ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นที่ปรากฎของความเป็นการเมืองแยกขั้วแบ่งข้างกลายเป็นพวกเขาพวกเรา กลายเป็นพวกมันพวกกู การเมืองแห่งการเอาแพ้เอาชนะกัน การเมืองที่มองอดีตเพื่อจะพิสูจน์ความถูกผิด ความจริง การพิสูจน์ถูกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและควรจะกระทำด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำผิดจริงก็ต้องพิสูจน์แล้วเอาคนผิดมาลงโทษ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ไม่อาจจะหาข้อยุติได้ไม่สามารถจะเดินไปสู่สันติภาพหรือสันติสุขที่คนไทยทั้งหลายใฝ่ฝันถึงก็เนื่องจากคำว่าสันติ หรือสันติภาพที่มาจากภาษาอังกฤษว่า พีซ (Peace) นั้นไม่ใช่เป็นคำคำเดียวแต่จะมีคำว่าจัสต์ (Just) ซึ่งมาจากคำว่าจัสตีส (Justice) ซึ่งแปลว่ายุติธรรม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ จัสต์พีซ (Just Peace) นั่นคือ คนที่อยู่ในประเทศนั้นในพื้นที่นั้นมีความรู้สึกว่า เขายังไม่ได้รับความยุติธรรม
ยุติธรรมที่ไม่ใช่มองเพียงยุติธรรมทางกฎหมาย (Legal Justice) ถูกผิดตามมาตรานั้น มาตรานี้ตามกฎหมายที่ผู้มีอำนาจออกหรือใช้ แต่เขายังต้องการความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ที่มองไกลกว่าความยุติธรรมทางกฎหมาย มองไปข้างหน้ามองอนาคต มองผลที่จะตามมาทั้งหลายดูเหมือนว่า ความที่แยกเป็นพวกเขา พวกเราทำให้แต่ละพวกแต่ละกลุ่มก็จะมองกระบวนการที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในมุมมองแห่งความต้องการทั้งสองแบบของความยุติธรรมคือทั้ง ยุติธรรมทางกฎหมายและยุติธรรมทางสังคม โดยหากจะเอาผิด “พวกเขา” ก็จะมองในสายตาของยุติธรรมทางกฎหมาย แต่ถ้าจะอธิบายการกระทำของ “พวกเรา” ก็จะมองในสายตาของยุติธรรมทางสังคม
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะพวกเขาพวกเราซึ่งกลายเป็นพวกมันกับพวกกูได้นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ไว้วางใจเพราะไม่ใช่พวกเดียวกันกับความไว้วางใจเพราะเป็นพวกเดียวกันเป็นความไว้วางใจทางสังคม (Social Trust) และความไม่ไว้วางใจนี้เองจึงทำให้ไม่ว่าจะมีการกระทำใด ๆ ของใครที่ดูจะเอนเอียงไปเหมือนเห็นด้วย หรืออาจจะไปสนับสนุนพวกเขาก็จะเริ่มไม่ไว้วางใจ และหาเหตุผลมาอธิบายให้คนอื่น ๆ ทั้งหลายเห็นถึงความถูกต้องของเราและไม่ถูกต้องของเขา และความเป็นพวกเขาพวกเรานี้จึงไม่อาจนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้งได้
เพราะความรู้สึกแห่งการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะขาดทักษะที่สำคัญคือการฟังอย่างตั้งใจ การฟังอย่างตั้งใจที่ในภาษาจีนใช้คำว่า “ทิง” ซึ่งอักษรตัวเขียนคำนี้มีองค์ประกอบที่รวมเอาคำว่าหู และคำว่า ใจ หรือ หัวใจ ไว้ด้วยกัน นั่นคือ การจะเข้าใจ เข้าถึง ดังพระราชาดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเรายังต่างไม่ฟังกันและกันโดยใช้ทั้ง หู และ หัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานด้วยกันจึงจะเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราและนำไปสู่ความรู้สึกเป็นพวกเราเท่านั้น
หนังสือการเมืองสำหรับประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง (Politics for People) ของเดวิด แมทธิว ประธานมูลนิธิเคทเธอริง ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเมืองของประชาชน (Citizen Politics) ในสหรัฐอเมริกาได้พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนขึ้นมาของอเมริกาและคำแรกที่เริ่มต้นได้เขียนว่า “พวกเราประชาชน” หรือ “We the people” ทั้งผู้นำในการประกาศอิสรภาพและประชาชนเป็นกลุ่มเดียวกันหรือพวกเรา แต่เมื่อพัฒนาการเมืองไปเรื่อย ๆ นักการเมืองของอเมริกากับประชาชนเริ่มมีมุมมองที่ต่างกันทั้งที่แต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว ประชาชนที่เดวิด แมทธิว ได้ไปสำรวจความคิดเห็นมาเริ่มมองเป็น “พวกเราประชาชน พวกเขารัฐบาล” หรือ We the people, the government”
ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำกับสิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ตรงกัน ดูจะมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศไทย เดวิด แมทธิว อธิบายปรากฎการณ์นี้เหมือนกับสามีและภรรยาที่อยู่ด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างทำตัวเป็นสามีที่ดีและภรรยาที่ดีในมุมมองหรือสมมติฐานของตัวเอง เช่น สามีก็อธิบายว่าการที่กลับบ้านดึกและมีงานเยอะต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว การกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่สามีที่ดีฝึกกระทำ ก็เหมือนกับรัฐบาลพยายามทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาแต่สิ่งที่รัฐทำไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนอยากให้ทำ
แมทธิวบอกว่ายิ่งสามีภรรยาคู่นี้อยู่ด้วยกันนานเท่าไรก็จะยิ่งเกลียดกันมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ “ดี” ของแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน แต่ละฝ่ายก็พยายามหาเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนดีของตัวเอง ความไว้วางใจก็ค่อย ๆ หมดไป เพราะไม่ฟังกัน ไม่หันหน้ามาพูดกันในลักษณะของการสานเสวนา (หรือ dialogue) แต่ละฝ่ายจะใช้วิธีการอธิบายความถูกต้องของตนเองและกล่าวหาความผิดพลาดของอีกฝ่ายโดยการใช้การโต้เถียง (หรือ debate) ความแตกต่างของการสื่อสารกันทั้งสองอย่างก็คือ เมื่อไรโต้เถียงหรือดีเบทก็คือการมาพูดเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน เหมือนอย่างที่นักการเมืองหรือผู้อาสาสมัครมาเป็นตัวแทนประชาชนมาปกครองประเทศ ไมว่าจะในสหรัฐอเมริกา
ในเวลานี้ที่เราเห็นผู้สมัครสองพรรคดีเบท หรือโต้เถียงกันอยู่ จะพยายามอธิบายว่านโยบายฉันถูก ของอีกฝ่ายผิด และพยายามไปหาอดีตของฝ่ายตรงข้ามว่าทำอะไรผิดพลาดหรือเลวอย่างไร ซึ่งในประเทศไทยก็ดูไม่ต่างกันเมื่อมีการหาเสียงเพื่อเอาชนะกันระหว่างพรรคการเมือง
หรือแม้แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เพิ่งผ่านพ้นไปเลือกผ่านไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ขององค์กร เช่น กกต.จะมาตัดสินว่าสมควรประกาศรับรองหรือให้ใบเหลือง ใบแดงกัน ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า เพราะแต่ละฝ่ายก็จะมาแก้ตัวว่าไม่ผิด เรายังไม่แก้ปัญหาต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง เรายังไม่ได้ทำการเมืองที่สมานฉันท์การเมืองของประชาชน ที่ประชาชนกำหนดนโยบาย กำหนดกฎกติกา หรือผู้แทนอาจจะไปร่างแล้วให้ประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมซึ่งไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์เพราะเวทีประชาพิจารณ์ก็เป็นเวทีโต้เถียงหรือดีเบทของฝ่ายที่ทำโครงการหรือออกกฎหมายและบอกว่าคิดดีแล้วประชาชนยังไม่เข้าใจ ประชาชนซึ่งมองเห็นต่างก็จะโต้แย้ง
หรือแม้แต่การลงประชามติที่หลาย ๆ คนคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีเพราะให้ประชาชนแต่ละคนทีละคนได้ตัดสินเองดังที่ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ประชามติในปัญหาที่สลับซับซ้อนก็ดีหรือรัฐธรรมนูญที่มีมากมาย มาตราก็ดี ไม่อาจจะใช้การตัดสินใจเพียงผ่านหรือไม่ผ่าน รับหรือไม่รับ ทั้งที่คนห่วงหรือไม่พอใจเพียงไม่กี่มาตราไม่กี่ประโยคก็ต้องไม่รับหรือไม่ผ่าน ฝ่ายที่อยากให้ผ่านกับมารับไปก่อน ผลการตัดสินใจโดยการประชามติจึงออกมาเป็น “แพ้-ชนะ” คนไม่อยากให้ผ่านเมื่อผ่านก็รู้สึกแพ้ คนอยากให้ผ่านเมื่อผ่านก็รู้สึกชนะ
ประเทศไทยได้ถูกแบ่งออกเป็นสีเหลืองกับสีแดง เหมือนกับเวลานี้ที่ใครสวมเสื้อสีเหลืองก็พวกหนึ่ง สีแดงก็พวกหนึ่ง กลายเป็นพวกเขาพวกเรา พวกมันพวกกู ทางออกของประเทศไทยเวลานี้คือการหันหน้ามาพูดคุยกันมาเจรจากันที่เรียกว่าสานเสวนาหรือไดอาล๊อก (dialogue) ที่ไม่ได้มาเอาแพ้เอาชนะกัน มาฟังอย่างตั้งใจกัน มาหาทางออกร่วมกัน ในการสานเสวนาจะต้องมีกติกาและมีคนกลาง คนกลางที่เป็นที่ยอมรับหรือไว้วางใจหรือเป็นที่เชื่อถือของฝ่ายต่าง ๆ และเป็นคนกลางที่เข้าใจกระบวนการการสานเสวนาที่ไม่ใช่มาเอาแพ้ชนะกัน ผู้ที่มาเจรจาต้องเรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ ผลัดกันพูดผลัดกันฟัง กำหนดประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหรือหลาย ๆ ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ประเด็นหรือโจทย์จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน มานิยามหรือมากำหนดโจทย์ที่ไม่ใช่จุดยืน (หรือ position) ซึ่งเป็นคำตอบที่แต่ละฝ่ายมีอยู่แล้ว แต่กลับไปหาโจทย์ที่แท้จริง เช่นอยากเห็นประเทศชาติกลับคืนสู่สันติสุขสันติภาพที่ยืนอยู่บนความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม มีการเมืองที่ไม่ใช่มองเฉพาะการเมืองเท่ากับการเลือกตั้งแต่เป็นการเมืองที่มองถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนให้ประชาชนได้สามารถมีที่ยืนที่เรียกว่าพื้นทีสาธารณะ (public space) ซึ่งไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองอย่างเดียว เป็นต้น
การมาสานเสวนาหากันจึงไม่ใช่การเจรจาอย่างเราเคยรู้จักและเข้าใจที่เป็นการเกลี้ยกล่อมให้ยอมๆ กันหรือการเจรจาที่เป็นการต่อรองที่ต้องมีคนได้มีคนเสีย มีคนแพ้ มีคนชนะ เป็นการเจรจาที่ทุกฝ่ายชนะ การจะยอมอะไรก็ไม่ใช่ยอมกันโดยการยกมือลงมติว่าเสียงฉันมากกว่าชนะ แต่จะเป็นมติที่เรียกว่า “ฉันทามติ” (หรือ consensus) เป็นมติที่เกิดจากความพึงพอใจ อาจไม่ถึงกับแต่ละคนทีละคนเห็นด้วยหมดที่เรียกว่าเอกฉันท์ แต่เป็นมติที่ออกมาจากการฟังกันด้วยใจและอย่างตั้งใจแล้วมองหาทางเลือกหลากหลายช่องทางที่ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันและกันแล้วปรับรูปแบบจนเห็นว่านี่แหละใช่ จะเป็นมติที่ยั่งยืนกว่า และผู้ที่เป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นกลางที่เป็นที่ไว้วางใจติดตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากฉันทามติว่านำไปสู่ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ตามข้อตกลงไหม
