วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

Jakrapob’s Code : ถอดรหัสลับทรรศนะอันเป็นอันตราย




โดย อนันต์ เหล่าเลิศวรกุลคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


นานนับสัปดาห์ที่คุณจักรภพ เพ็ญแข ตกเป็นข่าวให้ผู้คนกล่าวถึง ภายหลังจากที่บทแปลปาฐกถาที่คุณจักรภพเคยแสดงไว้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อเดือนกันยายน 2550 เผยแพร่สู่สาธารณะ ก็ก่อให้เกิดประเด็นให้ผู้คนกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่า ถ้อยคำและเนื้อหาที่คุณจักรภพแสดงปาฐกถาไว้นั้นเข้าข่าย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังแสดงความเห็นด้วยว่า ทรรศนะของคุณจักรภพ เพ็ญแขที่แสดงไว้ที่ FCCT เป็น “ทรรศนะอันเป็นอันตราย” ผู้เขียนสนใจใคร่รู้ว่าทรรศนะของคุณจักรภพที่กล่าวกันว่าเป็นอันตรายนั้นมีลักษณะอย่างไร จึงได้ลองวิเคราะห์ปาฐกถาของคุณจักรภพอย่างเป็นวิชาการตามแนวทางอักษรศาสตร์ดู


ข้อตกลงเบื้องต้น


เนื่องจากปาฐกถาที่ FCCT บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ตามที่จะยกมานี้ เมื่อต้องยกตัวอย่าง ผู้เขียนจะยกโดยใช้คำแปลภาษาไทยซึ่งผู้เขียนแปลเอง คำแปลที่ใช้ เลือกใช้วิธีแปลแบบเอาความซึ่งมุ่งความเข้าใจในบทพากย์ภาษาไทยมากกว่าจะสนใจเก็บรักษาทุกถ้อยคำตามภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต้นฉบับ การวิเคราะห์ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า คุณจักรภพเป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษระดับดีมากจนสามารถสื่อความคิดที่ซับซ้อน เรียบเรียงออกมาให้เข้าใจง่ายด้วยภาษาง่ายๆ และสามารถโต้ตอบกับผู้ฟังได้คล่องแคล่ว ผู้เขียนไม่สนใจประเมินภาษาอังกฤษของคุณจักรภพว่า เป็นภาษาที่สวยงามหรือไม่ ถูกไวยากรณ์มากน้อยเพียงใด คำที่ใช้ใช้ตามแบบเจ้าของภาษาอย่างรู้จริงหรือไม่ เนื่องจากผู้เขียนต้องการวิเคราะห์ทรรศนะหรือความคิดของคุณจักรภพมากกว่าจะวิเคราะห์ตัวภาษาในฐานะที่เป็น form หรือพาหะของความคิด


โครงสร้างเนื้อหาปาฐกถาที่ FCCT


หัวข้อปาฐกถาของคุณจักรภพที่ FCCT คือ Democracy and Patronage System of Thailand—ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ของไทย คุณจักรภพแสดงโดยเหลือบดูบทร่างเป็นระยะๆ ปาฐกถานี้มีเนื้อหาเป็นเอกภาพอย่างยิ่ง เนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ


ส่วนที่ 1 ว่าด้วยประวัติและพัฒนาการระบบอุปถัมภ์ของไทยในสมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันอย่างย่อๆ ส่วนนี้คุณจักรภพพยายามวิเคราะห์ให้เห็นรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์ของไทยและผลกระทบที่มีต่อวิกฤติการเมืองของไทยในปัจจุบัน


ส่วนที่ 2 เป็นบทสรรเสริญความกล้าหาญ พ.ต.ต. ทักษิณ ชินวัตร ที่กล้าเผชิญหน้ากับระบบอุปถัมภ์อย่างซึ่งๆ หน้า และผลงานบริหารราชการแผ่นดินของ พ.ต.ต. ทักษิณ ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการทำลายระบบอุปถัมภ์ของไทย และ


ส่วนที่ 3 เป็นคำประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งและแรงกล้าของคุณจักรภพว่า คุณจักรภพและพวกจะทำลายระบบอุปถัมภ์ของไทยให้ภินท์พังลงแบบชนิดขุดรากถอนโคน และตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นในช้าไม่นานหลังจากนี้


