วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กรรมาธิการปปช.สภาฯเปิดเอกสารลับปมร้อนปลากระป๋องเน่า

หมวดข่าว : การเมือง

โดยทีมข่าว : รัฐสภา

ปลัดปพม.ก้นร้อน กรรมาธิกาปปช.สภาฯ เปิดเอกสารปลากระป๋องเน่า 2 ฉบับโชว์สื่อ แฉพิรุธส่งมอบไม่ตรงกัน ตั้งข้อหาทำเอกสารเท็จ จี้แจงด่วน ขู่มีสิทธิ์โดนเด้งฐานผิดอาญา และจะตามสอบการขาย-ภาษีย้อนหลังบริษัทผู้ผลิต

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติให้รับเรื่องกรณีนายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ ร้องขอให้ตรวจสอบกรณีการแจกถุงยังชีพซึ่งมีปลากระป๋องที่หมดอายุ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้าชี้แจง เนื่องจากมีหนังสือทางราชการ 2 ฉบับที่มีความขัดแย้งกันเอง

ทั้งนี้ ฉบับแรกนายวัลลภ ได้ทำหนังสือที่พม. 0201/1493 ลงวันที่ 19 ม.ค.2552 ถึงนายวิฑูรย์ ในฐานะรมว.การพัฒนาสังคมฯในขณะนั้น โดยระบุว่า ขอชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า ทางสำนักงานปลัดกระทรวงได้รับการประสานแจ้งว่านายวิเชน สมมาตร มีความประสงค์จะบริจาคถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในจ.พัทลุง จำนวน 5 พันชุด โดยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอง ทางสำนักงานปลัดจึงได้ประสานแจ้งไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.พัทลุง (พมจ.พัทลุง) ทราบ เพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค โดยมีถุงยังชีพที่ส่งมอบและดำเนินการแจกจ่ายให้ประชาชนแล้วจำนวน 1,500 ชุด ทั้งนี้ในช่วงปีงบประมาณ 2552 ที่ผ่านมาสำนักงานปลัดฯ ไม่เคยมีการจัดซื้อถุงยังชีพแต่อย่างใด

นายชาญชัย เปิดเผยว่า จากการประสานขอข้อมูลจากทางอย.และคณะกรรมการที่ลงไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตปลากระป๋อง นายทนง ทองกิ่งแก้ว เจ้าของโรงงานที่ผลิต ภายใต้บริษัท ทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ จำกัด ระบุว่าเป็นการขายหน้าโรงงานแต่ไม่ทราบคนจัดซื้อ เป็นการจ่ายเงินสด ส่วนจะนำปลากระป๋องชุดดังกล่าวไปบริจาคหรือไม่นั้นไม่ทราบ

"มีข้อน่าสงสัยว่าภายหลังเกิดเหตุนายทนง กลับบอกว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บปลากระป๋องล๊อตดังกล่าวคืนมาทั้งหมด ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่พูดมาตั้งแต่ต้น"

อย่างไรก็ตาม พมจ.พัทลุง ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรว่า นายวิเชน ไม่ได้บริจาคของที่จ.พัทลุง แต่เป็นการจัดส่งมาจากส่วนกลาง ซึ่งนายชาญชัย กล่าวว่า แสดงว่าหนังสือที่ปลัดกระทรวงทำถึงรัฐมนตรีกับการชี้แจงของ พมจ.พัทลุง ขัดกัน เพราะมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งทางพม.จ.พัทลุง ได้ทำถึงสำนักงานปลัดกระทรวงเลขที่ พท.0004/132 ซึ่งระบุว่าตามหนังสือที่พม.0201/707 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2552 แจ้งว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับการประสานจากนายวิเชน ที่มีความประสงค์บริจาคถุงยังชีพ โดยจะบริการจัดส่งให้ถึงพื้นที่จำนวน 5 พันชุดนั้น ทางพม.จ.พัทลุง ได้รับถุงยังชีพจำนวน 1,500 ชุด ซึ่งจัดส่งถึงพื้นที่วัดท่าสำเภาเหนือ ต.ชัยบุรี อ.เมือง พัทลุง เมื่อวันที่ 11 ม.ค2552 เรียบร้อยแล้ว แต่ได้มีการเขียนด้วยลายมือกำกับในตอนท้ายของหนังสือว่า “ไม่มีเพราะรับที่พัทลุง”

ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบว่าเอกสารใดเป็นเอกสารเท็จแน่ โดยปลัดกระทรวงต้องรับผิดชอบไปเต็ม ๆ หากพิสูจน์ได้ว่านายวิเชน ไม่ได้ไปบริจาคในพื้นที่อาจต้องโดนดำเนินคดีอาญา ฐานทำเอกสารรายงานเท็จต่อรัฐมนตรี

"ผมไม่ได้กล่าวหาว่าปลัดกระทรวงผิด แต่ท่านต้องมาชี้แจงในสัปดาห์หน้า ถ้าไม่มา หรือชี้แจงไม่ตรงกับความจริงผมจะแจ้งความดำเนินคดีอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และอาจถึงขั้นถูกย้ายทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเอาผิดถึงอดีตรมว.การพัฒนาสังคมฯ ได้หรือไม่ นายชาญชัย กล่าวว่า ต้องสอบไปตามข้อเท็จจริง โดยไม่ได้กำหนดว่าขอบเขตอยู่ที่ใคร สอบถึงใครคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครปิดข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้จัดเตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อง่ายกับการตรวจสอบ ในส่วนของนายทนง ทางกรรมาธิการฯต้องเรียกมาสอบด้วย ถ้าไม่มาชี้แจงก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญาเช่นกัน และอาจจะให้กรมสรรพากรลงไปสอบถึงการเสียภาษีที่ผ่านมาด้วย แต่เราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้จะตรวจสอบย้อนหลังด้วยว่าบริษัทดังกล่าวได้เคยขายสินค้าให้กับกระทรวงกี่ครั้ง หากพบว่าผิดปกติรับรองมีคดีอาญาตามมาอีกหลายเรื่องแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญชัย ได้แจกเอกสารการชี้แจงของนายทนง ต่ออย. โดยเอกสารระบุถึงข้อเท็จจริงกรณีปลากระป๋องมีกลิ่นคาวปลาว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ผลิตปลากระป๋องตามมาตรฐานความสะอาด แต่กลินควาปลาน่าจะมาจากเครื่องคว่ำน้ำปลายที่หมุนเร็วเกินไป จนไม่สามารถทิ้งน้ำในกระป๋องที่เกิดจากการนึ่งออกไปได้หมด ทำให้เติมซอสมะเขือเทศในกระป๋องไม่ได้ตามขนาด เมื่อไปผสมกับน้ำที่เกิดจากการนึ่งปลาจึงมีกลิ่นคาวปลาอย่างแรง

ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์ของอย.ระบุไม่พบสารปนเปื้อนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดเรื่องทางบริษัทได้ส่งพนักงานลงไปตรวจสอบ และเรียกเก็บสินค้าคืนทั้งหมด พร้อมทั้งกล่าวขอโทษต่อชาวบ้าน และมอบเงินช่วยเหลือไปส่วนหนึ่งผ่านทางผู้ใหญ่บ้านเรียบร้อยแล้ว และได้รับคำยืนยันจากผู้ใหญ่บ้านในที่เกิดเหตุว่าไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายจากปลากระป๋องดังกล่าว

ส่วนข้อเท็จจริงกรณีวันเดือนปีที่ผลิตไม่ตรงกับความจริงนั้น ในเอกสารได้ยอมรับว่ามีการตีพิมพ์วันเดือนปีที่ผลิตไว้ล่วงหน้าเพื่อเก็บเอาไว้ขายในเดือนถัดไป เนื่องจากโรงงานจะหยุดการผลิตในเดือนส.ค.2551 โดยไม่ทราบว่าเป็นการผิดตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และพร้อมขอรับโทษต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัท ยืนยันว่าบริษัทไม่มีผู้ถือหุ้นเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง หรือมีตำแหน่งที่ปรึกษาเป็นนักการเมืองตามที่ตกเป็นข่าว ดังนั้น จึงขอความเมตตาสงสารบริษัทด้วย เพราะยังไม่ทราบว่าจะกลับมาทำธุรกิจเมื่อใด และจะส่งผลมูลค่าความเสียหายมากมายจนไม่อาจรับได้

ไม่มีความคิดเห็น: