หมวดข่าว การเมือง
โดย ทีมข่าวรัฐสภา
นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลต้องเคารพและบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างหลักนิติรัฐ คลี่คลายวิกฤติบ้านเมือง ยืนยันเดินหน้าปฏิรูปการเมืองแต่ไม่เขียนว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปล่อยให้กระบวนการนำพาไป เผย "เครื่องมือพิเศษ" ส่อเหลว เหตุหาคนมาเป็นกรรมการสะสางปัญหาความขัดแย้งยาก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง "รัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม และการบริหารประเทศในภาวะวิกฤต” ณ ห้องสุขุมนัยประดิษฐ์ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน จ.นนทบุรี วันนี้ (26 ม.ค.) โดยกล่าวว่า หลักการสำคัญของเรื่องนิติธรรม นิติรัฐ คือ ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย แต่ในสังคมมีความบกพร่องในเรื่องนี้ วิกฤติบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาจากความสับสนเรื่องขอบเขตของเสียงข้างมาก กับการคุ้มครองเสียงข้างน้อย ผมย้ำตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านว่าทุกคนต้องเสมอภาค เราไม่อนุญาตให้คนใดคนหนึ่งมีอำนาจ หรือยกเว้นข้อกฎหมายได้ ไม่เช่นนั้นเท่ากับว่าเราจะปกครองด้วยความรู้สึก ด้วยกระแส ทำให้สังคมไม่มีกฎเกณฑ์ ซึ่งในประเทศที่เจริญที่เป็นแม่แบบเรื่องนิติธรรม-นิติรัฐ ประเทศเหล่านั้นจะยึดเรื่องความเสมอภาคเป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะพูดถึงหลักการประชาธิปไตย ส่วนหลักนิติธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเปลี่ยนระบบการเมือง หรือปฏิรูป หลักการนี้เราทิ้งไม่ได้ แต่ก็เกือบจะล้มเหลวในการรักษาหลักการนี้ ดูจากเรื่องเล็ก จนถึงเรื่องใหญ่ ตั้งแต่กฎจราจร กฎหมายระดับท้องถิ่น ปัญหาธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เรื่อยมาถึงการทำผิดกฎหมายในข้าราชการและฝ่ายการเมือง ถ้าสังคมเรายังไม่จริงจังกับเรื่องเหล่านี้ ความคาดหวังว่าจะเห็นการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ทำตามกฎเกณฑ์ก็เป็นเรื่องยาก
เพราะฉะนั้น ประเทศไทยต้องแก้ไขและข้ามพ้นให้ได้ เพราะอนาคตเศรษฐกิจจะอิงกับตลาดโลก ซึ่งจะชี้ขาดว่าบ้านเมืองไหนสามารถแข่งขัน หรือเรียกความมั่นใจในการเข้ามาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เรื่องนี้จึงยังคงเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข
ขณะที่ภาระหน้าที่ของทุกคนต้องสร้าง "หลักนิติรัฐ" บนหลัก "นิติธรรม" ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฟันฝ่าวิกฤติเพื่อเดินหน้า ยังเป็นภาระที่สำคัญมาก หากถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไรและกำลังจะทำอะไรนั้น ตนเรียนว่ารัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าเคารพกฎหมาย ในเรื่องของการที่จะทำให้เกิดความสงบ คลี่คลายวิกฤตก็ต้องอิงกับเป้าหมายของรัฐ คือความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย โดยหาจุดที่เหมาะสมของระบบการเมือง
ผมได้แถลงนโยบายรัฐบาลว่าเราจะเดินหน้าปฏิรูปการเมือง ส่วนการปฏิรูปการเมืองจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือต้องทำอะไรนั้น มันก็จะครอบคลุมในตัวของมันเอง เพราะถ้าเขียนนโยบายว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความขัดแย้ง จะมีการกล่าวหาว่าแก้เพื่อใคร จึงพยายามหาความเห็นร่วมให้มากที่สุดในการออกแบบองค์กรในการปฏิรูปการเมือง
สำหรับความทุกข์ของผม และคนทำงานในวันนี้ คือพยายามหาคนที่คนยอมรับ ซึ่งมันไม่ง่าย ผมปรึกษากับประธานวิปฝ่ายค้านบ้างแล้ว และเป็นอย่างที่คิดคือเอ่ยชื่อใครมากี่คนก็จะบอกว่าไม่ใช่ ไม่เป็นกลาง ยาก แต่ผมคิดว่าจะเดินหน้าต่อ ส่วนเรื่องตัวบุคคลไม่ได้ก็จะยึดตัวสถาบัน และสถาบันพระปกเกล้าก็เหมาะสมที่สุด แต่ต้องถามฝ่ายค้านว่าต้องตัดสินด้วยองค์กรใด ผมคิดว่าสถาบันนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับต่อไป เพราะถ้ายึดตัวสถาบันเป็นหลักในการออกแบบน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ไม่แน่ใจว่าสำเร็จหรือไม่ เพราะต้องดูว่าฝ่ายค้านจะยอมรับหรือไม่ แต่จำเป็นต้องทำ
ด้าน "การบังคับใช้กฎหมาย" ในการดำเนินคดีกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลจะทำทุกอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการละเว้นหรือกลั่นแกล้งกัน เรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับทราบชัดเจน ว่าเป็นภารกิจที่ต้องทำ และฝ่ายค้านก็ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งถ้าพิจารณาเป็นคดี ต้องยอมรับว่าหลายเหตุการณ์ มองมุมในความผิดทางอาญาไม่ได้ ต้องมองในมุมของการเมืองด้วย เหมือนต่างประเทศที่มีระดับความผิดหลากหลายกว่าเรามาก ตรงนี้ต้องเรียนรู้พอสมควร
ความตั้งใจของผมคืออยากมีคณะบุคคลเข้ามาปรึกษาและสะสางตรงนี้ ซึ่งก็หายากเช่นกัน เวลานี้ได้คุยกับบุคคลท่านหนึ่ง พบกันแล้วครั้งหนึ่งและโทรศัพท์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ท่านไปทาบทามใคร ก็กลัวว่าเป็นภาระหรือกังวลว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ เพราะยืนท่ามกลางความขัดแย้ง เนื่องจากการแตกแยกตอนนี้ถึงขั้นลึกพอสมควร จึงหวังว่าจะตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันในความยุติธรรม อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
ด้านการทำงานของรัฐบาลที่โดนกดดันด้วยภาวะเศรษฐกิจของโลก จึงมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะหากทำไม่สำเร็จความขัดแย้งก็จะมากเช่นเดียวกัน แต่ความพยายามของรัฐบาลในการยึดนิติธรรมนิติรัฐ ทำให้เกิดการยอมรับในสังคมวงกว้างคือสิ่งที่เราจะผลักดันต่อไป
วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)