Patronage System : คำที่มีสถิติใช้สูงสุด


คำที่เป็น key word ในปาฐกถาที่ FCCT ของคุณจักรภพคือ patronage system ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ key word ของคุณจักรภพดังนี้


1) คุณจักรภพใช้คำว่า patronage หรือ patronage system รวมจำนวน 24 แห่ง (ไม่นับที่เป็นชื่อหัวข้อปาฐกถาและที่ปรากฏในส่วนคำถามคำตอบท้ายปาฐกถา) และใช้คำว่า patronizeจำนวน 7 แห่ง


2) โดยทั่วไป patronage มักแปลว่า ความอุปถัมภ์ patronage system แปลว่า ระบบอุปถัมภ์ ส่วน patronize แปลว่า อุปถัมภ์, อุปถัมภ์ค้ำจุน, ช่วยเหลือ, เกื้อกูล


Patronage System : คำความหมาย 2 นัยยะ


คุณจักรภพใช้คำว่า patronage หรือ patronage system ในความหมายที่แตกต่างกัน 2 นัยยะ ดังนี้


นัยยะที่ 1 : patronage system คือ “ระบบที่ยอมรับความแตกต่างของฐานะของคนในสังคมระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ผู้ใหญ่และผู้น้อยมีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลกันและอำนวยประโยชน์แก่กัน”


ตามนัยยะนี้ ระบบอุปถัมภ์เป็นระบบ win-win ทั้งผู้เกื้อกูลและผู้รับประโยชน์เกื้อกูล ส่วนผู้ที่ไม่ win ด้วย คือ ผู้น้อยคนอื่นที่ไม่ได้รับประโยชน์เกื้อกูลด้วย ดังนั้นระบบอุปถัมภ์จึงไม่ใช่ระบบที่ยืนอยู่บนความคิดเสมอภาค แต่ก็ไม่ถึงกับขัดหรือแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยในลักษณะที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ประการสำคัญตามนัยยะนี้ ระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม และไม่ใช่ระบบที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย ปัจจุบัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และหลายชาติของเอเชียก็ยังมีระบบนี้อยู่


คุณจักรภพใช้ patronage system ตามนัยยะนี้เพียง 2 แห่ง ทั้ง 2 แห่งใช้เมื่อกล่าวถึงตนและครอบครัวซึ่งเติบโตขึ้นมาในสังคมไทยที่มีระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนี้


I myself grew up in patronage system.—ตัวผมเองเติบโตขึ้นมาภายใต้ระบบอุปถัมภ์


He grew up in patronage system too.—เขา (หมายถึงบิดาของคุณจักรภพ) ก็เติบโตขึ้นมาในระบบอุปถัมภ์เช่นกัน


นัยยะที่ 2 : patronage system ตามนัยยะที่ 2 เป็นความหมายเฉพาะของคุณจักรภพ ซึ่งผู้เขียนจะวิเคราะห์ในลำดับต่อจากนี้ไปว่ามีความหมายเฉพาะว่าอย่างไร คุณจักรภพใช้คำว่า patronage หรือ patronage system ตามนัยยะนี้มากถึง 21 แห่ง มีแห่งเดียวที่กำกวม ไม่แน่ใจว่าคุณจักรภพใช้คำว่า patronage system ตามนัยยะที่ 1 หรือนัยยะที่ 2


ทำไม patronage system ของคุณจักรภพจึงได้มี 2 นัยยะ ?


ตามปรกติคำที่เราใช้สื่อสารกัน แม้ว่ามี form เดียวกัน แต่ผู้ใช้ภาษาอาจใช้ในความหมายแตกต่างกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่มีความหมายเชิงนามธรรม ความหมายที่แตกต่างกัน อาจเกิดจากสาเหตุที่ผู้ใช้เข้าใจความต่างกัน ตีความต่างกัน หรือผู้ใช้กำหนดความหมายของคำให้แตกต่างกันก็ได้ เช่นคำว่า แม่ชี คนกลุ่มหนึ่งอาจตีความเคร่งครัดตามหลักพุทธศาสนาเถรวาทว่า ไม่ใช่นักบวช เป็นฆราวาส มีฐานะเพียงอุบาสิกาซึ่งถืออุโบสถศีล หรือ ศีล 8 แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจตีความตามความเข้าใจของคนไทยปัจจุบันว่า แม่ชีเป็นนักบวชหญิงในพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยๆ


ตามความรู้รัฐศาสตร์ที่คุณจักรภพได้ร่ำเรียนมา คุณจักรภพย่อมรู้จัก patronage system ตามนัยยะที่ 1 อย่างดี แต่คุณจักรภพเลือกที่จะกำหนดความหมายใหม่ ซึ่งเป็นความหมายเฉพาะแก่คำว่า patronage system ทำให้คำนี้มีความหมายเฉพาะแตกต่างกับความหมายตามนัยยะที่ 1 หลายประการ ดังนี้


1) เป็นระบบที่ผู้น้อยเป็นฝ่ายพึ่งพิงหรือคอยเฝ้ารับประโยชน์เกื้อกูลแต่ฝ่ายเดียว ในทำนองเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็เป็นฝ่ายเกื้อกูลเพียงลำพัง ส่งผลให้ผู้คน ask about dependency before our own capability to do things—ร่ำร้องหาแต่ที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นโดยไม่คิดจะพึ่งพาความรู้ความสามารถของตนเองก่อนเลย


2) เป็นระบบที่ฝ่ายที่คอยเฝ้ารับประโยชน์หรือพึ่งพิงต้องจ่ายค่าตอบแทนความเกื้อกูลด้วย ความจงรักภักดี และเป็นระบบที่คุณจักรภพคิดว่า มีแต่เฉพาะในประเทศไทย จึง makes Thai people different from many peoples around the world…So people had duty to be loyal.— ทำให้คนไทยแตกต่างกับผู้คนอื่นใดในโลก…ดังนั้นประชาชนจึงมีหน้าที่ต้องจงรักภักดี


3) เป็นระบบที่ฝ่ายเกื้อกูลคือพระมหากษัตริย์ ส่วนฝ่ายเฝ้ารับประโยชน์คือสามัญชน


คุณจักรภพเชื่อมโยงความคิดอย่างมีชั้นเชิงโดยเริ่มต้นกล่าวว่า …we have started off as a country in patronage system—เราตั้งต้นด้วยการเป็นประเทศที่อาศัยระบบอุปถัมภ์ แล้วก็กล่าวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่โปรดให้แขวงกระดิ่งร้องทุกข์ไว้หน้าวัง จักรภพมองว่า ประชาชนที่ไปสั่นกระดิ่ง คือผู้เมื่อเดือดร้อนก็ที่ไม่ยอมพึ่งตนเอง แต่กลับไปรับประโยชน์อุปถัมภ์จากพ่อขุนรามคำแหง คุณจักรภพแสดงทรรศนะว่า นี่เป็นเหตุให้ผู้คน …are led into the patronage system—เราก็ได้ถูกชักนำเข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์


นั่นหมายความว่า คุณจักรภพกำหนดความหมาย ผู้ใหญ่กับผู้น้อยให้แคบลงมากว่าความหมายของ patronage system ตามนัยยะที่ 1 คือ ผู้ใหญ่ที่ให้ความอุปถัมภ์คือพระมหากษัตริย์ ส่วนผู้น้อยที่คอยเฝ้าแต่จะรับการอุปถัมภ์โดยไม่พึ่งพาตนเองคือประชาชนทั่วไป


4) เป็นระบบที่ทำให้คนไทยคิดว่า we don’t actually need democracy. We are led into believing that the best form of government is guided democracy, or democracy with His Majesty greatest guidance…which I see as a clash or the clash between democracy and patronage system.— คนไทยเราจึงไม่ได้ปรารถนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราถูกชักนำให้เชื่อว่า รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดคือ ประชาธิปไตยแบบชี้นำ หรือประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำอย่างมากมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน


5) เป็นระบบที่ is in direct conflict with democratization—ขัดแย้งโดยตรงกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย


ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจักรภพจะใช้คำว่า patronage system เป็นคู่ตรงข้ามกับ democracy หรือ ประชาธิปไตย คุณจักรภพจึงแสดงทรรศนะว่า ระบบอุปถัมภ์กับประชาธิปไตยไม่อาจอยู่ร่วมกันได้


คุณจักรภพวิเคราะห์ว่า Current political crisis in my opinion is the clash between democracy and patronage system directly.— ในทรรศนะของผมวิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันเป็นการปะทะกันระหว่างประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์


