วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

เปิดเอกสารวุฒิฯยื่นศาลรธน.ตีความงบ2550

วุฒิสภา
ถนนอู่ทอง กรุงเทพฯ

๑๙ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่อง ขอให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๘

กราบเรียน ประธานวุฒิสภา สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๑ ๒. หนังสือของสำนักงบประมาณ ที่ นร ๐๗๑๑/๑๗๓๑๔ ๓. สรุปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๗ ๔. ข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๒


ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ที่ได้ลงลายมือชื่อท้ายหนังสือนี้ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่วุฒิสภาจะทำการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังจะกราบเรียนต่อไปนี้คือ

๑. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในวาระที่ ๒ ขัดมาตรา ๑๖๘ วรรค ๕ และวรรค ๖ กล่าวคือว่า มีการตัดลดงบประมาณ ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท แต่มีการตั้งงบประมาณเพิ่มกลับมาเท่าจำนวน ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท โดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้นจึงต้องห้ามในการแปรญัตติหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผล หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๑๖๘ วรรค ๖ แต่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกลับมีมติให้เพิ่มงบประมาณเท่ากับส่วนที่ถูกปรับลดกลับเข้ามาอีก ทั้ง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ และหรืออนุมัติงบประมาณ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๑๖๘ วรรค ๖

๒.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถูกคตส. (คณะ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๑ ข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบคดีการออกสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว (คดีหวยบนดิน) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว (ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องท้ายคำร้องนี้) กรณีนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๒ ประกอบมาตรา ๒๗๕ บัญญัติว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่บุคคลดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ฉบับนี้ ซึ่งไม่อาจทำได้การประชุมและการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระบวนการตราจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

๓. เนื่องด้วยมาตรา ๑๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ต้องมีเอกสารประกอบซึ่งรวมถึงประมาณการรายรับและวัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงานโครงการในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน รวมทั้งต้องแสดงฐานะการเงินการคลังของประเทศเกี่ยวกับภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการจ่ายและการจัดหารายได้ แต่ปรากฏว่าในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ไม่มีเอกสารประกอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๗ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับเพิ่มงบประมาณจำนวน ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท ซึ่งในส่วนนี้จำนวนหนึ่งเป็นการปรับเพิ่มงบประมาณให้แก่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จำนวน ๖,๗๐๐ ล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ ในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ปรากฏตามหนังสือตอบของสำนักงบประมาณที่ นร. ๐๗๑๑/๑๗๓๑๔ ลวท. ๑๖ กันยายน ๒๕๕๑ หน้าที่ ๒ ข้อที่ ๓ ท้ายคำร้องนี้เป็นต้น ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในส่วนที่มีการแปรญัตติปรับเพิ่มไม่มีข้อความและรายละเอียดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๗ จึงขัดต่อรัฐูธรรมนูญ

๔. นอกจากนี้ตามมาตรา ๑๖๗ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีว่า งบประมาณรายจ่ายงบกลางจะจัดทำขึ้นได้ต้องเป็นกรณีที่รายจ่ายนั้นไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วย งานอื่นใดของรัฐได้โดยตรง จึงจะจัดไว้ในรายการรายจ่ายงบกลางได้ แต่โดยต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นด้วย แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีการจัดทำรายจ่ายงบกลางไว้ในมาตรา ๔ ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นจำนวนเงินถึง ๒๔๙,๕๖๕,๗๒๕,๕๐๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นเก้าพันห้าร้อยหกสิบห้าล้านเจ็ดแสนสองหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) ทั้ง ๆ ที่งบประมาณดังกล่าวหลายรายการสามารถจัดสรรให้แก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐได้โดยตรง แต่กลับมาจัดไว้เป็นรายจ่ายงบกลางโดยไม่แสดงเหตุผลและความจำเป็น จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๗ วรรค ๒ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

๕. นอกจากนี้นโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ วัตถุประสงค์ของกิจกรรม แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ปรากฏแผนงาน และโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามมาตรา ๗๕ และ ๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบ ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นโดยสรุปการแปรญัตติตั้งงบประมาณเพิ่มจำนวน ๔๕,๐๐๙,๕๘๕,๗๐๐ บาท จึงดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาอนุมัติโดยไม่มีเอกสารประกอบประมาณการรายรับ และวัตถุประสงค์ กิจกรรม แผนงาน โครงการในแต่ละรายการของการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๗ และคณะรัฐมนตรีและกรรมาธิการซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย ได้เร่งรัดพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโดยคำนึงถึงเฉพาะให้ได้มาซึ่งวงเงินงบประมาณเท่านั้น เพื่อที่จะนำมาจัดสรรให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนในทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ดังที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นที่ทราบกันทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าการแปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณมิได้จัดทำให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ วรรค ๒

อาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๘ วรรค ๗ ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอให้ ท่านประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าการแปรญัตติเพิ่มเติมงบประ มาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้สิ้นผลไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และโปรดดำเนินการต่อไป

ลงชื่อ...............................
( )

3 ความคิดเห็น:

thecityjournalonline กล่าวว่า...

มติวุฒิสภา 90 เห็นชอบพ.ร.บ.งบประมาณ 35 ส.ว.ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 1

thecityjournalonline กล่าวว่า...

สื่อสภา

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบใจจ้า สำหรับบทความ