วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วิถีแห่งราชประชาสมาสัย !

สังคมไทยแตกแยกเป็น 2 ส่วนมากขึ้น ๆ หลังเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ความแตกแยกนี้ไม่อาจยุติลงได้โดยวิถีทางปกติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลลาออก ยุบสภา หรือทหารออกมารัฐประหารในรูปแบบเดิม ๆ หรือปรับเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มาก มีอยู่วิถีทางเดียวเท่านั้น....

คำว่า “ลัทธิราชประชาสมาสัย” พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในบทสนทนาหัวข้อ “การเมืองไทย” กับท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก และท่านอาจารย์ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ มีบันทึกอยู่ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน 2515 หน้า 39 – 45

ระยะเวลาที่ใกล้ขึ้นมาสักหน่อย ก็เห็นจะเป็นงานเขียนของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่แม้จะไม่ได้เอ่ยคำว่า “ลัทธิราชประชาสมาสัย” แต่ก็ได้อรรถาธิบายลักษณะพิเศษของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราไว้ได้ชัดเจน

ท่านเขียนไว้ในบทความเรื่อง "ในหลวงกับประชาชน : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทย" ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 30 เมษายน 2536 และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทที่ 7 ส่วนที่ 2 ตำรา "กฎหมายมหาชน เล่ม 2" ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2537

อาจารย์บวรศํกดิ์ ฟันธงว่า เอกลักษณ์ระบอบประชาธิปไตยไทยนั้นแตกต่างกับประเทศอื่นตรงที่...

อำนาจอธิปไตยนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน

ต่างกับรัฐธรรมนูญของชาติอื่นที่ถือว่าประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย !

ทั้งนี้ ก็จากการพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับนับแต่ 10 ธันวาคม 2475 มาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้ข้อความทำนองเดียวกัน

“อำนาจอธิปไตยมาจาก (เป็นของ) ปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ซึ่งมีที่มาจาก 2 เหตุผลหลัก

1. เหตุทางประเพณีในสังคมวัฒนธรรมไทย -- อันเกิดจากการสั่งสมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชน

2. เหตุผลทางนิติศาสตร์ -- หากสืบสาวเรื่องย้อนไปจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ครั้นเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอำนาจอธิปไตยอยู่ก็สละพระราชอำนาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แล้วลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงใช้อำนาจนั้นแทนปวงชน

ในทางกฎหมาย ต้องถือว่าทั้งพระมหากษัตริย์และประชาชนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกัน

ด้วยเหตุนี้ในทางกฎหมายนั้น เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญคราใดต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ปวงชนนั้นกลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475

ผลสำคัญประการแรกทางกฎหมายระหว่างประเทศก็คือ รัฐบาลนานาชาติไม่ต้องรับรองรัฐบาลไทยใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงโดยการรัฐประหารเป็นเรื่องระดับภายใน แต่ระดับสูงสุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่ และทรงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่กลับคืนมาเป็นของพระองค์ท่านด้วย ส่วนคณะรัฐประหารไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยเลย แต่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นตามความเป็นจริงเท่านั้น

พูดง่าย ๆ คืออำนาจอธิปไตยที่เป็นอำนาจทางกฎหมายอยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่อำนาจในทางความเป็นจริงอยู่ที่คณะรัฐประหาร

ผลสำคัญประการที่สองคือเมื่อคณะรัฐประหารประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อจัดทำเสร็จ ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับพระมหากษัตริย์สละอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาที่ประชาชนอีก

สรุปคืออำนาจอธิปไตยที่เป็นอำนาจตามกฎหมายนั้นถ้าไม่อยู่ที่ “พระมหากษัตริย์” แล้ว.. . ก็อยู่ที่ “พระมหากษัตริย์กับประชาชน” เท่านั้น !

สภาพการณ์ในทางปฏิบัติที่ควรพิจารณาทางด้านนิติบัญญัติ ในการตราพระราชบัญญัตินั้น แม้กฎหมายจะผ่านรัฐสภามาแล้ว ก็ต้องให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยจึงจะเป็นพระราชบัญญัติ และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจยับยั้งที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายได้ ในประเทศตะวันตก ถือว่าแม้พระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย แต่ก็มีจารีตประเพณีว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนั้น

ดังที่ปรากฏในอังกฤษ ว่าตั้งแต่ปี 1807 ที่ควีนแอนน์ทรงยับยั้งกฎหมายเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ไม่ปรากฏว่ากษัตริย์อังกฤษเคยยับยั้งร่างกฎหมายอีกเลย แต่ในไทยประเพณีการปกครองที่คนไทยยอมรับแตกต่างกับในอังกฤษอย่างสิ้นเชิง หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย หรือมีพระราชดำริให้แก้กฎหมาย องค์กรตามรัฐธรรมนูญพึงดำเนินการตามพระราชวินิจฉัยนั้น แม้โดยปกติพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ แต่เมื่อทรงใช้ องค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมาก็ปฏิบัติตาม

ดังจะเห็นได้จากพระราชกระแสที่มีพระบรมราชวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2517 ว่าการให้องคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นการดึงพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวกับการเมือง

สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2517 เมื่อปี 2518 ตามพระราชกระแส ซึ่งยังไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้ในประเทศอื่น แม้เมื่อประมาณปี 2535 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหมิ่นประมาทที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าจำกัดดุลพินิจศาล และไม่สอดคล้องกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็ไม่ปรากฏว่ามีการลงพระปรมาภิไธย และไม่ปรากฏว่าเมื่อเกิน 90 วันไปแล้วมีการหยิบยกขึ้นโดยรัฐสภาเพื่อลงมติยืนยันแต่อย่างใด

จริงอยู่ รัฐบาลปัจจุบันมาจากการเลือกตั้ง สถานการณ์ไม่น่าจะนำไปเปรียบเทียบกับคณะรัฐประหารในอดีตได้ นี่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความและอยู่ที่เจตจำนงของประชาชน เพราะ “ทรราช” มีได้หลายโฉมหน้า !

การได้อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการฉ้อฉลสารพัดสารพันถึงที่สุดแล้วก็ไม่ต่างจากการรัฐประหารโดยเนื้อหา

เป็นการรัฐประหารด้วยอำนาจเงิน !

การแถลงนโยบายฝ่ายเดียว ท่ามกลางองค์ประชุมที่น่าสงสัยว่าจะไม่ครบนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว – ขณะนี้ไม่มีรัฐบาล และอำนาจอธิปไตยที่ได้พระราชทานให้ปวงชนนั้นจึงกลับคืนไปสู่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 โดยอัตโนมัติอีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ – ก็อยู่ที่ประชาชนทั้งหมดแล้วว่าจะแสดงประชามติ “รับรอง” หรือไม่ ?

ไม่มีความคิดเห็น: