มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดว่า "ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น"
ดังนั้น หากจะสรุปปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 นั้น มี 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
1. ปัจจัยเสี่ยงเรื่องคะแนนเสียงในสภา ที่อาจจะมีการ "ซื้อส.ส.หน้าห้องน้ำ" ทำให้กฎหมายสำคัญๆ ที่รัฐบาลเสนออาจจะไม่ผ่านการพิจารณาในสภา โดยเฉพาะกฎหมายการเงิน หากไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
2. ปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่วิกฤตินี้ได้แพร่กระจายไปแล้วทั่วโลก ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เตรียมรับมือให้ดีก็มีผลต่อคะแนนนิยมในตัวนายกรัฐมนตรี ทันที
3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดการจากการบริหารภายในของคณะรัฐบาล ในอนาคต (กรณีทุจริตคอร์รัปชัน)
ขณะที่โอกาสของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 ก็มีอยู่เหมือนกัน คือ
1. การสร้างประชานิยม แนวใหม่ที่ไม่ใช่การถมเงินลงไปให้รากหญ้าเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการตรวจสอบ ควบคุมการใช้เงิน และการบริหารให้เงินงอกเงย หรือการหยิบเอานโยบาย "ปลูกต้นไม้ใช้หนี้" (แนวคิดคุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์) มาใช้ก็ยังเหมาะสมกับช่วงสภาวะโลกร้อน
2. โอกาสที่จะดึงฐานเสียงท้องถิ่นมาอยู่ในฝ่ายของตน ผ่านการโยกงบท้องถิ่น 100,000 ล้านบาท มาใส่ไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อถมกลับเข้าไปใหม่เพิ่มเม็ดเงินเป็นสองเท่า ซึ่งมาตรการนี้ท้องถิ่น ไม่มีเสีย มีแต่ได้กับได้ และที่สำคัญคือได้เพิ่มเป็นสองเท่าด้วย โอกาสที่รากหญ้าจะลืมเจ้าตำหรับประชานิยม ก็จะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ เพราะจากการสอบถามชาวอีสาน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เลือกทักษิณ เพราะทักษิณ เอาเงินมาแจก"
การแจกเงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 คือการฝังความคิดถึงของชาวอีสานที่มีต่อทักษิณ ให้เป็นอดีตที่โดนลืม จะไม่ให้ใครได้มีเวลามาคิดถึงทักษิณ อีกต่อไป
"เนวิน"-มท. กลไกทำงานมวลชนอีสาน-เหนือ
ดังนั้น จึงมีรายงานข่าวจากกลุ่มเพื่อนเนวิน ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ได้แจ้งให้แกนนำ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทราบถึงผลการหารือกับ เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ขอโควตา รมว.มหาดไทย เพิ่ม ทั้งนี้ ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ได้ตกลงกันมาก่อนหน้าที่กลุ่มเพื่อนเนวิน จะแยกตัวออกจากพรรคพลังประชาชน โดยกลุ่มเพื่อนเนวิน ให้เหตุผลว่า ต้องการใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย เข้าไปทำงานมวลชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงการเมืองที่ยังหนุน ทักษิณ ชินวัตร อยู่อย่างหนาแน่นที่สุด
กรณีของกลุ่มเพื่อนเนวิน อาจจะเรียกว่านี่คือรัฐมนตรีต่างตอบแทน และการใช้เนวิน "ย้อนเกล็ดนายใหญ่" ให้เหลือแต่หนังหุ้ม
แต่ข้อครหาเรื่องรัฐมนตรีต่างตอบแทน กลับไปปรากฎชัดเจนเมื่อ พบว่าโควตารัฐมนตรีประชาธิปัตย์ 17 ที่นั่ง นั้น คนในพรรคได้ไป 15 ที่นั่ง ส่วนอีก 2 ที่นั่งเป็น พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และเป็น วีระชัย คนนี้นี่เองที่ทำให้ "คนใน" พรรคประชาธิปัตย์ (นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ) เกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ
สุเทพ เทือกสุบรรณ ให้เหตุผลถึงการดึง วีระชัย วีระเมธากุล มาเป็นรัฐมนตรีในโควตาคนนอกของพรรค เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน เพราะเคยเป็นผู้จัดการธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศจีน และเป็นคนที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีนเป็นอย่างดี รวมถึงคนที่อยู่ในวงการธุรกิจ ที่สามารถประสานคนอื่นได้ เขาและหัวหน้าพรรค (อภิสิทธิ์) รู้จัก วีระชัย มาเป็น 10 ปี และคิดว่าคนอย่างนี้ ควรนำมาช่วยหัวหน้าพรรค และช่วยงานในพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับ วีระชัย วีระเมธากุล คุณสมบัติส่วนตัวผ่าน แต่ความเป็น "เขยซีพี" และความเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยกับ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่ทำให้เขาเหมือนทองที่หมองราศรี
อภิสิทธิ์ 1 ศึกษาบทเรียนรัฐบาล "ขิงแก่"
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นมีบทเรียนให้ต้องศึกษา เพื่อจะไม่ได้เดินซ้ำรอยการเมืองเก่านั่นคือการศึกษาการดำรงอยู่ และความเป็นไปของ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือรัฐบาล "ขิงแก" ที่มีที่มาจากทหาร ทำรัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร (19 ก.ย. 2549) จากนั้น ทหารคมช.ก็ตั้งรัฐบาล ตั้งสนช. และตั้งส.ส.ร.
ขณะที่ที่มาของการตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ 1 ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า "พลังสีเขียว" ได้เข้ามามีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนขั้นกันขึ้น
นี่เองที่เป็นที่มาของฉายานาม "หล่อลายพราง"
เหตุผลก็คือ อภิสิทธิ์ แม้จะมีความโดดเด่นในตัว แต่ด้วยวัยวุฒิที่ยังน้อย ทำให้ต้องมีพี่เลี้ยงคอยประคองซ้ายขวาโดยพี่เลี้ยง "ฝ่ายบู๊" คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค พี่เลี้ยง "ฝ่ายบุ๋น" คือ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
ยิ่งการตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ 1 มีการจับภาพของนักการเมืองหลุ่มหนึ่งได้เข้าพบปะหารือกับนายทหารระดับสูง ในค่ายทหาร ก็ตอกย้ำว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของอภิสิทธิ์ มิได้มาด้วยการกำชัยชนะหลังเลือกตั้ง แต่ได้มาในขยักที่สอง หลังจากพรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง (พลังประชาชน) ล้มเหลวในการบริหารราชการ (นายกฯสมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ก็ย่อมจะต้องเปิดโอกาสให้แก่พรรคลำดับรองลงมาจัดตั้งรัฐบาล
ภาพของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีลายพรางติดตัว ซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะสลัดคราบลายพรางนั้นออกจากตัวได้หรือไม่
ส่วน รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากหลายส่วนผสม ไม่ว่าจากคณะรัฐประหาร (คมช.) มาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่านี่คือการต่างตอบแทนตำแหน่งกัน
นอกจากนั้น การต่างตอบแทนของคณะรัฐบาลขิงแก่ และทหาร คมช. ยังปรากฎได้จากการเลือกบุคคลเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
การทดแทนตำแหน่งกันยังปรากฎใน บอร์ดรัฐวิสาหกิจคณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอร์ดการท่าอากาศยาน บอร์ดทีโอที และอีกหลายต่อหลายบอร์ดที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
รัฐบาลอภิสิทธิ์ กับ"วังวนแห่งอำนาจ"
การเปลี่ยนแปลงการเมือง ด้วยการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ "ขั้วอำนาจ" ในหลายๆ จุดจะต้องเขย่ากันใหม่ โดยเฉพาะเป็นธรรมเนียมเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ข้าราชการที่โดนโยกย้ายไม่เป็นธรรม ข้าราชการที่โยกย้ายมาเพื่อรับใช้การเมืองซีกอดีตรัฐบาล รวมถึงบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็มีอันต้องถึงคราวเปลี่ยนตัวด้วย
ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศ "พักรบ" ชั่วคราว และให้โอกาสรัฐบาล ได้ทำงานพิสูจน์ฝีมือ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ในฐานะการเมืองนองสภา หรือการเมืองภาคประชาชน
พันธมิตร แม้ประกาศถอย แต่เป็นการถอยอย่างไว้เชิง เหมือนช่วงแรกที่พันธมิตร ถอยในห้วงแรกของการตั้งรัฐบาล "ขิงแก่"
แต่พันธมิตรก็ประกาศว่าพร้อมที่จะกลับคืนมาชุมนุมอีกครั้ง หากเงื่อนไข 13 ข้อไม่ได้รับการตอบสนองหรือมีการบิดพริ้วจากรัฐบาล
