วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"ทักษิณ"พลิกเกมอ้อนแฝงปลุกระดมเผชิญหน้า

นักวิชาการหลายสำนักเผยผิดคาด "ทักษิณ" โฟนอินพึ่งพระบารมี พลิกเกมแบบเจียมตัว ยากตีความ ชี้ เสื้อแดง เปิดเกมวัดพลังพร้อมห้ำหั่นเสื้อเหลือง เต็มเหนี่ยว แนะ "สมชาย"ล้มเลิกความคิดตั้ง ส.ส.ร.3 หยุดชนวนเหตุนองเลือด

ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ"วิเคราะห์เหตุการณ์หลังคืนวันที่ 1 พ.ย." โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่า การจัดเวทีความจริงวันนี้สัญจรเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ย.ออกมาค่อนข้างดี ไม่มีการเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ถือเป็นวิธีการที่เหมาะสม แต่จะเหมาะสมมากกว่าหากจะไม่จัดเลย
การประกาศจัดเวทีด้วยการเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นพรีเซ็นเตอร์ เชิญชวนคนให้มาแสดงพลังมหาศาลที่เขามีอยู่ ทำให้เห็นว่าพลังของเสื้อแดง และเสื้อเหลืองพร้อมจะเผชิญหน้ากันเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น เราต้องขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ว่าไม่ควรมีการเผชิญหน้ากันระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง และกล้าที่จะตัดสินในเรื่องการตั้ง ส.ส.ร. 3 เพราะเป็นชนวนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้า

“ บนเวทีความจริงวันนี้คุณทักษิณ ได้พยายามพลิกสถานการณ์ด้วยการใช้ท่าทีเจียมตัว อ่อนน้อมนุ่มนวลว่าอยากจะกลับบ้านและบอกให้ประชาชนหาทางกลับให้และขอพึ่งพระบารมีนั้นก็ถือเป็นถ้อยคำที่ขึ้นอยู่กับว่าจะตีความกันอย่างไร โดยสามารถตีความได้สองทาง คือ การขอให้ประชาชนที่เป็นพลังเสื้อแดงช่วยให้เขาได้กลับบ้าน

ส่วนการขอความเมตตาต่อสถาบัน นั้น ความเมตตาต่อสถาบันก็ตีความได้หลายๆ อย่าง ซึ่งส่วนตัวไม่อยากพูดขอให้ทุกคนคิดกันเองว่าเป็นรูปแบบไหน

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า การที่ทุกฝ่ายจะบอกว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงก็เป็นการพูดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีเท่านั้น แม้ไม่ได้พกอาวุธปืน มีด แต่ก็มีการใช้คำพูดที่ยั่วยุให้เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม เมื่อฝ่ายตรงข้ามถูกทำร้ายอีกฝ่ายก็จะแอบดีใจ ซึ่งถือเป็นความรุนแรง เพราะในใจทุกฝ่ายมีความรุนแรงอยู่

ดังนั้น สถาบันศาสนาจะต้องออกมาชี้นำให้สังคมได้ตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ความรุนแรงที่อีกฝ่ายเป็นคนอื่นไม่ใช่พวกเดียวกันถือเป็นความรุนแรงที่เป็นอันตรายมาก ซึ่งจะนำไปสู่การห้ำหั่นกัน

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงกระบวนการยุติธรรมและมีผู้เสนอให้ถวายฎีกานั้นตนเห็นว่าขณะนี้ต้องบอกว่ากระบวนการยุติธรรมในคดียังไม่สิ้นสุด เพราะมีเวลาอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน เราจึงบอกไม่ได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิด จึงอยากเรียกร้องให้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างนี้ไม่ต้องถวายฎีกาเพื่อสู้คดี แต่ถ้ากระบวนการสิ้นสุดแล้วก็สามารถถวายฎีกาได้ เพราะถือเป็นพระราชอำนาจของในหลวง

"ไม่ควรไปกดดันด้วยการล่ารายชื่อเป็นหมื่นเป็นแสน ถวายฎีกาแค่เพียงคนเดียวหรือสองคนก็ได้แล้วไม่จำเป็นต้องล่ารายชื่อ"

