วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552

ใครทำไม่ดีต่อสถาบัน มักมีอันเป็นไป

หมวดข่าว : สัมภาษณ์
โดย : กองบรรณาธิการ
นายอำพน เสนาณรงค์ องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อชาติและประชาชนชน” เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2552 ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน จ.นนทบุรี ความตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะที่มีการโฟนอินอะไรต่ออะไรมา
ดังนั้นในฐานะองคมนตรีจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การมาพูดอะไรในที่ชุมนุมชนจึงต้องมีความระมัดระวัง ทั้งการใส่เสื้อสีต่างๆ หรือการพูดในเนื้อหาอะไร ดังนั้นอะไรที่ได้ยินมาจึงไม่กล้าที่จะนำข้อมูลใหม่ๆ มาเล่าได้ เพราะไม่สมควรที่จะมาเล่าในที่ชุมนุมชน
ปัจจุบันความขัดแย้งของข้าราชการการเมืองต่อข้าราชการการเมือง ความขัดแย้งของข้าราชการประจำต่อข้าราชการประจำ และความขัดแย้งของข้าราชการการเมืองต่อข้าราชการประจำมีจำนวนมาก และความขัดแย้งส่วนใหญ่ สาเหตุที่วิเคราะห์กันเกิดขึ้นจากปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดมาช้านานจนกลายเป็นประเพณีไทย จะมากจะน้อยแล้วแต่ฝ่ายบริหารที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง และมักเกิดขึ้นในกระทรวงหรือกรมที่มีอำนาจสูง มีความสำคัญทางการเมือง มีงบประมาณ มีเงินเพื่อจัดซื้อจัดจ้างจัดทำโครงการขนาดใหญ่ เมื่อมีเงินก็ต้องมีตำแหน่งสำคัญๆ โดยเฉพาะการติดต่อนายที่ส่วนมากจะเป็นนักการเมือง จนนำมาสู่การกล่าวหาทางการเมือง และเป็นการกล่าวหาที่เสื่อมเสีย
รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 259-280 และพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ในหมวด 5-11 มาตรา 28-129 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นแนวทางให้ข้าราชการสามารถนำมาปฏิบัติ ทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจ การกระทำที่ขัดต่อประโยชน์ของชาติ รวมถึงการดำเนินคดีอาญาและจริยธรรมทั้งข้าราชการและนักการเมือง ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ข้าราชการสามารถนำมาอุทธรณ์หากพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนักการเมือง และสมาคมข้าราชการพลเรือนต้องช่วยกันสร้างข้าราชการให้มีคุณธรรม ให้มีวินัย เพื่อไม่ให้ข้าราชการบางคนอยู่ในสภาพพายเรือให้โจรนั่ง
"เป็นที่โชคดีที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับข้าราชการและประชาชน ในใจผมเชื่อเสมอว่าหากใครทำไม่ดีต่อสถาบัน คนเหล่านั้นมักจะมีอันเป็นไป เช่น เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เป็นต้น เพราะผมเคารพบูชาพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพระประมุข เป็นจอมทัพไทย ทรงใช้พระราชอำนาจเพื่อปวงชนชาวไทย และพระองค์ก็ไม่เคยล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญเลย”
จากนั้น นายอำพล ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือม็อบเสื้อแดง ที่มีการปราศรัยโจมตีองคมนตรี ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด แต่ละคนคิดได้แตกต่างกัน และก็มีสิทธิ์ที่จะพูดโดยเสรี ไม่มีใครไปห้ามได้ แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงไปศึกษาดูแล้วทุกคนจะเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมาย

นิยามคำว่า"นักโทษชาย"

หมวดข่าว : บทความ
โดย : วิวัฒน์ ธนวัฒน์

ข่าวที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ สิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ ได้เรียกคำนำหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เป็น "นักโทษชาย" หรือ น.ช. นั้น หากได้ศึกษาเนื้อหา พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ปี พ.ศ. 2479 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีข้อพิจารณา ที่ควรได้ใช้ให้ถูกต้อง ดังนี้
1. มาตรา 4 (2) ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ผู้ต้องขัง" หมายรวมตลอดถึง นักโทษเด็ดขาด คนต้องขัง และคนฝาก
เพราะฉะนั้น คำว่า "ผู้ต้องขัง" จึงแยกใช้สำหรับบุคคล 3 ประเภท คือ (1) นักโทษเด็ดขาด (2) คนต้องขัง (3) คนฝาก
ส่วนคำว่า "นักโทษเด็ดขาด" หมายความว่า บุคคลซึ่งขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษด้วย
เมื่อพิจารณานิยามคำศัพท์แล้วมาพิจารณาถึงสิ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอยู่ในขณะนี้แล้วนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เดินทางไปรับฟังคำพิพากษา และยังไม่สามารถตามจับกุมพ.ต.ท.ทักษิณ มาลงโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงถือว่า ยังไม่เป็น "นักโทษเด็ดขาด" ตามความหมายแห่งอนุมาตรานี้ เพราะยังไม่โดน "ขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษด้วย" แต่ประการใด และก็มิใช่บุคคลที่โดนฝากขังไว้ตามหมายขัง หรือเป็นคนฝาก ที่ถูกให้ควบคุมไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น
ดังนั้น การที่เรียก พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็น "นักโทษชาย" จึงเป็นเหมือนกับจะหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ไปในตัว
2. ขั้นตอนการรับตัวเป็นผู้ต้องขัง นั้น มาตรา 8 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดให้เจ้าพนักงานเรือนจำต้องรับตัวไว้เป็นผู้ต้องขัง จากนั้นให้เจ้าพนักงานเรือนจำรับหมายอาญา หรือเอกสารอันเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ ซึ่งจะเห็นว่ากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่อย่างใด
ขณะที่ มาตรา 10 พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดให้ดำเนินการส่งตัวไปให้แพทย์ตรวจอนามัยของผู้ถูกรับตัวไว้ใหม่ และบันทึกเกี่ยวกับลักษณะความผิด รวมทั้งการรายงาน แสดงประวัติผู้ต้องขังแก่เจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งในรายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้ดำเนินการดังที่บัญญัติในมาตรานี้
สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญของการเป็น "นักโทษเด็ดขาด" ผู้ที่เข้ากระบวนการดังกล่าวครบถ้วน จึงจะกล่าวได้ว่าเป็น "นักโทษชาย" หรือน.ช.
แล้วสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะนี้เป็นอะไร จะเรียกว่าอะไร
พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนี้นั้นถือว่าเป็น "คนร้ายที่หลบหนีคดี" หรือ "ผู้ต้องสงสัย ที่กำลังหลบหนีที่ทางราชการไทย ต้องการตัว เพื่อมาลงโทษตามคำพิพากษา" เท่านั้น มิใช่ "นักโทษชาย" ในความหมายแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479
3. ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้มี "สนธิสัญญาเกี่ยวกับการขจัดการลงโทษ อันเข้าลักษณะเป็นการทรมานโหดร้าย และการกระทำผิดมนุษย์หรือวิธีการทำให้คนลดค่าของความเป็นคนลง หรือการลงโทษ" ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวนี้เกิดจากข้อบัญญัติของสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติที่ 36/46 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 1984 และมีผลบังคับในวันที่ 26 มิถุนายน 1987 ตามบทบัญญัติที่ 27 ของสัญธิสัญญาดังกล่าว
ทั้งนี้ บทบัญญัติที่ 1 ของสนธิสัญญานี้ได้นิยามการกระทำที่เป็นการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย การกระทำที่ผิดมนุษย์ การปฏิบัติที่เป็นการลดค่าของความเป็นคนลงหรือการลงโทษ
บทบัญญัติที่ 2 บังคับแก่ฝ่ายนิติบัญญัติ แก่ฝ่ายบริหาร รวมทั้งฝ่ายตุลาการ ที่จะกระทำการใดๆ อันเป็นการที่บัญญัติระบุไว้ในบทบัญญัติที่ 1 ความในวรรค 2 ของบทบัญญัติที่ 2 นี้ให้ใช้บังคับแก่รัฐทั้งหลายโดยไม่มีข้อยกเว้น (ห้ามยกข้อต่อสู้) วรรคที่ 3 ของบทบัญญัตินี้ ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับการตามคำสั่งใดๆ จนอาจเป็นที่เสียหายแก่ความตามสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้
บทบัญญัติที่3 ห้ามไม่ให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการเนรเทศบุคคลไปยังรัฐอื่น เพื่อให้เขาตกอยู่ภัยอันตราย หรือเป็นการกระทำที่กระทำแล้วทำให้เชื่อได้ว่าจะทำให้เขาได้รับความทุกข์ทรมาน นี่คือความตามวรรคแรก ของบทบัญญัติที่ 3 ส่วนวรรคที่ 2 การพิจารณาว่า การกระทำเช่นว่านั้นจะเป็นการกระทำที่คุกคามอยู่ในขั้นร้ายแรง แพร่หลายหรือเป็นการละเมิดสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์โดยรวม
ดังนั้น การใช้คำนำหน้า "นักโทษชาย" กับพ.ต.ท.ทักษิณ หากนำมาพิจารณาตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขจัดการลงโทษฯ ประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ อาจโดนฟ้องร้องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตรงหรือรัฐคู่ภาคีแห่งสนธิสัญญานี้ (รัฐที่ 3 ที่ได้ลงนามและให้สัตยาบรรณแก่สนธิสัญญานี้) ในฐานะรัฐคู่ภาคีของสนธิสัญญานี้ ที่มีสิทธิบังคับใช้สนธิสัญญานี้แก่รัฐใดๆ ก็ได้ทั่วโลกโดยการกล่าวอ้างว่ากระทบกระเทือนสิทธิแก่รัฐของตน ตามสนธิสัญญานี้
แม้ประเทศไทย จะได้รับสนธิสัญญานี้ในที่ประชุมใหญ่ สมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาติ ในวันที่ 10 ธันวาคม 1984 ปรากฎว่าในเวลาต่อมา ประเทศไทย ยังมิได้ประกาศเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขจัดการลงโทษฯ นี้ก็ตาม แต่เมื่อใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือรัฐคู่ภาคีแห่งสนธิสัญญานี้ (รัฐที่สาม) ประสงค์จะบังคับใช้สนธิสัญญานี้ประเทศไทย ในฐานะรัฐคู่ภาคีสมาชิกของสหประชาชาติ ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ทั้งนี้ ตามความในบทบัญญัติที่ 27 ของสนธิสัญญานี้