อีกด้านของฟากความคิด กลุ่มคนเสื้อแดง แม้ประเมินว่าพวกเขามีจำนวนไม่มาก แต่ศักยภาพ หรือวิถีปฏิบัติการจากเหตุการณ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 15 ธันวาคม 2551 นั้นถือว่าพวกเขาไม่ได้เน้นที่จำนวน แต่เน้นประสิทธิภาพการทำลายล้างมากกว่า
ดังนั้น การใช้อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 จึงจำต้องระมัดระวัง บางครั้งอาจจะไม่ต้องเล่นเอง
โดยเฉพาะการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งจะต้องเขย่าอำนาจกันใหม่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือข้าราชการรายแรกที่อยู่ในเกมโยกย้ายเพื่อเขย่าเปลี่ยนอำนาจ และหากแม้ไม่ย้ายในเดือนมกราคม นี้ ก็ต้องมีการโยกย้ายเดือนเมษายน อีกระรอกหนึ่ง
นอกจากนั้น ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ก็อยู่ในข่ายของการปรับย้ายในครั้งนี้ด้วย ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ที่มาตามสายการบังคับบัญชาของซีกการเมือง ก็เป็นอีกหลายคนที่จะต้องโดนย้ายเพราะปรับสมดุลอำนาจใหม่
โดยส่วนหนึ่งของการปรับย้ายข้าราชการในครั้ง นี้ รัฐบาลอาจจะไม่ต้องลงมือเอง เพราะเท่ากับการ "เปิดหน้าสู้" มากเกินไป
ดังนั้น รัฐบาลสามารถจะฉวยจังหวะรอเวลาการชี้มูลหลายเรื่องหลายประเด็นของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ว่ากันว่าจะมีคณะรัฐมนตรี หลุดจากตำแหน่งไปหลายคน (คดีเขาพระวิหาร และคดีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลา ซึ่งนายกฯ ต้องการปรับครม.ที่มีรอยด่างออกไป) และยังมีข้าราชการตำรวจอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องสังเวยเลือด และชีวิตของประชาชนในวันที่ 7 ตุลาคม
กระนั้นในกระบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์”ในขณะทางหนึ่งก็มิอาจลืมเลือนว่า สภาพการแห่งกายภาพใน “สถานการณ์เฉพาะหน้า” ที่ส่วนหนึ่งเป็นทั้งจาก “ผลพวง”มาจากรัฐบาลที่แล้ว หรือจากปัจจัยความเป็นไปของประเทศในมิติ “ความขัดแย้ง”ของคนในชาติซึ่งขยายลุกลามออกมาจาก “ความคิดความเห็น”และ “ผลประโยชน์”ทางการเมืองของ “กลุ่มอำนาจ”ต่างๆ ในห้วงระหว่างปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ที่สิรินับรวม นายกฯได้ถึง ๓ คน (สมัคร สุนทรเวช,สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ไม่นับรวมนายกฯรักษาการ
แน่นอน “สถานการณ์เฉพาะหน้า”ที่เป็น “ปัญหา”เหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลในการเข้าจัดการ ภายใต้แรงกดดันเสียดทานเร่งเร้าให้แกว่งไกวจาก “กลุ่มการเมือง”ทั้งในและนอกสภา ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏตนโดยเปิดเผย..
ขณะเดียวกัน “ภารกิจ”(กู้ชาติ)ภายใต้ “สัญญา”(จัดการกับ “ทักษิณ”)และ “เงื่อนไข” (พันธมิตรฯ)ก็เป็นอีกปัจจัยแห่งแรงเสียดทานที่ซุ่มซ่อนรอคอยการสำแดง จากทั้ง “ภายใน” (กลุ่มภายในพรรค,กลุ่มเพื่อนเนวิน,พรรคร่วมรัฐบาล) และ “ภายนอก”(พันธมิตรฯ,นปช.,ต่างประเทศ,ปัจจัยเศรษฐกิจ) ในโมเดลที่คล้ายห้วงยุคสมัยของรัฐบาลของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ที่แม้จะมี “บทเรียน” เพื่อนำมาแก้ไขในสภาพความต่าง ที่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์”ไม่ได้อยู่ในสภาพรัฐบาล ๒ นายกฯ(พล.อ.สุรยุทธ์กับพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.)เช่นรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ของ “พล.อ.สุรยุทธ์” แต่อย่าลืมว่า “เงื่อนไข”ใน “ตัวแปร”ของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” นั้นจะมีความซับซ้อนที่มากกว่า
โดยเฉพาะเป็น “ความซับซ้อน” ที่มีผล ทำให้เกิดสภาวะการ “ยากต่อการควบคุม” ได้ตลอดเวลา กับความหลากหลายกลุ่มประโยชน์ และกลุ่มการเมืองที่เข้ามารวมอยู่ในที่เดียวกัน ภายใต้การตรวจสอบควบคุมที่เข้มข้นมากกว่าในอดีต และภายใต้ “กรอบ”ที่รัฐบาลโดย “นายกฯอภิสิทธิ์”ตั้งไว้เพื่อเป็น “เกราะ”กับ “๙กฎเหล็ก” ที่เมื่อผนวกเข้ากับ “๑๓กรอบ”ที่ แกนนำพันธมิตรฯประกาศไว้สำหรับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในทางกลับกัน ก็ยิ่งเป็นคล้าย “อานัติสัญญา” ที่ผูกมัดทั้งมาตรฐานและการประเมินผลรัฐบาลของประชาชน ในการเคลื่อนรัฐนาวาลำนี้ไปในหนทางที่ ณ ภาพที่เห็นตรงหน้า คล้ายเป็นเส้นทางที่สวยงามไร้เกาะแก่งสันดอนหรือหุบเหว ที่ต่างจากรัฐบาลของ “สมัคร สุนทรเวช”ที่เห็นชัดถึง หลุมพราง กับดัก และดงระเบิด ในรายทาง
หาก “รัฐบาลอภิสิทธิ์”แต่กลับคล้ายเหมือนใน “รัฐนาวาสุรยุทธ์”ที่หนทางสวยงาม ดุลแห่งอำนาจทั้งกองทัพ(๔ เหล่า ๓ ทัพ) และ พันธมิตรฯและกลุ่มทุน เปิดรับสนับสนุน ที่ก็ต้องรอคอยวันพิสูจน์ต่อไปว่า แต่เมื่อเดินเข้าไปสู่เส้นทางกจะเผชิญ “กับดัก”และหลุมพรางมากมายภายใต้ปัจจัยที่ “ยากควบคุม”ข้างต้นแบบที่รัฐบาลสุรยุทธ์ โดนมาก่อนหรือไม่
เพราะในสภาพ “สัญญาณ”ที่ปรากฏเพียงแค่การขยับออกตัวของรัฐบาลก็เริ่มเห็นเค้าลางที่ไม่น่าไว้วางใจบางประการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์จาก “ภายใน”ของพรรคประชาธิปัตย์ และจากแรงกระเพื่อมผ่านไปสู่พันธมิตรฯและความท้าทายต่างๆผ่านรัฐมนตรีสายพันธมิตรฯอย่าง “กษิต ภิรมย์”รัฐมนตรีต่างประเทศ (ที่ทำให้หลายคนอดนึกไปถึง “ธีรภัทร เสรีรังสรรค์”ไม่ได้)
ที่สุดแล้วในสภาพการณ์ที่คล้ายเหมือนอดีตดังกล่าวของรัฐบาล แน่นอนในชีวิตจริงใครต่อใครตั้งแต่ “นายกอภิสิทธิ์”คงมิอาจสลัดหลุดจากภาพ “หล่อลายพราง”ไปได้ กับที่มาและที่ไป ที่เชื่อมโยงและผนึกแน่นกับภาพของกองทัพในความเป็นเอกภาพและสนิทชิดเชื้อ เฉกเช่นรัฐบาลขิงแก่ ของ “พล.อ.สุรยุทธ์”แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัจจัยการเสื่อมถอยหรือสิ้นสภาพอำนาจรัฐของรัฐบาลเพราะหลายคนยังเชื่อว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะรักษา “สมดุล”แห่งอำนาจตรงนี้ได้ และแม้กระทั่ง “ปัจจัยตกกระทบ”จาก “มวลชน”ฝ่ายตรงข้าม(เสื้อแดง)ก็อาจไม่ใช่ปัญหาหลัก
ทว่าประเด็นสำคัญของปัญหากลับอยู่ที่ “ปัจจัยแทรกซ้อนภายใน”(คนกันเอง) อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรมผลประโยชน์ในรัฐบาล(กองกำลัง+ทุน+มวลชน+สื่อ+นักการเมือง)ที่พร้อมพลิกข้างเปลี่ยนขั้วไปตาม “เงื่อนไข”และวิถีแห่ง “ผลประโยชน์” ที่จะส่งผลกระทบกับรัฐบาล ทำนอง “ศึกนอกจบ..รบกันเองภายใน”และสิ่งเหล่านี้จะลุกลามกินลึกและทำลายตัวรัฐบาลไปเรื่อยๆเอง(หากไม่แก้ไขหรือรักษาสมดุลให้ได้..ซึ่งยากมาก)โดยที่ “ฝ่ายตรงข้าม”เพียงแค่ยืนดูและเข้ามา(แทรกซ้อน)เก็บผล ผลักรุนร่างกายที่ไร้วิญญาณคล้ายซากศพให้ล้มลง..สุดแต่ว่าระยะเวลาจะสั้นหรือยาวแค่ไหนก็เท่านั้น.