วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเพื่อไทยโมฆะตั้งแต่ยังไม่ร่าง

หมวดข่าว : วิเคราะห์

โดยกองบรรณาธิการ



ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย พูดถึงแนวคิดออกพ.ร.บ.อภัยโทษ และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับทุกคดีอาญาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ว่า หากได้รับมอบหมายจากพรรคให้ทำหน้าที่หัวหน้าทีมปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ก็จะเสนอที่ประชุมพรรคเพื่อขอมติ ชูแคมเปญที่จะขออนุญาตจากประชาชนว่า บ้านเมืองมีเรื่องจำเป็นต้องทำ 3 เรื่องคือ


1.หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ใครก็ตามที่โดนลงโทษตามคำพิพากษาของศาล จะขออนุญาติออกพ.ร.บ.อภัยโทษให้กับทุกคน

2.ทุกคนที่ถูกกล่าวหาหรือมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล จะแก้ปัญหาด้วยการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย

3.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง

"เป็นการบอกให้ประชาชนรู้ว่าถ้าเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราก็จะทำในเรื่องเหล่านี้ ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็เลือกพรรคเพื่อไทยให้มาก แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เลือกเรา ก็จบ ถือเป็นการขอประชามติจากประชาชนโดยตรงว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เสนออย่างนี้ปัญหาก็ไม่จบเสียที ก็วัดกันด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งไปเลย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และยังไม่ได้เริ่มยกร่างใดๆ ทั้งสิ้น และที่เสนอออกพ.ร.บ.จะมีเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น ไม่รวมคดีการเมืองอย่างคดียุบพรรค"

ที่ร.ต.อ.พูดมา นั้น เป็นผลมาจากการสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โนอินมาปลุกระดมลูกะรรคเพื่อไทยให้พร้อมใจกันสู้ จึงได้มีประกาศ "ปฏิญญาเขาใหญ่" ซึ่งนโยบายออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่นักการเมืองที่โดนเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง รวมอยู่ด้วย

นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เตือนให้ระวังว่า ความคิดเช่นนั้นจะเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มต้น เหตุเพราะ

ประการแรก ชื่อกฎหมายก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่อว่าหลักการ เหตุผล และแม้ชื่อร่างกฎหมายนี้ก็น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง บทมาตราในร่างกฎหมายนี้คือการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ต้องคำพิพากษาในลักษณะดังกล่าว จึงขัดกับรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติที่ต้องพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประการที่สาม ส.ส.และ ส.ว. มีพันธกิจในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามที่ได้ปฏิญาณตน โดยเฉพาะคือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การนิรโทษกรรมจึงกระทบต่อการทำหน้าที่และจะทำให้เป็นการทำหน้าที่ไม่

ประการที่สี่ การยุบพรรคนั้นเป็นผลจากคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภาด้วย ความผูกพันมีทั้งในส่วนคำวินิจฉัยและคำตัดสิน ซึ่งในส่วนคำวินิจฉัยนั้นที่มีผลผูกพันอันเป็นนัยยะสำคัญคือคำวินิจฉัยที่ว่า

"พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ดำเนินการทางการเมืองเพื่อประชาชน แต่เป็นการดำเนินงานทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว เป็นการดำเนินงานทางการเมืองที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นการดำเนินงานทางการเมืองทีเป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

คำวินิจฉัยนี้ผูกมัดและผูกพันทุกองค์กรให้จำเป็นต้องถือและปฏิบัติตาม ดังนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจจะนิรโทษกรรมให้แก่นักการเมืองเหล่านั้นได้ และความพยายามใด ๆ ที่จะนิรโทษกรรมทางการเมืองอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงส่อว่าจะเป็นโมฆะ และต้องระมัดระวังด้วยว่าผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายอาจถูกกล่าวหาได้ว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

ไม่มีความคิดเห็น: