วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เหล่าทัพประกาศปฏิวัติ"สมชาย"ผ่านจอทีวี


พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และพล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร.เปิดปฏิบัติการปฏิวัติรัฐบาลสมชาย ผ่านหน้าจอทีวี

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า อยากเสนอสังคมว่าถ้าเรายังเป็นฝักฝ่ายก็จะเกิดวิกฤติไม่มีทางจะจบได้ ประเทศจะล่มจม ทางออกของประเทศชาติ คนไทยต้องอยู่ร่วมกัน ความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ต้องมีจุดที่อยู่ร่วมกันได้ คนไทยต้องผ่านวิกฤตินี้โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ถามว่ามีการเรียกร้องให้กองทัพ ออกมา พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้าปฏิวัติทำให้ปัญหาจบได้ ก็ต้องพิจารณาร่วมกันทุกภาคส่วน แต่ทุกวันนี้พูดได้ว่าผมติดต่อสื่อหลายส่วนและลงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย รวมถึงนักวิชาการก็ลงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย ทำแล้วประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย ส่วนจะแก้ด้วยวิธีใดยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายต้องคุยหาจุดร่วมกันให้ได้ ส่วนกองทัพจะเลือกฝ่ายไม่ได้ โดยเฉพาะขณะนี้มีการเรียกร้องให้อยู่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ถ้าเลือกฝ่ายประเทศชาติจะวิบัติ
ถามว่าทำไมทหารไม่ออกมา เมื่อเห็นภาพตอนเช้า 7 ต.ค.ผบ.ทบ. กล่าวว่า การชุมนุมมีตั้งร้อยกว่าวัน และกองทัพทำงานร่วมกับตำรวจตลอดมา และยืนยันไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรง ยกเว้น 2 ครั้ง ยืนยันว่าไม่ใช่ความคิดริเริ่มของ ตร.และกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ติดหมายศาลในทำเนียบรัฐบาล ผมเรียนให้ทุกคนทราบว่ากรณีฉุกเฉินเป็นเหตุการณ์ที่มีการปะทะกัน และมอบให้ผมเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและเห็นแล้วว่าวันที่ปิดหมายทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ถ้าตัดสินใจทำไปนอกจากจะไม่จบแล้วปัญหาจะบานปลาย ส่วนเหตุวันที่ 7 ต.ค. กองทัพไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย กองทัพมองว่าเป็นการสั่งการจากรัฐบาลไปยังตำรวจ จะถูกผิดอย่างไรเราคงไม่ไปพูดถึง เพราะเกี่ยวข้องกับความชอบธรรม
ถามว่า รู้กี่ชั่วโมงก่อนสลายชุมนุม ผบ.ทบ.กล่าวว่า เรื่องไปประชุมผมไม่ทราบ ผมคุยกับ ผบ.ตร.ว่าจะไม่ทำอะไร เฉย ๆ และไม่รู้ว่าเขาไปประชุมอะไรกัน เพราะไม่ใช่ตัวของผม แต่เป็นกองทัพทั้งกองทัพ กองทัพจะอยู่กับประชาชน แม้จะให้อำนาจมาเต็ม ๆ ก็ไม่ทำ เช้าวันนั้นพอเกิดเหตุการณ์ก็ติดตามสถานการณ์ ไม่ทราบว่าผลจะรุนแรงขนาดนั้น และเป็นการสั่งการของรัฐบาล ถ้าย้อนไปได้ก็จะทำไปห้ามตั้งแต่แรก การจะเอากำลังทหารออกไป จะออกไปสถานภาพใด หากสูญเสียมากกว่าเดิมจะทำอย่างไร ซึ่งได้พูดคุยกับเหล่าทัพ และหารือกับ ผบ.สส.และแจ้งไปยัง ผบ.ตร.ว่าเราไม่เห็นด้วย
ถามว่าเสียใจหรือไม่ ก็เสียใจ ถ้าห้ามได้ก็จะห้ามแต่แรก แต่ถ้าออกไปก็จะสุ่มเสี่ยงทำให้ยากกว่าเดิมเกิดการต่อสู้ระหว่างทหารและตำรวจ หากมีการปะทะกันก็จะสูญเสียเพราะมีการใช้อาวุธ และสถาบันทหาร กับตำรวจ ก็จะแตกแยกอีกนาน
"น้องโบว์เป็นทรัพยากรของประเทศ มีคุณค่าต่อชาติ หากย้อนกลับไปได้ตำรวจก็คงไม่ ผมยืนยันว่าทุกครั้งตำรวจก็พูดเช่นนี้ "

เรื่องความรับผิดชอบ เป็นเรื่องกระทบ แต่เรื่องที่ตามมา คนในสังคมรับไม่ได้เกิดเป็นกระแสขึ้นมา ลุกลามไปถึงตำรวจ และหมอ ผมคิดว่าจะจบได้ต้องมีคนรับผิดชอบไม่ว่าระดับนโยบายหรือสั่งการ น่าจะสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนได้ ถ้ารัฐบาลสั่งเองเต็ม ๆ จากการสอบสวนต้องรับผิดชอบ ผมว่ากระแสคนในชาติคนไม่ยอม ปั่นป่วน แต่ไม่ใช่บีบคั้นให้ออก แต่ต้องรับผิดชอบบนกองเลือด อยู่อย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจงเกลียดจงชัง ชอบไม่ชอบ ถ้าผมเป็นนายกฯ ก็ออกแล้วไม่รู้ว่าจะอยู่ทำไม
ถามว่ากดดันหรือไม่ สังคมจะทำเอง ไม่ทราบว่าเรียกว่ากดดันหรือไม่ แต่สังคมรับไม่ได้ ไม่มีทางจะจบได้ ผมเข้าใจว่าถ้านองเลือดกันจะถึงกลียุค ก็จะต้องหยุดการใช้อำนาจ แต่ไม่ใช่ปฏิวัติ
ถามว่า มีข่าวในงานศพมารดา พล.อ.อนุพงษ์ ครอบครัวชินวัตรมอบเงิน 50 ล้าน ผบ.ทบ. กล่าวว่า โดยส่วนตัวผมไม่มีทางทำอะไรเช่นนี้ ผมไม่รับเงินทรัพย์สมบัติจากใคร งานศพของคุณแม่ ผมและครอบครัวได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ ใช้เงินไม่มาก เงินที่มาร่วมทำบุญมีจำนวนหนึ่ง ก่อนบรรจุมี 5 ล้านบาท คนที่รับไปคือพี่สาวที่ทำบัญชี และมอบเงินทำบุญให้รพ.พระมงกุฎเกล้า ส่วนวันเผาเหลืออีกล้านเศษก็มอบให้วัด ยืนยันด้วยเกียรติว่าไม่มีเช่นนั้น

"ผมกับครอบครัวชินวัตร มีบุคคลที่รู้จักคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมไม่เคยคุยกับคุณหญิงพจมาน ส่วนภรรยาผมก็ไม่เคย ยิ่งลุกสาว ลูกชาย ไม่เคยรูจึกตระกูลชินวัตร แม้จะพูดคุยก็ไม่เคย ที่เรียน ป.โท ก็มีปีเดียว ไม่รู้จักใคร และลูกผู้หญิงคนเดียวไปอยู่ที่โน่นต้องรักษาตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

เมื่อถามถึง บทบาทของกองทัพ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะป็นกองทัพหรือคนไทยทั้งชาติก็มีความเห็นเดียวกันเทอดทูนสถาบันพระมหาษัตริย์ และตัวของผมเป็นราชองครักษ์มาเกือบ 30 ปี เพื่อให้สังคมเข้าใจ ผมทำงานใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นโครงการพระราชดำริ ผมจะปกป้องรักษาสถาบันด้วยชีวิต ทหารทั้งหมดและครอบครัวก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ในเรื่องการปกป้องรักษาสถาบัน แนวทางการดำเนินการขณะนี้มีการอ้างอิงสถาบัน

"แนวทางที่ถวายความจงรักภักดีต้องไม่มีการอ้าง ไม่ว่าเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมือง พระองค์ท่านต้องอยู่เหนือนั้น ซึ่งพระองค์มีพสกนิกร 60 ล้านคน จะต้องไม่แบ่งแยก การที่จะไปเอามากลุ่มเดียว มองอีกมุมว่าเป็นการแยกท่าน มีเสียงว่ากองทัพไม่ดูแลไม่ปกป้องสถาบัน ผมยืนยันว่าหากมีการจาบจ้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กองทัพจะไม่ปล่อย" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ 7 ต.ค. ที่ตำรวจยิงก๊าสน้ำตาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า ผมไม่มีอะไรจะแก้ตัว เท่าที่ดูการใช้แก๊สน้ำตาไม่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ แต่กรณีที่เกิดขึ้นคงต้องไปดู และเอาผู้เชี่ยวชาญมาดูทั้งของจีน และสหรัฐ มาดูอีกครั้ง

ถามว่าวันนั้นใครสั่งสลายชุมนุมเพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาเข้าชุมนุม ผบ.ตร. กล่าวว่า ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หน้าที่ของตำรวจมีผู้บังคับบัญชาคือ นายกฯ และกฎหมายก็บอกว่าต้องทำตาม มติ ครม.และคำสั่งนายกฯ วันนี้ถามว่าใครเป็นคนสั่ง ต้องรอการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะดีที่สุด
เมื่อเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า 7 ต.ค. ต่อกระทั่งบ่ายค่ำ ทำไมไม่หยุด ผบ.ตร. กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าตำรวจทุกท่านเข้าใจว่าแก๊สน้ำตาไม่ทำให้ผู้บาดเจ็บ บ่าย และเย็น ก็ต้องรอให้มีการตรวจสอบ ขณะนี้ก็มีคณะกรรมการหลายชุด
เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งแล้วว่าการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะต้องทำอย่างไร และก่อนจะใช้ต้องประกาศค่อนข้างชัดเจน สตช.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และโอกาสเกิดในอนาคตก็ยังมี ผมจึงได้ตั้งคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม และจะเอาสื่อเข้าไปด้วย การจะมองว่าการรักษากฎหมายต้องปฏิบัติตามแผนอย่างเดียวก็จะแข็งเกินไป การจะปะทะกันเกิดขึ้น 2 กลุ่ม ก็จะเรียกคณะกรรมการชุดนี้เข้าไปไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจดำเนินการฝ่ายเดียว

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. กล่าวว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้ ประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม และมีความเข้าใจเอื้ออาทรต่อกัน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนำไปสู่การพัฒนา แต่ก็อยู่ในขอบเขตความนิ่มนวล และเหตุผล เราจะเป็นอย่างนี้ไปอีกกี่เจเนอเรชัน ในที่สุดคิดว่าคนไทยจะกลับมาสู่ความปรองดอง สร้างความเจริญให้กับประเทศ เรายึดถือองค์พระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด และเราต้องปกป้อง

ถามว่า แนวโน้มปัจจุบันไม่ไปสู่การประนีประนอม ผบ.สส. กล่าวว่า ลองหันมาประนีประนอมกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด การอยู่ร่วมกันต้องมีเหตุผล เราต้องการให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้และหลายๆ อย่าง เราต้องสามัคคี กองทัพถูกกำหนดบทบาทตาม รธน.2550 และพ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปกป้องไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีภารกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย การป้องกันลักลอบยาเสพติด

ถามว่ากองทัพถูกเรียกร้องให้เลือกข้าง ผบ.สส. กล่าวว่า เราอยู่กับประชาชน แต่เราต้องทำตามบทบาทหน้าที่ที่รธน.กำหนดไว้ ถ้าทำนอกเหนือหน้าที่ รธน. กฎหมาย พ.ร.บ. รัฐบาลจะต้องเป็นผู้สั่งการ เช่น ครูให้สอนหนังสือ พยาบาลให้รักษาคนเจ็บ จะให้นายแพทย์มาป้องกันประเทศเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็คือประชาชน

ถามว่า มีกระแสข่าว พล.อ.ทรงกิตติ จะเป็นหัวหน้าปฏิวัติ ผบ.สส. กล่าวว่า คงเป็นความคิดของผู้พูด ไม่ใช่ความคิดของตนหรือกองทัพ กองทัพอยูกับประชาชนไม่ฝักไม่มีฝ่าย และรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และในส่วนของความแตกแยกทางการเมืองอย่าให้เป็นการแตกต่างของสังคมไทย และช่วยกันทำให้ประเทศไทยพัฒนาถาวร
ต่อข้อถามถึง รัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่กองทัพไม่ใช่

