วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แผลในใจเหยื่อ


ปลอกกระสุนแก๊สน้ำตาที่เก็บได้บริเวณหน้ารัฐสภา และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังเหตุการณ์ 7 ตุลามหาวิปโยค มีคำเตือนภาษาอังกฤษ ระบุว่า “อย่ายิงตัวบุคคล เพราะจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้” แต่เกือบตลอดทั้งวัน เสียงคำรามคล้ายระเบิดดังออกจากปลายกระบอกปืน โดยที่ผู้ลั่นไกกระสุนให้วิ่งออกจากลำกล้องนั้นสวนทางกับคำเตือนดังกล่าว
กระสุน และควันจากระเบิดแก๊สน้ำตา ตกใส่ผู้ชุมนุมไม่เพียงนำไปสู่การสูญเสียทางกาย แต่นั่นคือมัจจุราชที่พรากชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปจากร่าง หลายรายแม้จะไม่เสียชีวิต แต่ต้องทุพลภาพไปตลอดชีวิต ดังเช่น มิถุนา อุ่นแก้ว ชายหนุ่มวัย 26 ปี จากจังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งสูญเสียข้อเท้าซ้าย จากแรงอัดของกระสุนแก๊สน้ำตา
มิถุนา เล่าถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ ขณะนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า เขาเป็นการ์ดพันธมิตร ซึ่งประจำอยู่ที่บริเวณเชิงสะพานอรทัย แต่ในช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม มีการเรียกระดมการ์ดให้เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา และไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่วันนั้น (7 ตุลาคม)
“ตอนประมาณ 5 ทุ่มจนถึงเช้าเหตุการณ์ยังปกติ ไม่มีอะไร แต่เห็นตำรวจเสริมกำลังเข้ามาเยอะมาก ประมาณ 6.20 น.ก็ได้ยินเสียงดังตูม ผมก็หันไปเห็นคนที่มาชุมนุมนอนหมอบลงกับพื้น แล้วห่างไปประมาณ 1 เมตร เห็นพี่ผู้ชายคนหนึ่งอยู่สภาพนั่งพับขา ขาขาดสองข้างเลือดนองเต็มพื้น ผมจะเข้าไปช่วย กำลังจะก้าวเท้า ก็ได้ยินเสียงดังบึ้ม คราวนี้กระสุนตกตรงหน้า ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองโดน ไม่รู้สึกอะไร แต่มองไปที่ปลายข้อเท้าเห็นเลือดไหลออกมา”
เด็กหนุ่มคนนี้ทำงานเป็นช่างเชื่อมอยู่ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง และเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรระยอง มาก่อนพร้อมเพื่อนร่วมงานอีก 9 คน ต่อมาเดินทางมาฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตร เป็นช่วง ๆ แรกๆ ไป-กลับ และตัดสินใจสมัครเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยโดยอยู่กลุ่มเดียวกับการ์ดอาสามจาก จ.ปัตตานี
“พอรู้ตัวว่าข้อเท้าขาด ผมก็เขย่งหลบมานั่งพิงกำแพง ตอนนั้นตำรวจยิงเข้ามานับไม่ถ้วน เห็นพี่อีกคนหนึ่งกระดูกฉีกออกมาเลย ผมเสียใจมีตัวเองต้องเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่เสียใจเท่าที่ตำรวจทำรุนแรงกับประชาชน ผมเจ็บและปวดบาดแผลมาก ก็ร้องให้แต่น้ำตามันไม่ไหล”
มิถุนา บอกว่า ทุกครั้งที่มาชุมนุมญาติพี่น้องก็จะเตือนไม่ให้มาเพราะเกรงเป็นอันตราย แต่ทุกครั้งก็จะบอกกลับไปว่า จุดที่ชุมนุมมีความปลอดภัย แม้จะมีการปะทะกับตำรวจบ้างก็แค่ฟกช้ำ รุนแรงที่ที่สุดแค่เข่าแตก หัวแตก คงไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น
“มีคนถามทุกครั้งว่า ได้ค่าจ้างเท่าไหร่ ผมบอกได้เลยว่า พวกผมที่มากันทั้งหมดไม่มีใครได้รับค่าจ้างเลยแม้แต่บาทเดียว ผมแค่อยากรู้ว่าเขามาชุมนุมกันทำไม พอมารับทราบข้อมูลแล้ว ก็เห็นด้วยกับเขา...เจ้านายไม่ว่า เพราะว่าเขาก็มากันทั้งครอบครัว”
เด็กหนุ่มจากศรีษะเกษ กล่าวทิ้งท้าย ว่า หากรักษาบาดแผลหายจนสามารถใส่ข้อเท้าเทียมได้ หากการชุมนุมยังไม่เลิก ก็จะกลับร่วมชุมนุมต่อ เพราะสิ่งที่อยากเห็นที่สุดหากมีการเปลี่ยนแปลง คือ การได้นักการเมืองที่มีคุณธรรม และไม่คดโกงเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม อาการบาดเจ็บจากพิษกระสุนแก๊สน้ำตาของมิถุนา ยังถือโชคดีกว่า รุ่งทิวา ธาตุนิยม หญิงวัย 46 ปี จาก จ.นครราชสีมา หลายเท่า ในวันนั้นร่างของ รุ่งทิวา ได้รับการส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีด้วยสภาพกะโหลกศรีษะแตก แขนหัก และนัยน์ตาข้างซ้ายหลุดออกจากเบ้าตา และแม้ว่าคณะแพทย์ที่ทำการรักษาจะผ่าตัดสมองไปแล้ว แต่อาการรับรู้ของ รุ่งทิวา ยังไม่มีการตอบรับ นอกเหนือจากสัญญาณชีพจรที่ยังคงบอกว่า เธอยังมีชีวิตอยู่และหากรอดชีวิตก็มีโอกาสเป็นเจ้าหญิงนิทราสูงมาก เนื่องจากเนื้อสมองส่วนหนึ่งสูญหายและบอบช้ำจากแรงอัดกระแทกอย่างรุนแรง
พี่สาวของ รุ่งทิวา เล่าให้ฟังว่า รุ่งทิวา เดินทางออกจากบ้านพักที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ด้วยรถตู้พร้อมกับเพื่อน ๆ จำนวนหนึ่งในช่วงบ่ายโมง หลังจากทราบเหตุการณ์ว่ามีการสลายกลุ่มพันธมิตร ที่หน้ารัฐสภาในช่วงเช้าตรู่ แม้สามีจะเตือนว่า อันตราย และไม่อยากให้มาเข้าร่วมชุมนุมก็ตาม
“เขาหน้าจะมาถึงที่ทำเนียบประมาณ 16.00 น แล้วก็เข้าไปที่หน้า บช.น. ปกตินิสัยเขาเป็นคนชอบความยุติธรรม เป็นนักสู้ ไม่ชอบเห็นในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมาครอบครัวก็ไม่ได้ห้ามปราม แต่สามีเขาไม่อยากให้มา เพราะกลัวจะเกิดอันตราย เขาก็ไม่ค่อยเชื่อ ปกติเขาไป ๆ มา ๆ ไม่ได้มาร่วมชุมนุมทุกวัน”
รุ่งทิวา มีบุตรสองคนเป็นชายวัย 21 ปี และหญิงวัย 15 ปี ป้าของเด็กทั้งสองบอกว่า ขณะนี้หลาน ๆ ยังไม่ค่อยทราบว่าแม่มีอาการอย่างไร แต่จะคอยถามว่าแม่จะกลับบ้านได้เมื่อไหร่ ซึ่งหากดูจากอาการตามที่แพทย์แจ้งให้ญาติทราบก็ค่อนข้างรุนแรง
พ.ญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพียงว่า สมองของผู้ป่วยมีอาการบอบช้ำมาก ทั้ง ๆ ที่สภาพร่างกายยังมีอาการตอบสนองในทางที่ดีพอสมควร แต่มีเลือดออกในสมองเพิ่ม และโอกาสที่จะรอดชีวิตมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
“หมอตอบไม่ได้ว่า แก๊สน้ำตาทำให้ผู้ป่วยเป็นเช่นนี้หรือไม่ ตอนรับเข้ามาพบว่าแผลสกปรกมาก เนื้อสมองช้ำเหมือนถูกแรงอัดระเบิดกระแทกอย่างรุนแรง กะโหลกศีรษะร้าว และตามลำตัวมีบาดแผล และแขนหัก”
สภาพการณ์ของ รุ่งทิวา ในทางการแพทย์เรียกว่าอยู่ในขั้นโคม่า แม้โดยรวมแล้วอาการจะไม่แตกต่างจาก ธัญญา กุลเก้ว ชายวัย 55 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บขาขาด จากเหตุล้อมปราบประชาชนที่บริเวณด้านข้างรัฐสภา ขณะนี้แพทย์โรงพยาบาลวชิระพยาบาล ได้รักษาโดยตัดขาไปแล้ว อาการทั่วไปยังสลึมสลือไม่รู้สึกตัว และอาการน่าเป็นห่วง และยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ต่อไป เ
ช่นเดียวกับอาการของ อดิสร สนใจแท้ ที่ได้รับบาดเจ็บเสียแขน ซึ่งยังคงนอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยญาติ ๆ ของทั้งสองครอบครัวปฏิเสธ ที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากสภาพจิตใจไม่พร้อมและยังอยู่ในอาการช๊อคกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างไม่คาดฝัน
การยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกการเรือน ถนนราชวิถี ของเจ้าหน้าตำรวจที่ตั้งกำลังอยู่ที่ถนนแยกพิชัย เมื่อเวลา 10.00 น.(7 ต.ค.) แม้จำนวนกระสุนแก๊สน้ำตาจะมีปริมาณน้อยกว่า แต่ 5 นัดแรกที่ตกถึงพื้นก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากเกือบจะเหยียบกันตาย เนื่องจากควันของแก๊สดังกล่าวทำให้เกิดอาการแสบระคายเคืองไปทั่วผิวหน้า และผิวหนัง บางรายมีอาการสำลักควัน หายใจไม่ออกจนแพทย์อาสารวมทั้งหน่วยทหารเสนารักษ์จากกองร้อย 01 พัน 3 รอ.(กองพลที่หนึ่งรักษาพระองค์ จำนวน 28 นาย) ต้องรีบลำเรียงผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาลวชิระพยาบาลทันที
จำปี ปุราทะ วัย 55 ปี ผู้ร่วมชุมนุมจากเขตดินแดนกำลังใช้ผ้าชุบน้ำและยกน้ำในขวดพลาสติกราดลงไปที่บริเวณลำคอของสามี เธอเล่าว่า เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า หลังจากทราบว่าตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มพันธมิตร ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จึงชวนสามี และเพื่อนบ้านออกมาให้กำลังใจ โดยเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเช่นหน้ากากป้องกันควันพิษ และผ้าขนหนู แว่นกันควัน และขวดน้ำไว้ป้องกัน
“ตำรวจทำรุนแรงกับประชาชนเกินไป เรามีแต่มีเปล่า ไม่มีอาวุธ ทำไมต้องยิงกระสุนแก๊สน้ำตาใส่จนมีคนได้รับบาดเจ็บจนขาขาด พวกเราจะไม่ถอยหนี ตอนบ่ายจะกลับบ้านไปพักเอาแรง และตอนค่ำ ๆ จะออกมาใหม่ เราไม่ต้องการให้ ส.ส. เข้าประชุม ก็แค่มาปิดถนน แม้ผู้มาชุมนุมส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุแต่บอกได้เลยว่าไม่ถอย”
วิทยา อยู่เย็น ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกควันแก๊สน้ำตา บอกว่า มาถึงเขาดินตั้งแต่ 7 โมงเช้า เนื่องจากเส้นถนนราชวิถี ปิดเส้นทางจราจรรถเมล์ผ่านจึงต้องลงเดินก่อนจะถึงแยกสวนจิตรลดา และคืนนี้จะไม่กลับบ้านเพราะห่วงว่าจะมีการสลายกลุ่มพันธมิตร จึงต้องอยู่เป็นเพื่อนเพื่อให้กำลังใจกัน
“ตำรวจแย่มากทั้ง ๆ ที่กินเงินเดือนของประชาชน แต่กลับมาใช้ความรุนแรงกับคนที่เสียภาษีให้ทุกเดือน ๆ ถ้าเขาปล่อยให้เราชุมนุมเราก็ไม่ได้ทำอะไร 3-4 เดือนก็อยู่ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร นายกฯ (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) คนนี้ปากว่าตาขยิบ เขาบอกว่าจะใช้สันติวิธี จะเจรจา ปากพูดอย่างมือทำอีกอย่าง กระสุนนัดแรกที่เขาทำร้ายประชาชน เขาก็ไม่มีความชอบธรรมปกครองประเทศแล้ว”
ภัครพล สดส่าน การ์ดอาสาพันธมิตร วัย 24 ปี เล่าว่า กลับไปที่บ้านพักเขตสายไหมในช่วง 4 ทุ่มของคืนที่ผ่านมา (6 ต.ค.) และเมื่อทราบข่าวว่ามีตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มพันธมิตร จึงกลับเข้ามาชุมนุมอีกครั้ง เพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนแก่เข้ามาเป็นทัพหน้าประจันหน้ากับตำรวจ
“ช่วงที่ยืนอยู่ด้านหน้าพร้อมการ์ดคนอื่น ๆ จู่ ๆได้ยินเสียงดังตูม แล้วควันก็ลอยขึ้นมา ผมทนแสบไม่ได้ จึงวิ่งออกมาขอน้ำล้างหน้า แสบไปทั้งตัวแล้วเหม็นกลิ่นแก๊สมาก บางคนที่อยู่ด้วยกันล้มทั้งยืนเลย มีผู้หญิงคนหนึ่งทรุดลงหายใจไม่ออก หมอต้องรีบให้รถพยาบาลนำตัวส่งไปที่ราชวิถี ผมยังโดนควันไม่มากนัก หมอเอายามาหยอดแล้วให้นั่งพัก”
ภัครพล บอกว่า หลังจากหายแสบหน้าแสบตาแล้วก็จะกลับไปเป็นการ์ดต่อ เพราะไม่อยากเห็นคนแก่ที่มาร่วมชุมนุมมาเป็นการ์ดอาสาเพราะน่าสงสาร
ส่วนบรรยากาศรอบ ๆ บริเวณ ตลอดบริเวณถนนราชวิถีมาจนถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกำลังวิ่งหาน้ำเพื่อล้างแก๊สน้ำตาได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยดังกล่าว นำน้ำขวดมาบริจาคให้จำนวนมาก และต่อมาอีกประมาณ 15 นาทีได้มีกลุ่มพันธมิตร ที่กระจายตัวอยู่ได้เข้ามารวมตัวกันอีก และเข้าไปยึดพื้นที่บริเวณถนนพิษณุโลก เต็มแนวไปจนถึงบริเวณหน้ารัฐสภา ยาวไปจนถึงบริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า
ในขณะที่ด้านหน้ารัฐสภา กลุ่มพันธมิตร ได้ร้องด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนประจันหน้าโดยมีเพียงรั้วกั้นกลางว่า “ไอ้เ....ย” เสียงดังรับกันเป็นทอด ๆ โดยใช้มือตบเสียงสนั่น พร้อมทั้งมีการนำ ยา น้ำอาหารเจ และอาหารกล่องมาแจกให้กับผู้ร่วมชุมนุมอย่างทั่วถึง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความครับ