หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : ทำเนียบรัฐบาล
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ครั้งที่ 39 ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. ถึง 1 ก.พ. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า การร่วมประชุมประจำปีผู้นำเศรษฐกิจโลกทั้งภาครัฐบาลและเอกชนของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะได้พบกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้จัดงานโดยจะได้พูดคุยกันเรื่องของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม แต่ไม่ได้มีผลผูกพันทางการเมือง หรือทางกฎหมาย
"เป็นการประชุมที่เปิดกว้างให้ผู้นำภาคธุรกิจและภาครัฐมาแสดงความคิดเห็น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า รอบหลายปีที่ผ่านมาปรากฏว่าการประชุม WEF กลับมีผลผูกมัดในเชิงนโยบาย คือ มีการนำไปปฏิบัติ เวที WEF จึงเป็นที่สนใจของผู้นำโลกที่จะเข้ามาแสดงจุดยืนความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก ปัญหาทุนนิยม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่กำลังพัฒนารวมทั้งแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเจริญเติบโต
ในการสัมมนากลุ่มย่อย WEF จะมีผู้นำที่หลายหลายเข้ามาร่วมเป็นผู้อภิปราย บางกลุ่มเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยจะแสดงปาฐกถาเปิดการเสวนาในบางกลุ่ม และอาจเป็นผู้ร่วมเข้าฟังในบางกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำอื่นๆ เข้ามาร่วมเสวนา บรรยากาศเป็นไปแบบสบายๆ แต่หัวข้อการพูดคุยค่อนข้างเข้มข้น โดยสิ่งที่เราจะพูดจะมีเฉพาะส่วนที่เราเข้มแข็ง อาทิเช่น เรื่องการค้า การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในวันนี้ 30 ม.ค. เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ได้กล่าวเปิดเสวนาเรื่อง "การเจริญเติบโต ผ่านการเดินทางและการท่องเที่ยว " เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยเข้มแข็ง ในแง่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมการเดินทาง
"ท่านนายกฯ ได้นำเสนอว่า ในยามที่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น ถ้าเรามีการท่องเที่ยวการเดินทางที่ดีจะพยุงผลกระทบจากเศรษฐกิจได้ โดยไม่ต้องคิดถึงการส่งออกมากนัก แต่การส่งออกยังเป็นเรื่องสำคัญจะต้องมีมาตรการหนุนการส่งออก"
นายปณิธาน เปิดเผยด้วยว่า แม้ว่าต่างชาติเขาซื้อสินค้าเราไม่ได้ แต่เขาสามารถมาเที่ยวในไทยได้ คนไทยเที่ยวกันเอง เศรษฐกิจก็จะประคับประคองตัวได้ แต่จะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน ซึ่งในเชิงบริหารของไทยได้ให้มีการยกระดับให้มีการรักษาความปลอดภัยโดยการร่างกฎหมายออกมา และนอกจากมาตรการรักษาความปลอดภัยแล้ว ไทยยังมีมาตรการจูงใจยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า 3 เดือน ลดค่าใช้จ่ายเที่ยวบินเหมาลำที่จะลงจอดสนามบิน มาตรการลดภาษีต่างๆให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว
"การที่ไทยได้ไปร่วมครั้งนี้ถือเป็นการโชคดีที่เป็นสัญญาณว่าไทยได้กลับมามีผู้นำเข้มแข็งและพร้อมจะเดินหน้าประเทศต่อไป"
ขณะที่กำหนดการช่วงบ่ายวันที่ 30 ม.ค. นายกรัฐมนตรี เข้าประชุมร่วมกับผู้นำโลกหลายประเทศ เพื่อถกปัญหาของวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยนายกรัฐมนตรีไทย มีโอกาสนำเสนอประสบการณ์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกตอนนี้เกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาเคยประสบวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้มาแล้วอย่างรุนแรงและไทยเอาตัวรอดมาได้อย่างไร มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มความเข้มแข็งสถาบันการเงินอย่างไร
“ท่านนายกฯ พร้อมเล่าให้ฟังในเวทีโลก ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจโลก พร้อมกับมีการเสนอให้ปรับโครงสร้างของทุนนิยมโลก ปฏิรูปสถาบันการเงินในระบบทุนนิยม อาทิเช่น ไอเอ็มเอฟ และ สถาบันอื่นๆ"