นายเอกพันธุ์ ปิณฑวนิช นักวิชการจากศูนย์ศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.ไม่ว่าฝ่ายพันธมิตร และรัฐบาล หากรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าให้มีส.ส.ร. 3 ก็จะมีแนวโน้มเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับ 7 ต.ค. หากรัฐบาลยังไม่หยุดและมีเหตุนองเลือดเกิดขึ้น ผู้รับชอบจะต้องเป็นรัฐบาล รวมทั้งนปช.และ หากมีการเคลื่อนไหวการชุมนุมอีกแกนนำจะต้องรับผิดชอบ

นายเอกพันธุ์ ยังกล่าวถึงการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า เป็นจุดที่สังคมก้าวไม่พ้นทักษิณเสียที ต้องกลับมาสู่ เสื้อแดงเพิ่มขึ้นมากขนาดนั้นเกรงว่าพันธมิตร ก็พร้อมจะแสดงกำลัง ด้วยการระดมมวลชนเสื้อเหลืองมากขึ้น ถ้าพันธมิตร เพิ่มขึ้น นปช.ก็เพิ่มขึ้นอีก ไม่คิดว่าจะเป็นทางออกที่คลี่คลาย

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งหลังจากเกิดเหตุ 7 ต.ค.จะคลี่คลายไปบ้าง แต่หลังจากนี้คิดว่าแนวโน้มความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น อาจถึงขั้นนองเลือดครั้งที่ 4 เพราะจะเป็นการบวกสถานการณ์ 7 ต.ค.และ 2 ก.ย.เข้าด้วยกันเพราะมีนปช.เข้ามาด้วย อาจจะลุกลามเป็นสงครามการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเราประคองสถานการณ์มาได้กว่า 100 วันแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดเงื่อนไขเพื่อหลีกเลี่ยง โดยทั้งสองฝ่ายทั้งพันธมิตร และนปช.ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและงดความเคลื่อนไหวไม่ให้เกิดการปะทะ สิ่งใดที่เป็นอาวุธก็ควรไม่นำเข้ามาในที่ชุมนุม

สังคมไทยต้องเตือนทั้งสองฝ่ายให้ยึดกติกาเป็นหลัก ส่วนรัฐบาลต้องสรุปบทเรียนเหตุการณ์ 7 ต.ค.

ขณะที่ตำรวจ และทหาร ก็ควรสรุปว่าพลังของนปช.ที่ออกมาเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.)หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เช่น การปฏิวัติ พลังเหล่านี้ก็จะออกมาต่อต้าน

“การเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้นพรรคร่วมรัฐบาลควรต้องชะลอกระบวนการออกไปก่อน เพราะขณะนี้กระบวนการไม่ได้รับการยอมรับ ถ้าเดินหน้าต่อไปชนวนความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ถ้าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ถูกบรรจุเข้าสู่วาระของที่ประชุมสภาในวันพุธที่ 5 พ.ย.นี้ แล้วสภาอนุมุติให้ผ่านสองวาระรวดแล้วตั้งกรรมาธิการขึ้นมาระหว่างสองสภาและเว้นไว้ 15 วันก่อนเข้าสู่วาระ 3 ก็จะยิ่งให้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะการเข้าสู่วาระ 3 จะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ถ้ารัฐบาลและฝ่ายสภาเล่นเกมเร็วด้วยการใช้เสียงข้างมากพิจารณารวดเดียว ความขัดแย้งก็ยิ่งสูงขึ้น อาจจะถือเป็นการผลักดันให้ความขัดแย้งถึงวาระแตกหัก

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชะลอส.ส.ร. 3 ออกไปก่อน แล้วกลับมาตั้งหลักกันใหม่ด้วยการดึงฝ่ายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันก่อน ”

นายปริญญา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องมีส.ส.ร. 3 เดินหน้าต่อไปจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงจนรัฐบาลก็จะอยู่ต่อไปไม่ได้ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(คปพร.) นั้นก็ไม่ใช่ทางออก หากนำมาใช้ก็เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังเล่นเกมเสี่ยง ที่ไม่ใช่เฉพาะเก้าอี้ตัวเอง แต่เป็นการเอาประเทศไปเสี่ยงด้วย ตอนนี้ทางออกก็มีหลายทาง ที่รัฐบาลจะต้องเลือกเว้นแต่ว่าจะตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจอยู่ไปได้นานขึ้นหรือเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นเหตุการณ์ 7 ต.ค.เท่านั้น

“ เราจะต้องจับตาคำสัญญาของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ที่เคยประกาศว่าหลังจากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายปรีชา พาณิชวงศ์ เป็นประธานฯ ทำงานไปแล้ว 15 วันและมีผลอย่างไรรัฐบาลก็จะปฏิบัตินั้นเมื่อครบกำหนดแล้วนายสมชายจะทำอย่างไร เพราะการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ไม่ใช่การใช้เงินอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นการรับผิดทางการเมืองด้วย ถ้าครบกำหนดแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็จะทำให้นายสมชายขาดความน่าเชื่อถือย่างรุนแรง ”

รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอยู่นี้ไม่ได้เป็นการแก้ไขความขัดแย้งแต่เป็นเรื่องการแก้เกมการเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหยุดก่อน เพราะหากไม่หยุดวันที่ 20-21 พ.ย.ที่อาจจะเป็นวันครบกำหนดที่จะต้องนำผลการพิจารณาของกรรมาธิการศึกษามาตรา 291 เราอาจจะต้องเห็นการนองเลือดอีก

"ผมมีข้อเสนอให้ทุกฝ่ายสองทางเลือก คือ 1. ถ้ารัฐบาลเห็นว่าไม่ควรเดินหน้าให้มีส.ส.ร.ก็ควรยุบสภาและก่อนยุบก็ควรตกลงกันว่าจะให้มีการเลือกตั้งและส.ส.ควรมีที่มาแบบใด อาจจะมีเวทีในการพูดคุยทั้งฝ่ายพันธมิตรฯและรัฐบาล และ 2. ให้มีการยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยการพ่วงวาระทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนได้ออกความเห็นว่าจะตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร หากผลเป็นอย่างไรก็ถือว่าทุกฝ่ายจะต้องยุติ ”

นายปริญญา กล่าวถึงการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ บนเวทีความจริงวันนี้สัญจรว่า การที่พ.ต.ท.ทักษิณ พูดเรื่องมหาประชาชนต้องไม่ลืมว่าประชาชนมีทั้งฝ่ายไม่ชอบและชอบพ.ต.ท.ทักษิณ ผู้นำทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักว่าไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบก็เป็นประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น ต้องไม่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกลียดกันมากไปกว่านี้ โดยสังคมไทยควรจะข้ามพ้นเรื่องตัวบุคคล โดยต้องฝากถึงคู่ขัดแย้งทั้งสองกลุ่มไม่ควรมาฆ่ากันเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงคดีเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ย.นั้นตนคิดว่าคดีที่พ.ต.ท.ทักษิณ กังวลมากที่สุด น่าจะเป็นคดียึดทรัพย์ เพราะคดีอื่น ๆ ที่เป็นคดีอาญาที่จะเดินต่อไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดศาลนัดแรก ที่โดยหลักแล้วโจทก์ต้องนำตัวจำเลยมาขึ้นศาลก่อนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งคดีอาญาอื่นๆ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มาขึ้นศาลเลย แต่คดียึดทรัพย์ไม่ใช่คดีอาญาศาลจึงสามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้

“ คดีการยึดทรัพย์นี้ไม่ใช่ว่าศาลจะต้องยึดทรัพย์ทั้งหมดที่อายัดไว้ เพราะหากพ.ต.ท.ทักษิณสู้คดีและพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินได้มาโดยชอบศาลก็จะคืนให้ หากพิสูจน์ได้มากแค่ไหนก็จะได้คืนมากเท่านั้น ดังนั้นต้องคุณทักษิณจะต้องกลับมาพิสูจน์ในศาล หากมั่นใจว่าได้ทรัพย์สินของตัวเองได้มาโดยชอบก็ไม่จำเป็นต้องกลัว แม้มีข้อโต้แย้งว่า การจัดทำสำนวนในการฟ้องคดีนั้นมาจากการทำงานของคตส.ที่มาจากการรัฐประหาร แต่ต้องไม่ลืมว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกระบวนการปกติที่มีมาก่อน 19 ก.ย. 49 ดังนั้นทักษิณไม่มีอะไรต้องกังวล ถ้าเชื่อมั่นว่าตัวเองหาทรัพย์สินมาโดยชอบจริงก็ไม่มีความจำเป็นต้องกลัว ”

ไม่มีความคิดเห็น: