วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

โมเดลการเมืองใหม่ สภาประชาภิวัฒน์


(1)

การเมืองใหม่ ที่ดูเหมือนจะเป็น “แฟชั่นวิชาการ” เพราะบรรดานักวิชาการต่างพากันกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้กันเป็นทิวแถว
การเมืองใหม่ ที่เริ่มเห็นข้อเปรียบเทียบความแตกต่างหลังจากที่เราใช้รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา
กว่า 76 ปีที่การเปลี่ยนผ่านการปกครองมาสู่รูปแบบปัจจุบัน
ประชาธิปไตยระบบตัวแทน เป็นรูปแบบการปกครองที่เรานำต้นแบบมาจากชาติตะวันตก
แต่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนของไทย เราได้ “ผู้แทน” ที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ ในยุคแรก ๆ เราได้ผู้แทน “หมาหลง” ได้ผู้แทน “ข้าวนอกนา” คือ หิ้วกระเป๋า (เงิน) ไปลงเลือกตั้งในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง เริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการใช้ “เงิน” เพราะฉะนั้น จึงต้อง “ถอนทุน” จากการขายโหวตในสภา และการหากินกับงบส.ส.สร้างถนนหนทาง สร้างศาลารอรถโดยสารประจำทาง (งบพัฒนาจังหวัด)
ต่อมา ในยุคที่นายทุน เริ่มที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นเอง เริ่มคัดตัวแทน (นอมินี) เพื่อส่งลงเลือกตั้งเป็น “ผู้แทน” ทำให้ “ผู้แทน” ลดเกรดตัวเองลง จากการลงทุนเอง มาเป็นลูกจ้างนายทุนนายเงิน เพราะต้อง “ขายตัว” ด้วยการเพิ่มมูลค่าของตนเองจากความเป็นอดีตส.ส. และบวกด้วยความเป็นไปได้ในการจะได้รับเลือกตั้ง เพื่อแลกเงิน 20-50 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง
บรรดาผู้แทนเหล่านี้ ชอบที่จะเป็นแบบนี้เพราะไม่ต้องลงทุนความเสี่ยงด้วยเงินของตัวเอง แต่จะมีนายเงินนายทุนมาเป็นผู้ลงทุนความเสี่ยงด้วยตัวเอง
แม้รูปแบบการลงทุนเพื่อเป็น “ผู้แทน” จะแตกต่างออกไปจากยุคแรก ๆ แต่การถอนทุนของ “ผู้แทน” ยังคงเหมือนเดิม แต่การ “ถอนทุน” ของผู้ที่เป็นนายทุนนายเงิน ถอนทุนจาก “งบประมาณประเทศ” ซึ่งมีมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาท
ความเหลวแหลกเหล่านี้ทำให้เกิดการโกงกินกันมากมายมหาศาล
ระบบตัวแทนที่เลือกกันเข้ามาเพื่อเป็นข้าทาสรับใช้นายทุนนายเงิน

ไม่มีความคิดเห็น: