำคัดค้านของบุคคลภายนอกถ้าหากมีก่อน แล้วจึงไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้อง เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นประการอื่น
ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่พิสูจน์ที่มาของทรัพย์สิน และจะพิจารณาพยานหลักฐานผู้ร้องและผู้คัดค้านก่อน ซึ่งฝ่าย อสส.ผู้ร้อง ได้ยื่นเอกสารหลักฐานจำนวน 46 แฟ้ม ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้ง 22 คน ยื่นหลักฐานจำนวน 52 แฟ้ม
คดีนี้นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว มีผู้มีรายชื่อถือครองทรัพย์สินที่ อสส. ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินยื่นคำร้องในฐานะผู้คัดค้านอีก 22 คน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20, 25 และ 26 มี.ค.2552 ผู้คัดค้านที่ 2 (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) และผู้คัดค้านที่ 3, 7, 8, 19 และ 17 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในประเด็นอัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนี้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ยังได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2552 ขอให้ศาลส่งคืนทรัพย์สินเฉพาะในส่วนของ ผู้คัดค้านที่ 5 และนางบุษบา ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 6 คืน ศาลจึงมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับให้ อสส. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 7 วัน หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน โดยศาลนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 20 เม.ย. นี้ เวลา 14.00 น.
สำหรับคำร้องที่ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แถลงเปิดคดีโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) นั้นและคำร้องอื่นๆ ของผู้คัดค้านนั้น ศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 27 มี.ค.เวลา 16.00 น.
นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้คัดค้าน เปิดเผยว่า เป็นความประสงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาข้อ 20 โดยให้ผู้ขอเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดให้มีการไต่สวน โดยระบบดังกล่าวและเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้ถือว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล หากศาลอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงเปิดคดีผ่านทาง VIDEO CONFERENCE ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พร้อมที่จะแถลงเปิดคดีตามวันที่ศาลกำหนดทันที ส่วนจะแถลงมาจากที่ใดนั้นตนยังไม่ทราบ

ตระกูล"อมาตยกุล"ฟ้องปูนใหญ่ 222 ล้าน

หมวดข่าว : เศรษฐกิจ
โดย:กองบรรณาธิการTheCityJournal
ตระกูล "อมาตยกุล" มอบทนายความฟ้องเรียกค่าเสียหาย จาก "ปูนซิเมนต์ไทย" และพวกอีก 8 ราย รวม 222 ล้านบาท ข้อหาไม่รับผิดชอบกรณีใบหุ้นปลอม ด้านบริษัทแจงไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ เพราะต้องรอขั้นตอนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายพิบูลศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความได้รับมอบอำนาจจากนายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวรรโณทัย อมาตยกุล ที่ 1 นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ที่ 2 และ น.ส.วรรณโสภิน อมาตยกุล ที่ 3 เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 นายกานต์ ตระกูลฮุน รอง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 2 นายชุมพล ณ ลำเลียง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 3 นายวรพล เจนนภา ผู้อำนวยการสำนักงาน บ.ปูนซิเมนต์ ที่ 4 นายประพันธิ์ ชูเมือง เจ้าหน้าที่จัดเก็บรักษาใบทะเบียนหุ้น หรือโอนหุ้น ที่ 5 นางดวงกมล เกตุสุวรรณ ที่ 6 นายสบสันต์ เกตุสุวรรณ ที่ปรึกษาฝ่ายจัดการที่ 7 บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 8 และ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่ 9 เป็นจำเลยที่ 1-9 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 222,597,234 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 นายวรรโณทัย อมาตยกุล ผู้ถือหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เบาหวาน และศาลแพ่งได้มีคำสั่ง ตั้งนายวรรณพงษ์ เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค. 2551 นายวรรณพงษ์ได้นำใบหุ้นที่อยู่ในความครอบครองของทายาท และโจทก์ที่ 2-3 ซึ่งเป็นบุตร-ธิดา ไปติดต่อกับจำเลยที่ 8 เพื่อตรวจสอบและโอนมรดก ให้แก่ทายาท แต่เมื่อจำเลยที่ 8 ตรวจสอบใบหุ้น แล้วยึดไว้ โดยอ้างว่าเป็นใบหุ้นปลอมและเป็นใบหุ้นที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว กระทั่งวันที่ 7 ม.ค. 2552 จำเลยที่ 8 ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบใบหุ้นดังกล่าวว่า จำเลยที่ 5 , 6 และ 9 เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนวันที่ 30 ม.ค. 2552 โจทก์ทั้งสามทราบเหตุละเมิดว่ามีการลักและปลอมใบหุ้น ทำให้โจทก์ที่ 2-3 ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ ใบหุ้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เมื่อพยายามใช้สิทธิตามเอากรรมสิทธิ์กับผู้เกี่ยวข้อง และจำเลยในคดีนี้คืนแก่โจทก์ แต่ได้รับการปฏิเสธ
คำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยนับว่าปราศจากความรับผิดชอบ ขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และขาดหลักการโปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี เฉพาะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ต่างเพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้มีมาตรการอย่างใด ที่จะชดใช้เยียวยาให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้ถูกโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 , 8 แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการสอบสวนเอาตัวจำเลยที่ 5 กับพวกมาลงโทษ
ต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับ จำเลยที่ 5 ไว้เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2552 ซึ่งขณะนี้จำเลยที่ 5 ได้หลบหนีไป และมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไป เพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสาม บังคับคดีได้โดยง่าย
โจทก์จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อให้จำเลยร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์ ที่ได้รับความเสียหาย คือ หุ้นปูนใหญ่ มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท จำนวน 672,000 หุ้น ที่ถูกลักไป พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันได้สูญเสียทรัพย์สินจนถึงวันฟ้อง โดยโจทก์ของคิดมูลค่าหุ้นปูนใหญ่ในวันที่ถูกกระทำละเมิด เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2547 และวันที่ 17 ต.ค. 2549 ทั้งสองครั้ง รวมเป็นมูลค่าหุ้น 164,633,800 บาท และคิดดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่สูญเสียทรัพย์สินไปจนถึงวันฟ้องอีก 46,629,434 บาท รวมเป็นมูลค่าทรัพย์หุ้นปูนใหญ่ทั้งสิ้น 211,263,234 บาท รวมทั้งดอกผลที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับจากหุ้นจำนวน 672,000 หุ้น เป็นเงินจำนวน 1,344,000 บาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 222,597,234 บาท โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้จำเลยทั้ง 9 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย
ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ 1165/2552 และนัดพิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เวลา 09.00 น.
ด้านฝ่ายกฎหมายของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวว่า จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 25 มี.ค. 2552 ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายนั้น คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า การรับผิดชอบของบริษัทต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริษัทจึงยังไม่สามารถสรุปเรื่องนี้ได้ ควรต้องรอผลการสอบสวนและการดำเนินงานตามขั้นตอนของกฎหมาย การพิจารณาดำเนินการใดๆ จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมกับเจ้าของหุ้นและผู้ถือหุ้นทุกคนตามหลักบรรษัทภิบาล ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบ
"การปลอมใบหุ้น เป็นเรื่องการทุจริตของพนักงานที่ทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะบริษัทเองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบหุ้น หน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนหุ้น ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ทราบกันดีว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทต้องมอบหมายหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนหุ้นให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน ซึ่งบริษัทได้มอบหมายให้ TSD ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนตั้งแต่ปี 2520