มีอุปสรรคใดที่ปฏิบัติไม่ได้กลับมาสานเสวนากันอีก จะมีรัฐบาลชั่วคราวหรือเฉพาะการเพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างฉันทามติหรืออย่างไร ก็จะเกิดจากเวทีการสานเสวนานี้ ผู้มาร่วมสานเสวนาอาจจะกำหนดตัวแทนเบื้องต้นจำนวนหนึ่ง และมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่เวทีโต้เถียงหรือดีเบท แต่เป็นเวทีย่อยเพื่อหาฉันทามติร่วมกำหนดกติกาบ้านเมืองให้เกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมต้องมีการสื่อสารถึงกันและกันตลอดเวลา สื่อจะต้องเข้าใจกระบวนการและกติกาด้วยความเข้าใจไม่สร้างการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสอย่างแท้จริง อะไรที่ไม่ชัดเจนไม่เข้าใจให้มีการสื่อสารกันก่อนจะมีคำพิพากษาว่าพวกนั้นพวกนี้ เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่สังคมจะต้องเรียนรู้กันใหม่ จะต้องมีเวทีสื่อที่ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากันเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้าหาทางออก
จึงขออนุญาตสรุปเสนอทางออกของการแก้ปัญหาทางด้านของประเทศที่อาจจะสรุปได้ก็คือ
1) ให้หาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่าง ๆ เช่น ประธานวุฒิสภาพร้อมทีมงานที่เข้าใจกระบวนการการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ และเข้าใจกระบวนการสานเสวนา
2) ให้เปิดเวทีการสานเสวนาหลังจากทำความเข้าใจแต่ละฝ่ายถึงขั้นตอนและกติกาของกระบวนการ
3) ให้มีการทำความเข้าใจกับสาธารณชนในรายละเอียดของกระบวนการอย่างโปร่งใสและต่อเนื่องโดยตลอด
4) ให้มีกติกาของการสานเสวนาที่ฝ่ายที่จะมาเจรจาร่วมตกลงด้วยกันเพื่อนำไปสู่การหาทางออก
5) ฝ่ายที่ขัดแย้งส่งตัวแทนรับทราบ เรียนรู้ กติกา กระบวนการ ก่อนการสานเสวนาหาทางออก
6) กำหนดประเด็นของการสานเสวนาร่วมกันโดยเป็นประเด็นหรือโจทย์ที่ฝ่ายต่าง ๆ เห็นพ้องต้องกันที่ไม่ใช่จุดยืนแต่เป็นจุดสนใจหรือความต้องการ ความห่วงกังวลที่อยู่เบื้องหลังจุดยืน เช่นไม่ใช่ตั้งโจทย์ว่าสร้างเขื่อนหรือไม่สร้าง แต่เป็นโจทย์ เช่น จะบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างไร (ให้มีน้ำพอใช้และไม่เกิดการท่วมท้นอยู่เป็นประจำ) เป็นต้น
7) การกำหนดการเมืองใหม่เมื่อสามารถหาทางออกของปัญหาปัจจุบันที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ (ฉันทามติแล้วก็ให้ใช้การสานเสวนากับประชาชนในแต่ละพื้นที่กระจายไปให้ทั่วถึง แล้วกลับมาหาฉันทามติร่วม ซึ่งวิธีการนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เคยดำเนินการในหลาย ๆ กรณี และสามารถหาฉันทามติในประเด็นนั้นได้ผลดีมาแล้ว)
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอโดยสังเขปที่จะต้องมีการทำความเข้าใจในรายละเอียดอีกมาก อยากจะฝากไว้สุดท้าย จากหนังสือกล้าล้มเหลวที่ผมได้แปลไว้ ผู้เขียนคือ บิลลี่ ลิม บอกว่า “ถ้าคุณยังทำอะไรยังที่เคย ๆ ทำกันมา คุณก็จะได้สิ่งที่เคย ๆ ทำมาแล้วเท่านั้น” ฉะนั้นเราจะหันมาร่วมกันหาสันติสุข สันติภาพที่มีความยุติธรรมร่วมกัน เราก็ต้องใช้กระบวนการวิธีการใหม่คือ การฟังอย่างตั้งใจ การสานเสวนา (หากมาสานเสวนากับประชาชนอาจเรียกว่า ประชาเสวนา) การหาทางออกโดยมองจุดสนใจ ความห่วงกังวลไม่ใช่จุดยืน และใช้ฉันทามติที่ไม่ใช่เสียงข้างมากจากการยกมือลงมติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น