วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไทย

ตลอดระยะเวลา 60 ปี พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงคอยชี้แนะนำทางให้คนไทยก้าวเดินอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นดั่งแสงสว่างแห่งชีวิตเสมอมา เบื้องหลังความสุขของอาณาประชาราษฎร์ คือการทรงงานโดยไม่มีวันหยุดของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์นี้

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ปัญหาต่าง ๆ มากมายของประเทศไทย ทำให้ต้องทรงงานหนักราวกับไม่มีที่สิ้นสุด แม้กระทั่งทุกวันนี้ วันที่ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษาแล้วก็ตาม ธรรมแห่งพระราชายังคงดำรงมั่นเช่น 60 ปีที่ผ่านมา

แม้ไม่ได้เตรียมพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่ธรรมแห่งพระอัจฉริยะภาพอันสมเด็จพระราชชนนี ทรงสั่งสอนสั่งสมเป็นบุญคุณอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน

พระราชภาระแห่งพระราชา ทำให้ทรงหันมาศึกษาศาสตร์ ทางสังคมวิทยา และการปกครอง และศาสตร์ทั้งปวงนี้ทรงนำมาเป็นหลักปกครองแผ่ไปทั่วขอบขันธสีมา และไพศาลสู่สากลประเทศในเวลาต่อมา
พระราชาผู้ทรงสั่งสมความสมถะ ความมีเหตุผล ทศพิธราชธรรม และความเป็นพหูสูต จากสมเด็จพระราชชนนี มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรับ
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงราชศัตราวุธ รับพระราชภาระแห่งประมุขของแผ่นดินสยาม บรมกษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ยามนั้นประเทศที่กำลังยากจน มีผืนดินถูกทำลาย มีสายน้ำที่ขาดหาย มีโรคภัยคุกคาม มีราษฎรยากไร้ มีมากมายปัญหา หัวใจแร้นแค้นหลายล้านดวงพุ่งตรงสู่ความหวังแห่งพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ และครั้งนั้น ในท่ามกลางมหาสมาคม ทรงเปล่งพระธรรมิกราชวาจา เป็นพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ต่อมา วิธีการที่ทรงแก้ปัญหาทุกปัญหาถือเป็นศาสตร์ที่เราคนไทยควรได้ศึกษา

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร จะมีแพทย์หลวงตามเสด็จเพื่อรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ แต่ภาพความเจ็บป่วยของราษฎร ที่ปรากฎเบื้องพระพักตร์ทำให้มีพระราชประสงค์ให้แพทย์หลวง หันไปเยียวยาประชาชนของพระองค์ ต่อมาทรงพบผู้เจ็บป่วยเฝ้ารอรับเสด็จเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพระราชทานหน่วยแพทย์ต่าง ๆ มีผู้ป่วยหนักผู้พิการ กลายเป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า ดอยบางแห่งคนธรรมดาไปไม่ได้เพราะอันตราย คนที่ไม่สบายที่โน่นก็ลำบากไม่มีหมอไป ทรงตั้งหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปรักษาชาวบ้าน

ความเจ็บป่วยของราษฎร ทรงบันทึกไว้ในพระบรมราชวินิจฉัย ว่า ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุหลักคือราษฎรขาดความรู้ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่โภชนาการและการรักษาเบื้องต้น กลายเป็นต้นเค้าโครงการหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์

นอกจากนี้ แผ่นดินไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ความจริงได้ปรากฏต่อเบื้องพระพักตร์ ว่า ความยากจนสยายปีกอยู่ทั่วไป

“เราต้องตอบแทนความรักของประชาชนด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะบำบัดความทุกข์ของเขาจึงตัดสินพระทัยว่าการจะเสด็จไปไหน ๆ แล้วแจกผ้าห่ม แจกเสื้อผ้า เป็นการถมมหาสมุทร อย่างไรก็ช่วยไม่ได้หมด ทางที่ดีรับสั่งว่า ต้องลงไปสอบถามว่า ความทุกข์ของเขาอยู่ที่ไหน เพราะเหตุใดจึงอดอยากเหตุใดข้าวจึงไม่ได้ผล”

(พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2526)

20 ปีให้หลังเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลให้ความสำคัญในการโดยเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทำงานช่วยเหลือราษฎรถวายอย่างเป็นรูปธรรม
พล.อ.เปรม จึงให้ตั้งคณะกรรมการประสานงานพิเศษอันเนื่องมากจากโครงการพระราชดำริ

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงงานต่อเนื่องแม้จะดึกดื่นเพียงใดแผนที่ผืนใหญ่ยังทรงกางอยู่ต่อหน้าพระพักตร์เพื่อถวายรายงานเรื่องราวบนแผ่นดิน ความเชี่ยวชาญส่วนพระองค์ทำให้ทรงทอดพระเนตรได้มากกว่าคนทั่วไป และนี่คือปฐมบทแห่งการเสด็จพระราชดำเนินสู่ดินแดนทุรกันดารของประเทศ

ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า “แฟ้มที่เห็นนั่นคือแฟ้มข้อมูลหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านในอาณาจักร จะบอกว่าอาณาบริเวณนั้นมีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร พระองค์ท่านจะทรงวิเคราะห์ด้วยแผนที่” เมื่อเสด็จถึงที่ทรงงานจริง ได้ปรากฏต่อเบื้องพระพักตร์ และพระองค์ทรงสอบถามข้อเท็จจริงและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรของพระองค์ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น: