นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการที่รัฐบาลออก 13 มาตรการกู้วิกฤติการเงิน ว่า มาตรการขณะนี้มุ่งเน้นในเรื่องที่ค่อนข้างเป็นเรื่องระยะสั้นในเชิงของการสร้างความมั่นใจ และหวังผลเชิงจิตวิทยาในแง่ตลาดทุนเป็นหลัก
แต่ปัญหาที่อยากเห็นรัฐบาลขยับชัดเจน คือ การดูแลเศรษฐกิจจริงที่จะได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเราคาดการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคือในเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งถ้าไม่สามารถหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจจริงเดินหน้าได้ ก็น่าเป็นห่วงที่สุด และพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหลักทรัพย์ก็จะไม่ดีตามไปด้วย
สำหรับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่อง เป็นเรื่องที่รัฐบาลน่าจะเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องจิตวิทยาตลาดทุนก็มีความจำเป็น แต่ผลกระทบที่จะมาถึงประชาชนจริง ๆ นั้นจะมาในเรื่องของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบเรื่องการส่งออกที่ตลาดสหรัฐอเมริกาหรือตลาดอื่น ๆ ชะลอตัวลง รวมถึงการเตรียมการโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจคต์) ของรัฐที่รู้สึกว่ารัฐบาลยังไม่ได้จับปัญหาให้มั่น เพราะตัวรัฐบาลต้องคิดถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันต้องคิดด้วยว่าทำอย่างไรรัฐบาลจะไม่เข้าไปแย่งแหล่งเงินทุนหรือสภาพคล่องของภาคเอกชนด้วย ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัด ทั้งนี้ไม่ถึงขั้นที่ควรชะลอโครงการเมกะโปรเจคต์ออกไป
ส่วนนโยบายที่จะเทเงินลงพื้นที่เพื่อกระตุ้นรากหญ้าให้มีการใช้จ่าย นั้น เป็นมาตรการที่จะเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ผมไม่มีปัญหา แต่ขอให้เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและถึงประชาชนอย่างแท้จริง ผมอยากเน้นว่าเงินที่ลงไปจากภาครัฐ ถ้าหวังเพียงแค่มีเงินไปหมุน สุดท้ายเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร อยากให้คิดถึงหัวอกของคนเสียภาษีด้วย แต่ถ้าไปสร้างงานสร้างรายได้และมีความต่อเนื่องยั่งยืน ผมคิดว่าทุกคนจะยอมรับและสนับสนุน
ด้านสภาพคล่องโดยรวม ควรลดดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลัง ต้องมาดูให้ชัดว่าใครจะมารับภาระในส่วนใดในการจัดการตรงนี้ อีกทั้งควรแสดงออกถึงการมีแผนร่วมกันกับกระทรวงการคลังที่ประกาศออกมาในเชิงการบริหารในเรื่องการจัดการสภาพคล่อง ที่สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยดูความจำเป็นและความพร้อมของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไร แต่เราจะติดตามเรื่องนี้ในวันแถลงนโยบายซึ่งเราคงได้มีการเสนอ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลน่าจะมีความชัดเจน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น