กรรมการสิทธิมนุษยชน สรุปเหตุสลายการชุมนุม 7 ต.ค. ที่มีประชาชนบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นการกระทำรุนแรง เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมาย ชี้รัฐบาล "สมชาย" ต้องรับผิดชอบฐานะผู้สั่งการ ตำรวจรับผิดชอบฐานะผู้ปฏิบัติ เดินหน้าหาตัวบุคคลผู้กระทำผิดต่อไป
ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุรสีห์ โกศลนาวิน ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ร่วมกันแถลงวานนี้ (17 ต.ค.) ว่า จากการสอบถามผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยานในเหตุการณ์ อาทิเช่น สื่อมวลชน พบว่าตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุมที่บริเวณต่าง ๆ รวม 3 ครั้ง ได้แก่ ในเวลา 06.15 น. 16.00 น. และ 19.00 น. เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนขาขาด รวมถึงเสียชีวิต
นายสุรสีห์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเทียบกับหลักการสากลในการใช้กำลังสลายการชุมนุม และหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ถืออำนาจต้องใช้ความอดทนจนถึงที่สุด พยายามที่สุดในการใช้วิธีไม่รุนแรง หรือต้องใช้กำลังอย่างยับยั้งให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และต้องให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาล และแจ้งญาติโดยเร็วที่สุด หรือในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มจากการต่อรองก่อน จึงใช้โล่ผลักดัน จึงเป็นการฉีดน้ำโดยประกาศเตือนก่อน และหากยังไม่สำเร็จ ให้ประกาศเตือนจะใช้แก๊สน้ำตา จากนั้นจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา
"ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม พบว่า มีการใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่ประกาศเตือนผู้ชุมนุมก่อน และยังพบว่า คืนวันก่อนหน้านั้น (6 ต.ค.) เป็นที่ทราบในหมู่สื่อมวลชนแล้วว่า รัฐบาลได้เรียกประชุมเพื่อวางแผนจะใช้กำลังสลายการชุมนุมอยู่แล้ว เพื่อจะเปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี สามารถเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นการกระทำรุนแรงที่เกินความจำเป็น เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมาย"
นายสุรสีห์ กล่าวว่า ในส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบ นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เกิดจากความต้องการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยมีการประชุมวางแผนไว้ก่อนแล้ว จึงเชื่อว่า การกระทำเกิดจากการสั่งการของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้สั่งการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางปฏิบัติในการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่แล้ว
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการสิทธิฯ จะเร่งสอบสวนเพื่อหาตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวโดยเร็ว แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมีหลักฐานและบุคคลเกี่ยวข้องจำนวนมาก จากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ในการแถลงครั้งนี้ เป็นการสรุปเบื้องต้นตามที่มีความชัดเจนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการสิทธิฯ จะเร่งสอบสวนเพื่อหาตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวโดยเร็ว แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมีหลักฐานและบุคคลเกี่ยวข้องจำนวนมาก จากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ในการแถลงครั้งนี้ เป็นการสรุปเบื้องต้นตามที่มีความชัดเจนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น