วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

“บัญญัติ”ชี้“วิฑูรย์”ทบทวนตัวเอง

หมวดข่าว : การเมือง
โดยทีมข่าว : ทำเนียบรัฐบาล
“บัญญัติ”แนะ“วิฑูรย์”หากแจงปลากระป๋องเน่าแล้วสังคมไม่เชื่อ ควรทบทวนตัวเอง ชี้ เสียงวิจารณ์จะเป็นตัวชี้วัด พรรคการเมือง-นักการเมืองไม่ควรละเลย และรัฐบาลรู้ดีว่าต้องระวังไม่ให้มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ประธานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังประสบปัญหาโครงการแจกถุงยังชีพช่วยผู้ประสบอุทกภัย จ.พัทลุง แล้วมีปลากระป๋องเน่า ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐมนตรีต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ให้คลี่คลายลงให้ได้ ถ้าสร้างความเข้าใจไม่ได้ก็ต้องพิจารณาว่าหลังจากรัฐมนตรีชี้แจงแล้ว เสียงสะท้อนของสังคมเป็นอย่างไร ตรงนี้คือภารกิจของการเมืองยุคนี้ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วมาก และประชาชนก็พร้อมที่จะแสดงออกว่าชอบหรือไม่ชอบ เสียงสะท้อนนั้นจะปรากฎจากการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นตัวชี้วัด ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองละเลยไม่ได้
ต่อข้อถามว่า จนถึงวันนี้จับเสียงสะท้อนของประชาชนได้หรือยังว่าประชาชนจะเอาอย่างไร กรรมการสภาที่ประธานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทัศนคติของประชาชน ที่มีต่อนักการเมืองเรื่องคร์อรัปชันค่อนข้างที่จะรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ตระหนักในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในกฎ 9 ข้อที่นายกฯพูดเอาไว้กับครม.
"ผมจำได้ว่าในข้อที่ 2 ชัดเจนในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และอีกข้อคือความรับผิดชอบของนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบมากว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยซ้ำไป นายกฯต้องดูปฏิกิริยาที่สะท้อนกลับมาด้วย"
นายบัญญัติ กล่าวว่า ที่น่ายินดีที่สุดคือนายวิฑูรย์ บอกว่า ถึงอย่างไรก็ต้องรักษามาตรฐานของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องความซื้อสัตย์สุจริตไว้ และจะไม่ให้เรื่องราวของตัวเองเป็นภาระกับรัฐบาล และให้นายกฯมีโอกาสแก้ไขปัญหาไปได้ คิดว่าถ้าชี้แจงแล้วคนยังไม่เชื่อ ไม่ว่าตัวเองจะผิดหรือไม่ผิด ก็ต้องกลับมาคิดกันแล้วว่าควรจะช่วยกันรักษาระดับความเชื่อมั่นที่จะต้องมีในรัฐบาลโดยรวมอย่างไร โดยวัฒนธรรมประเพณีของพรรคเมื่อไหร่ก็ตามหากประชาชนไม่สบายใจก็ต้องพึงทบทวนต่อสิ่งเหล่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรฐานของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอย่างไรต่อกรณีนี้ นายบัญญัติ กล่าวว่า มาตรฐานของพรรคพูดได้ว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหัวใจของอุดมการณ์ในการทำงานการเมือง วันนี้นายวิฑูรย์ พูดว่าถ้าผิดจริงก็ไม่ต้องเป็นห่วง นายกฯ ก็บอกว่ากลับมาจากต่างประเทศแล้วจะดู รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้อย่างแรกก็คือผลงานของรัฐบาล และตนเคยบอกกฎ 5 ข้อที่บอกว่าไม่ และเอาไว้ให้รัฐบาลทำ คือ ไม่แบ่งแยก ไม่พูดจาท้าทาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีคำมั่นสัญญา และไม่ทุจริต คอร์รัปชัน อย่าให้ประชาชนระแวงแคลงใจเรื่องนี้เด็ดขาด เพราะประชาชนรับไม่ได้กับการทุจริต
ต่อข้อถามว่า เท่าที่ฟังหาเสียงของท่านเหมือนกับว่ารัฐมนตรีที่โดนกล่าวหาควรจะต้องแสดงสปิริต กรรมการสภาที่ประธานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่ตัวรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่คงละเลยปัญหานี้ไปไม่ได้ รัฐบาลต้องรักษาระดับความเชื่อมั่นต่อประชาชนสูงมากใน 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องเศรษฐกิจและ 2.ความเชื่อมั่น ว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้เข้ามาหาเศษหาเลย วิกฤติการเมืองทำให้คนขาดความเชื่อมั่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการคดโกงทางการเมืองนั้น ณ วันนี้รัฐบาลนี้จะต้องระมัดระวังว่าจะไม่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และเชื่อว่านายกฯ ตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่าถ้าพูดเรื่องคอรัปชันประชาชนก็เชื่อไว้ก่อนแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เดาใจนายกฯออกหรือไม่ว่าจะเอาอย่างไรกับกรณีนี้ นายบัญญัติ กล่าวว่า นายกฯ คงคิดเหมือนที่เขาพูดเอาไว้ว่า รัฐบาลที่เข้ามาภายใต้วิกฤติเช่นนี้ รัฐบาลต้องรักษาระดับความเชื่อมั่นของประชาชนเอาไว้ เพราะความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความไว้วางใจมันเป็นปัจจัยข้อแรกในการทำงาน ถ้าคนไม่เชื่อมั่น ทำอะไรก็ยาก นายกฯคงต้องคิดอ่านเพื่อรักษาความเชื่อถือเอาไว้ให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: