วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

โมเดลการเมืองใหม่ สภาประชาภิวัฒน์ (2)


การปล้นชาติ ของนักการเมืองในคราบ “ผู้แทน” และ “นายทุนนายเงิน” เหล่านี้ นานเข้าเกิดระบาดไปที่ระบบราชการ ธนาคาร การศึกษา เกิดระบบทุนสามานย์ผูกขาด ลามไปถึงการแทรกแซงสื่อ บิดเบือนข่าวสาร เพื่อหลอกลวงประชาชน จนกลายเป็นหายนะของประเทศ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงพิสูจน์แล้วว่าระบอบทุนสามานย์ในคราบประชาธิปไตยเลือกตั้ง ได้ทำลายประเทศไทยในทุก ๆ ด้านทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม สร้างความขัดแย้งในสังคมด้วยการส่งเสริมค่านิยมทางวัตถุ
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขวิกฤติเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และโดยเร็วที่สุด คือ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งจะต้องกำหนดนโยบายให้รอบคอบรัดกุม พร้อมกับการตั้ง “สภาประชาภิวัฒน์” ควบคู่กันไป โดยที่ไม่ไปแตะต้องระบบรัฐสภาเดิม (สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา)
รัฐบาลแห่งชาติ
วิกฤติคณะรัฐมนตรี ที่สืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรีที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ (สมัคร สุนทรเวช) ได้ทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ด้วยการยินยอมให้นภดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ไปลงนามข้อตกลงร่วมเพื่อให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และลามมาถึงปัญหาการสูญเสียดินแดน ตามที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ออกมาประท้วงประเทศไทย และขู่ว่าจะฟ้องไปที่ศาลโลกด้วย
มติคณะรัฐมนตรีครั้งนั้น มีผลทำให้ไทยเราต้องสูญเสียดินแดน อันเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 มาตรา 120 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต แต่วันนี้ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดนั้น (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่คณะรัฐมนตรี มีการยืนยัน (18 ก.ย.) ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดเดิมเกือบทั้งหมด
นั่นแสดงว่า เป็นการท้าทายศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรม และไร้ซึ่งคุณธรรม ของบรรดานักการเมืองเหล่านี้
นอกจากการทำผิดรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว พรรคร่วมรัฐบาล ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการเพื่อส่งฟ้องพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคคือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค เพราะกรรมการบริหารพรรคไปทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง (ได้ใบแดง)
เมื่อตัวบุคคลที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำผิดรัฐธรรมนูญ และเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และพรรคแกนนำรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณายุบพรรค จึงมองไม่เห็นหนทางที่จะทำให้การเมืองไทยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวิกฤติความชื่อมั่นทั้งจากภายใน และนอกประเทศ
การตั้งรัฐบาล แห่งชาติจึงเป็นเหมือนทางรอดที่จะนำพาประเทศออกไปจากหล่มโคลนแห่งวิกฤตินี้
รัฐบาลแห่งชาติ คือการเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาบริหารประเทศ โดยที่ยังคงยึดตามรัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะรัฐมนตรีเปิดโอกาสนำ “คนนอก” มาทำหน้าที่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดตามระบบโควตา คนที่สมควรเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ต้องไม่มีความผิดที่ด่างพร้อย ไม่เป็นตัวแทนนายทุนนักการเมืองขายชาติ
รัฐบาลแห่งชาติ จะกำหนดนโยบายระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขจะต้องไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือตัวเองหรือพวกพ้องให้พ้นความผิด และต้องจัดตั้ง “สภาประชาภิวัฒน์” ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในทางการเมือง ให้มีการรับรู้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะเป็นปัญหาใหญ่ จนบานปลายเสียหายอย่างกว้างขวาง เช่นเป็นอยู่ในทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: