วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

"สุเทพ-สนธิ"บนผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว

หมวดข่าว : วิเคราะห์
โดย กองบรรณาธิการ : TheCityJournal
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า พยายามที่จะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พบปะหารือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (5 มีนาคม) เพราะไม่ต้องการให้ทั้ง 2 คนนี้เกิดความขัดแย้งกัน
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ กับแกนนำพันธมิตร เริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ นั้น มองว่า ได้อำนาจมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีเสียงส.ส.สนุบสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่แกนนำพันธมิตร กลับเห็นว่า การชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน 193 วัน เป็นผลให้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย จึงเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ ชุบมือเปิด อำนาจ
ดังนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล จึงเริ่มการทวงบุญคุณจากรัฐบาล ด้วยการผลักดันตำรวจสายพันธมิตร ให้เข้ามาอยู่ในไลน์อำนาจ และต้องการให้จัดการตำรวจสีแดง โดยเฉพาะตำรวจแดงที่ร้ายประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่หน้ารัฐสภา
อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พูดในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์" ว่า จะดำเนินการกับคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผ่านมาให้ชัดเจนใน 1 เดือน ทำให้แกนนำพันธมิตร ไม่พอใจคำพูดดังกล่าว และนายสุเทพ ก็ปฏิเสธที่จะดันตำรวจเสื้อเหลือ เข้ามาอยู่ในไลน์อำนาจ
นี่จึงเป็นปัจจัยทำให้แกนนำพันธมิตร ชิงประกาศตั้งพรรคการเมือง ซึ่งแน่นอนแล้วว่าจะชื่อ พรรคเทียนแห่งธรรม ซึ่งนั่นหมายความว่าจะชิงพื้นที่ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ภาคตะวันออก เรื่อยลงไปถึงภาคใต้ และในกรุงเทพฯ และทันทีที่พันธมิตร ประกาศตั้งพรรค ส.ส.ประชาธิปัตย์ จึงครางฮือว่าหายนะกำลังจะมาเยือนประชาธิปัตย์
แต่ก็ใช่ว่าประชาธิปัตย์ จะไม่มีเครื่องมือต่อรองแกนนำพันธมิตร เพราะต้องไม่ลืมว่าแกนนำพันธมิตร ทุกคนนั้นมีคดีติดตัวทั้งสิ้น อำนาจการเมืองของประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นถึงกับออกปากลั่นว่า "ระวังมันจะติดคุกหัวโตทุกคน"
พรรคประชาธิปัตย์ จึงถือว่ามีแต้มต่อที่เหนือกว่าพันธมิตร
แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่อยากให้เกิดการ "แตกหัก" เพราะหายนะจะหนักหน่วงที่สุดในภาวะที่ทักษิณ ชินวัตร เปิดเกมสู้ทั้งในและนอกประเทศ การสร้างศัตรูสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่มีประโยชน์ จะมีแต่โทษและผลเสียกับทั้งพันธมิตร และประชาธิปัตย์
เพราะฉะนั้น หมากเกมนี้จึงต้องดูที่เกมต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประชาธิปัตย์ กับแกนนำพันธมิตร ว่าจะลงเอยกันเมื่อไหร่

"อภิสิทธิ์-สุเทพ"ต่างมุมมองแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : ทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าสัปดาห์หน้าจะหารือหน่วยงานแก้กฎหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หยิบประเด็นการบังคับใช้มาแก้ก่อน เพราะที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหา ยันการแก้ครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อเปลี่ยนมุมมองต่างประเทศ ด้าน"สุเทพ"ค้าน ลั่นรัฐบาลจะไม่ให้ใครล่วงละเมิด และดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แนวทางการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเบื้องต้นจะดูที่เรื่องการบังคับใช้ก่อน เพราะคิดว่าที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการบังคับใช้มากกว่า และคิดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนจะมีหน่วยงานใดบ้างนั้นก็กำลังดำเนินแนวทางและคิดอยู่
“ การแก้ครั้งนี้คงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะมีการทำความเข้าใจและซักซ้อมกัน ความจริงได้ให้แนวทางกับ ผบ.ตร.ไปบ้างแล้ว แต่ในตัวกฎหมายขณะนี้คนที่เขียนบางทีก็เข้าใจผิดเหมือนเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาความผิดว่าด้วยความมั่นคง ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนของการเพิ่มเติมแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น ถ้าจะทำก็ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะสิ่งที่ตนได้คุยกับผบ.ตร.ก่อนหน้านี้ก็คือให้ท่านเข้าใจประเด็นความห่วงใยจากทุกฝ่าย แต่หากทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติคิดว่ามันจะเป็นปัญหาเพราะไม่มีระเบียบรองรับก็ต้องมาดูกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลต่อมุมมองของต่างประเทศใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่แต่เพื่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น
ส่วนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ผ่านมานั้น คิดว่าก็ต้องว่ากันอย่างตรงไปตรงมา อย่าลืมว่ามีคดีตั้งมากซึ่งในที่สุดที่ไม่มีการดำเนินการหรือฟ้องร้อง แต่อย่างที่บอกไว้กฎหมายต้องมีเหตุผลในตัวของมันเองชัดเจน ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม มีโครงสร้างในเชิงสถาบันชัดเจน เราคงไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อต่างชาติ เราต้องดูในแง่ของความเป็นธรรมเท่านั้น
ขณะที่จะมีผลต่อคดีที่เกิดขึ้นก่อนใช่หรือไม่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ควรจะมี การที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างสำหรับคนที่จงใจทำผิดกฎหมายหรือไปละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือไปละเมิดสถาบันโดยอ้างข้อกฎหมายตรงนี้เพื่อพ้นจากความผิดไปคงไม่ได้
ส่วนคดีของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รมว.ต่างประเทศ ถือว่าล่าช้าเกินไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบอัยการเลื่อนไปในวันที่ 29 เม.ย. ก็ถือเป็นความเห็นขององค์กร
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน ว่า ยังไม่ได้คุยในเรื่องนี้กับใคร แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจและหลักชัยของประชาชนและประเทศ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัดว่า ใครจะลบหลู่ ดูหมิ่น ทำให้เกิดความเสียหายไม่ได้ ดังนั้นถ้าวันนี้ใครมาชวนให้ตนแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนจะไม่ยอมเด็ดขาด และในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็จะไม่ยอมให้ใครละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามจะดูแลไม่ให้คนที่ไม่หวังดีนำสถาบันเป็นเครื่องมือข่มเหงรังแกคนอื่น
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องร่างกฎหมายหรือระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้กฎหมายหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ถูกต้อง สิ่งที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะรัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้ใครอ้างสถาบันไปใช้รังแกคนอื่น แต่ถ้ามีคนจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ละเมิดสถาบัน รัฐบาลก็ยอมไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าการดำเนินคดีกับนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำกลุ่ม นปช.ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงดูเหมือนว่าจะล่าช้า นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซง เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูงจะไปสอดรับกับสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานในลักษณะนั้นเช่นกัน แต่จะติดตามรายละเอียดอีกครั้ง

มติวุฒิฯเห็นชอบ"ปรีชา เลิศกมลมาศ"เลขาฯ ป.ป.ช.คนใหม่

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : รัฐสภา
ที่รัฐสภา วันนี้ (6 มี.ค ที่ประชุม มีมติให้ความเห็นชอบเห็นชอบ นายปรีชา เลิศกมลมาศ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช คนใหม่ หลังจากที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อของวุฒิสภา และใช้เวลาประชุมลับเพียง 10 นาที ผลการลงมติออกมาด้วยคะแนน 99 เสียงต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
สำหรับประวัตินาย ปรีชา เกิดวันที่ 16 ก.ย. 2492 ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับนาง วีณา เลิศกมลมาศ มีบุตร 2 คน ประวัติการทำงาน เริ่มรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี กิ่งอำเภอกุดจับ อ.เมือง จ.อุดรธานี จากนั้นโอนมารับราชการการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) จนล่าสุดเป็นรองเลขาธิการป.ป.ช.เมื่อ 1 ต.ค.