วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552
ประธานวุฒิชี้รมต.ลงมติงบไม่ขัด177
หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : รัฐสภา/ทำเนียบรัฐบาล
ประธานวุฒิสภา ชี้รัฐมนตรีลงมติผ่านงบกลางปีไม่น่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากเพื่อไทยติดใจยินดียื่นป.ป.ช.-ศาลรธน.ชี้ขาด เผยคำวินิจฉัยศาลรธน.เคยยกคำร้อง 30 ส.ว.กรณีครม."สมชาย" มีเอี่ยวงบ 45,000 ล้าน เลขานุการกมธ.ยกร่างฯ ชี้ฝ่ายค้านคิดเลยเถิด ด้านเพื่อไทย บี้ 3 รมต.โหวตรับงบเพิ่มเติมให้ลาออก พ่วงไล่รมต.ปลากระป๋อง-รมต.ผ้าห่ม ให้เวลาถึงวันจันทร์ หากไม่ออก จะยื่นศาลรธน.จัดการ
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมที่จะเข้าชื่อ 1 ใน 4 เพื่อยื่นถอดถอน 3 รัฐมนตรีที่ลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 เพราะทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 วรรคสอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญห้ามรัฐมนตรีที่เป็นส.ส.ลงมติในเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย ว่า เขาเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกัน ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันโดยตรง
ประธานวุฒิสภา บอกว่า สมมติว่ามีคนเอาหนังสติ๊กไปยิงไก่ แล้วเกิดไก่วิ่งไปชนหม้อแกงหก จนทำให้ไม่สามารถกินได้ แล้วอย่างนี้จะไปโทษคนยิงไก่ได้อย่างไร แต่ถึงอย่างไรหาก ส.ส.ยื่นเรื่องมาก็ต้องตรวจสอบรายชื่อ รวมถึงข้อหา ก่อนจะส่งไปให้ป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะนักกฎหมายตีความคำว่า มีส่วนได้เสีย อย่างไร นายประสพสุข กล่าวว่า ความหมายคืองบประมาณที่ลงไปอยู่ในโครงการแล้วส.ส.มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ถ้าเป็นงบประมาณโดยรวมแสนกว่าล้านบาทแล้วนำไปใช้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างนี้ ก็ต้องดูว่าโดยตรงหรือไม่
บรรทัดฐานศาลรธน.กรณีมีส่วนได้เสีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้าที่ ส.ว.30 คน นำโดยน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้าชื่อกันและยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า มีการแปรงบประมาณเพิ่ม 45,000 ล้านบาท โดยครม. เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจาก ครม.ที่มีสถานะเป็นส.ส.ด้วย ซึ่งมีข้อห้ามแปรญัตติงบประมาณ มาตรา 168 วรรค 6
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยว่า การที่ครม.มีมติให้เสนอเพิ่มงบประมาณ (45,000 ล้านบาท) ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นการกระทำในฐานะฝ่ายบริหาร มิได้กระทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 6
กมธ.ยกร่างฯรธน.2550ชี้ไม่ขัดรธน.
ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า มาตรา 177 มีเจตนารมณ์ให้มุ่งตีความโดยแคบป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.โหวตสนับสนุนในเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเอง หรือในส่วนของการเสนอกฎหมายนั้นรัฐธรรมนูญไม่ให้โหวตในกฎหมายที่ตัวเองมีส่วนได้เสียโดยตรง
"การตีความของพรรคฝ่ายค้านนั้นกว้างขวางเกินไปไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เป็นการตีความที่ทำให้การทำงานทำไม่ได้ เพราะการยึดว่ารัฐมนตรีเป็นผู้เสนอกฎหมายแล้วลงมติไม่ได้ก็เท่ากับว่า ครม.ทั้งชุดลงมติกฎหมายที่ออกมาจาก ครม.ไม่ได้เลย ถือว่าตลกมาก เลยเถิดไปกันใหญ่ การใช้กฎหมายต้องทำอย่างเป็นปกติไม่ใช่ตีความเพื่อเล่นงานใครคนใดคนหนึ่ง"
ที่รัฐสภา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ แถลงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งตรากฎเหล็ก 9 ข้อ ที่รัฐมนตรีต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย นายกฯจึงต้องรับผิดชอบด้วย และหากนายกฯ ยังไม่ดำเนินการอะไร หรือรัฐมนตรียังไม่ลาออก จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาทันทีในสัปดาห์หน้า
พท.ยื่นหลักฐานป.ป.ช.เพิ่มกรณี"บุญจง"
ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหานายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย แจกเงินพร้อมแนบนามบัตร โดยเป็นภาพวิดีโอ และได้ทำหนังสือขอรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากทราบว่าที่แจกกันในวันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่หัวคะแนนนายบุญจง
นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงกรณีนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า อีก 2 สัปดาห์จะเปิดเผยข้อมูลคนใกล้ชิดนายวิฑูรย์ ซึ่งเป็นส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำตัวเป็นเจ้าแม่ในกระทรวงพม. ที่มีอักษรย่อชื่อเล่น "บ" ซึ่งควรโดนตรวจสอบโดยมาตรา 266 เพราะใช้อำนาจ ส.ส.ไปก้าวก่ายข้าราชการประจำ และหาผลประโยชน์ จึงขอเรียกร้องไปยังนายกฯ ว่าหากไม่รีบตัดตอนนายวิฑูรย์ ก็จะลามไปถึงคนใกล้ตัวนายกฯ เพราะเจ้าแม่ "บ" คนนี้ สนิทสนมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น