และแสดงความชื่นชม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรว่า เป็นผู้ทำลายระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย …what he did was to release people from patronage system, but when the most crucial decision comes, even him, made the decision out of patronage system. So the deep root of the patronage system is here…—สิ่งที่ท่านนายกฯ ทักษิณทำเป็นการปลดปล่อยประชาชนออกจากระบบอุปถัมภ์ เมื่อได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ท่านก็ตัดสินใจออกจากระบบอุปถัมภ์ แต่ระบบอุปถัมภ์ได้หยั่งรากลงลึกเสียแล้ว


เมื่อจบปาฐกถาผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้ถามคำถามย้อนคุณจักรภพเกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรกับระบบอุปถัมภ์ว่า


Wasn’t it as much patronage under Taksin Shinawatra? Doesn’t he rely on patronage to bring people on board as well?— ก็มีระบบอุปถัมภ์อย่างมากมายในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มิใช่หรือ ? ทักษิณเองก็อาศัยระบบอุปถัมภ์ดึงประชาชนมาเป็นพวกอย่างมากเหมือนกันมิใช่หรือ ?


คำถามดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ตั้งคำถามเข้าใจคำว่า patronage system ตามนัยยะที่ 1 ซึ่งผู้ให้ความอุปถัมภ์อาจเป็นใครก็ได้ ตามนัยยะนี้ ผู้ถามจึงเข้าใจว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จัดเป็นผู้ใหญ่คนสำคัญที่ให้ความอุปถัมภ์แก่ผู้น้อยคือประชาชน เป็นคนละนัยยะกับของคุณจักรภพ เพราะตามนัยยะของคุณจักรภพ ผู้ใหญ่ในระบบอุปถัมภ์จำกัดว่าเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น


Patronage System = Monarchy ???!!!


คำว่า patronage มาจากต้นศัพท์ภาษาละตินว่า pater แปลว่า “พ่อ” คำว่า pater เป็นคำร่วมเชื้อสายกับคำว่า father ในภาษาอังกฤษ


ทันทีที่คุณจักรภพเริ่มกล่าวถึงต้นพัฒนาการของ patronage system คุณจักรภพก็กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหง คุณจักรภพเลือกใช้คำว่า Great father แทนคำว่า พ่อขุน ดังนี้


In Sukhothai…we were led to know and believe that one of the kings during Sukhothai period, King Ramkhamhaeng, at the time, to be more precisely “Great Brother” –er I’m sorry “Great Father Ramkhamhaeng”— สมัยสุโขทัย…เราถูกชักนำให้เชื่อว่ากษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยสุโขทัยคือพระเจ้ารามคำแหง หรือที่ถูกต้องคือ พี่ขุน อ้อ ขอโทษครับ พ่อขุนรามคำแหง


คำว่า พ่อขุน มีความหมายเหมือนคำว่า king จากคำปาฐกถาของคุณจักรภพ คุณจักรภพก็รู้ดี เมื่อรู้ดีเช่นนั้นทำให้เกิดคำถามว่


า ทำไมคุณจักรภพไม่ใช้คำว่า King Ramkhamhaeng แต่กลับเจตนาใช้ Great father Ramkhamhaeng ?


คำตอบที่เป็นไปได้มี 2 ทาง


คำตอบทางที่ 1 : คุณจักรภพต้องการแปลให้ตรงกับภาษาไทย พ่อขุนรามคำแหง = Great father Ramkhamhaeng ถ้าคำตอบเป็นคำตอบนี้ จะทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า ใช้ Great father Ramkhamhaeng สื่อความคิดดีหรือมีประสิทธิภาพกว่า King Ramkhamhaeng อย่างไร ? คำตอบที่จะให้แก่คำถามหลังนี้ หาไม่พบจากปาฐกถาของคุณจักรภพหรือแม้แต่จากที่อื่นๆ


ถ้าเช่นนั้น ลองพิจารณาคำตอบทางที่ 2


คำตอบทางที่ 2 : มีความเป็นไปได้สูงมากว่า คุณจักรภพรู้ว่าต้นศัพท์ของ patronage คือ pater ซึ่งเป็นคำร่วมเชื้อสายกับ father คุณจักรภพเลือกใช้คำว่า Great Father Ramkhamhaeng แทน king Ramkhamhaeng เพื่อที่จะบ่งเป็นนัยๆ อย่างชาญฉลาดแก่ผู้ฟังว่า


patronage = Great Father = king


คุณจักรภพสร้างตรรกะดังกล่าวก็เพื่อวัตถุประสงค์ปลายทางคือการกำหนดความหมายเฉพาะแก่คำว่า patronage system ซึ่งเป็น key word ในปาฐกถาว่า ไม่มีนัยยะที่ 1 แต่มีนัยยะที่ 2 คือ “ระบบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญในสังคม เป็นระบบที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบความอุปถัมภ์ในรูปของความช่วยเหลือเพียงน้อยนิดแก่ประชาชนเพื่อแลกกับความจงรักภักดีและแลกกับการคงดำรงอยู่ในฐานะสูงสุดในทางการปกครอง” ความหมายใหม่นี้เองทำให้คุณจักรภพกล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์นั้น is in direct conflict with democratization—ขัดแย้งโดยตรงกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้วิเคราะห์ระบบคิดของคุณจักรภพได้ว่า


เมื่อ Patronage = Great Father = King


การอุปถัมภ์ = พ่อขุน = กษัตริย์


ดังนั้น Patronage System = King system = Monarchy


ระบบอุปถัมภ์ = ระบบกษัตริย์ = ระบอบกษัตริยาธิปไตย


เมื่อลองนำคำว่า monarchy ไปแทนที่คำว่า patronage หรือ patronage system ซึ่งใช้ตามนัยยะที่ 2 และใช้จำนวนมากถึง 21 แห่ง ก็พบว่า แทนที่กันได้และเข้ากับเนื้อความได้สนิทเป็นอย่างดี


When we have problem, turn to someone who can help you. So before we know it, we are led into the PATRONAGE SYSTEM because we ask about dependency before our own capability to do things.


When we have problem, turn to someone who can help you. So before we know it, we are led into the MONARCHY because we ask about dependency before our own capability to do things.


ดังนั้น ข้อความข้างต้นแทนที่จะแปลว่า


—ยามใดที่เราเมื่อประสบปัญหา เราก็หันไปพึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งสามารถช่วยเราได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่เราจะทันรู้ตัว เราก็ได้ถูกชักนำเข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์เสียแล้ว เพราะเราร่ำร้องหาแต่ที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นโดยไม่คิดจะพึ่งพาความรู้ความสามารถของตนเองก่อนเลย


ที่ถูกควรแปลว่า


—ยามใดที่เราเมื่อประสบปัญหา เราก็หันไปพึ่งพระองค์ผู้เดียวซึ่งสามารถช่วยเราได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่เราจะทันรู้ตัว เราก็ได้ถูกชักนำเข้าไปสู่ระบอบกษัตริยาธิปไตยเสียแล้ว เพราะเราร่ำร้องหาแต่ที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นโดยไม่คิดจะพึ่งพาความรู้ความสามารถของตนเองก่อนเลย


ที่สำคัญเมื่อแทนที่ patronage system ทำให้เข้าใจกระจ่างกว่าด้วยซ้ำว่า เหตุใดคุณจักรภพจึงแสดงตัวอย่างเฉพาะความอุปถัมภ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบแด่ประชาชน โดยเว้นไม่อภิปรายถึงความอุปถัมภ์ลักษณะอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางผู้ใหญ่กับขุนนางผู้น้อย นายกับบ่าว ฯลฯ ในกรณีสังคมเก่า หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนกับเพื่อน รุ่นพี่กับรุ่นน้อง นักการเมืองกับหัวคะแนน ฯลฯ ในกรณีสังคมปัจจุบัน


“โอกาสที่สูญเสียไป” ในทรรศนะของจักรภพ ?


คุณจักรภพคิดว่า ระบบอุปถัมภ์ หรือให้ตรงกว่านั้น ระบอบกษัตริยาธิปไตย มีกำเนิดและหยั่งรากฝังลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ใน “ระยะเวลาที่ยาวนาน” ของประวัติศาสตร์ระบบอุปถัมภ์หรือระบอบกษัตริยาธิปไตย การครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย เวลาที่ยาวนานทำให้ประชาชนแยก perception หรือ การรับรู้ ไม่ออกว่า เป็น ความจริง หรือเป็น ปะรำปะราคติ


And then, here we are in the reign of the current King, King Bhumibhol or Rama IX. We have all of that combined. And because he reigns for so long of a time, 60 some years now, his being in Thailand has been promoted to the state of myth. People don’t know whether or not they’re talking about realities or belief about him. Because he reigns long enough that he could be all of those combined: the traditional King, the scientific King, the developing King, the working monarch, and now so, he can still be the guardian of the new invention to Thailand, democracy.


— ขณะนี้เราอยู่ในรัชกาลปัจจุบัน รัชกาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์รัชกาลนี้มีทุกประการที่ผมได้กล่าวมาแล้วรวมกัน เนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานกว่า 60 ปีแล้ว ประชาชนจึงยกพระองค์ขึ้นสู่เทวตำนาน โดยมิพักรู้เลยว่า พวกเขากำลังกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่เป็นบุคคลจริงหรือเป็นบุคคลในความเชื่อปะรำปะราคติ ด้วยว่าพระองค์ทรงครองราชย์ยืนนานมาจนทรงสามารถเป็นได้ทุกอย่างรวมกัน ทั้งกษัตริย์ที่สืบคติต่อกันมา กษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ กษัตริย์นักพัฒนา กษัตริย์ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และทุกวันนี้ ยังได้ทรงดำรงฐานะผู้พิทักษ์สิ่งใหม่ของไทย คือ ประชาธิปไตย


ข้อความตอนท้ายที่ว่า ยังได้ทรงดำรงฐานะผู้พิทักษ์สิ่งใหม่ของไทย คือ ประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่คุณจักรภพต้องการให้ผู้ฟังใช้วิจารณญาณตรองอีกครั้งว่าเป็น reality หรือ belief จากนั้นคุณจักรภพต่อความคิดทันทีว่า


We missed some opportunities in the past like when Predee Panomyong, the civilian leader of the revolution of 1932, 2475 for Thai people, that the system was turned from absolute monarchy into constitutional monarchy.


— ในอดีตเราสูญเสียโอกาสอย่างในสมัยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำพลเรือนในการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ.1932 หรือ พ.ศ. 2475 กลายเป็นว่า เป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูไป


คุณจักรภพเจตนาใช้คำว่า civilian leader ขยายคุณสมบัติของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพื่อย้ำว่าว่าบุคคลที่คุณจักรภพเพิ่งกล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นกษัตริย์ผู้นำ ซึ่งคุณจักรภพคิดว่านั่นเป็นเพียง myth หรือ belief


ดังนั้น โอกาสที่สูญเสียไปในทรรศนะของคุณจักรภพคือ ทั้งๆ ที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำพลเรือน แต่ก็มิได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริยาธิปไตยให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พลเรือนเป็นทั้งผู้นำรวมถึงทั้งประมุขของรัฐ


คุณจักรภพเชื่อสนิทใจว่า ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ (ระบอบกษัตริยาธิปไตย) ขัดแย้งกันโดยตรง จึงได้กล่าวหนักแน่นภายหลังว่า


WE have to undo it. WE have to personalize patronage system by saying that, well, who keeps patronizing people. And I believe that the time is near to do that.


— พวกเราต้องแก้ไข พวกเราต้องเปลี่ยนแปลงระบบอุปถัมภ์ (ระบอบกษัตริยาธิปไตย) โดยช่วยกันตั้งคำถามว่า ใครกันที่เฝ้าวนเวียนแต่คอยหยิบยื่นความอุปถัมภ์แก่ประชาชน ผมเชื่อว่า เวลาที่จะทำดังว่าใกล้เข้ามาแล้ว


คำถาม 2 คำถามสุดท้ายมีว่าคำว่า we หรือ พวกเรา หมายถึงใครแน่ ? หมายถึง คุณจักรภพในฐานผู้แสดงปาฐกถารวมทั้งผู้ฟังปาฐกถา ? หมายถึงประชาชนคนไทยทั่วไป ? หรือหมายถึง คุณจักรภพ กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และผู้แวดล้อมวงในทั้งหมด ??? กับคำถามว่า เวลาที่จะทำดังว่าใกล้เข้ามาแล้ว คือ วันนี้หรือพรุ่งนี้ ?


คำตอบมิได้อยู่ในสายลม และเป็นคำตอบที่ “ฟ้ารู้ ดินรู้ เรารู้ ท่านรู้” และแน่นอน บุรุษชื่อ จักรภพ เพ็ญแข ก็รู้ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็รู้ นอกจากนี้ ศาลท่านจะรู้หรือไม่ ? และจะทำให้ประชาชนทั่วไปรู้หรือไม่ ? และเมื่อคนไทยรู้แล้วจะคิดหรือทำอะไรเป็นประการต่อไป ???