ผบ.สส. กล่าวอีกว่า กองทัพมี 3 เหล่า ทัพบก เรือ อากาศ สิ่งที่ ผบ.ทบ.พูด กองทัพพูด อีกความหมาย คือ กองทัพบก และกองทัพอากาศเห็นด้วยเป็นหนึ่งเดียว

สานเสวนาสู่ทางออกของประชาธิปไตย

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นที่ปรากฎของความเป็นการเมืองแยกขั้วแบ่งข้างกลายเป็นพวกเขาพวกเรา กลายเป็นพวกมันพวกกู การเมืองแห่งการเอาแพ้เอาชนะกัน การเมืองที่มองอดีตเพื่อจะพิสูจน์ความถูกผิด ความจริง การพิสูจน์ถูกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและควรจะกระทำด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำผิดจริงก็ต้องพิสูจน์แล้วเอาคนผิดมาลงโทษ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ไม่อาจจะหาข้อยุติได้ไม่สามารถจะเดินไปสู่สันติภาพหรือสันติสุขที่คนไทยทั้งหลายใฝ่ฝันถึงก็เนื่องจากคำว่าสันติ หรือสันติภาพที่มาจากภาษาอังกฤษว่า พีซ (Peace) นั้นไม่ใช่เป็นคำคำเดียวแต่จะมีคำว่าจัสต์ (Just) ซึ่งมาจากคำว่าจัสตีส (Justice) ซึ่งแปลว่ายุติธรรม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ จัสต์พีซ (Just Peace) นั่นคือ คนที่อยู่ในประเทศนั้นในพื้นที่นั้นมีความรู้สึกว่า เขายังไม่ได้รับความยุติธรรม
ยุติธรรมที่ไม่ใช่มองเพียงยุติธรรมทางกฎหมาย (Legal Justice) ถูกผิดตามมาตรานั้น มาตรานี้ตามกฎหมายที่ผู้มีอำนาจออกหรือใช้ แต่เขายังต้องการความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ที่มองไกลกว่าความยุติธรรมทางกฎหมาย มองไปข้างหน้ามองอนาคต มองผลที่จะตามมาทั้งหลายดูเหมือนว่า ความที่แยกเป็นพวกเขา พวกเราทำให้แต่ละพวกแต่ละกลุ่มก็จะมองกระบวนการที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในมุมมองแห่งความต้องการทั้งสองแบบของความยุติธรรมคือทั้ง ยุติธรรมทางกฎหมายและยุติธรรมทางสังคม โดยหากจะเอาผิด “พวกเขา” ก็จะมองในสายตาของยุติธรรมทางกฎหมาย แต่ถ้าจะอธิบายการกระทำของ “พวกเรา” ก็จะมองในสายตาของยุติธรรมทางสังคม
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะพวกเขาพวกเราซึ่งกลายเป็นพวกมันกับพวกกูได้นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ไว้วางใจเพราะไม่ใช่พวกเดียวกันกับความไว้วางใจเพราะเป็นพวกเดียวกันเป็นความไว้วางใจทางสังคม (Social Trust) และความไม่ไว้วางใจนี้เองจึงทำให้ไม่ว่าจะมีการกระทำใด ๆ ของใครที่ดูจะเอนเอียงไปเหมือนเห็นด้วย หรืออาจจะไปสนับสนุนพวกเขาก็จะเริ่มไม่ไว้วางใจ และหาเหตุผลมาอธิบายให้คนอื่น ๆ ทั้งหลายเห็นถึงความถูกต้องของเราและไม่ถูกต้องของเขา และความเป็นพวกเขาพวกเรานี้จึงไม่อาจนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้งได้
เพราะความรู้สึกแห่งการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะขาดทักษะที่สำคัญคือการฟังอย่างตั้งใจ การฟังอย่างตั้งใจที่ในภาษาจีนใช้คำว่า “ทิง” ซึ่งอักษรตัวเขียนคำนี้มีองค์ประกอบที่รวมเอาคำว่าหู และคำว่า ใจ หรือ หัวใจ ไว้ด้วยกัน นั่นคือ การจะเข้าใจ เข้าถึง ดังพระราชาดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเรายังต่างไม่ฟังกันและกันโดยใช้ทั้ง หู และ หัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานด้วยกันจึงจะเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราและนำไปสู่ความรู้สึกเป็นพวกเราเท่านั้น
หนังสือการเมืองสำหรับประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง (Politics for People) ของเดวิด แมทธิว ประธานมูลนิธิเคทเธอริง ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเมืองของประชาชน (Citizen Politics) ในสหรัฐอเมริกาได้พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนขึ้นมาของอเมริกาและคำแรกที่เริ่มต้นได้เขียนว่า “พวกเราประชาชน” หรือ “We the people” ทั้งผู้นำในการประกาศอิสรภาพและประชาชนเป็นกลุ่มเดียวกันหรือพวกเรา แต่เมื่อพัฒนาการเมืองไปเรื่อย ๆ นักการเมืองของอเมริกากับประชาชนเริ่มมีมุมมองที่ต่างกันทั้งที่แต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว ประชาชนที่เดวิด แมทธิว ได้ไปสำรวจความคิดเห็นมาเริ่มมองเป็น “พวกเราประชาชน พวกเขารัฐบาล” หรือ We the people, the government”
ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำกับสิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ตรงกัน ดูจะมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศไทย เดวิด แมทธิว อธิบายปรากฎการณ์นี้เหมือนกับสามีและภรรยาที่อยู่ด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างทำตัวเป็นสามีที่ดีและภรรยาที่ดีในมุมมองหรือสมมติฐานของตัวเอง เช่น สามีก็อธิบายว่าการที่กลับบ้านดึกและมีงานเยอะต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว การกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่สามีที่ดีฝึกกระทำ ก็เหมือนกับรัฐบาลพยายามทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาแต่สิ่งที่รัฐทำไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนอยากให้ทำ
แมทธิวบอกว่ายิ่งสามีภรรยาคู่นี้อยู่ด้วยกันนานเท่าไรก็จะยิ่งเกลียดกันมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ “ดี” ของแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน แต่ละฝ่ายก็พยายามหาเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนดีของตัวเอง ความไว้วางใจก็ค่อย ๆ หมดไป เพราะไม่ฟังกัน ไม่หันหน้ามาพูดกันในลักษณะของการสานเสวนา (หรือ dialogue) แต่ละฝ่ายจะใช้วิธีการอธิบายความถูกต้องของตนเองและกล่าวหาความผิดพลาดของอีกฝ่ายโดยการใช้การโต้เถียง (หรือ debate) ความแตกต่างของการสื่อสารกันทั้งสองอย่างก็คือ เมื่อไรโต้เถียงหรือดีเบทก็คือการมาพูดเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน เหมือนอย่างที่นักการเมืองหรือผู้อาสาสมัครมาเป็นตัวแทนประชาชนมาปกครองประเทศ ไมว่าจะในสหรัฐอเมริกา
ในเวลานี้ที่เราเห็นผู้สมัครสองพรรคดีเบท หรือโต้เถียงกันอยู่ จะพยายามอธิบายว่านโยบายฉันถูก ของอีกฝ่ายผิด และพยายามไปหาอดีตของฝ่ายตรงข้ามว่าทำอะไรผิดพลาดหรือเลวอย่างไร ซึ่งในประเทศไทยก็ดูไม่ต่างกันเมื่อมีการหาเสียงเพื่อเอาชนะกันระหว่างพรรคการเมือง
หรือแม้แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เพิ่งผ่านพ้นไปเลือกผ่านไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ขององค์กร เช่น กกต.จะมาตัดสินว่าสมควรประกาศรับรองหรือให้ใบเหลือง ใบแดงกัน ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า เพราะแต่ละฝ่ายก็จะมาแก้ตัวว่าไม่ผิด เรายังไม่แก้ปัญหาต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง เรายังไม่ได้ทำการเมืองที่สมานฉันท์การเมืองของประชาชน ที่ประชาชนกำหนดนโยบาย กำหนดกฎกติกา หรือผู้แทนอาจจะไปร่างแล้วให้ประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมซึ่งไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์เพราะเวทีประชาพิจารณ์ก็เป็นเวทีโต้เถียงหรือดีเบทของฝ่ายที่ทำโครงการหรือออกกฎหมายและบอกว่าคิดดีแล้วประชาชนยังไม่เข้าใจ ประชาชนซึ่งมองเห็นต่างก็จะโต้แย้ง
หรือแม้แต่การลงประชามติที่หลาย ๆ คนคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีเพราะให้ประชาชนแต่ละคนทีละคนได้ตัดสินเองดังที่ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ประชามติในปัญหาที่สลับซับซ้อนก็ดีหรือรัฐธรรมนูญที่มีมากมาย มาตราก็ดี ไม่อาจจะใช้การตัดสินใจเพียงผ่านหรือไม่ผ่าน รับหรือไม่รับ ทั้งที่คนห่วงหรือไม่พอใจเพียงไม่กี่มาตราไม่กี่ประโยคก็ต้องไม่รับหรือไม่ผ่าน ฝ่ายที่อยากให้ผ่านกับมารับไปก่อน ผลการตัดสินใจโดยการประชามติจึงออกมาเป็น “แพ้-ชนะ” คนไม่อยากให้ผ่านเมื่อผ่านก็รู้สึกแพ้ คนอยากให้ผ่านเมื่อผ่านก็รู้สึกชนะ
ประเทศไทยได้ถูกแบ่งออกเป็นสีเหลืองกับสีแดง เหมือนกับเวลานี้ที่ใครสวมเสื้อสีเหลืองก็พวกหนึ่ง สีแดงก็พวกหนึ่ง กลายเป็นพวกเขาพวกเรา พวกมันพวกกู ทางออกของประเทศไทยเวลานี้คือการหันหน้ามาพูดคุยกันมาเจรจากันที่เรียกว่าสานเสวนาหรือไดอาล๊อก (dialogue) ที่ไม่ได้มาเอาแพ้เอาชนะกัน มาฟังอย่างตั้งใจกัน มาหาทางออกร่วมกัน ในการสานเสวนาจะต้องมีกติกาและมีคนกลาง คนกลางที่เป็นที่ยอมรับหรือไว้วางใจหรือเป็นที่เชื่อถือของฝ่ายต่าง ๆ และเป็นคนกลางที่เข้าใจกระบวนการการสานเสวนาที่ไม่ใช่มาเอาแพ้ชนะกัน ผู้ที่มาเจรจาต้องเรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ ผลัดกันพูดผลัดกันฟัง กำหนดประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหรือหลาย ๆ ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ประเด็นหรือโจทย์จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน มานิยามหรือมากำหนดโจทย์ที่ไม่ใช่จุดยืน (หรือ position) ซึ่งเป็นคำตอบที่แต่ละฝ่ายมีอยู่แล้ว แต่กลับไปหาโจทย์ที่แท้จริง เช่นอยากเห็นประเทศชาติกลับคืนสู่สันติสุขสันติภาพที่ยืนอยู่บนความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม มีการเมืองที่ไม่ใช่มองเฉพาะการเมืองเท่ากับการเลือกตั้งแต่เป็นการเมืองที่มองถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนให้ประชาชนได้สามารถมีที่ยืนที่เรียกว่าพื้นทีสาธารณะ (public space) ซึ่งไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองอย่างเดียว เป็นต้น

การมาสานเสวนาหากันจึงไม่ใช่การเจรจาอย่างเราเคยรู้จักและเข้าใจที่เป็นการเกลี้ยกล่อมให้ยอมๆ กันหรือการเจรจาที่เป็นการต่อรองที่ต้องมีคนได้มีคนเสีย มีคนแพ้ มีคนชนะ เป็นการเจรจาที่ทุกฝ่ายชนะ การจะยอมอะไรก็ไม่ใช่ยอมกันโดยการยกมือลงมติว่าเสียงฉันมากกว่าชนะ แต่จะเป็นมติที่เรียกว่า “ฉันทามติ” (หรือ consensus) เป็นมติที่เกิดจากความพึงพอใจ อาจไม่ถึงกับแต่ละคนทีละคนเห็นด้วยหมดที่เรียกว่าเอกฉันท์ แต่เป็นมติที่ออกมาจากการฟังกันด้วยใจและอย่างตั้งใจแล้วมองหาทางเลือกหลากหลายช่องทางที่ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันและกันแล้วปรับรูปแบบจนเห็นว่านี่แหละใช่ จะเป็นมติที่ยั่งยืนกว่า และผู้ที่เป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นกลางที่เป็นที่ไว้วางใจติดตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากฉันทามติว่านำไปสู่ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ตามข้อตกลงไหม
มีอุปสรรคใดที่ปฏิบัติไม่ได้กลับมาสานเสวนากันอีก จะมีรัฐบาลชั่วคราวหรือเฉพาะการเพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างฉันทามติหรืออย่างไร ก็จะเกิดจากเวทีการสานเสวนานี้ ผู้มาร่วมสานเสวนาอาจจะกำหนดตัวแทนเบื้องต้นจำนวนหนึ่ง และมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่เวทีโต้เถียงหรือดีเบท แต่เป็นเวทีย่อยเพื่อหาฉันทามติร่วมกำหนดกติกาบ้านเมืองให้เกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมต้องมีการสื่อสารถึงกันและกันตลอดเวลา สื่อจะต้องเข้าใจกระบวนการและกติกาด้วยความเข้าใจไม่สร้างการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสอย่างแท้จริง อะไรที่ไม่ชัดเจนไม่เข้าใจให้มีการสื่อสารกันก่อนจะมีคำพิพากษาว่าพวกนั้นพวกนี้ เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่สังคมจะต้องเรียนรู้กันใหม่ จะต้องมีเวทีสื่อที่ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากันเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้าหาทางออก

จึงขออนุญาตสรุปเสนอทางออกของการแก้ปัญหาทางด้านของประเทศที่อาจจะสรุปได้ก็คือ

1) ให้หาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่าง ๆ เช่น ประธานวุฒิสภาพร้อมทีมงานที่เข้าใจกระบวนการการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ และเข้าใจกระบวนการสานเสวนา

2) ให้เปิดเวทีการสานเสวนาหลังจากทำความเข้าใจแต่ละฝ่ายถึงขั้นตอนและกติกาของกระบวนการ

3) ให้มีการทำความเข้าใจกับสาธารณชนในรายละเอียดของกระบวนการอย่างโปร่งใสและต่อเนื่องโดยตลอด

4) ให้มีกติกาของการสานเสวนาที่ฝ่ายที่จะมาเจรจาร่วมตกลงด้วยกันเพื่อนำไปสู่การหาทางออก

5) ฝ่ายที่ขัดแย้งส่งตัวแทนรับทราบ เรียนรู้ กติกา กระบวนการ ก่อนการสานเสวนาหาทางออก

6) กำหนดประเด็นของการสานเสวนาร่วมกันโดยเป็นประเด็นหรือโจทย์ที่ฝ่ายต่าง ๆ เห็นพ้องต้องกันที่ไม่ใช่จุดยืนแต่เป็นจุดสนใจหรือความต้องการ ความห่วงกังวลที่อยู่เบื้องหลังจุดยืน เช่นไม่ใช่ตั้งโจทย์ว่าสร้างเขื่อนหรือไม่สร้าง แต่เป็นโจทย์ เช่น จะบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างไร (ให้มีน้ำพอใช้และไม่เกิดการท่วมท้นอยู่เป็นประจำ) เป็นต้น

7) การกำหนดการเมืองใหม่เมื่อสามารถหาทางออกของปัญหาปัจจุบันที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ (ฉันทามติแล้วก็ให้ใช้การสานเสวนากับประชาชนในแต่ละพื้นที่กระจายไปให้ทั่วถึง แล้วกลับมาหาฉันทามติร่วม ซึ่งวิธีการนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เคยดำเนินการในหลาย ๆ กรณี และสามารถหาฉันทามติในประเด็นนั้นได้ผลดีมาแล้ว)

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอโดยสังเขปที่จะต้องมีการทำความเข้าใจในรายละเอียดอีกมาก อยากจะฝากไว้สุดท้าย จากหนังสือกล้าล้มเหลวที่ผมได้แปลไว้ ผู้เขียนคือ บิลลี่ ลิม บอกว่า “ถ้าคุณยังทำอะไรยังที่เคย ๆ ทำกันมา คุณก็จะได้สิ่งที่เคย ๆ ทำมาแล้วเท่านั้น” ฉะนั้นเราจะหันมาร่วมกันหาสันติสุข สันติภาพที่มีความยุติธรรมร่วมกัน เราก็ต้องใช้กระบวนการวิธีการใหม่คือ การฟังอย่างตั้งใจ การสานเสวนา (หากมาสานเสวนากับประชาชนอาจเรียกว่า ประชาเสวนา) การหาทางออกโดยมองจุดสนใจ ความห่วงกังวลไม่ใช่จุดยืน และใช้ฉันทามติที่ไม่ใช่เสียงข้างมากจากการยกมือลงมติ