นายปณิธาน กล่าวอีกว่า โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี จะคุยเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เชื่อว่าเรื่องนี้หลายประเทศจะสนใจฟัง โดยจะมีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นายบิล เกตส์ เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ ประธานมูลนิธิบิล เกตส์ รวมไปถึงประธานบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่หลายแห่งของสหภาพยุโรปเข้าร่วมด้วย
"โอกาสนี้นายอภิสิทธิ์ จะกล่าวถึงความได้เปรียบของไทยในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ซึ่งเวลานี้หลายประเทศต้องการอาหารจากไทยเพราะมีหลายประเทศที่ประสบกับวิกฤติทางด้านอาหาร ก็จะระงับการส่งออกหรือไม่ก็ตั้งกำแพงภาษี โดยสรุปแล้วเวทีนี้ไทยจะมีบทบาทสูงในฐานะเป็นผู้ผลิตที่หลายประเทศสนใจ"
ส่วนช่วงเย็นนายอภิสิทธิ์ จะพูดคุยถึงบทบาทของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมกับเศรษฐกิจโลก 20 ประเทศ ตรงนี้จะลงรายละเอียดของการปฏิรูปโครงสร้างทุนนิยม บทบาทของกลุ่มประเทศ G20 ที่ตกลงจะทำงานร่วมกันในเรื่องความโปร่งใส ความรับผิดชอบในแง่ทุนนิยม เรื่องการออมและการปฏิรูปสถาบันต่างๆ และทำตามนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างทุนนิยมโลกให้มีความเป็นธรรม และในช่วงค่ำจะมีการพบปะกับนักธุรกิจและผู้นำประเทศต่างๆ อีกครั้ง
"นายกรัฐมนตรีจะประกาศต่อหน้าซีอีโอบริษัทยักษณ์ใหญ่นานาประเทศว่า ประเทศไทยเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ รัฐบาลไทยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-ระยะกลางออกมาแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับพอสมควรและอาจจะมีการกระตุ้นอีกระลอกหากไม่ได้ผล เพราะมีการคาดการณ์ว่าอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะหนัก ซึ่งอาจจะมีการทบทวนโครงการและผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนระยะกลาง และระยะยาวต่อ หลังจากนั้นเชื่อว่านานาประเทศจะเข้าใจว่าไทยกลับมาทำงานผลักดันนโยบายผ่านสภา เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ แม้ในทางการเมืองจะมีการชุมนุมประท้วงมีความเห็นแตกแยกกันบ้าง แต่ความร้อนแรงและการเผชิญหน้าก็ลดลงเรื่อยๆ การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมารัฐบาลได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ที่เหนือความคาดหมาย ส่วนต่างประเทศก็ลดระดับการเฝ้าระวังของไทยลง รวมถึงยกเลิกมาตรการเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย อัตราของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็มากขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าด้านการเมืองและเศรษฐกิจเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาการเมืองโดยพยายามตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองจากคนที่ได้รับการยอมรับเพื่อมองหาแนวทางแก้วิกฤติทางการเมือง ตรงนี้ต่างประเทศจะมั่นใจว่า ไทยมีกระบวนการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ และรัฐบาลจะมีมาตรการอื่นๆออกมาเป็นระยะเพื่อให้ต่างประเทศเห็นว่า ไทยมีความพยายามและความตั้งใจจริง
"ตอนนี้ต้องรอผลจากการทำงานเหล่านี้ในระยะเวลา 3-6 เดือนจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าน่าจะเห็นผลบ้างอย่างน้อยยังดีกว่าในช่วงที่เกิดความขัดแย้งที่อยู่ในสภาวะชะงักงัน อย่างไรก็ตามเรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลอย่างเดียว ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี เราทำทุกอย่างเต็มที่แล้วตลาดที่เราจะขายยังมีปัญหา ไทยก็ทำอะไรได้ไม่มากจึงใช้เวทีการประชุมดังกล่าวบอกให้นานาชาติรู้ว่าเราทำเต็มที่ และในฐานะไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิต นานาประเทศคงอยากรู้ว่าไทยมีความคิดอย่างไรต่อประเด็นต่างๆในเวทีโลก"
หลังเดินทางกลับจากเวที WEF รัฐบาลจะประเมินการตอบรับของต่างประเทศ ซึ่งหากได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นจะใช้รูปแบบนี้ในเวทีอื่นๆ ต่อไปเพราะนายกรัฐมนตรีมีแผนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ยังญี่ปุ่น และจีน รวมถึงประเทศต่างๆ ในอาเซียนหลายประเทศด้วย
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความ
แสดงความคิดเห็น